รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๖) การเขียนโครงการ - วัตถุประสงค์


ในการเขียนโครงการ แม้จะเริ่มด้วย "หลักการและเหตุผล" (หรือที่มาและความสำคัญ) (อ่านได้ที่นี่) แต่ในทางปฏิบัติ สิ่งที่ต้องชัดเจนก่อนเริ่มเขียน ควรจะเป็น "วัตถุประสงค์" ของโครงการ

ในรายวิชา ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ผมแนะนำให้นิสิตไปศึกษาจากบันทึกถอดบทเรียนจากการฟังบรรยายของ ผศ.ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์ (ที่นี่) ก่อนจะมอบหมายให้ทุกกลุ่มไปเขียนโครงการด้วยลายมือ แล้วให้มานำเสนอหน้าชั้นเรียน และส่งโครงการที่เขียนมาในวันเดียวกัน (วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐)  

ท่านบอกว่า วัตถุประสงค์ คือ ความต้องการที่อยากให้เกิดขึ้นหลังจากโครงการ ลักษณะที่ดีของวัตถุประสงค์ คือ ชัดเจน ทำได้จริง วัดประเมินได้ สามารถบอกเป้าหมายหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรม หากเป็นการพัฒนาคน ต้องระบุได้ว่าพฤติกรรมที่พึงประสงค์คืออะไร  และได้ให้หลักคิดในการเขียนวัตถุประสงค์ไว้ ๕ ประการ คือ SMART ที่แปลว่าฉลาด ... ผมปรับใช้โดยยึดเอาหลักคิดนี้ มาเรียงใหม่ตามความสำคัญและสอดคล้องกับการเขียนโครงการบนฐานปัญหา เป็น RAMS ได้แก่ 
  • Realistic  คือ ปฏิบัติจริงได้ ไม่เพ้อฝัน
  • Attainable คือ บรรลุผลได้
  • Measurable คือ ประเมินผลได้ วัดได้ 
  • Specific คือ หนึ่งข้อหนึ่งประเด็น

ส่วนการเรียงลำดับ ขอเสนอให้มีวัตถุประสงค์ ๒-๔ ระดับ เรียงตามลำดับความสำคัญ ดังนี้

ระดับที่ ๑ ให้เขียนถึง “ผลผลิต” (Output) คือ สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นทันทีหลังจบโครงการ ค่อนข้างมั่นใจว่าเกิดขึ้นแน่นอน และต้องสามารถประเมินได้ทันทีหลังจบโครงการ เป็นสิ่งที่ผู้ทำโครงการมีความมั่นใจว่าเกิดขึ้นแน่ ๆ เพราะเป็นวัตถุประสงค์หลักของโครงการ

ระดับที่ ๒ ให้เขียนถึง “ผลลัพธ์” (Outcome) คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมที่เกิดขึ้น เป็นความคาดหวังของโครงการที่อยากให้เกิดขึ้น เช่น การกระทำ ทักษะ ความสามารถ หรือศักยภาพ หรือเจตคติ  ฯลฯ

ระดับที่ ๓ ให้เขียนถึง “ผลพลอยได้” (By-product) หรือประโยชน์ทางอ้อมที่สำคัญและมีคุณค่าที่สุดที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ

ระดับที่ ๔ (ถ้ามี…ในกรณีเป็นโครงการต่อเนื่องหรือโครงการระยะยาว) ให้เขียนถึง “ผลกระทบ” (Impact) คือสิ่งที่จะเป็นผลตามมาจากโครงการ หรือผลที่เกิดขึ้นต่อจากการมีผลผลิตนั้น ๆ

อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์จะเขียนกี่ระดับก็ได้ แต่ทุกข้อที่เขียนจะต้องวัดผลและประเมินผลได้ จำนวนวัตถุประสงค์ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไปจนทำให้ความสำคัญของโครงการน้อย วัตถุประสงค์ควรจะครอบคลุมสาระสำคัญของโครงการ

ขอนำเอาผลงานการกำหนดวัตถุประสงค์ของนิสิต ที่ลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษานี้ (๑-๒๕๖๐) มาวิพากษ์เพื่อเป็นประโยชน์ในภาคการศึกษาต่อไป 

กลุ่มอินทรี

  • เพื่อให้นิสิตเข้าเรียนทันเวลาในรายวิชาที่เรียน ... เป็นวัตถุประสงค์ระดับผลลัพธ์  เหมือนจะประเมินได้ด้วยการสังเกต เก็บข้อมูล หรือสอบถามอาจารย์ผู้สอนในแต่ละชั้นเรียน แต่ในทางปฏิบัติภายใต้ข้อจำกัดของเวลา กลุ่มอินทรีไม่สามารถประเมินได้จริงแน่ จึงถือว่าเป็นวัตถุประสงค์ที่ไม่ดี (ไม่ผ่านข้อ Measurable)
  • เพื่อให้นิสิตมีพื้นที่เพียงพอต่อการจอดรถ ... เป็นวัตถุประสงค์เชิงผลผลิต (กลุ่มอินทรีจะไปตีเส้นจอดรถและทำป้ายรณรงค์)  แม้จะเพิ่มพื้นที่จอดรถได้จริงจากการจอดอย่างเป็นระเบียบ  แต่ด้วยขนาดของพื้นที่ที่จะดำเนินการมีข้อจำกัดด้านงบประมาณและกำลังคน  จึงไม่อาจสามารถบรรลุเป้าหมายข้อนี้ได้ จึงเป็นวัตถุประสงค์ที่ไม่ดีเช่นกัน 
  • เพื่อให้นิสิตมีจิตสำนึกในการจอดรถให้เป็นระเบียบ ...  ถือเป็นวัตถุประสงค์แบบผลพลอยได้ในกรณีที่ป้ายและเส้นที่ตีไว้เป็นสัญลักษณ์จราจรทั่วไป ... แต่หากป้ายที่เขียน เป็นข้อความที่สามารถกระตุกกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกได้ ก็สามารถกำหนดไว้เป็นวัตถุประสงค์แบบผลลัพธ์ได้เช่นกัน ซึ่งสามารถประเมินทราบได้จากการสุ่มสัมภาษณ์ 
  • กลุ่มอินทรี ไม่น่าจะได้อ่านบันทึกการถอดบทเรียนที่ส่งให้  ฝากเป็นงานการบ้านให้ปรับปรุงนะครับ 
  • กลุ่มภูเขา


    </div><div>

    • วัตถุประสงค์ควรเขียนเป็นข้อ ๆ  แต่ละข้อมีประเด็นเดียว  ลักษณะการเขียนของกลุ่มภูเขา เหมือนกำลังจะเขียนหลักการและเหตุผล 
    • ย่อหน้าที่สองไม่ใช่การเขียนวัตถุประสงค์ เป็นเหมือนการเขียนวิธีการดำเนินงานซึ่งตามแบบฟอร์มแล้วจะแยกไว้ในอีกหัวข้อหนึ่ง 
    • การเขียนวัตถุประสงค์ของกลุ่มภูเขาสะท้อนว่า ไม่ได้ศึกษาบันทึกแนะนำการเขียนก่อนจะลงมือเขียน  ...  ให้แก้ไขใหม่ตามคำแนะนำมากขึ้นนะครับ 
    กลุ่มเทียน

    • เพื่อให้เกิดจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสวนสนุก พร้อมทั้งให้นิสิตได้มีความสามัคคีในหมู่คณะกันมากยิ่งขึ้น ... 
      • วัตถุประสงค์เป็นนามธรรม (ไม่ Realistic) การร่วมทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพียงครั้งเดียวไม่ได้ทำให้เกิดจิตสำนึก อีกทั้งยังประเมินได้ยาก (ไม่ Measurable) และบรรลุผลได้ยาก (ไม่ Attainable) หากเปลี่ยนเป็น "ส่งเสริมให้เกิดจิตสำนึก.... " จะสามารถบรรลุผลได้ง่ายขึ้น 
      • มีหลายประเด็น (ไม่ Specific)  ทั้งจิตสำนึก ความสามัคคี และการมีส่วนร่วม วัตถุประสงค์ที่ดีแต่ละข้อควรมีประเด็นเดียว 
    • เพื่อร่วมทำความสะอาดพื้นที่บริเวณสวนสนุก ให้เป็นที่พักผ่อนของนิสิตและประชาชนทั่วไปมาใช้ ...
      • มีหลายประเด็น (ไม่ Specific) ทั้งเพื่อทำความสะอาด (ปรับปรุงภูมิทัศน์...) เพื่อเปิดโอกาสให้ได้ร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ฯลฯ
      •  เพื่อให้นิสิตและประชาชนมาใช้ ...ภายใต้ข้อจำกัดด้านเวลา คงไม่สามารถจะประเมินได้ 
    กลุ่มภาพอิสระ

    • เพื่อให้นิสิตผู้ใช้รถและถนนตลาดน้อยจอดรถเป็นระเบียบมากขึ้น ... เป็นวัตถุประสงค์แบบ "ผลลัพธ์" ที่เป็นจริงได้ (มี Realistic) บรรลุผลได้ (มี Attainable) และประเมินผลได้ (มี Measurable) และมีประเด็นเจาะจงเดียว (มี Specific) สรุปคือ ผ่าน RAMS สิ่งที่ต้องปรับคือการใช้คำให้กระทัดรัดเป็นทางการมากขึ้น เช่น "เพื่อให้การจอดรถในลานจอดรถหลังตลาดน้อยมีความเป็นระเบียบมากขึ้น " เป็นต้น 
    • เพื่อให้ผู้อื่นที่มาใช้บริการตลาดน้อยมีที่จอดรถที่เพียงพอ ...  เป็นวัตถุประสงค์แบบ "ผลผลิต" คือเมื่อสิ้นโครงการแล้วควรจะบรรลุผลเลย แต่ในที่นี้ กลุ่มภาพอิสระจะไปตีเส้นที่จอดและทำป้ายบอกเส้นทางเข้าจอดเพียงบางส่วนของลานจอดรถเท่านั้น จึงไม่อาจจะบรรลุวัตถุประสงค์ข้อนี้ได้ (ไม่ Attainable) 
    • เพื่อความเป็นระเบียบและถูกต้องตามกฎจราจร ... เป็นวัตถุประสงค์แบบ "ผลลัพธ์" คือพฤติกรรมของผู้จอดรถที่จะเปลี่ยนไป  นอกจากคำไม่ชัด ที่ต้องตัดวัตถุประสงค์ข้อนี้ออกเนื่องจากซ้ำซ้อนกับข้อแรก
    กลุ่มดวงอาทิตย์

    • เพื่อปรับปรุงที่จอดรถให้มีพื้นที่เพียงพอต่อความต้องการของนิสิต ... เป็นวัตถุประสงค์แบบผลผลิต ที่ไม่อาจบรรลุผลได้จริง (ไม่ Attainable) 
    • เพื่อให้มหาวิทยาลัยปรับปรุงจุดแก้ไขเกี่ยวกับปัญหาที่จอดรถ... เข้าใจว่ากำลังเขียนวัตถุประสงค์แบบผลพลอยได้ (by-product) แต่ใช้คำไม่ถูก ทำให้ความหมายเปลี่ยนไปเป็นการสั่งให้มหาวิทยาลัยปรับปรุงที่จอดรถ อย่างไรก็ตาม ยังไม่เจาะจงลงการปฏิบัติ (ไม่ Realistic และ ไม่ Specific)
    • เพื่อศึกษาปัญหาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการจราจรที่สืบเนื่องจากการจอดรถ ... เป็นวัตถุประสงค์ระดับต้น (ผลิตผล คือ บรรลุผลได้แน่ถ้าทำโครงการ)  โครงการบนฐานปัญหาของรายวิชานี้ทุกโครงการ ควรจะกำหนดวัตถุประสงค์ข้อนี้ไว้เป็นข้อแรก   
    กลุ่มดอกบัว


    • เพื่อแก้ไขปัญหาการจอดรถของคณะบัญชีและการจัดการบริเวณข้างอาคารเอนกประสงค์ให้เป็นระเบียบ ... เป็นวัตถุประสงค์ระดับผลลัพธ์ที่ปฏิบัติได้ (Realistic) บรรลุผลได้ (Attainable) ประเมินผลได้ (Measurable) และจำเพาะเจาะประเด็น (Specific)  เว้นแต่ใช้คำยังไม่กระทัดรัด  ควรปรับเป็น "เพื่อแก้ไขปัญหาการจอดรถไม่เป็นระเบียบ..... "  หรือไม่ก็เป็น "เพื่อให้การจอดรถบริเวณ....เป็นระเบียบมากขึ้น" ฯลฯ 
    • เพื่อลดปัญหาจราจรติดขัด ... เป็นวัตถุประสงค์เชิงผลพลอยได้  ประเมินได้ยาก แต่ก็สามารถประเมินได้ด้วยการสังเกต 
    • เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ... เป็นวัตถุประสงค์ระดับ "ผลกระทบ" ประเมินได้ยากยิ่ง เพราะปัจจัยให้เกิดอุบัติเหตุมีหลากหลาย ควบคุมและวัดผลได้ยาก 
    กลุ่มกำปั้น

    • เพื่อปรับปรุงสถานที่จอดรถให้จอดเป็นระเบียบมากขึ้นโดยการตีเส้นตารางเพื่อแบ่งช่องการจอดรถ ... เป็นวัตถุประสงค์แบบ "ผลผลิต"  ที่ผ่านตามหลัก RAMS แต่ต้องปรับคำให้ถูกต้อง 
      • ไม่ต้องบอกวิธีการดำเนินการละเอียดในวัตถุประสงค์  ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้จากการอ่านหลักการและเหตุผลมาก่อนแล้ว และสามารถอ่านละเอียดได้ในหัวข้อ "วิธีการดำเนินการ" 
      • ใช้คำให้เป็นเหตุเป็นผล  เช่น เพื่อให้นิสิตจอดรถเป็นระเบียบมากขึ้น  หรือ เพื่อปรับปรุงสถานที่จอดรถให้สามารถรองรับจำนวนรถได้มากขึ้น เป็นต้น 
    • เพื่อให้นิสิตเข้าใจถึงปัญหาการจอดรถที่ล้ำเส้นและผิดระเบียบ ... เหมือนจะเป็นวัตถุประสงค์แบบ "ผลลัพธ์" คล้ายวัตถุประสงค์ของการอบรมหรือรณรงค์ให้เข้าใจด้วยการอธิบายหรือประชาสัมพันธ์ 
      • ยังไม่เห็นแนวปฏิบัติ (ไม่ Realistic) ไม่ชัดว่านิสิตจะเข้าใจและยอมรับความผิดของตนเองในขั้นตอนใด
      • วัดประเมินผลได้ยาก (ไม่ Measurable) ต้องตั้งคำถามสัมภาษณ์ หรือจัดทำแบบทดสอบ 
      • บรรลุผลได้ยาก ในกรณีที่ไม่ได้มุ่งไปที่การพัฒนาคน 
    • เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของการจอดรถในมหาวิทยาลัยให้มีระเบียบและสามารถเป็นแบบอย่างให้กับมหาวิทยาลัยอื่น  
      • เพื่อสร้างภาพลักษณ์ ... เป็นวัตถุประสงค์เชิงผลพลอยได้ ... ไม่จำเป็นต้องตั้งเป็นวัตถุประสงค์
      • เป็นแบบอย่างให้มหาวิทยาลัยอื่น ... เป็นวัตถุประสงค์แบบ "ผลกระทบ" (Impact)  เข้าขั้นเพ้อฝัน (ไม่ Realistic) บรรลุผลได้ยาก (ไม่ Attainable) ประเมินได้ยาก (ไม่ Measurable)
      • มีหลายประเด็น (ไม่ Specific)
    กลุ่มลำธาร

    • เพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอนให้แก่บุคลากรภายในโรงเรียน (ครู นักเรียน) ... 
      • เป็นวัตถุประสงค์ระดับ "ผลผลิต" คือ สิ้นโครงการจะได้สำเร็จเป็นแน่ ...แต่ใช้คำยังไม่สื่อ ควรปรับให้ชัดในการปฏิบัติและชัดในขอบเขตของงาน (Specific) เช่น  เพื่อผลิตสื่อการเรียนรู้สำหรับนักเรียนชั้น ป.๕ โรงเรียน..... เป็นต้น 
      • การเขียนวัตถุประสงค์ ไม่นิยมใช้วงเล็บขยายความ 
    • เพื่อส่งเสริมศักยภาพของนักเรียนในด้านการเรียนรู้ กล่าวคือ ควรมีสื่อพร้อม และทักษะดี ก่อให้เกิดกีฬา ที่นำมาซึ่งความสามัคคี มีน้ำใจ เหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของพลเมืองที่ดีของประเทศ ...
      • เป็นวัตถุประสงค์แบบ "ผลลัพธ์"  
      • ใช้คำไม่ถูก ส่งเสริมศักยภาพ  ควรเปลี่ยนเป็น  ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ฯลฯ  
      • วัตถุประสงค์ต้องสั้นกระทัดรัด ไม่ต้องขยายความ  ตัดตั้งแต่คำว่ากล่าวคือ.... ออก
    • เพื่อถือเป็นการพัฒนาชุมชนด้านบุคลากร ให้มีสภาพร่างกายที่แข็งแรง ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ นักเรียนไม่หมกมุ่น และเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการเข้าสังคมด้วยกีฬา ... 
      • เป็นวัตถุประสงค์เชิงผลลัพธ์หรือผลกระทบ ...  ที่มีหลายประเด็น (ไม่ Specific) บรรลุผลได้ยาก (ไม่ Attainable)  
      • ไม่กระชับ ขยายความอ้อมค้อม ดังเช่นสองประโยคตอนท้าย 
      • ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ค่อนข้างเป็นนามธรรม ประเมินผลได้ยาก 
    กลุ่มเพชร

    • เพื่อให้นิิสิตเห็นความสำคัญในกฎระเบียบ ... ไม่เห็นการปฏิบัติ (ไม่ Realistic) บรรลุผลได้ยาก (ไม่ Attainable) ประเมินได้ยาก (ไม่ Measurable) 
    • เพื่อให้นิสิตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม ... ไม่มี RAM และค่อนข้างเพ้อฝัน (ไม่ Specific)
    • เพื่อให้พื้นที่ในการจอดรถมีระเบียบ ... เป็นวัตถุประสงค์แบบ "ผลผลิต" บรรลุผลได้ แต่ยังใช้คำไมสื่อการปฏิบัติ 
    กลุ่มหมี


    • เพื่อบำรุงสนามไม่ให้เกิดน้ำขัง .... เป็นวัตถุประสงค์แบบ "ผลผลิต" ที่ยังไม่ชัดว่าปฏิบัติอย่างไร (ไม่ Realistic) จึงไม่รู้ว่าจะประเมินอย่างไร  ควรเปลี่ยนคำว่า "บำรุง" เป็นคำกิริยาที่ชัดขึ้น 
    • เพื่อป้องกันอันตรายแก่ผู้ที่มาใช้สนาม เพื่อปลอดภัยของผู้ใช้สนาม ... เป็นวัตถุประสงค์แบบ "ผลลัพธ์" ที่ประเมินได้ยาก (ไม่ Measurable) 
    • เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการใช้สนามร่วมกัน ... เป็นวัตถุประสงค์เชิง "ผลลัพธ์"  ที่สามารถประเมินจากลักษณะของกิจกรรม และการสัมภาษณ์ผู้มาใช้สนาม แต่กลุ่มหมีต้องไม่ใช่แค่ทำไม้รีดน้ำไปทิ้งไว้ ต้องใช้กิจกรรมเพื่อปลูกฝังด้วย 
    • เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการต่อไป ... ข้อนี้ไม่จำเป็นต้องกำหนดวัตถุประสงค์ข้อนี้  ไม่มี RAMS และถือเป็นหลักพื้นฐานว่าทุกโครงการเป็นฐานของการพัฒนาอยู่แล้ว 
    กลุ่มบันได


    • เพื่อสำรวจสภาพปัญหาพัดลมในตลาดน้อย ... เป็นวัตถุประสงค์ระดับ "ผลผลิต" ที่ดี  ทุกกลุ่มควรจะมีข้อนี้เป็นข้อแรกสำหรับการเขียนโครงการบนฐานปัญหา  แต่อาจเขียนให้ชัดสละสลวยมากขึ้น เช่น เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการระบายความร้อนด้วยพัดลมในตลาดน้อย ฯลฯ 
    • เพื่อทำความสะอาดและซ่อมบำรุงเบื้องต้นพัดลมตลาดน้อย ... เป็นวัตถุประสงค์แบบ "ผลลัพธ์" ที่ชัดเจนแนวปฏิบัติ (มี Realistic) บรรลุผลได้ (มี Attainable) วัดประเมินผลได้ (Measurable) และ เจาะจงลงลึกในประเด็น (Specific) จึงผ่าน 
    • เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตจิตอาสาได้ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะร่วมกัน ... เป็นวัตถุประสงค์แบบผลพลอยได้ที่ดี มีทั้ง RAMS จึงใช้ได้ 
    • กลุ่มนี้เขียนดีทั้งสามข้อครับ 
    หมายเลขบันทึก: 640703เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2017 03:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2017 07:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท