การประชุมประจำปี การพัฒนาการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพ ครั้งที่ ๔ : 3. ยกระดับการศึกษาแบบเชื่อมโยงชุมชนด้วย DHS & DHML



ตอนบ่ายวันที่ ๖ พฤศจิกายน ผมไปเข้าห้องย่อย เรื่อง Scaling Up Community-Engaged Health Professional Education in Digital Age : (1) District Health System (DHS)  (2) District Health Management and Learning (DHML)     

ผมเคยบันทึกเรื่อง DHML ไว้ที่    วันนี้ได้ฟัง นพ. ประสิทธิชัย มั่งจิตร ผอ. รพ. แก่งคอย สรุป DHS (ระบบสุขภาพอำเภอ) ว่าเป็นโมเดลการทำงานร่วมกัน ระหว่าง รพ., สสอ., รพสต., อปท., และภาคประชาสังคม   เพื่อสุขภาวะของคน ในอำเภอ   โดยใช้งบประมาณเท่าเดิม   ซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นขบวนการ ประชารัฐ” รูปแบบหนึ่ง    เป้าหมายที่สูงส่งคือ ประชาชนพึ่งตนเองได้ และไม่ทอดทิ้งกัน   หลักการสำคัญของ DHS คือ UCCARE อันได้แก่  Unity, Common Goals/Share Vision, Community Participation, Appreciation, Resource Sharing, Essential Care

จาก DHS และ DHML เกิด DHB (District Health Board) ที่มีนายอำเภอเป็นประธาน    เพื่อให้เกิดการบูรณาการกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อสุขภาวะของคนในพื้นที่   ตอนนี้ DHB ได้ชื่อที่เป็นทางการแล้ว คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอซึ่งจะออกมาเป็นระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรี  โดยมีประเด็นขับเคลื่อนสำคัญ ๕ อย่างคือ ผู้สูงอายุ  โรคไม่ติดต่อ  ขยะและสิ่งแวดล้อม  อุบัติเหตุ  และอาหารปลอดภัย  

จะเห็นว่า DHS, DHML, DHB ต่างก็เป็น bottom-up innovation ทั้งสิ้น   เป็นกลไกบูรณาการกิจกรรมในพื้นที่   ทั้งที่ทำโดยกลไกภาครัฐและภาค ประชาสังคม   เมื่อการสร้างนวัตกรรมระดับปฏิบัติส่งเค้าว่าจะก่อผลดี   ภาคการเมืองก็เข้าไปสนับสนุน    ซึ่งในกรณีนี้ทั้งรองนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีลงไปรับรู้ถึงพื้นที่   แล้วสั่งให้เร่งรัดออกระเบียบสำนักนายกฯ

ศ. นพ. สุรเกียรติ อาชานานุภาพ เล่าเรื่อง “โรงเรียนสุขภาพอำเภอ” (DHML)  ซึ่งใช้หลักการเรียนรู้จากประสบการณ์   เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านการปฏิบัติท่ามกลางความเป็นจริง (PILA – Participatory Interactive Learning through Action)  

ที่จริง “โรงเรียนสุขภาพอำเภอเน้นการเรียนด้านการบริหาร เพื่อการทำงานร่วมกัน    โดยมีเป้าหมายสมรรถนะ ๑๐ ประการตามในรูปที่ ๒ ที่เอามาลงไว้    และในรูปที่ ๓ แสดงว่า นักเรียน” ของ “โรงเรียนสุขภาพอำเภอ” แต่ละโรงเรียนต้องมีคนสามกลุ่ม คือคนจากโรงพยาบาล  คนจาก สสอ.  และคนจาก อปท. ยิ่งมีกลุ่มที่สี่ คือภาคประชาสังคม ยิ่งดี    โรงเรียนนี้เรียนปีละ ๕ ครั้ง ครั้งละ ๒ วัน   คือสองเดือนครั้ง   ไปเรียนตามพื้นที่   อ. หมอสุรเกียรติเอารูป การเรียนใต้ต้นไม้ใหญ่มาโชว์ น่าร่มรื่นมาก   หลังจากนั้นเป็นหนังสั้น เรื่องโรงเรียนเปลี่ยนชีวิต   เป็น transformative learning ของพยาบาล และของคนที่เป็นแม่ จากการเข้าเรียน DHML 

ครึ่งหลังของช่วงบ่าย ในห้องเดิมเป็นเรื่อง การปฏิรูปหลักสูตรให้มีการเรียน ในชุมชน (Community-Engaged Medical Education) ของโรงเรียนแพทย์ต่างๆ เริ่มจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์และ การสาธารณสุข ม. อุบลราชธานี   เสนอโดย อ. พญ. ปาริชาติ วงศ์เสนา รองคณบดีฝ่ายวิชาการ   เล่าความคิดในการปรับเปลี่ยนหลักสูตรแพทยศาสตร์ โดยเอาสภาพของระบบสุขภาพในพื้นที่เป็นตัวตั้ง    ดำเนินการประชุมสร้าง awareness แก่คณาจารย์และผู้บริหาร   การประชุมได้ผลดี แต่คณาจารย์ ส่วนใหญ่ต่อต้าน ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง    จึงต้องตั้งหลักใหม่ ใช้วิธีการ design thinking ให้คณาจารย์เข้าร่วม   สร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายใน    เป็นเรื่องราวของ change management ที่น่าสนใจมาก  

ถัดไปเป็นของสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มฟล. ที่เน้น Bio-psycho-social model    ตามด้วยคณะแพทยศาสตร์ มน. ที่มีนวัตกรรมทั้ง IPE และ Community-Based Education   มีคณะวิชาด้านสุขภาพ ๖ คณะ และที่พิเศษคือนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์เข้าร่วมเรียน IPE ด้วย   และที่พิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ คณะแพทยศาสตร์ มน. ดูแล รพสต. ในพื้นที่ ๖ แห่ง    มีการใช้ระบบ telemedicine ในการให้บริการและการเรียนการสอน ภายใต้ความร่วมมือกับ กสทช.   

    เรื่องราวของ คณะแพทยศาสตร์ มอ. เล่าโดย รศ. พญ. กันยิกา ชำนิประศาสน์    มีการพัฒนาการรับนักศึกษาและปรับหลักสูตร มาเป็นระยะๆ เพื่อใช้การผลิตแพทย์รับใช้พื้นที่   แม้หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตมีหลักสูตรเดียว แต่การดำเนินการจัดการเรียนการสอนและฝึกงานมีหลาย track   แต่สอบข้อสอบเดียวกัน

 ตามด้วยสำนักวิชาแพทย์ศาสตร์ มทส.   และสุดท้าย ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสมเด็จพระปกเกล้า ซึ่งใช้หลักสูตรของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ   

นั่งฟังจนจบ ผมสรุปกับตนเองว่า ความริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการจัด การเรียนรู้และฝึกงานในชุมชนของโรงเรียนแพทย์ในประเทศไทยมีการเคลื่อนไหว โดยตลอด อย่างน่าชื่นชม 


วิจารณ์ พานิช

๑๒ พ.ย. ๖๐


 

 

หมายเลขบันทึก: 643075เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2017 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ธันวาคม 2017 23:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท