๑๘..ความทรงจำ..จึงน้อมนำคำพ่อสอน..


“การปฏิบัติงานแต่ละสิ่งแต่ละอย่างนั้น ทุกคนจะต้องอาศัยความรู้ความสามารถอย่างสูง ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติกับทั้งต้องยึดถือหลักการความถูกต้อง ระเบียบวินัย และประโยชน์ที่ชอบธรรมอย่างเคร่งครัด...”

             ตอนแรก..ผมก็สงสัยว่า ทำไมผมก้าวมาไกล ในการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้มากมาย..ในโรงเรียนขนาดเล็ก..

            ๑๐ กว่าปีที่เรียนรู้คู่การปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการเรียนการสอนในแหล่งเรียนรู้และสิ่งแวดล้อม..โดยที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง..

            ภาพเชิงประจักษ์และร่องรอยที่ฝังลึก..อย่างมั่นคง ยังดำรงสภาพที่เป็นปัจจุบัน มีให้เห็นและเป็นอยู่ อย่างไม่รู้สึกเบื่อหน่ายหรือท้อถอย..

            ผ่านความทุกข์ยาก ฟันฝ่าอุปสรรค ทำให้เติบโตอย่างมีความคิด ปรับปรุงและพัฒนา ตลอดจนแบ่งปันเรื่องราวของ “ศาสตร์พระราชา”อย่างไม่รู้จบ

            ไม่มีรางวัลอันทรงคุณค่าใดๆ นอกจากความสุขใจ..ยังไม่รู้อะไรมากนัก และยังทำอะไรไม่หมด..ในความจำกัด ก็ยังสามารถเติมเต็มได้..เท่าที่มีโอกาส..

            โดยเฉพาะเรื่องราวพระราชกรณียกิจ “ในหลวง” แรงบันดาลใจแห่งแผ่นดิน ที่ผมเทิดไท้องค์ราชัน รัชกาลที่ ๙ ซึ่งผมขอทูนเหนือเกล้าชั่วนิรันดร์

            ผมเคยถามตัวเอง..ว่าทำไม?..จึงพยายามศึกษาค้นคว้าและทำความเข้าใจ ในทุกสิ่งที่พ่อทำ ในทุกถ้อยคำที่พ่อสอน..และผมก็เข้าใจได้ไม่ยาก..

            เมื่อศึกษาแล้วก็ก้าวต่อให้เข้าถึง..โครงการพระราชดำริ..ที่เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์..แล้วผมก็เข้าถึงได้..อย่างที่ใจต้องการ..

            เมื่อถึงคราที่ต้อง “พัฒนา” ให้เกิดมรรคผล..เป็นต้นทุนที่ “พอเพียง” แห่งบ้านหนองผือ..ก็ทำได้อย่างน่าภาคภูมิใจ..

            วันนี้..ผมมีข้อค้นพบอย่างหนึ่ง นั่นคือ..ความทรงจำ..ที่ผมมีต่อพ่อหลวง ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจแห่งความเพียร..ทั้งเรื่องงานและชีวิต..

            ผมพบ..สมุดบันทึกเล่มเก่าโดยบังเอิญ บันทึกเมื่อปี ๒๕๓๑ – ๒๕๓๒  ลายเส้นดินสอและปากกา เริ่มลางเลือน..ภาพปะติด..ซีดเหลือง แต่คุณค่า..คงอยู่ไม่จืดจาง..

            ผมก้าวมาไกลได้..และพร้อมที่จะก้าวต่อไป..เพราะผมมีพื้นฐานแห่งแรงบันดาลใจมาโดยตลอดหลายปี..หยั่งรากฝังลึกอยู่ในหัวใจไม่เสื่อมคลาย

            เพราะผมสะสมและศึกษาพระบรมราโชวาทนั่นเอง..ทำให้ผมมีวันนี้ ที่พ่อสอนว่า..

            “การปฏิบัติงานแต่ละสิ่งแต่ละอย่างนั้น ทุกคนจะต้องอาศัยความรู้ความสามารถอย่างสูง ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติกับทั้งต้องยึดถือหลักการความถูกต้อง ระเบียบวินัย และประโยชน์ที่ชอบธรรมอย่างเคร่งครัด...”

            พ่อยังสอนอีกว่า...

            “อุปสรรคสำคัญของการทำงานก็คือ ความท้อถอยและความหวั่นเกรงต่ออิทธิพลต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุบั่นทอนความสามารถในตน กับทั้งความเที่ยงตรงต่อหน้าที่อย่างร้ายกาจ...”

            คำสอนของพ่อ..ทรงเตือนพวกเราอยู่เสมอ...

            “แต่ละคนจะต้องพยายามควบคุมความคิดจิตใจให้มั่นคง หนักแน่น และรอบคอบ ในการใช้หลักวิชา ไม่นำวิทยาการซึ่งเป็นของสูงไปใช้ด้วยความประมาทมักง่าย....หลักวิชาทั้งหลายจำเป็นต้องประยุกต์ใช้ด้วยวิจารณญาณ ให้ถูกเหตุถูกผล ให้ถูกสัดถูกส่วน และให้ประสานสอดคล้องกับวิชาการด้านอื่นๆอย่างพอเหมาะพอดี...”

            หน้าสุดท้าย..ของพระบรมราโชวาท..ผมบันทึกไว้ว่า...

            “นอกจากจะสอนคนให้เก่งแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอบรมให้ดีพร้อมกันไปด้วย ประเทศของเราจึงจะได้คนที่มีคุณภาพพร้อม คือ ทั้งเก่งทั้งดี มาเป็นกำลังของบ้านเมือง..”

            “กล่าวคือ ให้ความเก่งเป็นปัจจัยและพลังสำหรับการสร้างสรรค์ ให้ความดีเป็นปัจจัยและพลังประคับประคองหนุนนำความเก่ง ให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร...”

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๖  กุมภาพันธ์  ๒๕๖๑

 

 

 

         

 

หมายเลขบันทึก: 644556เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2018 21:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2018 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท