อนาคตของ GotoKnow


ระบบค้นที่ดี เป็นเสมือนเลนส์รวมแสง ทำให้แสงสลัว มีพลังความเข้มที่มากขึ้น

ผมตั้งคำถามเล่น ๆ กับตัวเองมาตลอดว่า ศักยภาพที่แท้จริงของ GotoKnow อยู่ที่ไหนกันแน่...

อยู่ที่การเป็น blog ? ิblog ในโลกมีถมไป

อยู่ที่การเป็นแหล่งเก็บข้อมูลสาธารณะ ? อาจใช่ระดับหนึ่ง แต่คงไม่ค่อยตรง

อยู่ที่การเป็นเวทีสาธารณะให้คนมาแสดงความคิดเห็น ? ยิ่งไม่ใช่ใหญ่ เพราะถ้าเป็นแบบนั้น เว็บบอร์ดน่าจะเป็นสิ่งที่ตรงกว่า

ถ้ามองว่า GotoKnow เป็นเครื่องมือเก็บเกี่ยวความรู้แฝงเร้นผ่านเรื่องเล่า บทรำพึง คำรำพัน ก็คงจะใกล้เคียงข้อเท็จจริงขึ้นมาหน่อย

แต่ถ้าเป็นเพียงแค่นั้น ก็คงเป็นการไม่ให้เกียรติคนที่ผลักดันสร้าง GotoKnow ทั้งหลาย ที่ผมเชื่อว่ามีเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้นมาก

GotoKnow คงต้องวิวัฒนาการไปพ้นจากที่ว่ามา จึงจะสามารถข้ามพ้นการเป็นเครื่องมือเก็บเกี่ยว คือเป็นเครื่องมือทางสังคมเพื่อประสานผู้คน หรือสูงขึ้นไปกว่านั้นอีกระดับ คือเป็นหน่วยสังคมมีชีวิต ที่เป็นผลจากการรวมหมู่ของสติปัญญา (collective intelligence, collective mind)

ซึ่งหากเป้าหมายเป็นเช่นที่ว่ามา เครื่องมือทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ขาดไม่ได้คือการมีเครื่องมือสำหรับทำ user socialization ที่ฉลาด คือระบบจับคู่ให้คนเจอกันในประเด็นที่กำลังอ่านค้างอยู่

คำว่า user socialization อาจมีความหมายตีความได้หลายอย่าง เช่น บางคนอาจแปลว่าการ เจ๊าะแจ๊ะ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ผมหมายถึง ผมมองหาคำที่อธิบายตรงใจไม่ได้ จึงใช้คำนี้ไปก่อน โดยใช้ในบริบทความหมายว่า หมายถึง "การสามารถมองเห็นคนอื่นที่สนใจเรื่องเดียวกัน" ซึ่งผมไม่ได้สนใจในเชิงว่า จะมีการพูดคุยตอบโต้หรือไม่ เพราะนั่นเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างคนสองคน ไม่ใช่เป็นเรื่องของระบบ

บางทีใช้คำว่า "text navigation" อาจจะตรงกว่า แต่มันไม่ใช่คำที่ติดหู

เรียกอะไรก็ช่างเถอะ มันก็คืออย่างที่มันคือนั่นแหละ

ใน blog ก่อนหน้า ผมเคยพูดถึง user socialization ด้วยเหตุผลมุมมองของผู้ใช้ ที่อยากมีเครื่องมือสำหรับการมองหาคนที่สนใจคล้ายกันที่ทำงานดีกว่าใช้ tag เป็นเสียงสะท้อนของผู้ใช้คนหนึ่ง การนำเสนอในครั้งก่อนจึงเป็นไปเพื่อให้ได้ระบบที่ทำงานเร็วที่สุดและดีพอประมาณ เพื่อให้ไม่เป็นภาระผู้พัฒนาระบบ จึงเป็นข้อเสนอเพื่อเพิ่มสิ่งที่ "ควรมี"

แต่หากตั้งเป้าสูงสำหรับอนาคตของ GotoKnow ก็ต้องลงทุนกันมากหน่อย เพราะระบบ user socialization จะกลับกลายเป็นสิ่งที่ "ต้องมี" แบบ "ขาดไม่ได้"

แต่ถ้าทำได้ ก็น่าจะคุ้ม เพราะสติปัญญารวมหมู่ จะเกิดจากการที่หน่วยย่อย ๆ มองเห็นถึงกันหมดราวกับเป็นคนเดียวกัน อาจมองว่านี่คือการเกิดองค์กรเสมือนในรูปแบบหนึ่งก็คงได้

ให้เห็นภาพ ถ้าผมจะทำ KM ห้องปฎิบัติการสอนนักศึกษา การเรีัยนรู้ที่เร็วและตรงที่สุดก็คือจากแวดวงคนที่ทำ KM ห้องปฎิบัติการสอนนักศึกษา แบบนี้จะได้แบบเข้มข้น หรือผมอาจไปเรียนรู้จากแวดวงทำ KM เรื่องผ้าทอ ก็คงได้บ้างนิด ๆ หน่อย ๆ แต่ไม่ค่อยตรง

ปัญหาคือ คนที่ทำ KM ห้องปฎิบัติการสอนนักศึกษา อยู่ที่ไหนบ้าง ?

ถ้าผมเข้าผ่าน tag ผมอาจหาไม่พบเลย ถ้าคนที่เขาทำอยู่ใช้ tag ต่างออกไป

แม้ google จะเป็นทางออกหนึ่งที่ดี เพราะเป็นระบบค้นที่ปรับแต่งมามาก แต่ผมก็ยังมองว่าอาจไม่ใช่ทางออกที่ตรงนัก เพราะผมลองแล้ว ก็ยังรู้สึกว่า "ยังไม่ใช่" เพราะไม่ค่อยเจอตรงกับที่น่าจะเป็น ทั้งที่ใช้วิธีสแกนหามั่วๆเอา ดันเจอ

แต่การตั้งเป้าสูง ก็คงเป็นงานที่ใหญ่และหินไม่แพ้สิ่งที่เคยทำมาในอดีตสำหรับทีมผู้พัฒนา และเจ้าของทุน

องค์กรต่างจากฝูงชนตรงที่องค์กรมีเป้าหมายร่วมกัน มีระบบคิดและความเชื่อร่วมกัน ไม่เช่นนั้นก็เป็นเพียงหน่วยงานธรรมดา การจะคิดร่วมกัน เชื่อร่วมกันได้ ต้องการการรับรู้ถึงกันและกันในแวดวงนั้น ๆ (ซึ่งอาจมีวงเล็ก ๆ ซ้อนกันหลายวง) อย่างจำเพาะเจาะจง

ยกตัวอย่างง่าย ๆ นายบอน! ชอบเขียนเคล็ดลับสารพัด โดยแทบไม่มี tag 'เคล็ดลับ' เลย แบบนี้ผมก็หมดสิทธิอ่าน เว้นแต่บังเอิญเคยมีวงจรการแวะเวียนอ่านที่มาพบกันอยู่ก่อน จึงจะซอกแซกไปอ่านได้

ทำอย่างไรเมื่อผมสนใจเรื่องเคล็ดลับสารพัด แล้วบังเอิญผมไม่เคยรู้ว่ามีใครที่เขียนทำนองนี้อยู่ แต่เอื้อให้ผมสามารถมองเห็น blog ของนายบอน! และของท่านอื่นที่ผมเชื่อว่ามีซุกซ่อนอยู่ใน GotoKnow แต่บังเอิญไม่เคยมีโอกาสผ่านตา เพราะบังเอิญว่า ไม่มีท่านใดเลยใช้ tag ว่า 'เคล็ดลับ' ?

ซึ่งหากทำได้เช่นนั้น ก็เหมือนกับการที่มีนักเขียนอย่าง นายบอน! เพิ่มขึ้นอย่างปุปปับอีกหลายคน ผุดบังเกิดขึ้น เพราะการสามารถมองเห็นแบบเจาะจงทั้ง ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามี

นั่นคือ ด้วยความสามารถในการจูงให้คนที่สนใจคล้ายกัน ได้เจอกันง่าย โดยกรองทิ้งส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ก็เป็นเหมือนการเพิ่มความเข้มข้นเชิงเนื้อหาให้ GotoKnow โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องมีการเขียน blog เพิ่มเลยแม้แต่ blog เดียว

ที่ว่ามานี้ พูดในฐานะไทยมุงนะครับ..

หมายเลขบันทึก: 64152เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2006 14:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ไทยมุง ก็เกิดจากคนที่ไม่รู้จักกัน แต่เกิดสนใจเรื่องที่เกิดขึ้นในขณะนั้นถ้าไม่มีเหตุที่น่าสนใจ ก็ไม่มีใครมามุง

gotoknow คงจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ไทยมามุง ค้นหาหลายๆสิ่ง

เรื่องของ tag หรือ ป้ายนั้น เป็นเหมือนช่องทางที่ทำให้ ไทยมามุง จากการค้นหาข้อมูล
ที่บอกว่า อยากมีเครื่องมือสำหรับการมองหาคนที่สนใจคล้ายกันอย่างมีประสิทธิภาพกว่าแค่ใช้ tag

บางทีประเด็นที่เขียนในบันทึก และถ้อยคำที่ใช้ เรื่องเหล่านั้น ยังไม่โดดเด่นเพียงพอ ให้คนค้นพบบันทึกนั้น
เพราะบันทึกประเด็นนั้น ใครๆก็เขียน เมื่อสืบค้น ผลการค้นจึงพบบันทึกที่หลากหลาย

ถ้าเขียนบันทึกในเรื่องเฉพาะประเด็น ก็จะค้นพบเรื่องที่เจาะจงกว่า
แต่เราไม่อาจจะเดาใจได้ว่า มีจำนวนคนสนใจกี่มากน้อย ที่จะคลิกเข้ามาอ่านบันทึกเฉพาะเจาะจงเรื่องนั้น

ขอขอบคุณอาจารย์ wwibul...

  • go2know จะเป็นอะไร... ยากที่จะรู้
  • รู้แต่ว่า ผมยังเป็นพวก go2no (ไปไม่ถึงไหน)
  • เลยขอเข้ามาเรียนใน Go2know

บางทีอาจจะต้องขอให้รายการ "กบนอกกะลา" มาช่วยอธิบาย... เพราะเขาเก่งจริง

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท