ครูผู้มีผลงานกระจ่างชัด ๑๐. ยุทธศาสตร์เริ่มต้น



บันทึกชุด ครูผู้มีผลงานกระจ่างชัด  นี้ตีความจากหนังสือ Visible Learning for Teachers : Maximizing Impact on Learning เขียนโดย John Hattie ซึ่งวางจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๕๕  


ตอนที่ ๑๐ ยุทธศาสตร์เริ่มต้น ตีความจากบทที่ 9 Mind frames of teachers, school leaders, and systems  หน้า ๑๘๙ - ๑๙๔ ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของบท

ขอทบทวนว่า ในตอนที่ ๒ - ๙ ของบันทึกชุด “ครูผู้มีผลงานกระจ่างชัด”    ได้ระบุกรอบความคิด (mind frame) แปดประการที่จำเป็นยิ่งสำหรับครูผู้มีผลงานกระจ่างชัด    ซึ่งหมายถึงครูที่ช่วยให้ศิษย์ทุกคน บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ แบบบูรณาการ ที่เรียกว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑    โดยบรรลุผลในระดับรู้ลึก ไม่ใช่แค่รู้ผิวเผิน    

 เมื่อครู ผู้บริหารโรงเรียน และผู้บริหารระบบการศึกษา เข้าใจกรอบความคิดสำคัญทั้งแปดแล้ว  คำถามต่อไปคือ จะเริ่มประยุกต์กรอบความคิดดังกล่าว เพื่อบรรจุ “การเรียนรู้ที่เห็นผลกระจ่างชัด” (visible learning) ไว้ในกระบวนการ จัดการศึกษา (visible learning inside) ได้อย่างไร    ซึ่งนี่คือกระบวนการจัดการการเปลี่ยนแปลง     ศ. John Hattie แนะนำว่า ต้องสร้างบรรยากาศให้ครูรู้สึกว่าตนได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือ     เพื่อการบรรลุเป้าหมายของการทำหน้าที่ “ครูผู้มีผลงานกระจ่างชัด” ได้อย่างแท้จริง  


กล่าวใหม่ว่า เริ่มโดยหา “ตัวช่วย” ให้แก่ครู

 อาจเริ่มโดยครูและนักเรียนร่วมกันทำความเข้าใจ “เป้าหมายการเรียนรู้” (learning intention) และเกณฑ์ความสำเร็จ (success criteria) ของการเรียนในคาบเรียนหนึ่ง    โดยครูจัดให้นักเรียนตอบแบบทดสอบ ก่อนเรียนและหลังจบคาบเรียน    แล้วครูคำนวณ “ขนาดของผลกระทบ” (effect size) ของการจัดการเรียนคาบนั้น ของทั้งชั้นเรียน    และนักเรียนแต่ละคนคำนวณ “ขนาดของผลกระทบ” ของตน

ข้อมูลจากย่อหน้าบน  นำไปสู่การเสวนากันระหว่างครูกับนักเรียน  ครูกับเพื่อนครู  และครูกับผู้บริหารโรงเรียยนและเขตการศึกษา     เพื่อร่วมกันคิดว่าจะพัฒนาโรงเรียนและชั้นเรียนที่บรรลุเป้าหมายตาม ย่อหน้าที่สามของบันทึกนี้ได้อย่างไร    โดยนำเอาสาระของกรอบความคิดตามในบันทึกที่ ๒ - ๙ มาเป็นหลักในการเสวนา

“ตัวช่วย” ในที่นี่คือ “ข้อมูล” ขนาดของผลกระทบของการเรียนและการจัดการเรียนการสอน    สำหรับเอา มาเสวนา ร่วมกันหาทางยกระดับ “ผลกระทบ” ต่อการเรียนรู้ของนักเรียนให้สูงขึ้น   

จะเห็นว่า จุดเริ่มต้นคือ การสร้างเป้าหมายร่วมของทีมครู ผู้บริหาร และนักเรียน    โดยเป็นเป้าหมายที่เชื่อมโยง กับสภาพความเป็นจริงของนักเรียน และของครู

จะรู้สภาพความเป็นจริงของนักเรียนและของครูได้ ก็ต้องมีการประเมิน     จึงต้องมีการสร้างบรรยกาศ และสร้างวัฒนธรรมทางการศึกษา ให้ครูไม่กลัวการประเมิน    แต่ใช้การประเมินเป็นเครื่องมือสร้างข้อมูลสำหรับใช้ พัฒนางานของตน   effect size เป็นผลลัพธ์ของการคำนวณจากผลการประเมินก่อนและหลังคาบเรียน หรือก่อนและหลังการเรียนบทเรียนทั้งหมด     effect size จึงเป็นเครื่องมือสำหรับครูพัฒนาตนเอง และช่วยเพื่อนครู ให้พัฒนาตนเป็น “ครูผู้มีผลงานกระจ่างชัด” (visible impact teacher)

นี่คือเส้นทางสู่การพัฒนาคุณภาพของการศึกษาทั้งระบบ    โดยหนังสือหน้า ๑๙๐ ระบุว่า “… the greatest source of variance in our system relates to teachers – they can vary in many ways. Not all teachers are effective, not all teachers are experts, and not all teachers have powerful effects on students.”    ตีความได้ว่า หากจะให้ระบบการศึกษาของเรา มีคุณภาพ    ต้องมีระบบเรียนรู้ของครู เพื่อให้ครูทุกคนเป็น “ครูผู้มีผลงานกระจ่างชัด”    ครูคนใดไม่ตั้งใจพัฒนาตนเอง    หรือไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนเป็น “ครูผู้มีผลงานกระจ่างชัด” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า (effect size, d < 0.40)    ทั้งๆ ที่มีระบบช่วย  ไม่ควรดำรงอาชีพครูอีกต่อไป    และผลงานของครูแต่ละคนในภาพของ effect size ควรเป็นที่เปิดเผยในชุมชนการศึกษา 

หนังสือหน้า ๑๙๑ ระบุว่า การมี PLC ของครูในโรงเรียน และในระบบการศึกษา จะไม่มีความหมายใดๆ หาก  PLC นั้นไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การยกระดับ effect size ต่อการเรียนรู้ของนักเรียน   กระบวนการหลักใน PLC จึงควรเป็นเรื่องของการที่ ครูนำหลักฐาน effect size ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนมาปรึกษาหารือกัน    เพื่อร่วมกันหาทาง ยกระดับ effect size ขึ้นไปอีก 

กิจกรรม PLC ควรประกอบด้วย

  • การวางแผนจัดการเรียนรู้ร่วมกัน
  • ร่วมกันวิเคราะห์ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน
  • ร่วมกิจกรรม lesson study
  • ร่วมกันทำวิจัยชั้นเรียน (action research)
  • เข้าสังเกตการณ์ชั้นเรียนซึ่งกันและกัน  เพื่อให้ feedback เป็นข้อมูลประกอบการ วางยุทธศาสตร์พัฒนาวิธีสอน


วิจารณ์ พานิช

๖ ก.ย. ๖๐

บนเครื่องบินไทยสมายส์ไปหาดใหญ่


 

หมายเลขบันทึก: 640980เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2017 22:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2017 22:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน อาจารย์วิจารณ์ ที่เคารพ


กราบขอบพระคุณกรุณาที่มอบลายแทงขุมทรัพย์มาให้ค่ะ 

ตอนนี้กระบวนการ PLC ของกลุ่มครูช่วงชั้นที่ ๑ และ ๒ ของโรงเรียนเพลินพัฒนาทำได้เกือบครบหมดทุกข้อแล้วค่ะ ยังขาดเพียงการทำ action research ที่ชัดเจนและเป็นระบบ ซึ่งขณะนี้ทางกลุ่มแกนนำขับเคลื่อนการเรียนรู้ของทั้งสองช่วงชั้นกำลังเริ่มต้นดำเนินการ และตั้งใจว่าจะเริ่มต้นนำผลงานวิจัยชั้นเรียนมานำเสนอได้ในงาน "ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)" ครั้งที่ ๑๓ ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน ๖๑ ค่ะ


ด้วยความเคารพ

ครูใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท