โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

เสบียงในหนทาง


โสภณ เปียสนิท

....................................        

            อีกไม่นานผมต้องเกษียณอายุราชการตามข้อกำหนดกฎหมาย วางแผนว่าจะกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดเมืองกาญจนบุรี ขณะเพื่อนพ้องหลายคนต่างคนต่างคิด บางคนว่า “เกษียณแล้วผมไม่อยากทำอะไรอีกแล้ว เขาให้เลิกทำงานแล้ว เราจะไปทำงานอีกทำไม เงินบำนาญที่ราชการให้ก็ถือว่าพอเพียงเลี้ยงตัวและครอบครัวได้แล้ว ผมว่าแบบพ่อหลวงท่านสอนเรื่องความพอเพียงนั้นดีที่สุดแล้ว” อีกคนก็ว่า  “ผมอยากเดินทางท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปทั่วๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ ผมเชื่อตามหลักการของเหมา เจ๋อตุ๋งที่กล่าวไว้ว่า “อ่านหนังสือหมื่นเล่มมิเท่าเดินทางหมื่นลี้ (ราว 5000 กม.) ที่ผ่านมาทำแต่งาน ถึงบั้นปลายของชีวิตอยากพักผ่อนบ้าง” เขาพูดเหมือนว่าชีวิตไม่เคยพักผ่อน

บางคนก็ว่า “ผมคงต้องกลับไปอยู่กับลูกหลาน เพราะลูกมีหลานให้เชยชมหลายคน การเลี้ยงหลานเป็นความสุขของผม” บางคนกล่าว่า “ผมอยากเข้าวัดปฏิบัติธรรมเพื่อจักได้เตรียมเสบียงไว้ภพหน้า” แนวคิดนี้เข้าที ทุกคนต่างนั่งฟังกันเงียบ เมื่อวัยล่วงเลยมานานมากเข้า ทำให้เรื่องที่ฟังแล้วหัวเราะ กลับกลายเป็นเรื่องที่เกือบทุกคนเห็นคล้อยตามกัน

            ผมได้ฟังเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันพูดคุยกันอย่างออกรส นึกถึงหลักธรรมที่สอนไว้ว่า “ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว” หันกลับมามองตัวเองแล้วตั้งคำถามให้กลับตัวเองว่า “เกษียณอายุราชการแล้วจะเอาอย่างเพื่อนคนไหนดี” โชคดีแม่เหลือที่ดินไว้ให้จำนวนหนึ่ง นี่จึงทำให้ผมปักใจแน่วแน่ว่า “ต้องกลับบ้าน” เพื่ออาศัยที่ดินของแม่เป็นเรือนตาย

ผมเดินทางออกจากบ้านตั้งแต่เล็กด้วยความบังเอิญ เพื่อผจญชีวิตศึกษาหาความรู้ เพื่อทำงานเลี้ยงตนเองและครอบครัว ตามแนวทางของปราชญ์อิสานที่กล่าวไว้ว่า “ครั้นบ่อกจากบ้านบ่เห็นด่านแดนไกล” เชื่อกันว่า คนเราสมัยก่อนนั้นต้องเดินทางออกจากบ้านเพื่อไปแสวงหาประสบการณ์และความรู้ แล้วค่อยกลับมาบ้านเดิมเพื่อพัฒนาบ้านตนเอง ชุมชนของตนให้มีความสุข มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยภาพรวม กล่าวตามหลักปราชญ์ทั่วไปก็ว่า “อยู่เพื่อตัวอยู่แค่สิ้นลม อยู่เพื่อสังคมอยู่คู่ฟ้าดิน” หากมองย้อนกลับเพื่อเทียบหลักทางพระศาสนาก็ว่า “จงเดินทางไปเพื่อประโยชน์ และเพื่อความสุขของประชาชนหมู่มาก” การดำรงชีวิตอยู่ของคนเราควรเป็นไปอย่างนี้

เพื่อนหลายคนถามว่า “แล้วเอ็งเกษียณแล้วจะไปไหน” ผมมักตอบแบบง่ายๆ ไม่ต้องคิดมากว่า “กลับบ้านที่เมืองกาญจนบุรี” เพื่อนถามต่อเหมือนกำลังหาแนวทางของตัวเอง หรือ อาจห่วงใยว่าผมจะไปทำมาหากินอะไร เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมาทำงานเพียงอย่างเดียวคือเป็นครู ทำหน้าที่สอนหนังสือ “กลับไปทำอะไร หรือว่าจะพักผ่อน” ผมแกล้งตีหน้าเศร้า “กะว่าจะเอาอย่างศาสนาฮินดู” เพื่อนทำหน้างงหนัก “อ้าว เอ็งเป็นชาวพุทธ แล้วไปเอาอย่างฮินดูทำไม หรือว่าจะเปลี่ยนศาสนา” เพื่อนกล่าวแล้วหัวเราะ เพราะรู้ว่า ผมปฏิบัติธรรมตามหลักการพระศาสนามานานปีคงไม่เปลี่ยนศาสนา ตามหลักการที่ผู้มิใช่พุทธสร้างวาทกรรมให้คนเข้าใจผิดไปทั่วมานานแล้วว่า “ศาสนาอะไรก็สอนให้คนเป็นคนดีทั้งนั้น”

ผมยิ้มนิดๆ “บังเอิญว่าหลักการใหญ่ตรงกัน เลยแกล้งพูดให้ดูเหมือนว่ามีความรู้หน่อย” เพื่อนทำหน้าเหมือนหมั่นไส้คนแก่แล้วไม่เจียมเช่นผม “ไหนสาธยายมาหน่อยซิว่า หลักอะไรที่ตรงกัน” เขามองหน้าเหมือนคาดคั้น “หลักอาศรม4” เห็นเพื่อนมีความสนใจจึงกล่าว “ศาสนาฮินดูแบ่งช่วงชีวิตไว้ 4 ช่วง “พรหมจารีย์ คฤหัสถ์ วานปรัสถ์ สันยาสี” ช่วงละ 25 ปี ร่วมสี่ช่วงของชีวิตครบ 100 ควรถึงเวลาตายอย่างสงบได้แล้ว”

เพื่อนมองหน้าผมนิ่งๆ เหมือนกำลังคนหาโรคซึมเศร้าจากสีหน้าท่าทางของผม เพราะผมพูดเรื่อง “ตาย” คนทั่วไปถือว่า คนที่พูดเรื่องตายถือว่าพูดสิ่งที่เป็นลาง หรือไม่เป็นมงคลแก่ปาก สำหรับผมเองกลับมีมุมมองแตกต่างออกไป เพราะเชื่อตามคำสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงสอนไว้ว่า “เกิดแก่เจ็บตาย” เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นไปตามธรรมชาติ การฝืนธรรมชาติเป็นเรื่องผิดปกติ ผมกล่าวต่อด้วยความรู้สึกสามัญ

“พรหมจารีย์ ช่วงแรกถือว่าเป็นช่วงของการศึกษาเล่าเรียนถือพรหมจรรย์ คฤหัสถ์ ช่วงการสร้างบ้านสร้างเรือนเป็นฝั่งฝามีคู่ครอง วานปรัสถ์ ช่วงแห่งการเริ่มเรียนรู้ธรรมฝึกฝนตัวเอง สันยาสี ช่วงแห่งการก้าวเข้าสู่วิถีแห่งนักบวช อยู่ป่าอยู่เขาสันโดษสงบฝึกจิตใจให้สงบเป็นสมาธิวิปัสสนาตามแต่ครูอาจารย์จะสอนกันมา” เพื่อนได้ยินแล้วนั่งนิ่ง คงคิดอะไรบางอย่าง

สักครู่เพื่อนจึงกล่าวว่า “แล้วเอ็งจะไปเริ่มพรหมจารีย์ใหม่ที่บ้านเก่าอีกครั้งหนึ่งหรือไง” “เอ๊ะ อย่างนั้นได้ก็ดีนะซิ แต่ว่า ผมจะไปกลับไปเตรียมตัวตายที่บ้าน ก็แค่นั้น ชีวิตเราเป็นอย่างนี้นี่นา” เพื่อนคิดขึ้นได้จึงกล่าวต่อ “อ่อ อยากไปเป็นสันยาสีที่บ้านตัวเอง ว่าอย่างนั้น” ผมรับคำสั้นๆ “ครับ อย่างนั้น” “แต่ไม่เห็นจำเป็นเลยนี่ ตายไม่เห็นต้องเตรียมอะไร ไม่หายใจก็ตายเอง” เพื่อนได้ทีพูดง่ายๆ เหมือนผมบ้าง

ผมพยายามพูดให้แตกต่าง “อย่างนั้นเรียกประมาท ตามหลักของพระศาสนาของเรา” เพื่อนพูดเหมือนประชด “ในเมื่อจะตายตามธรรมชาติอยู่แล้ว จะกังวลไปทำไม” ผมทักท้วง “ไม่ได้ซิ ผมต้องตายอย่างดี” “อ้าว มีตายอย่างดีอีก เอ็งนี่แปลกคน” เพื่อนตำหนิด้วยรอยยิ้ม ผมเห็นเพื่อนอารมณ์ดีพลอยดีใจไปด้วย “แค่ง่ายๆ นะ ไหนๆ ก็ต้องตาย เราควรเตรียมตัวตายตามขั้นตอน อย่างมีสติ รอความตายเหมือนรอเพื่อนที่กำลังจะมาเยือน ยอมรับความตายโดยดุษณี”

เพื่อนเริ่มเห็นดีเห็นงามตามไปด้วย สังเกตจากคำพูดจาสักถาม “ไหนลองว่ามาซิ ขั้นตอนการตายอย่างมีสติที่ว่านั่น” “ขั้นแรกก็ยอมรับการตายว่าเป็นของธรรมดา ขั้นสอง เพื่อความไม่ประมาท เตรียมเสบียงให้พร้อม” “นั่น ต้องมีการเตรียมเสบียงอีกด้วย” “ใช่ซิ เราชาวพุทธพระสอนเรื่องโลกนี้โลกหน้า ชีวิตสัตว์และคนเหมือนการเดินทางอันยาวไกล เกิดแล้วเกิดอีก ดังนั้น ชีวิตของเราที่เกิดมาชาตินี้ เพียงแค่ทางผ่าน หรือสะพานไปสู่ชาติต่อๆ ไปเท่านั้น ไม่ควรยึดติด ใครยึดติดถือว่าขาดปัญญา ขาดครูบาอาจารย์คอยอบรมสั่งสอน”

เพื่อนนั่งฟังเหมือนกำลังฟังพระเทศน์ ผมเลยแซวเล่น “ฟังไว้เฉยๆ นะ ไม่ต้องพนมมือ” “แหม เกือบพนมมืออยู่แล้ว นึกว่าพระมาโปรด ว่าเรื่องการเตรียมเสบียงต่ออีกหน่อยซิ” เพื่อนกล่าวต่อเหมือนติดตลก ผมเห็นว่าเพื่อนเริ่มสนใจจึงกล่าวต่อ “ ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์สนทนากับพราหมณ์แก่คนหนึ่ง ท่านทรงตรัสถามว่า ดูกร พราหมณ์ ผมของท่านขาวโพลน กายของท่านค้อมลง ผิวหนังของท่านเหี่ยวย่น กายของท่านมีเรี่ยวแรงลดลง เหมือนดังใบไม้เหลืองพร้อมจะหล่นจากขั้วเมื่อโดนลมแรงพัดผ่าน เสบียงในการเดินทางไกลท่านเตรียมพร้อมแล้วหรือยัง”

พราหมณ์ชรายืนงงกับคำถามของพระพุทธองค์ “โอ้ ดูก่อนสมณะ เสบียงนั้นคืออะไรเล่า” พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “เสบียงนั้นคือ ทานคือการให้ ศีลคือการสำรวมกายวาจา ภาวนาคือการฝึกใจให้สงบ ทั้งสามอย่างนี้คือเสบียง” พราหมณ์ชราฟังอย่างตั้งใจ “ขอพระองค์อธิบายให้ยิ่งขึ้นไปเถิด” พระพุทธองค์จึงทรงมีพระดำรัสต่อไป “ทานคือการให้สิ่งของเรียกว่า อามิสทาน การให้วิชาความรู้เรียกว่าวิทยาทาน การให้ธรรมะคือความจริงของชีวิตเรียกว่า ธรรมทาน การให้อภัยผู้อื่นโดยสม่ำเสมอ เรียกว่าอภัยทาน การให้ธรรมเป็นทานนั้นถือว่าเป็นการให้อย่างสูงสุด”

“สาธุ ดีแล้วพระเจ้าข้า ส่วนเรื่องของศีลนั้นเล่าเป็นอย่างไร” พราหมณ์สอบถามเพราะความอยากได้ใคร่รู้ พระองค์จึงทรงดำรัสต่อว่า “เรื่องของศีลนั้นคือการสำรวมกายกับวาจาไม่เบียดเบียนตนเองหรือผู้อื่นให้เดือดร้อน มีพื้นฐานอย่างน้อย 5 ข้อ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ใคร ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จโกหกหลอกลวง ไม่ดื่มเครื่องดองของเมาที่ประกอบด้วยแอลกอฮอลอันเป็นเหตุให้การควบคุมสติสัมปชัญญะลดลง” “สาธุ พอเข้าใจแล้วพระเจ้าข้า ขอพระองค์อธิบายขยายความเรื่องภาวนาสืบต่อไปเถิด”

“ดูกรพราหมณ์ ภาวนานั้นคือการทำให้เจริญ ทำให้มาก มีสองทาง สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา สมถภาวนานั้นเพื่อทำให้จิตใจสงบควรค่าแก่การงาน ส่วนวิปัสสนาภาวนานั้นคือการพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง เข้าใจสรรพสิ่งตามความเป็นจริง ไม่ฝืนกฏเกณฑ์อันเป็นจริงตามธรรมดาธรรมชาติ”

“ข้อนี้ค่อนข้างยาก ขอพระองค์อธิบายเพิ่มเติมให้ยิ่งขึ้นไปอีกเถิดพระเจ้าข้า” พราหมณ์กล่าว พระองค์จึงทรงมีพระดำรัสต่อไปว่า “ภาวนานั้นคือการกำหนดจิตให้อยู่ในอารมณ์เดียว เพราะจิตมีสภาพคิด การฝึกให้จิตหยุดคิดเลยทีเดียวนั้นไม่ได้ แต่ต้องฝึกให้จิตคิดอยู่ในอารมณ์อันเดียว ทำให้มากเจริญให้มากด้วยหลักของอิทธิบาท คือองค์คุณแห่งความสำเร็จมี 4 อย่างด้วยกัน คือ ฉันทะ ความรักในการภาวนา วิริยะเพียรในการภาวนา จิตตะ จิตจดจ่ออยู่กับการภาวนา และวิมังสา คือการไตร่ตรองใคร่ครวญในการภาวนา ดังนี้”

เพื่อนฟังเพลินจนเคลิ้มใกล้จะหลับ ผมจึงหยุดเล่า เพื่อนหันมามอง “กำลังฟังเพลินๆ เล่าต่อไปซิ” “เรื่องจบลงแค่นี้ เลยหยุดแค่นี้ก่อน” ผมตอบเลี่ยงความจริงนิดๆ โดยแท้แล้วผมรู้สึกคอแห้ง เพื่อนยังคงสอบถามต่อ “แล้วไปเอาเรื่องนี้มาจากไหน มีที่มาที่ไปหรือไม่”

คำถามของเพื่อนทำให้ความทรงจำของผมย้อนกลับไป 40 กว่าปี สู่วัยเด็กที่บ้านในชนบท “พ่อผมเล่าให้ฟังตอนเผาหัวเผือกหัวมันกินข้างกองไฟ ยามดึกในหน้าหนาว หรือไม่ก็ตอนเช้ามืดกลางความหนาวเหน็บ ชาวชนบทสมัยนั้นชอบที่จะออกมานอกบ้านก่อไฟผิงแก้หนาว ต่างก็มีเรื่องราวมาเล่าแบ่งปันกันแทนการเล่นมือถือ เล่นเกมส์ในโทรศัพท์ หรือคุยกับคนห่างไกลซึ่งบางทีไม่รู้จักกันมาก่อน”

“สรุปว่าคนเราควรเตรียมเสบียงการเดินทางไกลทุกคน เพราะทุกคนต้องตาย” เพื่อนช่วยสรุปสิ่งที่ผมพูดให้เขาฟังและเขาได้สอบถามในหลายแง่มุม ผมพยักหน้าเห็นด้วยกับข้อสรุปของเขา “ใช่ เสบียงคือทาน ศีล และภาวนา ใครทำมากได้มาก มีเสบียงมาก เดินทางไกลอย่างมั่นใจ

 

 

หมายเลขบันทึก: 643285เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2017 12:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2017 12:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท