หลัก Double Actionability ในกฎหมายขัดกันว่าด้วยละเมิดของไทย สมควรได้รับการแก้ไขหรือไม่


หลัก Double Actionability เป็นเสมือนดาบที่ทำร้ายโจทก์ และเป็นเสมือนโล่ที่ปกป้องจำเลย

            พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 เป็นกฎหมายที่ร่างขึ้นมาตามแบบอย่างแห่งกฎหมายอังกฤษ จึงสมควรที่จะศึกษาต่อไปว่า ในปัจจุบัน กฎหมายขัดกันของอังกฤษ (English common law rule of Conflict of Laws) (โดยเฉพาะในส่วนของละเมิด) ได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างใดบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนากฎหมายขัดกันของไทยต่อไป โดยจะเน้นศึกษาในส่วนของเหตุผลสนับสนุนในการยกเลิกหลัก Double Actionability

          ลักกฎหมายขัดกันว่าด้วยละเมิดของอังกฤษนั้น แต่เดิมใช้หลัก Double Actionability (โปรดดู Phillips v Eyre [1868], Chaplin v. Boys [1971], Red Sea Case Insurance Co Ltd v. Bouygues SA [1994] )เช่นเดียวกับกฎหมายขัดกันว่าด้วยละเมิดของไทย (พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 15) ซึ่งหลัก Double Actionability มีอยู่ว่า การจะฟ้องร้องต่อศาลอังกฤษ/ไทยในหนี้ละเมิดได้นั้นจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ประการ คือ (1) การกระทำนั้นเข้าลักษณะและหลักเกณฑ์เป็นละเมิดตามกฎหมายแห่งท้องถิ่นหรือประเทศที่เกิดการกระทำอันเป็นละเมิดนั้น (lex loci delicti) (2) การกระทำอันเป็นละเมิดนั้นเข้าลักษณะและหลักเกณฑ์เป็นละเมิดตามกฎหมายอังกฤษ/ไทยด้วย (lex fori)

          ซึ่งคณะกรรมการกฎหมายของอังกฤษ (English Law Commission) มองว่า หลัก Double Actionability เป็นหลักที่ไม่เอื้อต่อโจทก์ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า หลัก Double Actionability เป็นเสมือนดาบที่ทำร้ายโจทก์ และเป็นเสมือนโล่ที่ปกป้องจำเลย (Double Actionability Rule had operated as a sword against plaintiffs and as a shield in favour defendant) เนื่องจากโจทก์จะต้องนำสืบถึงกฎหมายของศาลที่พิจารณาคดี (lex fori) และกฎหมายของถิ่นที่มูลละเมิดได้เกิดขึ้น (lex loci delicti) ในขณะที่จำเลยสามารถอาศัยข้อต่อสู้ของกฎหมายทั้งสองในการหลุดพ้นจากความรับผิด

          โดยสรุป คือ หลัก Double Actionability นั้น เป็นเหมือนการแบ่งแยกกันระหว่างกฎหมายของอังกฤษกับกฎหมายต่างประเทศ ในเรื่องที่เกี่ยวกับละเมิด เนื่องจากอังกฤษพิจารณาบนหลักการที่ว่า คงไม่เป็นการสมควรที่จะให้บุคคลต้องรับผิดเนื่องจากการปรับใช้กฎหมายต่างประเทศ ทั้งๆ ที่เขากระทำถูกกฎหมายในอังกฤษ 

แต่หากมองในมุมกลับกัน ถ้าการกระทำนั้นกฎหมายอังกฤษกำหนดว่าเป็นละเมิด แต่กฎหมายต่างประเทศถือว่า การกระทำนั้นไม่เป็นละเมิด กฎหมายของอังกฤษก็ไม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งเป็นมุมมองที่ก่อให้เกิดการยกเลิกหลัก Double Actionability อีกประการหนึ่ง 

อีกทั้งเหตุผลอีกประการ ก็คือ ในกรณีที่ความเสียหายเกิดในเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area) โจทก์สามารถฟ้องคดีในประเทศเขตนั้นได้ โดยอาศัย Article 5(3) of the Brussels Convention 1968 หรือ The Lugano Convention 1988 on jurisdiction and enforcement of judgments in civil and commercial matters ซึ่งศาลของประเทศนั้นจะใช้กฎหมายของตนปรับแก่คดีซึ่งหากโจทก์ชนะคดี โจทก์ก็สามารถนำคำพิพากษาของศาลนั้นไปใช้บังคับในประเทศอังกฤษได้ เนื่องจากอังกฤษมีพันธะกรณีแห่งสนธิสัญญาข้างต้นที่ต้องยอมรับและบังคับตามคำพิพากษานั้น ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดแนวโน้มที่โจทก์จะหนีไปฟ้องศาลอื่นแทนที่จะฟ้องศาลอังกฤษ หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ Forum Shopping นั่นเอง 

ด้วยเหตุแห่งความไม่ลงตัวของหลัก Double Actionability ข้างต้น อังกฤษจึงได้ออก Private International Law (Miscellaneous Provisions) Act 1995  เพื่อยกเลิกหลัก Double Actionability โดยสาระสำคัญอยู่ใน ส่วนที่ 3 (Part III) โดยสามารถสรุปบทบัญญัติสำคัญๆ ได้ดังนี้ 

Section 9 จะเป็นจุดมุ่งหมายแห่ง Part III 

Section 10 ได้บัญญัติเพื่อยกเลิกหลัก Double Actionability 

Section 11 (บททั่วไป) (1) คดีละเมิดที่มีองค์ประกอบระหว่างประเทศ จะใช้กฎหมายของถิ่นที่มูลละเมิดได้เกิดขึ้น (lex loci delicti) แต่หากองค์ประกอบของมูลละเมิดอยู่ในหลายประเทศก็เป็นไปตามที่บัญญัติใน Section 11(2)

Section 12 (บทยกเว้นหลักทั่วไป) 

ดังเหตุผลแห่งการยกเลิกหลัก Double Actionability ของอังกฤษ ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งน่าสนใจว่า หลัก Double Actionability ในกฎหมายขัดกันว่าด้วยละเมิดของไทย สมควรที่จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะจากเหตุผลข้างต้น ประเทศไทยก็ประสบปัญหา เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีกฎหมายความรับผิดในผลิตภัณฑ์ (Product Liability) หลัก Double Actionability ก็คงเป็นอุปสรรค์ต่อการใช้กฎหมายดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากหลัก Strict Liability ไม่สอดคล้องกับหลัก Double Actionability

หมายเลขบันทึก: 64030เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2006 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เห็นด้วยนะค่ะ ที่ยกเลิกออกไป ตามความคิดเห็นนะ คิดว่า เมื่อยกเลิกออกไปแล้วมันน่าที่จะมีประโยชน์กับหลายๆฝ่ายมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่อยากจะขอถามว่าถ้ายกเลิกออกไป จะมีผลกระทบใดๆเกิดขึ้นหรือเปล่าค่ะ แล้วมากน้อยแค่ไหน

ขอบคุณสำหรับคำถามครับ ผลกระทบของการยกเลิกหลัก Double Actionability ก็คงอยู่ที่ประเทศไทยจะใช้หลักเกณฑ์ หรือบทบัญญัติในลักษณะของประเทศใดที่จะเหมาะที่สุด เพราะแต่ละประเทศก็มีลักษณะของระบบกฎหมายของประเทศนั้นเอง จึงต้องมานั่งวิเคราะห์ว่าจะใช้ตามแนวทางของประเทศใดดี หรือจะนำมาปรับแต่งให้สอดคล้องกับประเทศไทยอย่างไร แต่อย่างไรก็ดี ต้องคำนึงถึงนานาประเทศด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท