พระศุกร์


 ชาวลาวส่วนใหญ่ไม่รู้ นักโทษสยามนำ "พระสุก" ..พระพุทธรูปแหกแพ ขึ้นจากน้ำโขงเงียบๆเกือบ 100 ปีมาแล้ว

ชาวลาวจำนวนมากยังคงเชื่อว่า พระสุก.. พระพุทธรูปล้านช้าง ร่วมยุคกับพระองค์ตื้อ พระไส และพระเสิม ยังจมอยู่ในแม่น้ำโขงตรงบริเวณปากน้ำงึม ตั้งแต่ครั้งเจ้าพระยาราชสุภาวดี เสร็จการศึกกรุงเวียงจันทน์ ให้อัญเชิญข้ามฝั่งเพื่อนำกลับมายังกรุงเทพฯ เมื่อ 188 ปีก่อน แต่แท้จริงแล้ว เจ้านายฝ่ายสยามยุคหลัง ได้ให้นักโทษ 8 คนไปงมขึ้นมาอย่างเงียบๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2469 หรือ 88 ปีที่แล้ว และ ทุกอย่างถูกเก็บเป็นความลับสุดยอด ก่อนจะถูกเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้

เรากำลังพูดถึงพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกองค์หนึ่ง ที่พระเจ้าไซเสดถาทิลาด โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นมา ในช่วงปี พ.ศ. 2091-2114 พร้อมๆ กับ พระองค์ตื้อ (ปัจจุบันประดิษฐานที่วัดองค์ตื้อ นครเวียงจันทน์) พระไส กับพระเสิม และ พระพุทธรูปอื่นๆ อีกหลายองค์ ในยุคที่กรุงจันทะบูลีสีสตนาคนหุต มีความสงบสุข ไพร่ฟ้าหน้าใส แผ่ขยายแว่นแคว้นออกไป อย่างกว้างขวาง และ เจริญรุ่งเรืองอย่างสุดขีด

แต่ต่างกับพระไส ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย จ.หนองคาย และ พระเสิม องค์พระประธานแห่งวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ในกรุงเทพฯ พระสุกมาไม่ถึงฝั่งขวา เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ "แพแตก" ที่บริเวณปากน้ำงึม บริเวณที่เรียกกันว่า "เวินสุก" มาจนกระทั่งทุกวันนี้ และ ยังเป็นที่มาของฉายา "พระพุทธรูปแหกแพ" อีกด้วย

เวลาผ่านมาเกือบ 200 ปี ชาวลาวส่วนใหญ่ก็ยังคงเชื่อว่า พระสุกยังอยู่ในดินแดนลาว .. คือ ที่เวินสุก ยังไม่ทราบความจริงว่า "หลวงพ่อพระสุก" ได้ประดิษฐานอยู่ทีวัดศรีธรรมาราม และ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง เป็นมิ่งขวัญของชาวจังหวัดยโสธร มาเป็นเวลาเกือบ 90 ปีแล้ว

"ພຣະສຸຂ ເມື່ອກ່ອນຫລັງຈາກທີ່ກອງທັບຮູ້ວ່າ ເຈົ້າອານຸວົງໄດ້ນຳຊັບສົມບັດທັງຫລາຍ ໄປເຊື່ອງໄວ້ທີ່ຖ້ຳພຸເຂົາຄວາຍ ແລະຈຶ່ງໄດ້ນຳ ກອງທັບ ຂຶ້ນໄປໃນຖ້ຳແລະຂົນລົງມາ ໂດຍໃສ່ແພໄມ້ໄຜ່ລ່ອງລົງມາຕາມລຳນ້ຳງື່ມ (ການຂົນຕອນນັ້ນປະກອບມີພຣະສຸຂ ພຣະໃສ ພຣະເສີມ) ແຕ່ແພໄມ້ໄຜ່ເກີດການຫລົ້ມທີ່ປາກນ້ຳງຶ່ມ ຈຶ່ງເອິ່ນວ່າເວີນສຸຂ.."

ย่อหน้าข้างบนเป็นเรื่องราว ที่ชาวลาวผู้หนึ่ง ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ เขียนเมื่อเร็วๆ นี้ บอกเล่าเหตุการณ์ เมื่อครั้งกองทัพสยาม ติดตามพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ไปถึงแหล่งซุกซ่อน ที่ภูเขาควาย (ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แขวงบอลิคำไซปัจจุบัน -บก.) จนพบ และ นำลงแพไม้ไผ่ล่องไปตามลำน้ำงึม ออกสู่แม่น้ำโขง พร้อมกับพระไสและพระเสิม เพื่อนำกลับดินแดนสยาม แต่เกิดอาเพท เกิดพายุฝนตกฟ้าคะนอง ลำน้ำทั้งสายปั่นป่วน.. พระสุกจมลงที่นั่น

"..ແລະອີກກໍ່ເອີ້ນວ່າເວີນແທ່ນ(ເພາະແທ່ນຮອງພຣະສຸຂຈົມລົງໃນແຖວນັ້ນ) ຈຶ່ງເຮັດໃຫ້ຍັງຢູ່ເມືອງລາວເຮົາຢູ່ ແຕ່ຍັງຢູ່ພື້ນນ້ຳ ແຖວປາກງື່ມ ເມືອງປາກງື້ມ ນະຄອນຫລວງວຽງຈັນ ຈົນຮອດທຸກມື້ນີ້"

ชาวลาวคนเดียวกัน ซึ่งก็ไม่ต่างกับคนอื่นๆ เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ก็จะสรุปทำนองเดียวกันว่า พระสุกยังคงอยู่ในดินแดนลาว มาจนถึงวันนี้ ในบริเวณ "เวินสุก" หรือ "เวินแท่น" (ซึ่งพระเแท่นรองพระสุกจมลงที่นั่น) นั่นคือ สถิตย์อยู่ก้นแม่น้ำแห่งนั้น มาตั้งแต่ปีที่เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) กลับจากการศึกกรุงเวียงจันทน์ครั้งที่ 2 และ กองทัพสยามนำพระพุทธรูปล้ำค่า พร้อมจับเจ้าอนุวงศ์ (พระเจ้าอะนุวง) ส่งลงมายังกรุงเทพฯ ด้วย

เวลาต่อมาพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 พระมหาเจษฎาราชเจ้า ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเจ้าพระยาราชสุภาวดี เป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สมุหนายก เจ้านายสยามท่านนี้ มีความผูกพันกับเมืองยโสธรอย่างล้ำลึก จากศึกพระเจ้าอะนุวงนี่เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ "หลวงพิพิธ" ซึ่งเป็นน้องชาย สายเลือดสิงหเสนีย์แท้ๆ ถึงแก่อสัญกรรม จากการสู้รบ กับกับราชบุตรองค์หนึ่งของพระเจ้าอะนุวง ที่เมืองหนองคาย และ นำศพกลับไปยังเมืองยโสธร ซึ่งเป็นที่ตั้งทัพใหญ่

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวเกี่ยวกับพระสุกในดินแดนสยาม เป็นเรื่องลับสำหรับทุกฝ่าย และ ชาวสยามในยุคหนึ่ง ได้รู้จักพระพุทธรูปองค์นี้ในนามใหม่ว่า "พระคัมภีรพุทธเจ้า" แม้กระทั่งชาวไทยในยุคปัจจุบัน ก็มีจำนวนมาก ที่ไม่เคยทราบว่า พระสุกอยู่ในดินแดนไทย มาเป็นเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษแล้ว

ล่วงเข้าสู่ยุคใหม่ เมื่อปี 2548 วัดศรีธรรมาราม โดยพระครูญาณโพธิคุณ ซึ่งเป็นอดีตพระเลขา ของพระเทพสังวรญาณ หรือ หลวงตาพวง สุชินทริโย ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนหลวงพ่อพระสุก เป็นโบราณวัตถุ ที่พิพิธภัณฑสถานแหงชาติอุบลราชธานี นั่นคือเมื่อ 12 ปีที่แล้ว

เรื่องนี้เคยเป็นข่าวเล็กๆ ในแวดวงผู้ศึกษาด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ โดยสาธารณชนทั่วไป ยังไม่ค่อยตระหนักว่า พระสุกคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร หรือ เป็นมาอย่างไร

เพื่อสืบสาวราวเรื่อง ต้องย้อนกลับไปในช่วงปี 2467-2473 เมื่อครั้งพระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์ เป็นปลัดมณฑลอุดร และ ต่อมาได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นผู้ให้นักโทษประหารขั้นเด็ดขาด ทั้ง 8 คน ไปงมพระสุกขึ้นจากบริเวณปากน้ำงึม ที่อยู่ทางตรงข้าม อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย โดยแลกกับอิสรภาพ และ ปฏิบัติการนี้ถูกเก็บเป็นความลับมาตั้งแต่นั้น

พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์ เติบโตจากวัดศรีธรรมาราม พระอารามหลวงในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อก่อนคือ วัดท่าชี และ กลายมาเป็นวัดศรีธรรมหายโศก และ วัดอโสการาม เมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัด ระหว่างปี 2467-2473 พระยาอุดรธานีฯ จึงอัญเชิญ พระพุทธรูปองค์นี้จากเมืองอุดรฯ ไปประดิษฐาน ในแดนดินถิ่นกำเนิด

หลังบูรณะพระอุโบสถแล้วเสร็จ ได้มีการสำรวจทรัพย์สิน และ ระบุชื่อ "พระคัมภีรพุทธเจ้า" เอาไว้ในรายการที่ 5 เป็นพระพุทธรูปขัดเงาปางมารวิชัย (ปางชนะมาร) ฐานเป็นเรือนแก้ว หน้าตักกว้าง 27 นิ้ว (68.7 ซม.) สูงจากฐานถึงเศียร 41 นิ้ว (104 ซม.เศษ) ซึ่งเจ้าของก็คือ พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์

ชื่อ "พระคัมภีรพุธเจ้า" นั้น พระยาอุดรธานีฯ ตั้งขึ้น เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ พระอาจารย์มี คำภีโร อันเป็นฉายาของบิดา เมื่อครั้งอุปสมบท ที่วัดศรีธรรมารามแห่งนั้น

ตามประวัตินั้น เมื่ออายุได้ 12 ปี พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์ เคยอุปสมบทเป็นสามเณรที่วัดเดียวกันกับบิดา ก่อนจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ศึกษาเปรียญธรรม สึกเป็นฆราวาส และ ได้มีโอกาสติดตามสนองงานใกล้ชิด สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ที่ทรงเป็นพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย เคยเสด็จพระดำเนินวัดศรีธรรมาราม จึงทรงทราบเรื่องราวเกี่ยวกับพระสุกเป็นอย่างดี อีกทั้งได้ทรงโปรดให้เปลี่ยนชื่อวัด เป็น "อโสการาม" อีกด้วย ทำให้การถกเถียงกันเกี่ยวกับ ความแท้หรือไม่แท้ ของหลวงพ่อพระสุกยุติลง

เรื่องราวเหล่านี้ เขียนบอกเล่าเอาไว้ ในหนังสือรำลึกงานสมโภช "เจดีย์พระสุกและพิพิธภัณฑ์พระเทพสังวรญาณ (หลวงตาพวงสุชินทริโย)" วันที่ 2 เม.ย.2559 คือ เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการเปิดเผยความเป็นมา เกี่ยวกับ "ปฏิบัติการลับ" งมพระสุก ขึ้นจากแม่น้ำโขง อัญเชิญเข้าสู่แผ่นดินสยาม และ ถูกเก็บเป็นความลับต่อมาอีกหลายสิบปี จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง

ปี 2511 พระเทพสังวรญาณ ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีธรรมาราม และ "หลวงตาพวง" ซึ่งเป็นศิษยานุศิษย์ผู้หนึ่ง ของหลวงปู่มั่นภูริทัตโต - เกจิอาจารย์สายวิปัสนาแห่งวัดหนองผือ ทั้งเป็นศิษย์ร่วมสำนัก เป็นสหายทางธรรม กับหลวงตามหาบัวญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด ได้กล่าวกับลูกศิษย์ลูกหา เสมอๆ ว่า พระพุทธรูปองค์นี้ มีความสำคัญมากที่สุด ทั้งกำชับทุกคนว่า เมื่อท่านมรณภาพไปแล้วเท่านั้น จึงจะนำเรื่องราวต่างๆ ออกเปิดเผยได้..

พระราชสุทธาจารย์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีธรรมาราม ท่านต่อมา ได้เคยเปิดเผยว่า หลวงตาพวงได้กล่าวย้ำเสมอๆ "นี่แหละพระสุก.. นี่แหละพระสุก" แต่ทุกอย่างก็ยังถูกเก็บเป็นความลับ ตามความปรารถนา

พระเทพสังวรญาณ อยู่ในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีธรรมาราม เป็นเวลายาวนานกว่า 40 ปี กุมความลับเกี่ยวกับพระสุกตลอดมา จนละสังขารเมื่อปี 2552 และ ปีต่อมาก็ได้รับพระราชทานเพลิง ถึงกระนั้นความลับก็ยังลับต่อมาอีก จนเมื่อมีการก่อสร้างเจดีย์พระสุกและพิพิธภัณฑ์ฯ ขึ้นในพระอารามหลวง เมื่อปีที่แล้ว ชาวยโสธรจัดฉลองสมโภชอย่างสมเกียรติ ความลับทั้งหมดจึงถูกเปิดเผยออกมาอย่างละเอียด.. หลังหลวงตาพวงจากไป 7 ปีเต็ม.

ชมภาพเพิ่มเติมได้ในช่องแสดงความคิดเห็นครับ

ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx…

คำสำคัญ (Tags): #พระศุกร์
หมายเลขบันทึก: 641601เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2017 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2017 16:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท