ชีวิตที่พอเพียง 3054. สมาธิจดจ่อ



หนังสือ Focus : The Hidden Driver of Excellence (2013) เขียนโดย Daniel Golemen    ผู้เขียนหนังสือขายดีอันดับหนึ่ง Emotional Intelligence

หนังสือสมาธิจดจ่อ แนะนำทั้งให้จดจ่อความคิด และฟุ่งซ่านความคิด    ให้รู้จักใช้จิตสองขั้วเป็น    หรือให้จดจ่อสองแบบเป็น    จดจ่อแบบที่คนรู้จักกันทั่วไปคือจดจ่ออยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า  จดจ่อนาน  ฟันฝ่าความยากลำบากเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนด

แต่เขาแนะนำการจดจ่ออีกแบบหนึ่ง คือจดจ่ออยู่กับการเปิดใจให้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เข้ามา     เขาเรียกสมาธิแบบนี้ว่า open awareness   หรือ mind-wandering ซึ่งผมคิดว่าผมฝึกตัวเองมาพอสมควร    และคิดว่าในอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า intuition - คิดแบบไม่คิด   คนเราต้องรู้จักเพ่งจิตใจให้คิดแบบไม่คิด ... ปัญญาญาณ 

เขายังแนะนำใจจดจ่อสองขั้วอีกแนวหนึ่ง    จดจ่อกับภายในตนเอง กับจดจ่อต่อโลกภายนอก  

จดจ่อภายในตนเอง จนเกิดพลังใจ (willpower)    เขาแนะนำว่า พลังใจจะเกิดเมื่อคนเราเห็นคุณค่าของ สิ่งที่ทำ    และทำแล้วสนุกหรือมีความสุข    ตรงนี้ผมอ่านแล้วเกิดความคิดว่า นี่คือส่วน 2/3 ของการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน    คือส่วนที่เกิดจากการเรียนโดยตนเองเป็นผู้เลือกหรือเป็นผู้กำหนด    ไม่ใช่มีครูหรือผู้อื่นกำหนดให้    คำว่า 1/3 และ 2/3 หมายถึงสัดส่วนอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของเด็ก     ที่มีผลการวิจัยจำนวนมากให้ผลตรงกันว่า  โรงเรียนมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กเพียง 1/3    อีก 2/3 ได้จากการเรียนรู้นอกห้องเรียน    ทั้งในกิจกรรมพิเศษในโรงเรียนที่เด็กเลือกเข้ากิจกรรมเอง    กิจกรรมที่บ้าน  และในชุมชน รวมทั้งสภาพแวดล้อมทางสังคมต่างๆ    และสื่อมวลชน และสื่อสังคม

จดจ่อภายในตนเองต่อการสร้างจิตใจ ที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) . ในระดับรับรู้ความรู้สึกของเขา (cognitive empathy)   โดยไม่รับความทุกข์ของผู้อื่นมาเป็นความทุกข์ของตน (emotional empathy)     

จดจ่อต่อโลกภายนอกที่สำคัญยิ่งเพื่อการรับรู้ภาพใหญ่ภาพอนาคต    ที่จะเป็นทั้งความท้าทาย และเป็นโอกาสในชีวิต    

ในฐานะผู้บริหารหรือหัวหน้า ต้องสามารถชักชวนผู้ร่วมงานให้โฟกัสหรือจดจ่ออยู่กับเป้าหมายของงาน   และคอยช่วยเหลือผู้ร่วมงานให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่ของเขาตามเป้าหมายใหญ่ของหน่วยงานหรือองค์กร   

เครื่องมือสำคัญของการมีสมาธิจดจ่อ คือการฝึกสมาธิ  และการคิดเชิงบวก      


วิจารณ์ พานิช

๒๒ ต.ค. ๖๐


 

 

 

หมายเลขบันทึก: 641992เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2017 21:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2017 21:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียน อาจารย์วิจารณ์ ที่เคารพ


เมื่อได้อ่านบันทึกนี้ของอาจารย์ แล้วมาคิดทบทวนการทำงานของตัวเองดูก็พบว่างานหลายๆ งานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์สูงๆ  จิตจะใช้ภาวะ open awareness หรือ mind - wandering ในการคิดโดยอัติโนมัติเลยค่ะ 


กระบวนการที่เกิดขึ้นทุกครั้งเริ่มจากการรับโจทย์ รับเงื่อนไขเอาไว้ในความคิด โดยไม่คิดอะไร และผลงานการคิดในขณะที่ร่างกายกำลังอยู่ในภาวะดังกล่าวก็ส่วนมากจะผุดบังเกิดขึ้นมาเอง ส่วนมากจะอยู่ในราวย่ำรุ่ง ที่สมองทำงานจัดเรียงข้อมูลพร้อมทั้งนำเสนอทางออกดีๆ มาให้เป็นที่เรียบร้อย  


น่าจะเป็นอย่างที่คนโบราณมักใช้คำเรียกขานว่า "เทวดาบอก" ละมังคะ


ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็มีลักษณะหลากหลายค่ะ  ตั้งแต่การทำงานศิลปะ การคิดรูปแบบหนังสือ หรือแผนการเรียนรู้ก็มีค่ะ...  จนตอนนี้น้องๆ ที่โรงเรียนเริ่มชินกับการไลน์ไปบอกไอเดียที่คิดได้ในตอนตี ๓ ตี ๔ เรื่อยไปจนถึงเช้า แล้วล่ะค่ะ ส่วนผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นมักจะอยู่ในขั้นดี ถึงดีมาก ค่ะ 


ด้วยความเคารพ

ครูใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท