รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๒-๒๕๖๐ (๓) ระดมปัญหาในมหาวิทยาลัย (กลุ่ม จอร์จ วอชิงตัน)


เหตุผลที่ต้องการฝึกฝน "ภาวะผู้นำ"จากการเรียนรู้บนฐานปัญหา (PBL)

"ภาวะผู้นำ" ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้ด้วยการบอกหรือสอนแบบส่งผ่าน  จากการศึกษาสืบค้นและสังเคราะห์ของผู้เขียน สรุปได้ว่า "ภาวะผู้นำ" มีความหมายไม่ตายตัว คนส่วนใหญ่ในสังคมมักเข้าใจว่า ผู้นำคือผู้ที่มีตำแหน่งหรือได้รับการแต่งตั้ง เข้าใจว่าผู้นำคือผู้บริหาร ผู้บริหารคือผู้นำ แต่แท้จริงแล้ว "ภาวะผู้นำ" มีคุณลักษณะของ "ผู้นำ" ที่ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่ง ไม่จำเป็นต้องการได้รับการแต่งตั้ง  หากแต่เพียงมี "ผู้ตาม" ที่นั่นก็มี "ผู้นำ"

จุดเริ่มต้นในการฝึกฝนพัฒนา "ภาวะผู้นำ" คือ "นำตนเอง" (Self-directed) ผู้นำที่ดีต้องสามารถ กำกับและควบคุมตนเอง ไม่ยอมให้ตนเองตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความโลภ (ความอยาก อยากมี อยากเป็น ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น) ความโกรธ ความหลงต่อสิ่งยั่วยุต่าง ๆ  ดังนั้น สิ่งที่ต้องศึกษาเป็นอันดับแรกคือ "ตนเอง" ให้ "รู้จักตนเอง" จะได้สามารถ "นำตนเอง" ได้เป็นเบื้องต้น ... อย่างไรก็ดี การศึกษาให้รู้จักตนเองเป็นเรื่องเฉพาะคน ต้องเฝ้าดูกายใจของตน ๆ ต่อ ๆ ไปเรื่อย ๆ

อีกกระบวนวิธีในการสร้างผู้นำคือการเรียนรู้ผ่านการทำงานร่วมกัน คำว่า "ผู้นำ" หมายถึง ผู้นำคน ดังนั้นการทำงานร่วมกันของคน จะทำให้ได้ฝึกฝนภาวะผู้นำไปในตนเอง จึงมีการสร้างหลักสูตรหรือแม้แต่โรงเรียนผู้นำขึ้นทั่วโลก เช่น โรงเรียนผู้นำคานาอาน (CANAAN) ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จสำคัญที่ทำให้ เกาหลีใต้ เปลี่ยนจากประเทศยากจนอันดับต้น กลายเป็นประเทศพัฒนาแนวหน้าอย่างทุกวันนี้ ่ฯลฯ  คนไทยก็เคยไปอบรมหลักสูตร ๓ วัน ๒ คืนที่โรงเรียนนี้  รุ่นแรกที่ไปคือ พล.ตรี จำลอง ศรีเมือง ซึ่งต่อมาท่านได้นำเอาแนวคิดนี้มาสร้างโรงเรียนผู้นำที่จังหวัดกาญจนบุรี

สิ่งสำคัญที่โรงเรียนผู้นำสอนคือ ๑) สอนให้รู้จักรู้จักชุมชนตนเอง ประเทศตนเอง ทรัพยากรของตน รากเหง้าของตนเอง สอนให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ประหยัด เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตนมี ๒) ปลูกฝังให้เป็นคนรักชาติ รักการทำงาน พึ่งตนเอง ไม่งอมืองอเท้า ที่เกาหลีสอนโดยใช้คำขวัญ "ถ้าขี้เกียจทำงานก็ไม่ต้องกินข้าว"  ๓) ปลูกฝังความกตัญญู รู้คุณของแผ่นดิน ๔) สอนให้รอบรู้ทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง ฯ ๕) สอนให้เอาชนะปัญหา แก้ปัญหาด้วยตนเอง

กรเรียนรู้ผ่านกระบวนการบนฐานปัญหา (Problem-based Learning) โดยเฉพาะปัญหาใกล้ตัว ปัญหาภายในมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยของเรา น่าจะเป็นกิจกรรมที่นำสู่ "ประตูเข้า" ของการเป็นผู้นำที่เป็นที่พึ่งของชุมชนและสังคม ดังอัตลักษณ์ของเราต่อไป


กิจกรรมระดมปัญหาในมหาวิทยาลัย "

นิสิตแต่ละกลุ่มได้รับมอบหมายให้สำรวจปัญหาและระดมปัญหา ด้วยกระบวนการ ๒ ขั้นตอน ขั้นตอนแรก ได้รับมอบหมายให้รวมตัวสมาชิกและระดมความคิดมองปัญหาบนกระดาษโดยใช้ Mind Mapping  เป็นการเตรียมตัวก่อนการจะวิเคราะห์ปัญหาในขั้นที่ ๒ ที่ใช้เป็นขั้นสรุปและนำเสนอด้วยเครื่องมือ "ต้นไม้เจ้าปัญหา" (อ่านได้ที่นี่

กลุ่ม จอร์จ วอชิงตัน

ทำไมจึงเลือก จอร์จ วอชิงตัน เป็นผู้นำในดวงใจ เอาไว้ต้องให้สมาชิกกลุ่มมาเล่าให้ฟัง



กลุ่ม จอร์จ วอชิงตัน เสนอ ปัญหา->ผลกระทบ ภายในมหาวิทยาลัย เรียงลำดับดังนี้

  • การแต่งกายไม่ถูกระเบียบ -> บุคลิกไม่ดี ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเสียหาย
  • สูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ -> เหม็น ทัศนียภาพไม่สวย 
  • นิสิตเล่นโทรศัพท์ในห้องเรียน -> ผลการเรียนไม่ดี 
  • อุบัติเหตุเกิดบ่อย ไม่ใส่หมวกกันน็อค ขับรถย้อนศร -> เสียเวลา เสียตังค์ เสียชีวิต 
  • สนามกีฬาไม่เพียงพอ สระน้ำไม่สะอาด -> เกิดโรคติดต่อ 
  • สถานที่จอดรถคับแคบ ไม่เพียงพอ -> การจราจรขัดข้อง
  • ทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ใช้ห้องน้ำไม่ถูกสุขลักษณะ ของหายบ่อย 
  • สถานที่ทานอาหารไม่เพียงพอ -> นิสิตเข้าเรียนช้า รอนาน 
สาเหตุของปัญหา
  • นิสิตขาดระเบียบวินัย 
  • นิสิตไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร 
  • พื้นที่สาธารณะไม่เพียงพอ/ไม่เหมาะสม 
  • นิสิตขาดจิตสำนึกต่อส่วนรวม
  • ประชากรมีจำนวนมาก 
การแก้ไขปัญหาต้องมุ่งไปที่สาเหตุของปัญหา หากพิจารณาตามผลการวิเคราะห์ของกลุ่มนี้ โดยใช้หลัก ๓ ประการ คือ ๑) ทำได้และท้าทาย ๒) เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ๓) แก้ไขเกิดความยั่งยืน (หรือยั่งยืนพอสมควร) (อ่านรายละเอียดที่นี่) จะพบว่า เรื่องการเพิ่มพื้นที่และการลดประชากรนั้นไม่น่าจะทำได้โดยศักยภาพของนิสิต ส่วนเรื่องจิตสำนึกและเรื่องวินัยของนิสิตนั้น หากจะทำให้ได้ผลเกิดความยั่งยืน จะต้องปรับพฤติกรรมและทำอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ด้วยเวลาและศรัทธาต่อเพื่อนนิสิตที่ยากจะเชื่อถือฟังกันโดยง่าย  ดังนั้น สาเหตุที่เหลือเพียงข้อเดียวคือ การไม่ปฏิบัติตามกฏจราจร  

หากกลุ่ม จอร์จ วอชิงตัน จะเลือกปัญหาและสาเหตุข้อนี้ มาเพื่อทำเป็นโครงงาน สิ่งที่ต้องดำเนินการขั้นต่อไปคือ การศึกษาสภาพปัญหาให้แน่ชัด เช่น 
  • มีจุดใดบ้างที่นิสิตไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร (ภายในมหาวิทยาลัย)  ควรแยกกันไปสังเกตหลาย ๆ จุด มีการบันทึกพฤติกรรมการไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเป็นระบบ มีการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ
  • ควรแบ่งสมาชิกไปขอข้อมูล หรือสืบค้นข้อมูล เกี่ยวกับการทำผิดกฎจราจรของนิสิต จากกองกิจการนิสิต เจ้าหน้าที่ รปภ. สุ่มถามชาวบ้าน ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมนั้น 
  • ควรมีการสุ่มถาม หรือ ออกแบบสอบถาม นิสิตกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน ถึงสาเหตุที่ทำให้นิสิตไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร 
  • ฯลฯ
ยกตัวอย่างเช่น  จุดที่นิสิตทำผิดกฎจราจรมากที่สุดจุดหนึ่งคือ บริเวณวงเวียนหน้าโรงเรียนเทศบาลท่าขอนยาง เป็นต้น


กลุ่มต่อไป ขอยกไปบันทึกหน้าครับ....
หมายเลขบันทึก: 644458เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2018 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2018 10:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Salute!

We have a group of (Buddhistic) 'free thinkers' who can look at things as they are and more thoroughly!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท