พันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคมที่ตรัง (๒)



ต่อจากบันทึกที่แล้ว

ผมเอารายงาน ย่านตาขาวโมเดล จากแฟ้มประชุมสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาลงไว้ ที่นี่     เพื่อจะลองสะท้อนคิดว่าผมมีข้อเสนอการดำเนินการต่อ อย่างไรบ้าง    เพื่อประโยชน์ของชุมชนย่านตาขาว และเพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไปด้วยกัน

อ่านรายงานของย่านตาขาวโมเดลข้างบนแล้ว    พบว่าไม่มีเนื้อหรือสาระของผลงานวิจัย    มีแต่หัวข้อและบอกว่าจะทำอะไร หรือบอกกระบวนการ  และบอกข้อสรุป    แสดงโดยภาพหรือแผนภาพ    แต่ไม่มีตัวสาระของผลงานวิจัย     ทำให้เอาสาระมาย่อยต่อ หรือเอามาไตร่ตรองสะท้อนคิดต่อไม่ได้   

ผมค้นกูเกิ้ลด้วยคำว่า “โครงการวิจัยชุดย่านตาขาวโมเดล 2559” ก็ไม่พบรายงานผลการวิจัยทั้ง ๖ รายงาน     จึงไม่ทราบโจทย์วิจัยที่ชัดเจน  ไม่ได้อ่านการทบทวนความรู้ในแต่ละเรื่องที่นำไปสู่โจทย์วิจัย    และไม่ได้อ่านข้อมูลวิจัยที่เก็บได้ ซึ่งจะนำไปสู่การวิเคราะห์และสังเคราะห์ผลการวิจัย    และไม่ได้เห็นว่ากิจกรรมร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่เป็น input ต่อการวิจัยอย่างไร    มีการคืนข้อมูลผลการวิจัยต่อชุมชน และรับเอาความเห็นจากชุมชนมาใช้ในการดำเนินการพัฒนาต่อ อย่างไร    

ผมไม่มีโอกาสได้อ่านเพื่อพิจารณาว่า “ผลงานวิจัย” ชุดนี้ เขียนอย่างมีการวิเคราะห์สังเคราะห์เจาะลึก เพียงใด   หรือเป็นเพียง descriptive report ที่มักทำกันโดยทั่วไปในงานประเภทพัฒนาชุมชน  

ข้อคิดเห็นของผมจึงมาจากการเดาจากการไปเห็นพื้นที่แบบผิวเผิน เมื่อบ่ายวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๐ เท่านั้น   

ผมเดาว่ากิจกรรม “พันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับชุมชนที่ย่านตาขาวนี้    ประโยชน์ที่ทางฝั่ง ชาวบ้านได้ประโยชน์คือการพลิกฟื้นความเข้มแข็งของชุมชน    และต่อไปจะมีการนำเอาความรู้สมัยใหม่ เข้าไปปรับปรุงภูมิทัศน์และอาคาร ทำให้คนภายนอกรู้สึกอยากไปเที่ยว    เพราะเข้าใจว่าทางชุมชนคงเล็ง การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเป็นเป้าหมายหลัก    ผมคิดว่าเป้าหมายนี้น่าจะเกิดผลได้ในเวลาไม่ช้านัก    แต่มหาวิทยาลัยก็ต้องร่วมมือกับอีกหลายฝ่ายในการร่วมมือกับชุมชน ด้านความยั่งยืน    ซึ่งน่าชื่นชมว่า ในรายงานย่านตาขาวโมเดลได้ระบุไว้อย่างชัดเจน     และผมชอบมากที่นักวิชาการของ มอ. เสนอให้ กำหนดพื้นที่ริมคลอง ๓ - ๖ เมตร เป็นพื้นที่ว่าง     ผมอยากให้มีกฎหมายกำหนดให้เป็นที่สาธารณะ ด้วยซ้ำไป    ผมเพิ่งไปลอนดอน และพบว่าเขากำหนดให้สองฝั่งแม่น้ำเทมส์เป็นพื้นที่สาธารณะยาวไปตลอด ลำน้ำ ทำให้เมืองน่าอยู่อย่างยิ่ง

ผมชอบ ข้อเสนอการพัฒนาเมืองย่านตาขาวอย่างยั่งยืน”    ในรายงานย่านตาขาวโมเดล ที่ลิ้งค์ไว้ ข้างบน    และดีใจที่มีการไปศึกษาตัวอย่างที่บ้านคีรีวง นครศรีธรรมราช  และบ้านคลองแดน สงขลา     ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี

หากการเดาของผมถูกต้อง  ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยต้องเอาเป้าหมายของชุมชนมาเป็นโจทย์ของ การทำงานวิชาการสนับสนุน    โดยต้องเริ่มต้นด้วยการเอาข้อเสนอของฝ่ายวิชาการไปคุยกับกลุ่ม หรือแกนนำชุมชน    ทำความเข้าใจว่าข้อเสนอนี้มีความหมายอย่างไรในมิติของชาวบ้าน    ทำความเข้าใจว่า ต่อจากนี้ไปเขาต้องทำอะไรบ้าง ไม่ทำอะไรบ้าง    จะต้องไปคุยกับส่วนราชการต่างๆ อย่างไรบ้าง    ต้องหารือกันเรื่องงบประมาณพัฒนาชุมชนอย่างไร    เพราะกิจกรรมเหล่านี้ไม่ควรใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ผ่านมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์    เพราะมันผิดหลักการของ กิจกรรมพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม” (university – community engagement) (ดู

การคุยกันกับแกนนำชุมชนนี้ต้องลงรายละเอียดมาก    และต้องลงไปที่ประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ และความต่อเนื่อง 

การที่มหาวิทยาลัยตั้งงบประมาณแผ่นดิน ให้แต่ละวิทยาเขตใช้ดำเนินการ พันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม” เป็นการทำที่ผิดหลัก engagement    แต่เป็นการย้อนกลับไปใช้หลัก “ช่วยเหลือที่ใช้กันมาหลายสิบปี    และบัดนี้เรากำลังขับเคลื่อน “พันธกิจสัมพันธ์ มาใช้แทน   

“พันธกิจสัมพันธ์ไม่ใช่งานช่วยเหลือ   แต่เป็นกิจกรรมที่ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน     ทำงานนั้นๆ แบบเป็น “หุ้นส่วน (partner) กัน    ทั้งสอง (หรือหลาย) ฝ่ายร่วมกันคิด  ร่วมกันออกทุน ออกแรง (ทำ)  ฟันฝ่า  และร่วมรับผล    และที่สำคัญยิ่ง เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน  

การตั้งงบประมาณแผ่นดินมอบให้วิทยาเขตนำไปทำงานพันธกิจสัมพันธ์จึงถือว่าผิดหลักการ    และจะสร้างกระบวนทัศน์ผิดๆ คือกระบวนทัศน์มุ่งรับความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านด้วย    แต่หากจะถือว่า การตั้งงบประมาณให้เริ่มต้นถือเป็นเชื้อให้เกิดการริเริ่ม    ต่อจากนั้งต้องเป็นกิจกรรมพันธกิจสัมพันธ์แท้ ก็คงไม่ว่ากัน

ผมจึงมีความเห็นว่า ในปีต่อๆ ไป มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ไม่ควรตั้งงบประมาณ “พันธกิจสัมพันธ์   ให้ส่วนงานไปทำงานชุมชน    ต้องหาทางส่งเสริมให้ส่วนงานไปคุยกับชุมชนจนชุมชน เห็นคุณค่าของงานวิชาการ ที่จะไปหนุนชีวิตที่ดีของเขา และหาเงินหรือการสนับสนุนอื่นมาใช้ ในการดำเนินการ    ซึ่งจริงๆ แล้วเวลานี้รัฐบาลมีงบบูรณาการให้แก่จังหวัดไม่ใช่น้อย  

หากจะตั้งงบสนับสนุนก็ต้องมีเงื่อนไขให้ต้องมีเงินสมทบจากชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละ X    และค่อยๆ ลดสัดส่วนเงินของมหาวิทยาลัยลงไปในปีต่อๆ ไป จนเหลือศูนย์ภายในเวลาไม่เกิน ๕ ปี    ไม่ทราบว่าข้อคิดเห็นของผมถูกต้องไหม ยอมรับได้ไหม    แต่หากมีเวทีถกกันในเรื่องนี้ ผมยินดีไปร่วมถกเถียงด้วย

วงการวิชาการ ไม่ควรเข้าไปร่วมวงมอมเมาชาวบ้านด้วยกิจกรรมช่วยเหลือแบบประชานิยม    ที่ส่งผลระยะยาวที่ความอ่อนแอของชาวบ้านและชุมชน    ที่จะทำให้ประเทศไทย ๔.๐ ไม่มีวันบรรลุได้  

ต้องขอแสดงความชื่นชมว่า งบประมาณแผ่นดินที่ มอ. ใช้เพื่อการนี้ในปี ๒๕๕๙ - ๒๕๖๐ น่าจะก่อผลกระทบต่อชุมชนย่านตาขาว และต่อการทำงานวิชาการเพื่อชุมชนของ มอ. ตรัง อย่างคุ้มค่า     เป็นการเริ่มต้นที่ดี 

อย่างไรก็ตาม หลักการ  พันธกิจสัมพันธ์” เป็นหลักการที่ต้องเปลี่ยนหลายด้านไปพร้อมๆ กัน    การเปลี่ยนแหล่งทรัพยากร จากผู้อุปถัมภ์ (งบประมาณแผ่นดิน) มาที่ผู้รับผลประโยชน์ ก็เป็นหลักการหนึ่ง ที่สำคัญ    หลักการที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือการทำงานวิชาการ    ที่จะต้องเปลี่ยนจากการทำงาน วิชาการแบบแยกส่วน แยกเป็นรายสาขาวิชา (disciplinary)   ไปเป็นทำงานวิชาการข้ามสาขาวิชา หรือทำงานวิชาการร่วมศาสตร์ (multidisciplinary / transdisciplinary)    เรื่องนี้มหาวิทยาลัยผู้นำแห่งหนึ่งคือ ASU – Arizona State University   ที่อธิการบดีของ ASU คือ Michael M. Crow ได้เขียนเล่าไว้ในหนังสือ Designing the New American University ()   ใช้หลักการ community engagement ในการทำงานวิชาการ เพื่อท้องถิ่นไปพร้อมๆ กันกับการหารายได้เข้ามหาวิทยาลัย    โดยมีการปรับหน่วยวิชาการไปเป็น inter-disciplinary และ transdisciplinary    โดยได้ตั้งคณะใหม่ถึง ๒๔ คณะที่เป็นคณะวิชาแบบ transdisciplinary (หน้า ๒๔๖)    

มหาวิทยาลัย Tufts ตั้ง CTSI – Clinical and Translational Science Institute ทำงานประยุกต์ใช้ ความรู้ในหลากหลายด้าน   งานด้านหนึ่งคือ Stakeholder & Community Engagement ()    จะเห็นว่าเขา จัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นทำหน้าที่ส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ต้องการทำงานด้าน community engagement

ชมวีดีทัศน์นำเที่ยวชุมชนย่านตาขาวได้ที่ นำชมสวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้ (ทุ่งค่าย) (), บ้านตระกูลคีรีรัตน์, และน้ำตกน้ำเค็ม     มีภาพถ่ายทางอากาศชุมชนย่านตาขาวชมได้ที่     เดี๋ยวนี้หากสนใจนำคำค้นไปค้นด้วยกูเกิ้ลได้ทั้งสิ้น


วิจารณ์ พานิช

๒๒ ต.ค. ๖๐



หมายเลขบันทึก: 641962เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2017 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2017 10:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท