๑๒..เดินตามรอยพระราชดำริ..สู่ห้องเรียนธรรมชาติ..ที่คุ้งบางกะเจ้า


แค่เพียงข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจากกรุงเทพฯ มาสู่คุ้งบางกะเจ้า ไม่ว่าใครก็สัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่ต่างไปจากเดิม..และผมก็พบรักในการท่องเที่ยวแบบนี้ จากที่นี่..

        วันหยุดสุดสัปดาห์..ผมตั้งใจเดินทางไปพักผ่อนหย่อนใจ แต่เป้าหมายปลายทางที่สำคัญที่สุดก็เพื่อศึกษา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ..ครั้งนี้..ผมเลือกคุ้งบางกะเจ้า..จังหวัดสมุทรปราการ จองที่พักไว้ที่รีสอร์ทริมน้ำเจ้าพระยา..ชื่อว่า..พบรัก ณ บางน้ำผึ้ง..

        ผมเดินทางโดยรถไฟ.MRT .ขึ้นที่สถานีบางรักใหญ่ แล้วไปต่อรถไฟใต้ดิน ลงที่สถานีหมอชิต จากนั้นก็ขึ้นรถไฟอีกครั้ง..รวม ๓ ทอดตลอดแนว..ไปลงที่สถานีอุดมสุข ตามที่รีสอร์ท..พบรัก..เขาแนะนำ..

       ตื่นเต้นมากมาย..เพราะขึ้นรถไฟลอยฟ้าและใต้ดินเป็นครั้งแรก..ใจกล้าๆกลัวๆ เหมือนบ้านนอกเข้ากรุงยังไงยังงั้น ขณะที่นั่งอยู่บนรถไฟ ทำใจนิ่งๆ เก็บอาการ..เดี๋ยวคนบนรถจะรู้ว่า..ผมไม่เคยขึ้นรถไฟ..

        ลงจากรถไฟ..เรียกแท็กซี่ให้ไปส่งที่ท่าเรือข้ามฝาก..บางนา..แท็กซี่ถามว่าทำไมไม่ขับรถมาเองสะดวกกว่า..ผมบอกว่า..เดินทางมาแบบนี้ สนุกดี..อิสระเสรี ไม่ต้องกังวลกับเส้นทาง ได้สัมผัสธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเต็มที่..

       เรือข้ามฝาก..ไปยังท่าเรือฝั่งตรงข้าม ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พักที่ผมจองไว้..ก้าวเท้าเข้าไปยังที่พัก..แปลกใจเลย..ทำไมชื่อ..พบรักล่ะ..ทำไมไม่ชื่อ..บ้านลมโชย..เพราะลมพัดเย็นตลอดเวลา แต่เอาเถอะสไตล์แบบบ้านๆและอยู่ริมน้ำด้วย ก็น่าอยู่ไปอีกแบบ....

        จัดเก็บกระเป๋าเข้าห้องพักเรียบร้อย บอกเจ้าของรีสอร์ทว่า ตอนเย็น..ผมจะมาทานข้าวที่ศาลาริมน้ำ..ตอนนี้ขอออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยาน ไปเที่ยวตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ที่ขึ้นชื่อว่ามีของกินของใช้หลากหลาย...อยากเห็น..ก็เลยรีบปั่นจักรยานไปบนเส้นทางในสวนที่คับแคบและคดเคี้ยว..

        ถึงตลาด..จูงจักรยาน หลบผู้คนที่เดินขวักไขว่ มากมายเพราะเป็นวันเสาร์ พอหาที่จอดจักรยานได้ ก็รีบรองท้องด้วยก๊วยเตี๋ยวและกาแฟโบราณ ให้มีกำลังวังชาที่จะเดินทางต่อไปยัง..ห้องเรียนธรรมชาติ สวนศรีนครเขื่อนขันธ์..หัวใจสำคัญของดินแดนบางกะเจ้านั่นเอง..

        ไม่นานนัก..ผมก็เดินทางถึงศูนย์กลางของบางกะเจ้าอันกว้างใหญ่ไพศาล อย่างภาคภูมิใจ..สถานที่ที่เต็มไปด้วยต้นไม้นานาชนิด เหมือนเข้าไปอยู่ในป่า..ใจกลางกรุงเทพฯ ผมปั่นจักรยานไปทุกซอกทุกซอย ให้เข้าถึงธรรมชาติให้มากที่สุด ปั่นจนรู้สึกว่า..ปอดโปร่งโล่งสบายดีจริงๆ  

        แล้วมาหยุดลงตรงออฟฟิศ..ที่มีป้ายแนะนำบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของ..สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ..ผมจึงขอเอกสารจากเจ้าหน้าที่เพื่อมาศึกษาอย่างละเอียด..ก็พบว่า...

        ช่วงปี 2525-2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ประทับเฮลิคอปเตอร์ผ่านพื้นที่นี้เป็นประจำ ทรงมีพระราชดำริว่าควรสงวนพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่สีเขียวและคงความเป็นปอดของคนเมืองไว้...

        สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้จัดซื้อสวนรกร้างในคุ้งบางกะเจ้า 1,276 ไร่นำมาฟื้นฟู โดยในปี 2546 ได้กันพื้นที่จำนวน 148 ไร่สร้างเป็นสวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติ และได้รับพระราชทานชื่อว่า “สวนศรีนครเขื่อนขันธ์” ซึ่งมาจากชื่อเมืองโบราณในอดีต ปัจจุบันดูแลโดยสำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้....

        ปี 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยี่ยมสวนและชุมชนในคุ้งบางกะเจ้า มีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “ให้ช่วยกันอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวเอาไว้ อย่าให้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมจนเกินกว่ากฎหมายกำหนด ควรส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเกษตรและป่าผสมผสาน การซ่อมแซมสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันวางแผนให้เอื้อประโยชน์เท่าที่จำเป็นต่อการท่องเที่ยว และการศึกษาของเยาวชนคล้ายห้องเรียนธรรมชาติ”

        ปี 2556 ปตท.สผ. ซึ่งให้ความใส่ใจต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและดำเนินโครงการที่รับผิดชอบต่อสังคมมาอย่างต่อเนื่องได้เริ่มประสานงานกับมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อดำเนินงาน “โครงการฟื้นฟูป่าเพื่อการเรียนรู้เชิงนิเวศสวนศรีนครเขื่อนขันธ์” โดยมีแผนการดำเนินงาน 8 ปี (2556-2563)

        ผมอ่านอย่างเข้าใจและเข้าถึง..ซึ่งพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่พระองค์ทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกล..ทำให้คนกรุงเทพและปริมณฑล..มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ได้มาตรฐาน..โดยที่ไม่ต้องเดินทางไกล..

        แค่เพียงข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจากกรุงเทพฯ มาสู่คุ้งบางกะเจ้า ไม่ว่าใครก็สัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่ต่างไปจากเดิม..และผมก็พบรักในการท่องเที่ยวแบบนี้ จากที่นี่..   

        รักในห้องเรียนธรรมชาติ..เข้าให้แล้ว จะเป็นเช่นนี้อีกนานแค่ไหน..แต่ก็เชื่อว่า อย่างน้อยๆในพื้นที่สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ จะได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งรวมความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ให้คงอยู่...ต่อไป

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๕  พฤศจิกายน  ๒๕๖๐ 

 



หมายเลขบันทึก: 640522เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2017 19:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2018 10:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รักในห้องเรียนธรรมชาติ

...
ผมเองก็รักในถ้อยคำเหล่านี้  เพราะย้ำให้เราเคารพต่อธรรมชาติผู้เสกสร้างความรู้และการเรียนรู้ให้กับเรา ...ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท