เก็บตกวิทยากร (40) ปรับกระบวนการ (ผ่านประเด็นมองปัญหาตัวเองและสิ่งรอบตัว​)


เราจะแก้ปัญหาได้ หรือพัฒนาได้ ทุกอย่างควรต้องเริ่มจากการมองให้เห็นปัญหาและสาเหตุของปัญหา เพื่อที่จะคลี่คลายให้ถูกจุด เสมือนการ ‘เกาให้ถูกที่คัน’ นั่นเอง”

ก่อนเริ่มงานวันนี้  (วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2560)  ผมหารือกับทีมงานเกี่ยวกับกระบวนการปรับความคาดหวังก่อน  หรือกระทั่งปรับกระบวนการเพื่อนำเข้าสู่การอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการคุณธรรมจริยธรรมเฉลิมพระเกียรติ ระดับอุดมศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปีการศึกษา 2560

การปรับกระบวนการที่ว่านั้น  เป็นเสมือนการเตรียมความพร้อมก่อนมอบเวทีให้วิทยากรหลัก (พระอาจารย์มหาพงษ์นรินทร์ ฐิตว.โส และพระอาจารย์วชิระ สุปภาโส) มารับช่วงขับเคลื่อนต่ออย่างเต็มรูปแบบ


ปรับกระบวนการ : มองปัญหาตัวเองและสิ่งรอบตัว


การปรับกระบวนการที่ว่านั้น  เดิมจะมีเพียงการเปิดวีดีทัศน์เสริมสร้างบรรยากาศและการสอบถามความคาดหวัง (BAR)  เหมือนเช่นทุกครั้งที่เคยนิยมปฏิบัติสืบมาแทบทุกเวที  หากแต่คราวนี้ผมเพิ่มกระบวนการเข้าไปอีกหนึ่งกระบวนการ นั่นคือ  การถามทักนิสิตใน 2 ประเด็น คือ

  • ปัญหาของนิสิตและปัญหาต่างๆ ในมหาวิทยาลัย
  • สาเหตุของปัญหาที่เกิดกับนิสิตและมหาวิทยาลัย



กระบวนการที่ว่านั้นเป็นการตั้งคำถามกว้างๆ เพื่อมิให้บีบรัดความรู้สึก  หรือจำกัดพื้นที่ทางความคิดของนิสิตมากนัก  เป็นการถามทักที่เน้นให้นิสิตได้ “ทบทวนตัวเองผ่านประเด็นปัญหาใกล้ตัว”  และขีดเขียนผ่าน “บัตรคำ”   

เอาจริงๆ เลยนะ  ผมมีเหตุผลของผม  กล่าวคือ  ผมได้ซ่อนแนวคิดไว้เงียบๆ ว่า นี่คืออีกหนึ่งขั้นตอนของการทำงานโครงการคุณธรรมจริยธรรมฯ  อันหมายถึงการพัฒนาตนเองและสังคมรอบตัว หรือการมีจิตสำนึกที่ดีต่อการรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม  ซึ่งประเด็นที่ถามนั้นคือ “โจทย์” ของการทำงานโครงการคุณธรรมจริยธรรมฯ ดีๆ นั่นเอง 

หรือในอีกมุมหนึ่งก็คือการฝึกให้นิสิตได้ใช้กระบวนการปรัชญาของ “อริยสัจ 4” (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) เข้ามาหนุนเสริมการพัฒนานิสิต เพื่อให้มีทักษะในการสำรวจปัญหา (ทุกข์) หรือการคิดวิเคราะห์  สาเหตุของปัญหา (สมุทัย) 

สองประเด็น หรือสองคำถามข้างต้น  ผมเจตนาที่จะยังไม่ทะลุไปถึงกระบวนการขบคิดเพื่อกำหนดเป้าหมาย (นิโรธ) และการกำหนดรูปแบบวิธีการเพื่อลงมือปฏิบัติการสู่การแก้ปัญหา/พัฒนา (มรรค)  เพราะกระบวนการที่ว่านี้  เป็นเพียงการเรียกน้ำย่อย  โดยไม่ลืมที่จะบอกย้ำกับนิสิตว่า “เราจะแก้ปัญหาได้  หรือพัฒนาได้  ทุกอย่างควรต้องเริ่มจากการมองให้เห็นปัญหาและสาเหตุของปัญหา  เพื่อที่จะคลี่คลายให้ถูกจุด  เสมือนการ ‘เกาให้ถูกที่คัน’ นั่นเอง”


ภาพสะท้อน : ปัญหาตัวเองและสิ่งรอบตัว


ผมไม่ได้ชี้นำนิสิตว่าปัญหาที่แต่ละคนได้สะท้อนมานั้นต้องถูกนำมาเป็น “โจทย์” หรือ “ประเด็น”  ของการขับเคลื่อนโครงการคุณธรรมจริยธรรมฯ  ในครั้งนี้  เพราะเป็นเพียงกระบวนการขั้นต้นในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การอบรมเชิงปฏิบัติการเท่านั้น

และที่สำคัญคือ  นิสิตยังต้องหารือเพื่อนร่วมทีม หรือแม้แต่ที่ปรึกษาเสียก่อนว่าโจทย์หรือประเด็นที่ “อยากจะทำ”  เหมาะสมภายใต้บริบทของตนเองหรือไม่  หรือสัมพันธ์กับหมุดหมายของการเรียนรู้อย่างไร –

แต่ที่แน่ๆ  เมื่อนำข้อมูลที่นิสิตสะท้อนมาจัดหมวดหมู่ก็พบประเด็นบนปรากฏการณ์จริงในหลายๆ เรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้  เป็นต้นว่า

  • ปัญหาที่ตัวนิสิต เช่น  วินัยจราจร  วินัยต่อการจัดการขยะ  วินัยการใช้ตลาดน้อย (โรงอาหาร) วินัยต่อการเรียน  ขาดทักษะในการสื่อสารสร้างสรรค์ (สุ จิ ปุ ลิ)  ขาดความตระหนักในเรื่องความเป็นไทย และพหุวัฒนธรรม

  • ปัญหาที่เกี่ยวกับอาจารย์และเจ้าหน้าที่  เช่น  การตัดเกรด  การทิ้งขยะ  วินัยจราจร  การติดยึดกับทัศนคติส่วนตัวมากจนเกินเหตุ  ส่งผลให้นิสิตไม่มีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้
  • ปัญหาที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัย  เช่น  สถานที่จอดรถไม่เพียงพอ  สัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สาย   ความสะอาดและการชำรุดของห้องสุขาและตลาดน้อย   ความสะอาดของน้ำในหอพัก  ขาดแคลนพื้นที่จัดกิจกรรมในลักษณะของอาคารพลศึกษา
  • ปัญหาที่เกี่ยวกับชุมชนและสังคม เช่น  วัยรุ่นป่วนเมือง  สุนัขจรจัด  ด่านลอย



ครับ – นี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นโดยสังเขปที่ผมและทีมงานปรับกระบวนการขึ้นมาโดยมิได้นัดหมายกันล่วงหน้า  เป็นการปรับเพราะประเมินสถานการณ์ให้เหมาะสม หรือเกื้อหนุนต่อกระบวนการเรียนรู้ที่กำลังจะมีขึ้น

คงต้อง “ใจเย็น”  กันอีกสักนิด  เพราะต้องมารอลุ้นกันว่า  เมื่อถึงวาระต้อง “พัฒนาโจทย์” หรือ “ขึ้นโครงการ”  ในระบบทีมของนิสิต ประเด็นเหล่านี้  จะถูกนำมาใช้จริงทำจริงกันหรือไม่ ....

ใช่ครับ --- ต้องมารอดู รอลุ้นกันอีกที  เพราะการทำงานครั้งนี้  ต้องเกิดจากแรงขับเคลื่อนจากภายในตัวตนของนิสิต  ผมและทีมงานจะไม่กำหนด  หรือสั่งการว่าเรื่องนี้-ประเด็นนี้ควรทำ หรือไม่ควรทำ  ตรงกันข้ามนิสิตต้อง "คิดเอง เลือกเอง และลงมือทำเอง"  ผมและทีมงาน รวมถึงผู้บริหารและที่ปรึกษาจะสวมบทบาทเป็น “โค้ช”  คอยทำหน้าที่หนุนเสริมอยู่ใกล้ๆ ...

ส่วนประเด็น BAR  ไว้มีเวลาจะนำมาบอกเล่าในรอบถัดไป  

บางทีคงบอกเล่าพร้อมๆ กับผลของการ AAR โน่นเลย (นะครับ)

 


 

 

หมายเลขบันทึก: 643341เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2017 12:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2017 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

มาตื่นเต้น  ต่อ  การตอบโจทย์  ของนักศึกษาและเหล่าคณาจารย์  เจ้าค่ะ...

โจทย์เหล่านี้ทีเห็น..หากมีการกระทำ..ฝึกหัดปฏิบัติ..กันอย่างชัดเจน...เราคงไม่น้อยหน้า  ประเทศญี่ปุ่น  แน่ๆ..

คิดเอง  ลงมือทำเอง ... ช้า ๆ แต่จะยืนยงนะคะ ^_,^

I see this as entering the water to cross the river. The journey must start with a step and follow another step. Success depends on focusing, persevering and (right) faith.

Good to see āryan way in use again.

ดีมากครับ เป็นกระบวนการที่สอนให้คิดเป็น

อริยสัจ 4 พระพุทธเจ้าทรงสอนถึงกระบวนการ การวิเคราะห์และการคิดหาหนทางแก้ปัญหา
เป็นพระปรีชาญาณที่สอนสืบทอดกันมาหลายพันปีแล้ว

ที่สำคัญ คือการมองปัญหาที่ตัวเองก่อน แก้ที่นี่ก่อนเลย
คนเรามีนิสัยมองออกนอกตัว จะโทษคนอื่นไปเรื่อย  จนลืมมองตัวเองว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วยหรือไม่

3 ประเด็นนี้เป็นทุกที่เลยครับ

  • ปัญหาที่เกี่ยวกับอาจารย์และเจ้าหน้าที่  เช่น  การตัดเกรด  การทิ้งขยะ  วินัยจราจร  การติดยึดกับทัศนคติส่วนตัวมากจนเกินเหตุ  ส่งผลให้นิสิตไม่มีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้
  • ปัญหาที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัย  เช่น  สถานที่จอดรถไม่เพียงพอ  สัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สาย   ความสะอาดและการชำรุดของห้องสุขาและตลาดน้อย   ความสะอาดของน้ำในหอพัก  ขาดแคลนพื้นที่จัดกิจกรรมในลักษณะของอาคารพลศึกษา
  • ปัญหาที่เกี่ยวกับชุมชนและสังคม เช่น  วัยรุ่นป่วนเมือง  สุนัขจรจัด  ด่านลอย
  • ขอชื่นชมการทำงานรอดู AAR ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท