ความหลากหลายของ ‘ธุรกิจพอเพียง’ : ยิ่งหลากหลาย ยิ่งงดงาม



ผมต้องขอขอบพระคุณ ดร.ฤทธิไกร ไชยงาม สำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัย มหาสารคาม และบรรดาอาจารย์สอนวิชา ‘ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’ ทุก ๆ ท่านที่ได้ให้ความสำคัญต่อ หลักปรัชญา ฯ ของพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รวมทั้งให้ความสำคัญต่อแนวคิดที่ผมริเริ่มไว้ นั่นคือ ‘ธุรกิจพอเพียง’ 

‘ธุรกิจพอเพียง’ นั้นให้ความสำคัญกับ ๒ เรื่องใหญ่ นั่นคือประสบการณ์ของการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ และการได้น้อมนำหลักปรัชญา ฯ ซึ่ง ดร.ฤทธิไกร ท่านได้ช่วยเจียรไนให้ ‘คม’ ขึ้นไปอีกโดยเพิ่มคำว่า “ในทุกกระบวนการ” (โปรดดู ธุรกิจพอเพียง”  ในบริบทของรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง https://www.gotoknow.org/posts...

‘ธุรกิจพอเพียง’ นั้นเป็นเรื่องของการเรียนรู้ระหว่างการทำงาน ไม่ใช่ลำพังเรื่องของวิชาการล้วนๆ จึงเป็นการผสมผสานระหว่าง ‘วิชาความรู้’ และ ‘วิชาที่มาจากการปฏิบัติ’ (กิจกรรม) ที่สมดุล และเกิดการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อโลกปัจจุบันและอนาคต ที่นิยมเรียกกันว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ คือนอกจากการอ่านออกเขียนได้และคิดเลขเป็นแล้ว ยังต้องมีทักษะอื่นๆเช่น การเรียนรู้, การใช้เทคโนโลยีเพื่อการค้นคว้าข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งปัจจุบันอาจจะต้องหมายถึง Social Media และการใช้ Big Data, การทำงานร่วมกับผู้อื่น, การสื่อสาร, การคิดวิเคราะห์และการคิดสร้างสรรค์ ซึ่งไม่ได้แปลว่า ทำแค่ภาคการศึกษาเดียวแล้วจะได้ทั้งหมด

สำนักศึกษาทั่วไปได้เดินทางเข้ามาขอชมโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๑ และด้วยความว่องไวในการเรียนรู้ของคณะอาจารย์ จึงได้มีการจับประเด็น ประเภทของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ซึ่งมีสองประเภทอันได้แก่ (๑) โครงการที่ไม่ใช่ธุรกิจ (๒) โครงการกึ่งธุรกิจ ไปขยายความให้เหมาะสมกับรูปแบบการเรียนรู้ธุรกิจพอเพียงในบริบทของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีนิสิตลงทะเบียนเรียนเป็นจำนวนมาก

ผมได้เรียนรู้การถอดบทเรียนจากคณะอาจารย์และนำมาออกแบบเพิ่มเติมในรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นสิ่งที่ผมไม่ได้ถนัด เนื่องจากเป็นอาจารย์ก็จริง แต่ความเป็นอาจารย์อาชีพนั้นมีเพียงช่วงสั้นๆ (๒๕๓๐-๒๕๓๔) การร่างหลักสูตร แผนการสอนและการออกแบบหน่วยเรียนรู้ เพิ่งจะมาฟื้นกันอีกรอบในปลายปี ๒๕๕๘ เมื่อได้มาเป็นคณะทำงานของ รมช.ศธ. และสพฐ.นำเอา ‘ธุรกิจพอเพียง’ ไปเป็นหนึ่งในรูปแบบการเรียนรู้ ของการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ตามแนวทางการจัดการทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ที่เน้นสมรรถนะทางสาขาวิชาชีพ

ธุรกิจพอเพียง”  ในบริบทของรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของสำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาสารคามซึ่งมีความหมาย หลักการ และองค์ประกอบตรงกับสิ่งที่ผมริเริ่มไว้เมื่อกลางปี ๒๕๕๘ และได้มีการประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบทของมมส. ปัจจุบันนี้สามารถกล่าวได้ว่าสิ่งที่ผมขับเคลื่อนอยู่นั้น อยู่ในบริบทของมัธยมศึกษา, มหาวิทยาลัย เกษตรกร รวมทั้งธุรกิจเอกชน ยิ่งหลากหลายเท่าไหร่ยิ่งสะท้อนเจตนารมณ์ที่ผมปรารถนา

ท่านผู้สนใจสามารถอ่านสรุป ‘ธุรกิจพอเพียง’ ได้จากบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือ ๘๐ ปี เตรียมอุดมศึกษา ๘๐ วิสัยทัศน์ถอดรหัสอนาคตประเทศไทย


 ที่นี่ http://www.gotoknow.org/posts/...

 

หมายเลขบันทึก: 644394เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2018 05:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2018 05:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ ...  คำว่า "พอเพียง"  สำหรับผมแล้ว เป็นคำมงคล ที่นำไปสู่ความ "สุขสานติ"  เมื่อนำไปต่อกับสิ่งใด คำใด ย่อมให้ผลไปในทางเดียวกัน (ถ้าเราทำได้ถูกต้อง "พอเพียง")  ยุคนี้เป็นยุคแห่งสังคมเมือง  สังคมเมืองต่างจากสังคมบ้านนอก ชนบท ตรงที่มีคำว่า "ธุรกิจ"  ดังนั้น การสืบสานพระราชปณิธาน ผ่านคำว่า "ธุรกิจพอเพียง" จึงเหมาะสมยิ่ง ครับ ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท