รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๕) การเขียนโครงการ - หลักการและเหตุผล


วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๐ กิจกรรมการเรียนการสอนรายวิชา ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ เป็นสัปดาห์การนำเสนอเค้าโครงการบนฐานปัญหา ซึ่งได้มอบหมายงานให้ทุกกลุ่มเขียนโครงการด้วยลายมือ โดยแนะนำให้ศึกษาจากบันทึกถอดบทเรียนของ ผศ.ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์ ไว้ที่นี่  และวิธีการเขียนหลักการและเหตุผล ที่เคยบันทึกแลกเปลี่ยนไว้ที่นี่ บันทึกนี้จะวิพากษ์ผลงานการเขียนหลักการและเหตุผล เท่านั้น เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้และฝึกฝนของนิสิตรุ่นต่อ ๆ ไป

หลักการเขียนหลักการและเหตุผลของโครงการ

ขอเสนอวิธีการแบ่งประเภทของโครงการออกเป็น ๔ ประเภท เพื่อให้ง่ายต่อการเขียนหลักการและเหตุผล ซึ่งเคยเขียนไว้นานแล้วที่นี่

๑) โครงการฐานนโยบาย (Policy-based Project) หมายถึง โครงการที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้แผนงานของหน่วยงาน เช่น แผนกลยุทธ์ แผนปฏิบัติราชการประจำปี ฯลฯ บรรลุเป้าประสงค์ของแผน กล่าวคือ เป็นโครงการที่เกิดจากการแปลงแผนกลยุทธ์มาเป็นแผนปฏิบัติ สิ่งที่ได้คือ "แผนดำเนินการ" ซึ่งประกอบด้วยโครงการต่าง ๆ

๒) โครงการบนฐานปัญหา (Problem-based Project) หมายถึง โครงการที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหา สำคัญว่าต้องมีการศึกษา สำรวจ และวิเคราะห์ปัญหาอย่างดี ให้ได้ปัญหาที่แท้จริง ปัญหาที่เข้าท่า เป็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาสำคัญ คือ เมื่อแก้ปัญหานั้นแล้วไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นตามมา
โครงการบนฐานปัญหานี้ อาจแบ่งแยกย่อยไปอีกตามเป้าหมายเน้นของโครงการ ได้เป็น ๓ ประเภท ได้แก่
  • ๒.๑) โครงการเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะด้าน คือ โครงการที่มุ่งแก้ปัญหานั้น ๆ ให้ดีขึ้นในระยะเวลาไม่นาน โดยการลงมือทำเพียงครั้งเดียว เป็นโครงการระยะสั้น เช่น โครงการฝึกอบรม โครงการค่ายอาสาสร้าง หรือ โครงการบริการชุมชนและสังคม (Service-based Project) หรือ โครงการบริการวิชาการ ที่มุ่งแก้ปัญหาของชุมชนโดยการถ่ายทอดองค์ความรู้หรือเทคโนโลยี เป็นต้น
  • ๒.๒) โครงการเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ หรือเรียกว่า "โครงงาน" หรือ Project for Learning คือ โครงการที่มุ่งศึกษา ค้นคว้า เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของผู้ทำโครงงานเอง มักใช้กับการเรียนการสอนในรายวิชาต่าง ๆ เพื่อฝึกฝนทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง
  • ๒.๓) โครงการเพื่อการศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้ใหม่ หรือเรียกว่า "โครงการวิจัย" หรือ Research-based Project คือ โครงการที่มุ่งศึกษาค้นคว้าหาทางแก้ปัญหาที่กำหนดอย่างเป็นระบบ
๓) โครงการบนฐานความคิดสร้างสรรค์ (Creative-based Project) หมายถึง โครงการที่เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ ผู้ต้องการทำโครงการมีฉันทะที่จะพัฒนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นใหม่ หรือนำสิ่งใหม่ๆ นำนวัตกรรม หรือมองไปในอนาคตและทำนายด้วยข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่าจะเกิดสิ่งใดขึ้น จึงเขียนโครงการขึ้นเพื่อป้องกัน หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมนั้น ๆ ขึ้น ฯลฯ

ในรายวิชา ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ(การเปลี่ยนแปลง) ได้กำหนดให้นิสิตเลือกทำโครงการบนฐานปัญหา และฝึกเขียนหลักการและเหตุผลบนฐานปัญหา ... ต่อไปนี้เป็นงานชิ้นแรกของนิสิต เป็นการเขียนหลักการและเหตุผลของโครงการหลังจากบอกให้ไปอ่านวิธีการเขียนข้างต้นนี้ 

กลุ่มอินทรี



  • เป็นลักษณะการเขียนโครงการบนฐานปัญหา ซึ่งสามารถเขียนระบุปัญหาได้ดี แต่มีข้อแม้ว่า ผู้อ่านต้องอยู่ในสถานการณ์ปัญหานั้นด้วย  หากผู้อ่านไม่เคยประสบพบปัญหาในสถานการณืเดียวกัน อ่านแล้วจะไม่เข้าใจ ดังนั้น จึงต้องปรับคำอธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น  เปลี่ยนคำว่า "ถนนเส้นนี้" เป็น "ถนนหน้าอาคารราชนครินทร์" เป็นต้น 
  • การเขียนยังไม่เห็นระดับความรุนแรงของสถานการณ์ปัญหา  ผู้อ่านอาจรู้สึกว่าผู้เขียนโครงการไม่ได้ลงพื้นที่สำรวจอย่างจริงจัง  หากมีการระบุตัวเลขจำนวนรถที่จอดผิดระเบียบ จำนวนครั้งของอุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้น ฯลฯ  ข้อมูลที่แม่นยำ คือสิ่งที่จำทำให้งานสำเร็จ 
  • การเขียนหลักการและเหตุผล ยังขาดประเด็นสำคัญอยู่อย่างน้อย ๒ ประการ ได้แก่  แนวคิดในการแก้ไขปัญหา และภาพแห่งความสำเร็จหลังการทำโครงการ 
  • กลุ่มอินทรี น่าจะไม่ได้อ่านบันทึกแนะนำการเขียนโครงการมาก่อน 
กลุ่มหมี

  • กลุ่มหมีพยายามจะเขียนหลักการและเหตุผลบนฐานนโยบายหรือคำสั่งให้จำเป็นต้องทำโครงการ  แต่โครงการที่มอบหมายไปอยากให้เขียนโครงการบนฐานปัญหา เอาปัญหาที่ขีดเส้นใต้มาขยายความให้เห็นบริบทและความรุนแรงของปัญหา เห็นแนวคิดในการแก้ปัญหา และเห็นเป้าหมายหรือภาพความสำเร็จหลังการดำเนินโครงการ  
  • เข้าใจว่า กลุ่มหมีพยายามอ่านบันทึกแนะนำ เรื่องฝึกเขียนต้องเพียรกันต่อไปครับ 



กลุ่มบันได

  • กลุ่มเทียนเขียนข้อมูลปัญหาจากการลงพื้นที่ศึกษาสำรวจได้ดีพอสมควรครับ ขาดไปบ้างเพียงแค่ความสละสลวยสอดคลัองเป็นเหตุเป็นผลของภาษาเขียน ซึ่งถือเป็นทักษะการเขียนที่ผู้เรียนต้องเพียรเขียนบ่อย ๆ   สิ่งที่ควรเพิ่มคือบริบทของ "ตลาดน้อย" ที่หากผู้อ่านไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ ไม่เคยไปตลาดน้อย อาจจะอ่านไม่เข้าใจ 
  • กลุ่มเทียนเขียนตามคำแนะนำเรื่องการนำเอาผลสำรวจเชิงตัวเลขมาเสริมความน่าเชื่อถือได้ดี  และมีสาระตามคำแนะนำ ปัญหาคืออะไร จะแก้อย่างไร ผลที่คาดจะเกิดคืออะไรได้ดี  ... เขียนบ่อย ๆ  จะดีขึ้นเรื่อย ๆ ครับ 



กลุ่มภูเขา


  • ย่อหน้าแรกจะถือว่าเขียนได้ดีในกรณีที่ผู้รับผิดชอบโครงการเป็นสำนักศึกษาทั่วไป ถือเป็นการเขียนหลักการและเหตุผลแบบ "ตามนโยบายหรือคำสั่ง"  แต่ในกรณีนี้ อาจมุ่งไปที่วัตถุประสงค์ของรายวิชาหรือมุ่งไปที่บริบทและเหตุผลบนฐานปัญหาเลย 
  • เขียนบริบทของปัญหา (สถานการณ์ปัญหา สาเหตุ และผลกระทบ) ได้ดีพอสมควร  การปรับปรุงประโยคให้สละสลวยกระทัดรัดชัดเจนขึ้นและบอกที่มาที่ไปของตลาดน้อยเกริ่นนำก่อน จะทำให้ผู้อ่านเห็นภาพมากขึ้น เช่น  " ตลาดน้อยคือโรงอาหารกลางขนาดใหญ่ที่สุดของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาเขต ต. ขามเรียง (ม.ใหม่) ทุกๆ วัน นิสิตจำนวนกว่า ๒๐,๐๐๐ คนจะมารับประทานอาหารกลางวันและอาหารเย็นที่นี่ .... " เป็นต้น 
  • ควรปรับปรุงวิธีการแก้ปัญหา ให้นิสิตทุกคนในกลุ่มได้มีส่วนร่วม นิสิตได้คิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเองมากที่สุด

กลุ่มเทียน

  • ย่อหน้าแรกเขียนได้ดีครับ เห็นว่าปัญหาคืออะไร อยู่ที่ไหน อะไรคือสาเหตุของปัญหา  
  • ย่อหน้าที่สองและที่สาม เป็นไม่ใช่ลักษณะการเขียนหลักการและเหตุผล แต่เป็นลักษณะการเขียนหนังสือราชการแบบบันทึกข้อความ
  • ในส่วนที่จะสื่อว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ใช้คำมีลำดับขั้นตอน ๑ ๒ ๓ จึงควรจะไปเขียนไว้ที่วิธีการดำเนินการ การเขียนในส่วนหลักการและเหตุผลนั้น ต้องสังเคราะห์รวบลัดชัดเจนเห็นแนวคิด ไม่ต้องลงรายละเอียดย่อย 
  • โดยรวมถือว่า โอเคครับ เขียนดี ศึกษาจากการอ่านบันทึกได้ดี สู้ต่อไปครับ
กลุ่มลำธาร


  • โดยภาพรวมเขียนได้ดีครับ เข้าใจง่ายดี แต่....
  • การเริ่มด้วยคำว่า "คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานศึกษานั้นสำคัญมากเพียงใด ...."  ซึ่งเป็นประโยคคำพูด (ภาษาพูด) ทำให้รู้สึกไม่ค่อยเป็นทางการ  เป็นลักษณะนิยาย เรื่องสั้น   การเขียนโครงการนิยมใช้ภาษาเขียน โดยเฉพาะภาษาเขียนที่เป็นทางการ 
  • ความเป็นเหตุเป็นผลเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดในการเขียนหลักการและเหตุผล  ตัวอย่างเช่น การบอกว่า โรงเรียนสำคัญสื่อจึงสำคัญ ไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลกันชัดเจน  นักเรียนเรียนไม่เข้าใจเพราะขาดแคลนสื่อ จึงถือว่าพอจะใช้ได้ เป็นต้น 
  • สองสามบรรทัดที่ขีเเส้นใต้ เป็น "น้ำ" นอกประเด็นไกลเกินไป  การเขียนหลักการและเหตุผล ควรเน้นไปที่ประเด็นปัญหาเด่นไปเลย ไม่ต้องอ้อม ไม่เขียนกว้าง แต่เขียนลึก ลึกลงในข้อมูลปัญหา สาเหตุปัญหา ตัวเลขจำนวน ความรุนแรง เป็นต้น 
กลุ่มภาพอิสระ


  • ตัวหนังสือสวยมากครับ ขอขอบคุณมาก ขอให้รักษาความดี (ต่อผู้อ่าน) นี้ไปตลอดกาล สอนให้ลูกหลานของเราต่อ ๆ ไป 
  • การเขียนยังเป็นภาษาพูด เช่น "พากันมีรถ..."  หรือ "ด้วยกันทั้งนั้น" ฯลฯ การเขียนโครงการนิยมใช้ภาษาเขียน ภาษาทางการ ราชการ  ... ฝากไว้ให้ฝึกต่อไปครับ 
  • ความเป็นเหตุเป็นผลของประโยคต่อประโยคเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง  จากการอ่านบอกว่า คนไม่เคารพกฎจึงเล็งเห็นความสำคัญ   น่าจะเขียนถึงผลกระทบจึงเห็นความสำคัญ เช่น  
    • การไม่เคารพกฎจาราจรเป็นเหตุให้เกิดการจราจนติดขัดในช่วงโมงเร่งด่วน ทำให้นิสิตเข้าเรียนสายเป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อการเรียนในที่สุด จึงเล็งเห็นความสำคัญ 
    • ฯลฯ 
  • บางคำบางประโยคปรับให้ชัดเจนขึ้นได้เช่น  
    • ขับรถไม่เป็นระเบียบ   น่าจะเป็น  จอดรถไม่เป็นระเบียบ หรือ ขับรถไม่เป็นไปตามกฎจราจร 
    • ฯลฯ
  • กลุ่มภาพอิสระนี้ไม่น่าจะได้อ่านคำแนะนำวิธีการเขียนตามลิงค์ที่ส่งให้ 
กลุ่มดวงอาทิตย์ 


  • เขียนย่อหน้าเกี่ยวกับปัญหาได้ดีครับ เว้นแต่ยังขาดข้อมูลเชิงปริมาณเพื่อสะท้อนความรุนแรงของปัญหา 
  • ประโยคสั้นกระทัดรัด เป็นเหตุเป็นผลดี  (สะดุดความหมายนิดเดียวตรงที่ขีดเส้นใต้ แต่ก็เข้าได้ในการอ่านรอบสอง)
  • ยังขาดอยู่สองประเด็นคือ แนวคิดในการแก้ปัญหา (ปัญญา) และภาพแห่งความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น 
  • กลุ่มดวงอาทิตย์ ไม่น่าจะได้อ่านคำแนะนำในการเขียนก่อน 
กลุ่มดอกบัว

  • เขียนภาพแห่งความสำเร็จได้ดีครับ ... แต่ค่อนข้างเป็นนามธรรมมาก  เดี๋ยวบันทึกต่อไปจะมาว่าวิพากษ์เรื่องวัตถุประสงค์ครับ 
  • ยังขาดบริบทของปัญหาครับ  
  • การใช้คำเชื่อม  "จึง ต่อ แต่ และ ต้อง ฯลฯ"  เช่น  โครงการ...จึงคิด....  โครงการคิดไม่ได้ ควรเปลี่ยนเป็น  ทีมนิสิตกลุ่มดอกบัวจึงมีแนวคิด.....
  • การใช้คำกิริยาต่าง ๆ เช่น  จัดสรรพื้นที่โดยการติดป้ายบอก  ที่จอดรถถูกจัดสรรไว้แล้วโดยกองอาคารสถานที่ของมหาวิทยาลัย การติดป้ายเป็นถือเป็นการ "จัดการ" ให้การ "จัดสรร" นั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์  ลองดูความหมายของคำต่อไปนี้ 
    • จัดสรร  คือแบ่งสิ่งที่มีอยู่ออกเป็นส่วน ๆ  ให้เป็นสัดเป็นส่วน เช่น จัดสรรงบประมาณ จัดสรรพื้นที่ ฯลฯ 
    • จัดหา จัดซื้อ จัดจ้าง จัดให้มี  คือ สิ่งที่ไม่มีทำให้มีขึ้น 
    • จัดการ คือ การสร้างกระบวนการ การดำเนินการให้มี เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ 
    • ฯลฯ 
  • กลุ่มดอกบัวก็น่าจะยังไม่ได้อ่าน คำแนะนำในบันทึกก่อนจะเขียนครับ 
กลุ่มเพชร


  • ชอบที่สุดคือการทำหัวกระดาษเป็นโลโก้รูปเพชรครับ หนังสื่อราชการหรือในหน่วยงานเกือบทุกหน่วยงานจะมีโลโก้หัวกระดาษแบบนี้ครับ ... แนะนำให้ทุกกลุ่มทำบ้างครับ ... เป็นแต่เพียงเพื่อฝึกศึกษานะครับ  เพราะถ้าทำจริงต้องผ่านขั้นตอนการรับรองอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะตราสินค้าต่าง ๆ 
  • อ่านแล้วให้ความรู้สึกว่า ยังไม่ใช่หลักการและเหตุลของโครงการฐานปัญหาครับ เป็นเหมือนการเขียนบันทึกข้อความทั่วไป ที่มักขึ้นต้นด้วยคำเหล่านี้ 
    • เนื่องด้วย เนื่องจาก.... ซึ่งเขียนตอนจะเริ่มเรื่องไปหาใครในหน่วยงาน
    • ตามที่ .... เอาไว้ตอบหนังสือ หรือ ทำงานต่อเนื่องจากงานเดิม
    • ด้วยข้าพเจ้า.... ซึ่งเอาไว้เขียนเรื่องของตนเอง 
    • ฯลฯ 
  • ยังไม่เห็นบริบทของปัญหา (สถานการณ์ปัญหาหรือสภาพปัญหา สาเหตุ และผลกระทบ) 
  • ยังไม่เห็นแนวคิดในการแก้ปัญหา 
  • เห็นภาพความสำเร็จ  แต่ค่อนข้างเป็นนามธรรม  ประเมินได้ยาก ... จะมาวิพากษ์ในบันทึกต่อไปครับ 
  • กลุ่มเพชร คงยังไม่ได้อ่านบันทึกแนะนำ ก่อนจะเขียนงานชิ้นนี้ครับ 
กลุ่มกำปั้น


  • กลุ่มกำปั้นเขียนได้ดีครับ แสดงว่าได้อ่านคำแนะนำตามบันทึกที่ส่งลิงค์ให้ (ที่นี่)  มีปัญหาอย่างเดียวคือ เขียนแนวคิดในการแก้ปัญหาละเอียดเกินไป จนกลายเป็นการเขียนวิธีดำเนินการไป  ควรเขียนสรุปภาพรวมให้เห็นเพียงรวบรัดชัดเจนเห็นแนวคิดเท่านั้น 














หมายเลขบันทึก: 640597เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2017 12:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2017 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

โดยประสบการณ์ตรงของ ผศ.ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์  เหมาะสมอย่างยิ่งต่อการบรรยายในหัวข้อนี้  ทั้งเคยเป็นผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิตและการเป็นผู้บริหารเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา  จะยิ่งตอกย้ำให้นิสิตมีความรู้ความเข้าใจในการเขียนและการทำโครงการเพื่อพัฒนานิสิตอย่างแท้จริง  ทั้งในมิติของนิสิต และชุมชน -ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท