บันทึกเรื่อง “เกือบ”


“นี่เธอ หมอถามหน่อย เธอสูงเท่าไหร่”

ถามจริงเถอะ ใครมีประสบการณ์ถามคำถามฆ่าตัวตายแบบนี้บ้างไหม (อาจจะจะคิดกลับกัน หากคุณกลายเป็นคนถูกถามเอง และนั่น คุณเกลียดคำถามแบบนี้สุดๆ คุณอยากจะฆ่าคนถามคนนั้นเสียจริงๆ)

ผมถามคนไข้คนนี้ตอนที่เธอกำลังจะออกไปจากห้องตรวจ เธอมาพบผมด้วยอาการเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก และนี่เป็นการเจอกันครั้งแรกระหว่างผมและเธอ และเรายังคงต้องมีนัดเจอกันอีกในระยะข้างหน้าเพื่อติดตามอาการ

“ประมาณร้อยห้าสิบค่ะหมอ” เธอตอบ

“ประมาณขึ้นหรือประมาณลงจ๊ะ” ผมถาม

“เกือบร้อยห้าสิบค่ะ” นั่นคงเป็นคำตอบสุดท้ายสินะ

อันที่จริง คนถูกถามอาจจะไม่ได้คิดอยากจะฆ่าผมทุกคนหรอก เพราะเขาหรือเธอคงจะเข้าใจดีว่า คำตอบนั้นอาจจะเป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อกระบวนการคิดทางการแพทย์ก็ได้ เช่น สูงเท่านี้อาจจะทำให้วินิจฉัยโรคอะไรสักอย่างได้ หรือไม่ก็ หมออาจจะคำนวนขนาดยาจากความสูงก็เป็นได้

ผมมองขึ้นลงจากหัวจรดเท้าของเธอผู้นั้นเพื่อประมาณความสูง พลางคำนวณในใจและไม่เชื่อโดยดุษฎีว่าเธอสูงเกือบร้อยห้าสิบ

“เกือบไปเท่าไหร่จ๊ะ ๑๔๑ หรือ ๑๔๕” คราวนี้เลยกลายเป็นการเย้ามากไปกว่าการต้องการคำตอบจริงๆ 

อันนี้เป็นศิลปะนะครับ ไอ้การที่จะถามคำถามแบบนี้กับใครสักคนที่คาดว่าจะไม่ชอบถูกถามเรื่องแบบนี้ ผมต้องดูทั้งสีหน้า ท่าทาง นัยตา (ประเภทที่ว่า หากคุยกันแล้วพบว่ารูม่านตาเธอหดลงแล้วล่ะก็ ควรรีบหาทางจบได้เลย)

“ก็เกือบร้อยห้าสิบนั่นแหละหมอ” เธอตอบพร้อมเสียงหัวเราะ

“ร้อยสี่สิบห้า” ผมแหย่

“มากกว่านั้น” เธอคงเริ่มเข้าใจ ว่าคำถามเมื่อครู่อาจจะไม่มีความสำคัญทางการแพทย์นัก 

“งั้นก็ ๑๔๕.๕” ผมยังไม่เลิกความพยายาม

“แล้วหมอจะอยากรู้ความสูงของหนูไปทำไม” เธอก็ยังไม่ยอมตอบคำถามผมสักที

“เอ๊า เวลาฉันจะรักษาโรคให้ใครด้วยฮอร์โมน มันมีผลต่อความสูงนะรู้ไหม ให้ยาเธอไปนานๆ ตัวเตี้ยนะจะบอกให้” ผมอธิบายและเลือกใช้คำว่า “เตี้ย” แทนคำว่า “ไม่สูง”

“แล้วผู้หญิงอายุ ๓๙ นี่ เขายังจะต้องกลัวไม่สูงอยู่อีกมั้ยหมอ” เธอบ่นพร้อมเดินเข้ามาตีหัวเข่าผมเบาๆ สวัสดี แล้วเดินจากไป

เจอกันคราวหน้า ผมรู้แล้ว ว่าจะทักเธออย่างไร

..................................

“นี่ คราวนี้เธอหนักเท่าไหร่” 

เอาอีกแล้ว ผมปากหมาอีกแล้ว

การเปิดการสนทนาด้วยคำถามหมาๆเช่นนี้มักหลุดออกจากปากผมบ่อย ยิ่งเป็นการเริ่มการทักทายแทนคำว่าสวัสดีด้วยก็นับว่า เป็นหมาวัดเลยล่ะ  หนำซ้ำ ยังเลือกใช้คำว่า “หนัก” แทนคำว่า “น้ำหนัก” เสียอีก 

“แปดสิบนิดๆค่ะ” เธออมยิ้มแล้วตอบ

รายนี้คงชินกับผม เพราะเราเจอกันมาหลายครั้งแล้ว

“นิดๆน่ะเท่าไหร่ ๘๑ หรือ ๘๙ จ๊ะ” ผมต่อราคาไป มองตาคู่ต่อสู้แล้วยิ้มมุมปากแบบรู้สึกเหนือกว่าเล็กน้อย

เธอบิดไปมาเล็กน้อยแล้วตอบว่า “นิดเดียวเอง.....หมอนิ หนูพยายามมากเลยนะรู้ไหม” ยัง ยังไม่ยอมตอบมาอีก

“เธอยังจำที่หมอบอกไปครั้งก่อนได้ใช่ไหม ความอ้วนมันทำให้เลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกได้ เป็นมะเร็งโพรงมดลูกง่ายกว่าคนผอม” คราวนี้ผมมีทีจริงมากกว่าทีเล่น

“จำได้ แต่คนมันก็พยายามผอมลงจริงๆนะ ทำงานมาเหนื่อยๆ มันก็ต้องกินบ้างสิหมอ” เธอพ้อ

..........................

อันที่จริง ผมเองมีความรู้สึกเกี่ยวกับคำตอบ “เกือบ” ทั้งดี ไม่ดี และขำ จึงได้เขียนเรื่องนี้ขึ้นมา

ไอ้ที่ว่าดีก็คงเป็นตอนที่ได้เจอคนไข้สักคน ที่ปลุกปล้ำกันมาให้รอดพ้นจากความวิกฤติ หรือรอดพ้นมาจากความตาย

“ดีจัง เธอยังไม่ตายนะ” หมอรำพึง

“ค่ะ เกือบไป” คนไข้ร่วมรำพัน

เวลาคุยกันแบบนี้ บางทีผมก็รู้สึกตื้นตันจนน้ำตาคลอออกจะบ่อย

ไอ้ที่ว่าไม่ดีก็ตอนที่แม่ผมป่วยแล้วไปเจอหมอที่คาดว่าน่าจะเป็นรุ่นน้อง (กว่าผม) พูดจาไม่ดีใส่

(เอิ่ม....แบบว่า เมื่อถึงจุดหนึ่ง ลูกทำงานที่หนึ่ง แม่อยู่ที่หนึ่ง ก็ต้องให้แม่ไปหาหมออีกที่หนึ่งไปพลางๆ)

“ป้าปวดหัวไหล่มากี่วันแล้ว” หมอถาม

“ประมาณเกือบสิบวันค่ะ” แม่ผมตอบ

น้องหมอท่านนั้นเธอเหลือกตาขึ้นมามองแม่อย่างอำมหิตแล้วบอกแม่ผมไปว่า “ไอ้เกือบสิบวันน่ะ มันได้ตั้งแต่ ๑ ถึง ๙ เลยนะป้า”

“แป๊ะ แม่เสียใจจังเลยลูก” นั่นคือเสียงแม่ที่สั่นเครือมาทางโทรศัพท์เพื่อเล่าเรื่องให้ผมฟัง

ลองทายดูสิครับ ว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น 

นั่นคือเรื่องราวเมื่อประมาณเกือบสิบปีที่แล้ว (มันก็ราวๆ ๑ ถึง ๙ ปีเอง)

ส่วน “เกือบ” ที่ออกจะขำๆ ก็คงเป็นเรื่องที่เล่ามาข้างต้นนั่นแหละ 

อย่าเพิ่งตัดสินผม เรื่องการถามคำถามและการต่อรองเรื่องเกือบกับคนไข้ทั้งสองคนไปเลยนะครับ อย่าลืมว่า ผมและคนไข้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันทั้งการเริ่มต้นทักทาย การพูดคุย การอธิบาย และที่สำคัญคือท่าที และความสามารถในการดูอารมณ์ของคน

ผมรู้สึกว่า คำถามกวนตีน กับคำตอบแบบเกือบๆ กว่าๆ อย่างที่ว่า มักจะมาด้วยกัน โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้หญิง เกือบเตี้ยไป เกือบผอมแล้ว เป็นต้น 

พนันกันไหม ว่ามันมักเป็นเช่นนั้น

.........................

“มีประเด็นไหนอยากจะให้หมออธิบายเพิ่มเติมไหมครับ” ผมปิดการสนทนากับสุภาพสตรีท่านหนึ่งที่มาพบผมด้วยเรื่องความผิดปกติบางอย่างที่อวัยวะเพศ

“ไม่มีแล้วค่ะ ขอบคุณคุณหมอมากนะคะ ดิฉันรู้สึกสบายใจขึ้นมากเลย อันที่จริงดิฉันลองสอบถามคนรู้จักตั้งหลายคน ว่าจะแนะนำให้มาพบใครดี เค้าก็เลยบอกให้มาพบคุณหมอนี่แหละค่ะ” เธอยิ้มพลางพูดพลาง

ผมไม่ได้พูดต่อ เพียงแต่ยิ้มตอบไปให้

“คุณหมอน่าจะอายุประมาณพี่ชายของดิฉันนะคะ เค้าเป็นคนบอกให้มาเอง เค้าเรียนจบหมอที่นี่ด้วยนะคะ” เธอเล่ามา

ผมรู้สึกตกใจเล็กน้อยกับเรื่องที่ได้ยิน เลยเหลือบตาไปมองข้อมูลของผู้ป่วยอย่างรวดเร็วอีกครั้งเพื่อความมั่นใจ

เธออายุ ๕๑ ปี

“แล้วพี่ของคุณมาเรียนหมอปีอะไรเหรอครับ พอจะจำได้ไหม” ผมถามด้วยสีหน้าที่ยังคงไม่เปลี่ยน (แต่รูม่านตาอาจจะเริ่มหดเล็กลง)

“ไม่ทราบว่าปีอะไรนะคะ แต่รู้สึกว่าจะเป็นรุ่นน้องของอาจารย์หมอธีระ ที่เป็นหมอโรคตับสักปีหนึ่งได้ค่ะ” เธอตอบพร้อมรอยยิ้มเช่นเดิม

“อ๋อ ครับ ผมก็เป็นรุ่นน้องของอาจารย์ธีระเหมือนกัน” ผมบอกเธอออกไป แล้วหยุดเว้นช่องไฟของการสนทนาสัก ๔ ช่อง “อาจารย์อายุมากกว่าผม ๑๑ ปีเท่านั้นเองครับ” ผมคำนวณและตอบเธอออกไป

สุญญากาศเกิดขึ้นราวชั่วอึดใจ (ของเธอนะครับ ไม่ใช่ของผม)

“อุ๊ยตายแล้ว คุณหมอ ดิฉันขอโทษค่าาาาาา”

ธนพันธ์ ชูบุญเมียสั่งให้ไปย้อมสีผมตั้งนานแล้วก็ไม่ยอมไปสักที

๔ ธค ๖๐

เหนือทะเลจีนใต้

หมายเลขบันทึก: 643068เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2017 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ธันวาคม 2017 18:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

-สวัสดีครับอาจารย์

-เกือบ...นะครับ ฮ่าๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท