มหาวิทยาลัยถูกฟ้องในศาลปกครอง



ดร. ฤทัย หงส์สิริ อธิบดีศาลปกครองอุดรธานี บรรยายในงานสัมมนา จัดโดยสถาบันคลังสมอง เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ เรื่อง ย้อนรอยคดีมหาวิทยาลัยในศาลปกครอง ว่าในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยถูกฟ้องในศาลปกครองมากขึ้น    โดยช่วง ๕ ปีระหว่าง ๑ ก.ค. ๒๕๕๐ - ๓๐ มิ.ย.๒๕๕๕ เฉลี่ยปีละ ๑๙๘ คดี    ช่วง ๕ ปี ระหว่าง ๑ ก.ค. ๒๕๕๕ - ๓๐ มิ.ย. ๒๕๖๐ เฉลี่ยปีละ ๒๗๘ คดี


ในช่วง ๑ ม.ค. ๒๕๕๖ - ๓๑ มี.ค. ๒๕๖๐ มีคดีที่มหาวิทยาลัยถูกฟ้องในศาลปกครอง ๑,๐๑๖ คดี    ๕ มหาวิทยาลัยที่ถูกฟ้องมากที่สุดคือ (๑) มศว. ๑๐๐ คดี  (๒) มรภ. บุรีรัมย์ ๕๘  (๓) มข. ๕๕  (๔) มรภ. เชียงใหม่  ๔๘  (๕) จุฬาฯ ๓๙


ดร. ฤทัย ระบุเงื่อนไขการฟ้อง ๗ ประเด็น    ที่ใหม่สำหรับผมคือ จะฟ้องได้ต้องผ่านการขอให้แก้ไขความเดือดร้อน เสียหายครบขั้นตอนแล้ว (โดยหลักการคือ ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้าย)    รวมทั้งผู้จะฟ้องได้ ต้องเป็นผู้เสียหาย    


ระหว่าง ๑ ก.ค. ๒๕๕๕ - ๓๐ มิ.ย. ๒๕๖๐ มีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในคดีมหาวิทยาลัยถูกฟ้อง ๒๒๑ เรื่อง    เป็นคดีระหว่างมหาฯ กับบุคลากร ๘๑ เรื่อง    ในจำนวนนี้เป็นคดีด้านบริหารงานบุคคล ๖๕ เรื่อง (ซึ่งเป็นเรื่องการสรรหา/แต่งตั้งผู้บริหาร ๑๖ เรื่อง)  


ระหว่างนั่งฟังเรื่องรองอธิการบดีฟ้องศาลปกครอง ที่อธิการบดีเปลี่ยนตัวรองอธิการบดีเป็นคนอื่น  (ซึ่งรองอธิการบดีแพ้)   ผมนึกถึงสำนึกผิดชอบภายในตนที่ผมเคยมี และหมั่นสั่งสอนตนเอง (ช่วงปี ๒๕๑๘ - ๒๕๒๑) ตอนทำหน้าที่รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์    ว่าผมทำหน้าที่เป็นทีมของท่านอธิการบดี    ทำหน้าที่ตัดสินใจตามนโยบายการทำงานของอธิการบดี    หากเรื่องใดผมไม่มั่นใจว่าอธิการบดีคิดอย่างไรผมจะเดินไปถาม    และคอยหมั่นสอบถามท่านในเรื่องต่างๆ จนรู้ใจ    และท่านก็รู้ใจผม ว่าเรื่องแบบใดที่ผมไม่สบายใจที่จะทำหรือตัดสินใจ    

จะเห็นว่าการมีคดีมาก อาจสะท้อนความย่อหย่อนด้านคุณธรรมจริยธรรม หรือสำนึกภายในของบุคคลที่เกี่ยวข้อง  


ที่ใหม่สำหรับผมคือเรื่อง ความรับผิดทางละเมิด    ซึ่งเป็นไปตามความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙   ซึ่งหากโดนตัดสินว่าผิด เจ้าหน้าที่อาจถูกมหาวิทยาลัยเรียกให้ใช้สินไหมทดแทน หากทำด้วยความจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  


คดีทุจริต อยู่ในประเภทละเมิดนี่แหละครับ    ผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละละเลย จนเกิดการทุจริต อาจต้องร่วมรับผิดชดเชย    ซึ่งเรื่องนี้สมัยผมทำหน้าที่ผู้บริหาร ผมจะหาทางกำหนดกฎหรือขั้นตอนการทำงานที่ป้องกัน การทุจริต    โดยเป้าหมายไม่ใช่แค่ไม่มีการทุจริต    แต่มีเป้าหมายสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สะอาด บริสุทธิ์ โปร่งใส    เพื่อให้หน่วยงานหรือองค์กรทำหน้าที่จรรโลงความดีงามในสังคม   และสร้างบุคลากรที่เป็นคนดีของสังคม    ผมถือว่าหน่วยงานที่หละหลวมปล่อยให้เจ้าหน้าที่มีช่องทางทุจริต    ผู้บริหารหน่วยงานมีส่วนทำร้ายผู้ร่วมงานที่เป็นผู้น้อย ในทางอ้อม    ในความเชื่อของผม ผู้บริหารต้องทำหน้าที่เอื้อต่อการปลูกฝังความดีงามในผู้ร่วมงานทุกคน โดยการสร้างแบบแผนการทำงานที่เป็นระบบรอบคอบ ปิดช่องทางทุจริต    ไม่ทราบว่าวิธีคิดของผมแบบนี้เป็นของ ประหลาดหรือเปล่า    แต่มันช่วยให้ชีวิตของผมดีอย่างไม่น่าเชื่อ จนถึงปัจจุบันนี้ 


ฟังทั้งหมดแล้ว สิ่งพึงสังวรณ์ หรือป้องกันการฟ้อง คือการปฏิบัติให้ครบถ้วนตามขั้นตอนที่กำหนดกำหนดไว้    ไม่ลัดขั้นตอน หรือละเลยขั้นตอน    ซึ่งจะเปิดช่องให้มีการฟ้องร้อง  


ดร. ฤทัย หงส์สิริ เคยเขียนหนังสือ ศาลปกครองกับคดีพิพาทเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย ซึ่งดาวน์โหลดได้ที่ ()   



วิจารณ์ พานิช

๖ ต.ค. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 640523เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2017 20:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2017 20:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท