รู้หรือไม่ว่าที่ตั้ง ม.รามฯ หัวหมากเคยเป็นสถานที่จัดงานแสดงสินค้ามาก่อน...


เมื่อ พ.ศ.2511 ได้มีการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติแห่งประเทศไทย ขึ้นที่หัวหมาก และภายหลังจากจัดงาน พื้นที่ดังกล่าวก็ได้พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยรามคำแหง

รู้หรือไม่ว่าที่ตั้ง ม.รามฯ หัวหมากเคยเป็นสถานที่จัดงานแสดงสินค้ามาก่อน...

อรรถการ สัตยพาณิชย์

 

          สถานที่จัดงานหรือ Venue ที่สำคัญๆ ทั้งการจัดกิจกรรมทางการตลาดหรือเรียกกันสั้นว่าจัดอีเวนท์ (Event Marketing) รวมถึงสถานที่จัดงานแสดงสินค้านั้นมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคตามสมัย

          จากการศึกษาค้นคว้าในเอกสารต่างๆ นับตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา พบว่า ในรัชสมัยพระองค์ท่านได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ไว้ให้เป็นสมบัติของประชาชนเพื่อจัดงาน สยามรัฐพิพิธภัณฑ์ เป็นแสดงสินค้าไทยแก่ชาวโลกเป็นครั้งแรก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการค้าของประเทศ แต่งานแสดงสินค้าดังกล่าวไม่ทันได้จัด รัชกาลที่ 6 ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน

          แต่งานดังกล่าวได้มาจัดขึ้นในสมัย รัชกาลที่ 7 โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ และพระราชินีได้เสด็จทอดพระเนตรงานแสดงสินค้า และกล่าวได้ว่าการจัดงานในครั้งนั้นน่าจะเป็นยุคต้นๆ ของการแสดงสินค้าในรูปแบบสมัยใหม่ของไทย

          ในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ.2511 ได้มีการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติแห่งประเทศไทย ขึ้นที่หัวหมากเป็นเวลา 18 วัน มีบริษัทเข้าร่วมประมาณ 500 บริษัท และมีรัฐบาลประเทศต่างๆ สนใจเข้าร่วมงานถึง 9 ประเทศ ครั้งนั้นถือว่าเป็นงานแสดงสินค้าที่จัดได้ยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงหลัง พ.ศ.2500 เป็นต้นมา และภายหลังจากจัดงาน พื้นที่ดังกล่าวก็ได้พัฒนาเป็น มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่มีการเปิดการเรียนการสอนจนมาถึงปัจจุบัน

          นอกจากนี้ยังมีอีกสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่นิยมจัดงานในอดีตคือ สวนอัมพร หลังจากนั้นก็มาถึงยุคการสร้างศูนย์ประชุม ศูนย์นิทรรศการ และศูนย์แสดงสินค้าที่เป็นกิจจะลักษณะ เริ่มจากการสร้างศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (Queen Sirikit National Convention Center - QSNCC) ขึ้น หลังจากนั้นก็เป็นยุคภาคเอกชนลงทุนก่อสร้าง ประกอบด้วย ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (Bangkok International Trade & Exhibition Centre: BITEC) และศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี (IMPACT Exhibition and Convention Center) ซึ่งอิมแพคนับเป็นศูนย์จัดแสดงสินค้าและการประชุมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  โดยในแต่ละปีจะมีการจัดงานอีเวนท์ต่างๆ มากกว่า 400 งาน และมีผู้เยี่ยมชมมากกว่า 15 ล้านรายต่อปี  

          ในต่างจังหวัดก็มีหลายแห่ง เช่น ศูนย์ประชุมพีช (Pattaya Exhibition and Convention Hall - PEACH) ตั้งอยู่เมืองพัทยา ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2554 หรือศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เชียงใหม่ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี (The 60th Anniversary of His Majesty the King's Accession to the Throne International Convention Center) ซึ่งเป็นศูนย์ประชุมของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตั้งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นต้น และข่าวล่าสุดที่ออกสื่อแล้วก็คือ สวนนงนุช พัทยาได้ทุ่มงบพันล้านบาทเพื่อสร้างศูนย์ประชุมนานาชาตินงนุชพัทยาเพื่อรองรับ EEC เช่นกัน


คำภาษาอังกฤษที่มีความหมายใกล้เคียงกับ Exhibition/Trade Show

           คำที่ใช้ในความหมายใกล้เคียงกับ Exhibition/Trade Show มีอยู่หลายคำ เช่น Exposition, Salon, Trade Display, Trade Fair, Road Show ฯลฯ แต่จะเลือกใช้คำใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายและความชอบของผู้จัดงาน

          คำว่า Exhibition/Trade Show จะหมายถึง งานที่มีการจัดแสดงตัวสินค้า (Exhibit) และมีการซื้อขาย (Trade) เกิดขึ้นในงานหรือภายหลังงาน แต่ งานออกร้าน (Fair) จะหมายถึงกิจกรรมที่มีการละเล่นความบันเทิงสนุกสนาน รวมทั้งมีการขายของ และมักมีงานสาธารณกุศลเข้ามาเกี่ยวข้อง

          แต่คำที่มีความหมายใกล้เคียง Exhibition คำหนึ่งคือ Exposition ความแตกต่างของทั้งสองคำนี้อยู่ที่ Exhibition จะใช้เวลาในการจัดยาวนานกว่า และเป็นงานที่มีขนาดใหญ่ มักจะเน้นการแสดงทางด้านเทคโนโลยี รวมทั้งโชว์ให้เห็นวิวัฒนาการในเชิงให้ความรู้ ที่สามารถสัมผัส หรือสอบถามพูดคุยกันได้โดยตรง ส่วนการซื้อขายจะไม่มีเลย หรือถ้ามีก็น้อยมาก เนื่องจากไม่ใช่จุดประสงค์หลัก

          อย่างไรก็ตาม Exhibition และ Exposition ไม่จำเป็นต้องจัดปะปนกันในหลายอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่มักเจาะไปยังอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง เช่น งานเฟอร์นิเจอร์ เครื่องหนัง รถยนต์ เป็นต้น

 

ความเป็นมาของงานแสดงสินค้า

           ความเป็นมาของ Trade Fair นั้น ในเว็บไซต์ www.ufinet.org ของ The Global Association of The Exhibition Industry ได้กล่าวว่า เป็นรูปแบบการค้าขาย ที่มีมาตั้งแต่สมัยอียิปต์และอาณาจักรโรมัน และคำๆ นี้ใช้กันเป็นครั้งแรกตั้งแต่ในสมัยยุคกลาง รากศัพท์มาจากคำในภาษาละตินว่า Feria หมายถึง งานเฉลิมฉลองทางศาสนาที่จัดใกล้ๆ โบสถ์ ส่วนเยอรมันจะใช้คำว่า Messe มาจาก Missa ซึ่งเป็นขั้นตอนที่บาทหลวงกล่าวคำว่า ite, Missa est ก่อนที่จะสิ้นสุดพิธีกรรมทางศาสนา และถือเป็นสัญญาณในการเปิดค้าขายในตลาดที่จัดขึ้นบริเวณรอบๆ โบสถ์

 

งานแฟร์แรกจัดขึ้นที่ฝรั่งเศส

           Trade Fair งานแรก รู้จักกันในชื่อ Foire de Saint Denis จัดขึ้นใกล้ๆ กรุงปารีส โดยกษัตริย์ Dagobert เมื่อปี 629 ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 18 และ 19 การปฏิวัติอุตสาหกรรมได้มีการผลิตสินค้าออกมาเป็นจำนวนมาก และภายในงานนิทรรศการ หรืองานแสดงสินค้าที่จัดขึ้น ส่วนใหญ่จะมีสินค้าตัวอย่างแจกให้ผู้ที่มาร่วมงาน จน Trade Fair ในช่วงนั้นถูกขนานนามว่า Sample Fairs

        จุดเริ่มต้นของงาน Sample Fairs สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในงานแฟร์ที่มีชื่อว่า Leipzig Fair

      แต่ในศตวรรษที่ 20 งานแสดงสินค้าได้รับความนิยม เนื่องจากมีการพบปะเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ปัจจุบันการขยายตัวของนิทรรศการ และงานแสดงสินค้าที่ทำรายได้เป็นจำนวนมาก  ทำให้หลายประเทศต่างแย่ง หรือเสนอตัวเป็นเจ้าภาพหรือให้ใช้สถานที่เป็นที่จัดงาน          

               

รูปภาพบรรยากาศการจัดงานแสดงสินค้า จาก www.messefrankfurt.com  


         หน่วยงานที่ดูแลการจัดนิทรรศการและงานแสดงสินค้าของเยอรมันคือ Messe Frankfurt นับเป็น Organizer ที่จัดงาน Trade Fair ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ให้ข้อมูลในเว็บไซต์ www.messefrankfurt.com ว่าในแต่ละปีจะมีงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติที่มีการวางแผนงานล่วงหน้าแบบข้ามปีเป็นจำนวนมาก โดยมี International Fair ที่กระจายไปจัดตามเมืองต่างๆ ทั่วโลก

 

“Encarta” บอกว่า Exhibition ครั้งแรกเกิดที่ UK

           แต่ในสารานุกรม Encarta ให้ข้อมูลการจัดนิทรรศการ (Exhibition) ว่าเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1756-1757 ในอังกฤษ โดย สมาคมศิลปะ (Society of Arts) ลักษณะของงานเป็นการแสดงสินค้า และมอบรางวัลให้แก่ผลิตภัณฑ์ในเชิงอุตสาหกรรม แต่วัตถุประสงค์ของการจัดงานไม่ได้มุ่งหวังให้เป็นงานในลักษณะผู้ผลิตพบผู้บริโภค แต่เป็นไปเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์มากกว่าขายสินค้า

          นอกจากนี้ในสารานุกรม Encarta ยังได้แบ่งการเกิดขึ้นของนิทรรศการ 3 ประเภทใหญ่ๆ ไว้ดังนี้

          ประเภทแรก นิทรรศการเกี่ยวกับอุตสาหกรรม (Industrial Exhibition) จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงเบอร์ลิน เมื่อ ค.ศ.1877 เป็นงานแสดงสินค้าประเภทเครื่องหนัง

          ประเภทที่สอง เป็นนิทรรศการที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐอเมริกา ลักษณะของงานจะเป็น การอิงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ งานที่มีชื่อเสียงที่จัดขึ้นในสมัยนั้น เช่น Tennessee Centennial Exposition จัดที่เมือง Nashville มลรัฐ Tennessee (1897), Trans-Mississippi Exposition ที่เมือง Omaha รัฐ Nebraska (1898) Lewis and Clark Centennial American Pacific Exposition and Oriental Fair ที่เมือง Portland มลรัฐ Oregon (1905) Jamestown Tercentennial Exposition ที่เมือง Norfolk มลรัฐ Virginia (1907) และ Great Lakes Exposition จัดขึ้นที่เมือง Cleveland มลรัฐ Ohio (1936)

          ประเภทที่สาม เป็น นิทรรศการระดับนานาชาติ (Universal Exposition) มักจัดขึ้นโดยหน่วยงานราชการ หรือรัฐบาล มีสินค้าที่นำมาแสดงหลากหลาย และจัดอย่างยิ่งใหญ่ ครั้งแรกจัดเมื่อ ค.ศ.1851 ณ กรุงลอนดอน โดยเจ้าชาย Albert พระสวามีของพระราชินีวิคตอเรีย ทรงเป็นองค์ประธานของสมาคมศิลปะ (Society of Arts) เรียกงานนี้ว่า งานวังแก้วผลึกแห่งกรุงลอนดอน (London’s Crystal Palace) ต่อมากรุง Dublin และนิวยอร์ก ก็ได้จัดงานประเภทนี้ขึ้นเมื่อปี 1853 และ 1855 ตามลำดับ

 

ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมางาน World’s Fairs เติบโต

           พอมาถึงในช่วงศตวรรษที่ 20 นิทรรศการนานาชาติ (International Exhibitions) ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วและนิยมเรียกงานประเภทนี้ว่า World’s Fairs ในงานจะมีทั้งการแสดงเทคโนโลยีใหม่ๆ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ได้เกิดการรวมตัวกันของประเทศต่างๆ ประมาณ 70 ประเทศตั้ง International Bureau of Expositions ขึ้นเมื่อปี 1923 สำนักงานใหญ่อยู่ที่ฝรั่งเศส เพื่อให้คำปรึกษา และแนวทางการปฏิบัติในการจัดนิทรรศการระดับนานาชาติแก่บรรดาสมาชิก

          งานนิทรรศการและงานแสดงสินค้าที่เป็นที่กล่าวขวัญกันมาตลอดในช่วงศตวรรษที่ 20 ได้แก่ งาน Louisiana Purchase Exposition (1904) ที่เมือง St.Louis มลรัฐ Missouri, งาน Panama-Pacific International Exposition (1915) ที่เมือง San Francisco, งาน Sesquicentennial Exposition (1926)  ที่เมือง Philadelphia, งาน Century of Progress International Exposition (1933-1934) ที่เมือง Chicago งาน Paris International Exposition (1937) ที่กรุงปารีส, งาน New York World’s Fair (1939-1940), งาน Brussels’ World’s Fair (1958) ที่กรุง Brussels, งาน  Century 21 Exposition (1962)  จัดที่เมือง Seattle มลรัฐ Washington, งาน New York World’s Fair (1964-1965) ที่กรุงนิวยอร์ก, งาน Expo’67 (1967) จัดที่เมือง Montreal, งาน Expo’70 (1970) จัดที่เมือง Osaka ประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ

 

หมายเหตุ: เนื้อหาตีพิมพ์ในนิตยสาร BrandAge Essential เล่ม Experiential & Branding เมื่อ พ.ศ.2555 

                                                                         

หมายเลขบันทึก: 644308เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2018 18:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2018 20:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท