ความรักใคร่ชอบพอ ความหลงใหลพิศวาส


หัวใจผิด แต่สมองยังถูก

  ความรักใคร่ชอบพอความหลงใหลพิศวาสความอยากสัมผัสเนื้อหนังเป็นเรื่องของหัวใจ อารมณ์ตลอดจนความรู้สึกที่แท้จริงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแบบห้ามไม่ได้แกล้งใช้สมองคิดสั่งให้เป็นอื่นไม่ได้


ส่วนการรักษาศีลการมองเห็นผลที่จะตามมาความสามารถมองการณ์ไกลเป็นเรื่องของสมอง ความคิดตลอดจนญาณทัศนะเป็นสิ่งที่ต้องตั้งใจให้เกิดจึงจะเกิดเกิดขึ้นแล้วอาจขัดแย้งอย่างรุนแรงกับหัวใจที่ชินกับการใช้อารมณ์มาตลอด


ตอนถามตัวเองว่าจะถอนความหลงรักอย่างไรคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่าเอาป้าย ‘ห้ามรักห้ามหลง’ ไปแปะไว้บนหน้าผากใครแล้วต้องเปลี่ยนแปล กลายเป็นเฉย ไม่รู้สึกอะไรเลยถ้าชาด้านได้คือถูกต้อง


ถ้าหลงรักไม่เลิกแปลว่ายังผิดอยู่ต้องฝืนห้ามใจมันเข้าไปอีกเบรกความรู้สึกให้แรงขึ้นด่าตัวเองให้หนักขึ้นบางคนอยู่คนเดียวว่างๆก็ตบหัวตัวเองราวกับนึกว่าความรักความหลงมันจะหลุดกระเด็นไปตามแรงตบได้


ข้อเท็จจริงที่ต้องทำความเข้าใจเป็นประการแรก คือศีลข้อ ๓ นั้น ท่านห้ามแค่กายทางใจจะดิ้นรนแค่ไหน ท่านไม่ว่าเพียงทำความเข้าใจเท่านี้ก็เกิดความสบายใจในเบื้องต้นได้แล้วว่าเรายังไม่ได้เป็นคนเลวเรายังไม่ได้เป็นคนผิดตราบเท่าที่ยังไม่ได้ผิดศีล


ความเข้าใจต่อมา คือความรักชนิดที่เป็นยาพิษ


เมื่อกำเริบขึ้นที่หัวใจแล้วอย่างไรก็ต้องไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดไม่หยุดถ้าอยากถอนพิษต้องมียาดีกับเวลาเยียวยาแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ใช่แค่ด้วยวิธีลูกทุ่งตบแก้มหรือด่าตัวเองหนักๆ


ตอนเกิดทุกข์เพราะรักผิดๆจะมีความรู้สึกหลากหลายผสมกันทั้งรัญจวนใจ ทั้งถวิลหา ทั้งรู้สึกผิดทั้งหน้ามืดคิดเตลิดสารพัดราวกับไม่ใช่ตัวเองเป็นคนคิดแต่สารพัดสารพันทั้งหลายนั้นรวมลงหนึ่งเดียว เป็นความรู้สึกจุกอก


เพื่อจะปฏิบัติธรรมที่บ้านโดยอาศัยความหลงรักผิดๆเป็นแบบฝึกให้เอาอะไรอย่างเดียวที่เห็นเด่นๆเช่นความจุกอกนั่นแหละเป็นตัวตั้งคุณจะสังเกตว่า ณ ขณะจุกอกนั้นมันมีตำแหน่งอยู่กลางอกจริงๆ เป็นอาการเกร็งแน่นหรือเกร็งนิดๆที่จับต้องได้เมื่อเกร็งก็อยากปลดปล่อยใจจึงมีอาการอยากปล่อยเลยตามเลยและเมื่อใจปล่อยเลยตามเลยก็เหมือนเข้าป่ารก หลงวนอยู่ในป่าอย่างน่าอึดอัดแต่แม้อึดอัดก็มีความสุขอยู่ลึกๆที่ได้รักได้หลง ได้วนเวียนอยู่ในป่าใหญ่แห่งนั้น


ให้สังเกตอีกว่าเมื่อรู้สึกถึงความจุกที่หน้าอกคุณจะพลอยรู้สึกถึงภาวะทางกายอื่นๆได้ด้วยเช่น กำลังหลังงอหรือหลังตรงกำลังเอียงข้างหรือตั้งนิ่กำลังแข็งขืนหรืออ่อนระทวย



เมื่อรู้สึกถึงภาวะทางกายที่กำลังปรากฏได้ให้อาศัยความรู้สึกนั้นเป็นฐานสังเกตว่าหายใจแต่ละครั้งอึดอัดหรือสบายกว่ากันเพียงเห็นความต่างระหว่างอึดอัดกับสบายในแต่ละลมหายใจได้สักนาทีหนึ่งคุณจะเกิด ‘มุมมองพลิกกลับ’กล่าวคือ จากที่มีใครคนหนึ่งตกหลุมรัก ไม่อยากขึ้นจากหลุมฝันหวานแหววในห้วงอารมณ์ปั่นป่วนกลายเป็นมีกายหนึ่งกับจิตหนึ่งตกอยู่ในภาวะผันผวนเดี๋ยวป่วนมาก เดี๋ยวป่วนน้อยของจริงทั้งหมดทั้งมวลมีอยู่แค่นั้น


ความรักความหลงแบบผิดๆมันหายไปไหนไม่รู้เหลือแต่อาการเห็นกายใจปั่นป่วนมากบ้าง น้อยบ้างยิ่งเห็นบ่อยขึ้นเท่าไรใจยิ่งเกิดความสว่าง เป็นกลางเห็นว่าพิษคายหายไข้มากขึ้นเท่านั้นสรุปคือเพื่อจะถอนพิษที่หัวใจได้เร็วไม่ใช่ใช้สมอง แล้วก็ไม่แล่นตามหัวใจแต่อาศัยสติรู้ความไม่เที่ยงในกายใจอันเป็นหลักปฏิบัติธรรมง่ายๆแค่นี้เอง!


หมายเลขบันทึก: 641078เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2017 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2017 11:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท