การเข้าเมืองของคนต่างด้าว


อยากให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดูแลบุคคลต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในประเทศกำหนดสถานะของบุคคลเหล่านั้นให้ชัดเจน เพื่อให้พวกเขาได้เป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์ และไม่ถูกเอาเปรียบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

การเข้าเมืองของคนต่างด้าวที่จะได้สัญชาติไทย

             ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาเกี่ยวกับการให้สัญชาติไทยแก่ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย  เนื่องจากบุคคลดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง  ทำให้บุคคลดังกล่าวมีสถานะทางกฎหมายไม่ชัดเจน  โดยเฉพาะบุคคลดังกล่าวเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน และเกิดบุตรหลานในประเทศไทยเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้น  ทำให้เกิดปัญหาเรื่องสถานะภาพทางกฎหมายของบุคคลเหล่านั้น   และเกิดปัญหาว่าบุคคลเหล่านั้น จะได้มาซึ่งสัญชาติไทยหรือไม่   ซึ่งในกรณีนี้จะขอพิจารณาเฉพาะกรณีที่บุคคลต่างด้าวเข้าเมืองมาในลักษณะใดจึงจะได้สัญชาติไทย                       

 กรณีคนต่างด้าวเข้าเมืองมาโดยชอบด้วยกฎหมาย 

แบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่                        

     เป็นกรณีที่คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยขอวีซ่า หรือขออนุญาตเข้าเมืองตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยคนเข้าเมือง  การเข้ามาในราชอาณาจักรไทย จึงมีอยู่ด้วยกันสองลักษณะ คือ (1)    การเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามหมวด 4  ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522(2)    การเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามหมวด 5 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 

         หากคนต่างด้าวเข้าเมืองมาโดยถูกต้องตามลักษณะทั้ง 2 ประเภทข้างต้นนี้  ถือว่า เป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยชอบด้วยกฎหมาย  บุตรของคนต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยชอบด้วยกฎหมาย  อาจได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดน

 

       กรณีคนต่างด้าวเข้าเมืองมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  มีอยู่ 3 กรณี คือ

 

              (1)  คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในประเทศไทย แต่วีซ่าขาดอายุ ถือว่าเข้าเมืองมาโดยชอบแต่อยู่ในประเทศไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  หรือคนต่างด้าวที่มีถิ่นทีอยู่ในราชอาณาจักร  แต่ไม่มีหลักฐานการแจ้งออกไปนอกราชอาณาจักร เพื่อกลับเข้ามาอีก  หรือมีหลักฐานแจ้งออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อกลับเข้ามาอีก  ทำให้ใบถิ่นที่อยู่ขาดอายุ  กลายเป็นบุคคลที่เข้าเมืองมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

           ปัจจุบันคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย  ได้แก่  คนต่างด้าวที่เข้ามาใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย  แม้จะอยู่ในประเทศไทยนานเพียงใดก็ไม่ได้สัญชาติไทย  และในขณะเดียวกันบุตรหลานของบุคคลเหล่านี้  แม้จะเกิดในประเทศไทยก็ไม่ได้สัญชาติไทย ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคแรก  แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยสัญชาติฯ  เพราะเกิดจากบุคคลที่เข้าเมืองมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

 

            (2)  คนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองมาเป็นกลุ่มก้อน  กลุ่มคนต่างด้าวเหล่านี้อาจได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว  เพื่อจะรอการส่งกลับประเทศเดิม หรือส่งต่อไปยังประเทศที่ 3  บุคคลเหล่านี้ ได้แก่  ผู้ที่หลบหนีเข้าเมืองมา  แต่ถูกควบคุมอยู่ในศูนย์  เช่น  ศูนย์นักศึกษาพม่า จังหวัดราชบุรี  ศูนย์ญวนอพยพ   ซึ่งการดูแลกลุ่มคนต่างด้าวเหล่านี้ เป็นหน้าที่ของสำนักงานศูนย์อพยพและหลบหนีเข้าเมืองกระทรวงมหาดไทย   กองการต่างประเทศ  และสำนักงานปลัดกระทรวง

              กลุ่มบุคคลต่างด้าวเหล่านี้ ได้แก่ ลาวอพยพ  กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองจากประเทศพม่า  กลุ่มผู้ใช้แรงงานพม่า  และกลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองจากกัมพูชา  เป็นต้น  บุตรหลานของบุคคลเหล่านี้  แม้เกิดในประเทศไทย  ก็จะมิได้สัญชาติไทย ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยสัญชาติฯ  เพราะเป็นบุคคลที่เข้าเมืองมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 

               (3)  กลุ่มชนกลุ่มน้อยที่เป็นคนต่างด้าวและหลบหนีเข้าเมืองมาโดยมีเหตุผลทางสงคราม  เศรษฐกิจ  มนุษยธรรม  กลุ่มบุคคลเหล่านี้  รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะส่งตัวกลับหรือส่งตัวไปยังประเทศที่สาม   แต่จะให้มีสถานะตามกฎหมายไทย  อย่างเช่น  กลุ่มญวนอพยพ   กลุ่มทหารจีนคณะชาติ  จีนฮ่ออพยพ  จีนฮ่ออิสระ  ไทยลื้อ  เนปาลอพยพ  ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า  อดีตโจรคอมมิวนิสต์มลายู (อดีต จคม.)  ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายให้สถานะภาพตามกฎหมาย  โดยหากบุคคลเหล่านี้เกิดในประเทศไทย   อาจจะได้สัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิรรค 2  เป็นต้น

 

            นอกจากนี้  ยังมีชนกลุ่มน้อยบางจำพวก ซึ่งไปอยู่ในต่างประเทศและภายหลังกลับเข้ามาในประเทศไทย หรือเป็นคนพื้นที่สูงไม่สามารถติดต่อกับทางราชการได้  ทำให้มีปัญหาการตกสำรวจทางทะเบียนราษฎร์  ซึ่งได้แก่  ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย   บุคคลบนพื้นที่สูง   ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากเกาะกงประเทศกัมพูชา  ชนเผ่าตองเหลือง (มลาบรี)  หรือชนเผ่าผีตองเหลือง  ชุมชนคนพื้นที่สูง  ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายที่จะให้สัญชาติไทยเช่นกัน

 

                 จะเห็นได้ว่า บุคคลต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทย มีหลายกลุ่ม และแต่ละกลุ่มต่างก็เข้ามาในประเทศไทยด้วยหลายๆ เหตุผล  และการเข้ามาดังกล่าวมีทั้งถูกต้องตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยคนเข้าเมือง  และที่เข้ามาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งการจะได้สัญชาติไทยของกลุ่มบุคคลดังกล่าวข้างต้น จะต้องพิจารณาเป็นแต่ละกรณีๆ ไป   และตามแต่นโยบายของรัฐที่จะให้สัญชาติแก่บุคคลเหล่านั้นอย่างไร

 

                 แต่อย่างไรก็ตาม  ถ้าบุคคลดังกล่าวทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย และมีความจงรักภักดี  และรักการที่จะเป็นคนไทยแล้ว  ข้าพเจ้าก็เห็นว่า การให้สัญชาติไทยแก่บุคคลดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดผลดีแก่ประเทศไทยมากกว่า  แม้เราจะมองดูว่า การยอมให้สัญชาติแก่บุคคลดังกล่าวอาจจะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ  แต่ถ้าการให้สัญชาติเพราะ บุคคลเหล่านั้นทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย แล้วเงื่อนไขการให้สัญชาติไทย ก็คงจะลดลงมากกว่านี้  และเพราะเงื่อนไขการได้สัญชาติของประเทศไทยค่อนข้างยุ่งยาก และเจ้าหน้าที่ของรัฐขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว  ทำให้การขอสัญชาติไทยของบุคคลดังกล่าวดูค่อนข้างยุ่งยาก และซับซ้อนจนบางครั้งกลุ่มบุคคลดังกล่าวอาจมองว่าเจ้าหน้าที่ไม่ให้ความใส่ใจ  และไม่สนใจต่อปัญหาที่เกิดแก่บุคคลเหล่านี้ที่พวกเขาต้องการได้สัญชาติไทยจำนวนมาก  ทำให้เวลาพวกเขาเดินทางไปไหน  แม้แต่จะเดินทางท่องเที่ยวภายในจังหวัดที่พวกเขาอาศัยอยู่ก็ต้องคอยกังวลกลัวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะตรวจบัตรประชาชน  เพราะเจ้าหน้าที่ตามจังหวัดชายแดนมักจะขอตรวจบัตรประชาชนมากกว่าที่จะตรวจค้นสิ่งผิดกฎหมาย  ซึ่งข้าพเจ้ามีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดเชียงราย เวลากลับบ้านทีไร มักจะถูกตรวจบัตรประชาชน  แม้บางครั้งจะเดินทางเข้าไปในจังหวัดตัวเองก็ถูกตรวจบัตรฯ  แทนที่เจ้าหน้าที่จะตรวจบัตรฯ เฉพาะช่วงที่เดินทางออกมากกว่า  แม้จะเห็นว่าปฏิบัติตามหน้าที่ แต่บางทีกลับมองว่าการปฏิบัติหน้าที่นั้นมีอะไรแอบแฝงหรือไม่    โดยเฉพาะหากบุคคลเหล่านั้นเข้ามาใช้แรงงานในกรุงเทพฯ และเดินทางกลับไปบ้านเกิดมักจะมีเงินที่ได้จากการทำงานติดตัวกลับไปให้พ่อแม่  ซึ่งข้าพเจ้ามักจะเห็นบุคคลที่ไม่มีบัตรฯ จะถูกเจ้าหน้าที่เชิญลงจากรถระหว่างทางก่อนถึงที่หมายเกือบทุกครั้งที่เดินทางกลับเชียงราย

            

                จึงอยากให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดูแลบุคคลต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในประเทศกำหนดสถานะของบุคคลเหล่านั้นให้ชัดเจน  เพื่อให้พวกเขาได้เป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์ และไม่ถูกเอาเปรียบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ 
หมายเลขบันทึก: 64151เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2006 14:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

โรงงานอุตสาหกรรมสร้างมาเพิ่มสร้างงานให้กับคนต่างชาติหาใช่คนไทยไม่ นิสัยคนไทยไม่นิยมการเป็นลูกจ้างใครครับ

คิดคงมีคนไทยไม่น้อย ที่ไปทำงานโรงงานอุตสาหกรรมต่างประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน น่าจะมีกลุ่มที่ช่วยเหลือคนไทยในต่างแดนบ้างก็ดีนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท