๖๓๖. บทเพลงของพ่อ..ช่วยเสริมต่อ..ประสบการณ์ทางภาษา..


บทเพลงของพ่อจะช่วยครูได้ค้นหาแรงบันดาลใจแห่งวิธีสอน..ที่แปลกใหม่ และเด็ก..ก็ได้ซาบซึ้งถึงคุณค่าของภาษาไทย..คุณค่าของพระปรีชาสามารถของพ่อ..ครูของแผ่นดิน...

           วันนี้...พ่อไม่อยู่แล้ว พ่อทิ้งความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองไว้ให้พวกเรา พ่อหยิบยื่นข้าวปลาอาหารอันอุดมสมบูรณ์ ป่าไม้และแหล่งน้ำ..ให้เราได้พึ่งพาอาศัย ตลอดจนแนวคิดอันทรงคุณค่า..ที่เราเรียกว่า..ศาสตร์พระราชา..ที่เป็นหลักการทรงงาน ที่พวกเราได้ใช้เป็นต้นแบบ..พัฒนางานและชีวิต...

          ทุกวัน..ก็คิดว่าพ่อยังอยู่ ผมคิดถึงพระองค์ท่าน..จากรูปภาพพระราชกรณียกิจนานัปการ จากพระบรมราโชวาทที่เปรียบเสมือนแก่นธรรม ..นำไปปฏิบัติได้จริงและพิสูจน์ได้..คิดถึง..ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง..ที่พ่อคิดค้น จนผมรู้สึกว่าเป็นนวัตกรรมที่ทันสมัยที่สุดในเวลานี้..

         บางวัน..ก็อดคิดไม่ได้..ผมเทิดทูนพ่อหลวงมากมายและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้..แล้วผมได้ตอบแทนพระคุณของพ่อหรือยัง? .....

          เพียงแค่ทำความดี สืบสานงานของพ่อ..ก็เพียงพอแล้วหรือ?.กับความกตัญญูรู้คุณ..พ่อของแผ่นดิน..ยังมีอย่างอื่นอีกไหม?..ที่ทำได้อย่างเป็นรูปธรรม  ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร สังคมและประเทศชาติ...

          วันนี้..ผมคิดว่า..พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถ..ของพ่อ..จะต้องไม่เป็นเพียงแค่การ “รับรู้”และ “ศรัทธา” เท่านั้น..พสกนิกรต้องตระหนัก อนุรักษ์และเผยแพร่ให้คงอยู่และรู้จักกันอย่างกว้างขวาง...

          ครู..ก็เป็นอีกบทบาทหนึ่ง..ที่ต้องทำภารกิจสืบสานและส่งมอบต่ออนุชนรุ่นต่อไป..ผมเริ่มดำเนินการแล้ว..โดยใช้..เพลงของพ่อ..ที่จะก่อให้เกิดวิธีปฏิบัติที่ดี ที่ส่งผลต่อการเรียนการสอน..

          ๒ สัปดาห์แล้ว..ที่บทเพลงของพ่อ..ช่วยเสริมต่อประสบการณ์ทางภาษา นักเรียนสนใจและเรียนรู้อย่างมีความสุข..ผมใช้บทเพลงพระราชนิพนธ์..แล้วคิดค้นกิจกรรมให้หลากหลาย..นักเรียนได้ทั้งการอ่านและการเขียน..

          บ่ายวันนี้..นักเรียนป.๓ – ๔ ร้องเพลง"ใกล้รุ่ง"ได้แล้ว..แต่ก่อนหน้านั้น ผมให้เขียนตามคำบอก จากถ้อยคำในบทเพลง ..เป็นคำง่าย..แต่นักเรียนมักเขียนผิด..เสมอ

          ป.๕..อ่านคล่องและร้องเพลง..”ยามเย็น” ได้ถูกต้องตามทำนอง จากนั้นผมก็ให้ค้นหาคำควบกล้ำและคำสัมผัสอักษร..ตบท้ายด้วย..การเล่นเกมต่อคำ ๒ พยางค์ เริ่มต้นที่คำว่า..ยามเย็น..นักเรียนจะต่ออย่างไรก็ได้ แต่ต้องคล้องจองกับคำสุดท้ายของเพื่อน..

          ป.๖..บทพิสูจน์ว่า..ยามเย็น..เพลงของพ่อ..เหมาะสมกับการพัฒนาประสบการณ์ภาษาของนักเรียนที่สุด..พอพักเที่ยง ..ผมนัด ป.๖ ฝึกซ้อมเพลงทันที..นักเรียนร้องประสานเสียงได้ไพเราะมาก...จนผมต้องไปต่อ..เพื่อให้การเรียนการสอนไม่หยุดชะงัก

          ผมบอกนักเรียนว่า..เรามาวาดรูประบายสีกันเถอะ..ไม่ต้องตั้งชื่อภาพ..อ่านเนื้อเพลงยามเย็น..เห็นอะไรบ้าง? จินตนาการออกมา..ให้เป็นภาพวาดฝีมือของนักเรียน..

         เพลงเดียวกัน..แต่นักเรียนก็มองเห็นภาพ..แตกต่างกัน..แต่ผมไม่รุ้ว่านักเรียนคิดอย่างไร..ช่วยเล่าเรื่องให้ครูฟังหน่อยได้ไหม..?..ว่ายามเย็นเช่นนี้..ความรู้สึกนึกคิดของนักเรียน..เป็นเช่นไร...?

         บทเพลงของพ่อ..ยังไม่จบ..ผมจะต่อยอดกิจกรรมและนำบทเพลงอื่นๆมาใช้ในการเรียนการสอน..แบบบูรณาการ ประสานเชื่อมโยงการคิด เขียนและวิเคราะห์ เสริมต่อให้นักเรียนมีประสบการณ์ทางภาษาที่แปลกใหม่ มากกว่าใช้แบบเรียนเพียงอย่างเดียว..

          ดังนั้น..หากรักที่จะสืบสานงานของพ่อ..ขอเชิญชวนครูทุกท่าน..หันมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องราวของพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีและบทเพลงพระราชนิพนธ์  

        บทเพลงของพ่อจะช่วยครูได้ค้นหาแรงบันดาลใจแห่งวิธีสอน..ที่แปลกใหม่ และเด็ก..ก็ได้ซาบซึ้งถึงคุณค่าของภาษาไทย..คุณค่าของพระปรีชาสามารถของพ่อ..ครูของแผ่นดิน...

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๘  ธันวาคม  ๒๕๖๐

หมายเลขบันทึก: 643146เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2017 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ธันวาคม 2017 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท