ศึกษา “หุ่นยนต์” ที่ MIRAIKAN: พิพิธภัณฑ์สร้างแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมของญี่ปุ่น


ความก้าวหน้าของวิทยาการด้านหุ่นยนต์ที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากมหาวิทยาลัยได้ร่วมแรงประสานใจดังจะเห็นได้จากในปี ค.ศ. 1969 มหาวิทยาลัยวาเซดะ ได้ปักหมุดหลักกิโลเมตรแรกต่อมามหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ได้เข้ามาร่วมสร้างองค์ความรู้กันอย่างแข็งขันโดยไม่แบ่งเขาแบ่งเขา จนมรรคผลที่ได้ในวันนี้ก็คือหุ่นยนต์ญี่ปุ่นมีการพัฒนาไปอย่างก้าวไกล

ศึกษา“หุ่นยนต์” ที่ MIRAIKAN

พิพิธภัณฑ์สร้างแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมของญี่ปุ่น

                                                                                     อรรถการ สัตยพาณิชย์        

            การสร้าง “แรงบันดาลใจ” ให้เด็กเยาวชนรุ่นใหม่ของประเทศได้เกิดพลังความคิดสร้างสรรค์ที่จะพัฒนานวัตกรรมนับเป็นจิ๊กซอว์หนึ่งที่จะช่วยให้กำลังสำคัญของชาติในอนาคตได้เกิดจิตวิญญาณของนักประดิษฐ์คิดค้น  และก้าวมาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศสู่ยุค Thailand 4.0 ตามที่รัฐบาลต้องการ

            หากสำรวจประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีมีสิ่งประดิษฐ์ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม “ญี่ปุ่น”นับเป็นประเทศหนึ่งที่คนในชาติรู้จักต่อยอดเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ซากิชิ โทโยดะ ผู้ก่อตั้งบริษัทโตโยต้าก็ได้แรงบันดาลใจในการผลิตรถยนต์จากการได้เดินทางไปยุโรปและซื้อรถยนต์มาถอดแบบ จนพัฒนาไปสู่การผลิตรถยนต์โตโยต้าในที่สุด

           จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นจะมีการเก็บรวบรวมเรื่องราวเพื่อบันทึกความเป็นมาของผู้พัฒนา รวมถึงนวัตกรรมที่ได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ผู้พัฒนาก็มักจะเป็นเจ้าของหรือผู้ก่อตั้งบริษัท ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความมุมานะอุตสาหะ  และนอกจากพิพิธภัณฑ์เอกชนที่เห็นกันอยู่ทั่วไปแล้ว ในส่วนของรัฐบาลเองก็ได้เห็นความสำคัญในการสร้างพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้น เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้ยุวชนรุ่นหลังได้เจริญรอยตามบรรพชนที่มีหัวคิดทั้งในด้าน R&D และ C&D (Copy& Development) ซึ่งเป็น DNA สำคัญที่จะช่วยให้ประเทศชาติได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด

 

Miraikan: พิพิธภัณฑ์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้มาเยือน

            พิพิธภัณฑ์ “มิไรคัง”หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า National Museum of Emerging Science and Innovation (Miraikan)” ตั้งอยู่เมืองโอไดบะ (Odaiba) เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำและเปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน รวมทั้งผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และสัมผัสกับประสบการณ์ที่ทันสมัยที่สุดแห่งโลกเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น

รูปภาพที่ 1 การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์มิไรคัง

            ทุกอย่างที่จัดแสดงน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็น Geo-Cosmos” (จีโอ คอสมอส) ที่กินพื้นที่ตั้งแต่ชั้น 1 จนถึงชั้น 6 มีลักษณะเป็นแบบจำลองลูกโลกที่สร้างขึ้นจากเครื่องกลทรงกลมสามารถแสดงมุมมองต่างๆ บนโลก ทั้งที่เป็นผิวดิน เขตแดนประเทศต่างๆ ไปจนถึงชั้นโอโซน ผ่านทางจอแสดงผลได้มากกว่า 1,000 ภาพ


รูปภาพที่ 2 “Geo-Cosmos” ที่แสดงภาพได้มากกว่า1,000 ภาพ

เรียนรู้พัฒนาการและสัมผัสกับหุ่นยนต์

            สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในพิพิธภัณฑ์มิไรคังก็คือ การแสดงให้เห็นพัฒนาการของหุ่นยนต์ ซึ่งญี่ปุ่นมีการพัฒนามาเป็นลำดับ สำหรับความเป็นมาของหุ่นยนต์ 2 ขา เดินได้ ตัวแรกมีชื่อว่า WAP-1 เกิดขึ้นจากห้องปฏิบัติการ IchiroKato Laboratory ของมหาวิทยาลัยวาเซดะ เมื่อ ค.ศ. 1969 มีส่วนสูง 89 เซนติเมตร น้ำหนัก 2.2 กิโลกรัม


รูปภาพที่ 3 “WAP-1” หุ่นยนต์ที่เกิดจากห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยวาเซดะเมื่อ ค.ศ. 1969


            อย่างไรก็ตามการพัฒนาหุ่นยนต์ ตั้งแต่ ค.ศ. 1969 จนถึง ค.ศ. 1990 รูปร่างหน้าตายังไม่สวยงามมากนัก แต่สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาหุ่นยนต์ของญี่ปุ่นก็คือ การที่สถาบันอุดมศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็น Universityof Tokyo, Chiba University, Tokyo Institute of Technology, Shibaura Instituteof Technology ฯลฯ  

            พัฒนาการของหุ่นยนต์มีมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่ง ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา หุ่นยนต์มีความสวยงาม  เหมือนคนมากขึ้น และในส่วนของหุ่นยนต์ที่มีการนำมาแสดงในพิพิธภัณฑ์มิไรคังก็คือ ASIMO ซึ่งเป็นผลงานการพัฒนาของบริษัทฮอนด้าที่มีความสามารถ ทั้งในการเดินการวิ่ง และร้องเพลง เหมือนกับคนจริงๆ    


รูปภาพที่ 4 บรรยากาศการแสดงหุ่นยนต์ ASIMO 

            แต่ที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งกว่า ASIMO ก็คือการแสดงหุ่นยนต์ OTONADROID” และ KODOMODROID” ที่มีรูปร่างหน้าตารวมทั้งการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย หรือการแสดงอารมณ์ต่างๆ เหมือนคนจริงๆ มากยิ่งขึ้น


รูปภาพที่ 5 หุ่นยนต์OTONADROID” และ KODOMODROID”

            สำหรับประเทศไทยแม้จะมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในงานต่างๆ มากกว่าในอดีต แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังต้องมีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่องบทเรียนจากการไปเยี่ยมชมพัฒนาการของหุ่นยนต์ญี่ปุ่นที่พิพิธภัณฑ์มิไรคังก็คือความก้าวหน้าของวิทยาการที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากมหาวิทยาลัยได้ร่วมแรงประสานใจดังจะเห็นได้จากในปี ค.ศ. 1969 มหาวิทยาลัยวาเซดะ ได้ปักหมุดหลักกิโลเมตรแรกต่อมามหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ได้เข้ามาร่วมสร้างองค์ความรู้กันอย่างแข็งขันโดยไม่แบ่งเขาแบ่งเขา จนมรรคผลที่ได้ในวันนี้ก็คือหุ่นยนต์ญี่ปุ่นมีการพัฒนาไปอย่างก้าวไกล

             มาถึงวันนี้มหาวิทยาลัยของไทยควรจะต้องเป็นแหล่งรวมสรรพวิชาความรู้ รวมทั้งเป็นอาหารสมองหรือ food of thought ที่สามารถจุดประกายความคิดและเริ่มต้นพัฒนา เพื่อให้ภาคเอกชนได้มาต่อยอด นอกจากนี้ยังจะต้องเป็นแหล่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็ก เยาวชน และคนในชาติได้เห็นความสำคัญในการประดิษฐ์คิดค้นที่มีต่อการพัฒนาประเทศโดยไม่ละเลยการปลูกฝังในเรื่อง “วินัยชาติ”  ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังที่ทำให้ญี่ปุ่นเกาหลีใต้ และไต้หวันก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และก้าวข้ามประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางได้อย่างสมบูรณ์...


หมายเหตุ: เผยแพร่ในเอกสารหลักสูตร นบม.รุ่นที่  28

หมายเลขบันทึก: 644091เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2018 19:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2018 06:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท