ประเด็นร่างพรบ.บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 1 : สภาพเบื้องต้น


ประเด็นร่างพรบ.บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 1 : สภาพเบื้องต้น

26 ตุลาคม 2560

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

ว่าจะเขียนเรื่องการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น ที่วิพากษ์กันมานาน ตั้งแต่ก่อนการปฏิรูป คสช. (ก่อน 22 พฤษภาคม 2557) จะว่าไปการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการบริหารงานบุคคลที่คนท้องถิ่นสายบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในการขับเคลื่อนนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือ ฝ่ายพนักงานประจำ หรือ ฝ่ายข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือ พนักงานส่วนท้องถิ่น รวม ลูกจ้าง อปท. ด้วยปริมาณจำนวนข้าราชการส่วนท้องถิ่นและลูกจ้างท้องถิ่นที่มีจำนวนมากกว่าห้าแสนคน (ประมาณ 558,114 คน) [2] หรือมีจำนวนที่มากกว่าจำนวนข้าราชการพลเรือนสามัญที่มีเพียง 404,891 คน (สถิติปี 2558) [3] จึงเป็นประเด็นที่บุคคลากรท้องถิ่นเหล่านี้ได้สนใจติดตามข่าวคราว แต่คน อปท. ดังกล่าวมีความสนใจ กลับไม่ค่อยเข้าใจในระเบียบ กฎหมายบุคคลของท้องถิ่นนัก เพราะ ไม่มีองค์ความรู้ ไม่ได้รับการถ่ายทอด อบรม หรือ การชี้แจงประชาสัมพันธ์ในระดับที่รู้ดี รู้แจ้ง ฉะนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ได้ดีถูกต้อง จึงเป็นเรื่องยาก ยกเว้น ผู้วิพากษ์วิจารณ์นั้น ๆ จะเป็นเจ้าหน้าที่เฉพาะทางด้านการบริหารงานบุคคลในเรื่องนั้น ๆ ที่ก็จะรู้แคบ รู้ในทางเฉพาะทางเป็นส่วนใหญ่ แต่ในภาพรวม บอกได้เลย ออกจะสับสน จนอาจเรียกได้ว่ามั่วก็ได้ เพราะ ณ ปัจจุบันที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้เข้าสู่ระบบในภาษาชาวบ้านเรียก “ระบบแท่ง” หรือ “ระบบการจำแนกตำแหน่งแบบช่วงกว้าง (Broad banding)” [4]

การวิพากษ์วิจารณ์หลายอย่างจึงเป็นแบบแพะชนแกะ ที่ออกจะงง ๆ ไม่ค่อยเข้าใจ ลองมารวบรวมความเข้าใจแบบบ้าน ๆ ของข้าราชการส่วนท้องถิ่นเหล่านั้นกัน

 

สาระสำคัญร่างกฎหมายบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับ สถ.

            ตั้งแต่ 20 กันยายน 2560 เป็นต้นมา มีการเผยแพร่แบบสอบถามความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. …. ฉบับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) [5]  ที่มีการปฏิรูปและหลักการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น การเทียบตำแหน่งกับข้าราชการพลเรือน,  วาระการดำรงตำแหน่งปลัด อปท. 4 ปี, อำนาจคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือ ก.ถ.ที่ครอบจักรวาล [6]  สรุปสาระดังนี้

(1) บททั่วไป (1.1) การจัดระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่นต้องเป็นไปเพื่อผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจ (1.2) บัญญัติชื่อตำแหน่งข้าราชการส่วนท้องถิ่น (1.3) บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ ก.ถ. ในการออกกฎ ประกาศ และระเบียบฯ (1.4) บัญญัติให้การจ่ายเงินเดือน ประโยชน์ตอบแทนอื่น และค่าจ้างฯ อปท. จะกำหนดสูงกว่าร้อยละสี่สิบของงบประมาณรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่ได้

(2) คณะกรรมการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น มีเพียงคณะเดียว เรียกว่า คณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) องค์คณะมีลักษณะไตรภาคีจำนวนยี่สิบสี่คน ประกอบด้วย (2.1) ผู้แทนส่วนราชการจำนวนแปดคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยที่รับมอบหมาย เป็นประธาน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นซึ่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มอบหมายเป็นกรรมการและเลขานุการ (2.2) ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนแปดคน ได้แก่ (2.2.1) ผู้แทนผู้บริหารท้องถิ่นสี่คน (2.2.2) ผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่นสี่คน (2.3) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนแปดคน

กรณีการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นในระดับทุกจังหวัดให้มีคณะอนุกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นจังหวัด (อ.ก.ถ.จังหวัด) มีฐานะเป็นคณะอนุกรรมของ ก.ถ. องค์คณะมีลักษณะไตรภาคี จำนวนสิบแปดคน ประกอบด้วย (1) ผู้แทนส่วนราชการจำนวนหกคน ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย เป็นประธาน หัวหน้าสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ (2) ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนหกคน ได้แก่ (1) ผู้แทนผู้บริหารท้องถิ่นจำนวนสามคน (2) ผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่นสามคน (3) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหกคน

(3) กระบวนการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นของข้าราชการส่วนท้องถิ่น (3.1) การสรรหา การบรรจุและแต่งตั้ง บัญญัติให้ ก.ถ. มีอำนาจหน้าที่จัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น การสอบคัดเลือกและคัดเลือกตำแหน่งประเภทอำนวยการท้องถิ่น บริหารท้องถิ่น สายงานบริหารสถานศึกษา แต่สำหรับการสอบคัดเลือกเพื่อเปลี่ยนสายงานจากตำแหน่งประเภททั่วไปเป็นตำแหน่งประเภทวิชาการเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเช่นเดิม (3.2) อำนาจการบังคับบัญชา บัญญัติให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง การโอน การรับโอน การสอบสวน การลงโทษทางวินัย และการให้ออกจากราชการ หรือการอื่นใดที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นของข้าราชการส่วนท้องถิ่น สำหรับการย้าย การเลื่อนระดับ และการเลื่อนขั้นเงินเดือน ให้เป็นอำนาจของผู้บริหารท้องถิ่นและปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังต่อไปนี้ (ก) ผู้บริหารท้องถิ่นเป็นผู้มีอำนาจสำหรับข้าราชการส่วนท้องถิ่นสามัญตำแหน่งประเภทบริหารท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ข) ผู้บริหารท้องถิ่นเป็นผู้มีอำนาจสำหรับข้าราชการส่วนท้องถิ่นสามัญตำแหน่งประเภทบริหารท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งรองปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำแหน่งประเภทอำนวยการท้องถิ่น และตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญขึ้นไป ทั้งนี้ ตามที่ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอ  (ค) ผู้บริหารท้องถิ่นเป็นผู้มีอำนาจสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาหรือตำแหน่งที่มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญขึ้นไป ทั้งนี้ ตามที่ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอ (ง) ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้มีอำนาจสำหรับข้าราชการส่วน ท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งอื่นนอกจากตำแหน่งตาม (ก) (ข) และ (ค) (3.3) วาระการดำรงตำแหน่ง บัญญัติให้ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติหน้าที่ เดียวติดต่อกันเป็นเวลาครบสี่ปี (3.4) การโอนระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บัญญัติให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่น โอนย้ายสับเปลี่ยนกันได้ บนพื้นฐานขอความสมัครใจและความยินยอมระหว่าง อปท. เว้นแต่กรณีมีเหตุความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ (3.5) การกำหนดโครงสร้างและอัตรากำลัง บัญญัติให้ ก.ถ. กำหนดตามความเหมาะสม ความรับผิดชอบปริมาณงาน ของ อปท. ทั้งนี้ สำหรับการ กำหนดตำแหน่งพนักงานจ้างตามภารกิจที่มีชื่อตำแหน่งซ้ำซ้อนกับข้าราชการส่วนท้องถิ่น จะต้องมีจำนวน ไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนอัตรากำลังของข้าราชการส่วนท้องถิ่นของ อปท. (3.6) กำหนดจรรยาสำหรับข้าราชการส่วนท้องถิ่นเพื่อถือปฏิบัติ (3.7) กำหนดระเบียบ ขั้นตอน วิธีการ เกี่ยวกับวินัยและการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการส่วนท้องถิ่น และกำหนดระเบียบ ขั้นตอน วิธีการกรณีข้าราชการส่วนท้องถิ่นกระทำผิดร่วมกันกับผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความชัดเจนและถือปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

(4) การพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่น บัญญัติให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่น (ก.พ.ค.ท้องถิ่น) ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 7 คน โดยให้รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมอบหมายปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขานุการ มีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีวาระเดียว ทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ร้องทุกข์ ออกกฎฯ สำนักงาน ก.พ.ค.ท้องถิ่น ตั้งอยู่กระทรวงมหาดไทย

 

ลองมองที่ผลกระทบทั้งระบบ และคนหมู่มาก

ในตำแหน่งข้าราชการส่วนท้องถิ่นมิใช่เป็นเรื่องเพียงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งหรือเพียงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นปัญหาร่วมของคนท้องถิ่นทั้งหมด การเรียกร้องต่อสู้ปกป้องสิทธิของคนท้องถิ่น จึงต้องเป็นไปในภาพรวม มองปัญหามันอยู่ที่องค์กรที่ได้รับมอบอำนาจ คือ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (กระทรวงมหาดไทย) โดยข้าราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้เข้ามากำกับดูแล มาจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงบุคคลากรทุกฝ่ายในองค์กรด้วย หมายความว่าเข้ามาจัดการชีวิตของชาว อปท. ซึ่งมีบุคคลากรในสังกัดคนละองค์กรนั่นเอง ซึ่งตามหลักนั้น ความเป็นบุคคลนอกองค์กรจึง “ไม่เกิดความมีส่วนร่วม เป็นเจ้าของ” (No Organization Commitment) [7]  เพราะบุคลากรที่มากำกับดูแลไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่กำกับดูแลนั้น (อปท.) ด้วยความเป็น “คนนอก” ก็ไม่ถูกมาแต่แรกแล้ว นอกจากนี้ อปท. เป็นองค์กรที่มีบุคคลากรจำนวนมาก มีพื้นที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ มันใหญ่เกินกว่าที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งแต่เพียงผู้เดียวจะเข้ามารับผิดชอบกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลคน เงิน หรืองบประมาณท้องถิ่นที่ใช้งบประมาณถึงหนึ่งในสามของทั้งประเทศ และ รวมทั้งการบริหารจัดการ ที่บุคคลากรหลัก ครู ช่าง หมอ ก็ไม่มีอยู่ในกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จึงเป็นธรรมดาที่ท้องถิ่นไทยขาดความสมดุลในเชิง “การบริหารจัดการ” (Administration) ยกตัวอย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีกรณีศึกษาเรื่องรถเกี่ยวข้าว นวดข้าว [8] ที่ อปท. ต้องหารือว่าจะใช้อำนาจตามกฎหมายใดในการจัดการแก้ไขปัญหาตาม พรบ. การสาธารณสุขฯ เป็นต้น

 

ข้อพิจารณาการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นที่สำคัญ

การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ด้วยความหวังว่าจะแก้ไขการทุจริต การบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น เพื่อตัดวงจรอุปถัมภ์ โดยริบอำนาจยึดอำนาจการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 8/2560 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น [9] ถือเป็นความหวังของคนท้องถิ่นในภาพรวม อย่างไรก็ตาม ในการมอบอำนาจให้คณะกรรมการกลางบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) เป็นผู้มีอำนาจในการคัดเลือก/สอบคัดเลือก ภายในกรอบอำนาจที่อ้างเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น มีประเด็นข้อพิจารณาที่ควรให้ความสำคัญคือ (1) หาก ก.กลาง มีการออกหลักเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงของเดิมที่ไม่เชื่อมโยงหรือตอบโจทย์ ว่า จะแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์อย่างไร อาทิ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลักสูตรการคัดเลือก/สอบคัดเลือก (2) การแต่งตั้งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นประธานคัดเลือก/สอบคัดเลือก [10] (แทนผู้ทรงคุณวุฒิ/อ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร) ซึ่งการคัดเลือก/สอบคัดเลือกตามหลักเกณฑ์เดิมนั้น ระดับเทศบาล/จังหวัดมีผู้ทรงคุณวุฒิฯเป็นประธานทั้งสิ้น และองค์ประกอบคณะกรรมการฯใหม่นี้ ก็ต้องล้อตามแบบเดิม ไม่ว่าการแต่งตั้งประธานฯ ดังกล่าวที่มักยึดโยงกับสายบังคับบัญชา/ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลระดับเทศบาลจังหวัด/กรม/กระทรวง ซึ่งเป็นการเกื้อหนุนต่อระบบอุปถัมภ์ ที่ส่งผลเสียหายต่อระบบคุณธรรม และไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคล    

 

หลังจากที่ท่านอธิบดีคนใหม่ ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญเข้ามารับหน้าที่ก็ได้ดำเนินการสานต่อจากที่ท่านอธิบดีคนเดิมได้ดำเนินการไว้แล้ว โดยประกาศว่าในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะเปิดระบบออนไลน์ รับสมัครสอบสายงานผู้บริหาร อำนวยการ ผู้บริหารการศึกษา “ข้าราชการส่วนท้องถิ่น”  รวม 11 สายงาน ประมาณ 9000 อัตรา [11] ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี และความหวังใหม่ในความก้าวหน้าของข้าราชการส่วนท้องถิ่นน้อยใหญ่ที่เฝ้ารอมาอย่างใจจดใจจ่อยาวนาน ท่ามกลางกระแสการยื่นฟ้องกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นต่อศาลปกครอง [12] เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวการดำเนินการจัดสอบดังกล่าวก็ตาม  ลองมาติดตามกระแสการปลดล็อคในร่าง พรบ.บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับนี้กันต่อ

 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Preecha Junnong, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 65 ฉบับที่ 8 วันศุกร์ที่ 3 - วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน 2560, หน้า 66 & หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน 2560 ปีที่ 68 ฉบับที่ 23579 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ 

[2]จำนวนบุคลากรของ อปท. จากข้อมูล สถ. 23 มีนาคม 2558 (1) ผู้บริหารและสมาชิกสภา 153,601 คน (2) ข้าราชการประจำ (2.1) ข้าราชการ 173,547 คน (2.2) ลูกจ้างประจำ 19,687คน (2.3) พนักงานจ้าง 211,279 คน รวม 404,513 คน รวมบุคลากรทั้งหมด 558,114 คน 

(แต่ข้อมูล ดร.จรัส สุวรรณมาลา, 2557, ข้าราชการท้องถิ่น จำนวน 392,945 คน)

ดู ... ความสับสนของข้าราชการส่วนท้องถิ่น, ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, 28 มกราคม 2559, https://www.gotoknow.org/posts...

[3]กำลังคนภาครัฐ 2558 : ข้าราชการพลเรือนสามัญ,สำนักงาน ก.พ. (OCSC), 19 กันยายน 2559, www.ocsc.go.th/download/2559/กำลังคนภาครัฐ-2558-ข้าราชการพลเรือนสามัญ

http://www.ocsc.go.th/sites/de...

จำนวนข้าราชการพลเรือนสามัญ 404,891 คน (2558), ข้อมูลกำลังคน ก.พ. ปี 2553 จำนวนข้าราชการพลเรือนสามัญ 361,445 คน ระดับผู้บริหาร 1,108 คน รวม 362,553 คน 

[4]ดร.ดนัย เทียนพุฒ, ที่ไปและที่มาของระบบตำแหน่ง ต่าง ๆในภาษา HR, Dr.DanaiThienphut On HR's Thailand, 4 กุมภาพันธ์ 2559, http://hrthailand.blogspot.com...  

& ประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น เรื่อง กำหนดมาตรฐานกลางการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557, เล่ม 132 ตอนพิเศษ 36 ง ราชกิจจานุเบกษา 13 กุมภาพันธ์ 2558, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/036/15.PDF 

& สรณะ เทพเนาว์, ‎การเข้าสู่ระบบแท่งของท้องถิ่น‬ : เจาะประเด็นร้อนอปท., ‎สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์‬ ปีที่ 63 ฉบับที่ 12 วันศุกร์ที่ 4 - วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม 2558, หน้า 80, http://www.gotoknow.org/posts/...

[5]ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ. 3 ฉบับสำคัญ ทาง http://www.dla.go.th/pub/surve... & (1) ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคล พ.ศ. .... , http://www.dla.go.th/pub/surve... & เข้าไปตอบแบบสอบกันค่ะ เผื่อจะมีอะไรดีขึ้นสำหรับพวกเรา, แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับ“ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... , https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSeAGjHvF495HoXx_tDpbHCq2Cp4tzIrj-x_i_G3f3OmPh_kKg/viewform

[6]ชำแหละ! ร่างกม.จัดระเบียบขรก.ท้องถิ่น เทียบขรก.พลเรือน/วาระปลัด 4 ปี/อำนาจ ก.ถ.ครอบจักรวาล, 23 กันยายน 2560, https://mgronline.com/daily/de...

[7]พงศ์โพยม วาศภูติ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (กถ.) อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “No Organization Commitment” ซึ่งเป็นหลักการ “บริหาร” หมายถึง คุณไม่มีส่วนได้เสียอะไรในฉัน แต่คุณมาดูแลฉัน คือ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ที่มากำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ผิดหลักการ เพราะ คุณ ไม่ได้เป็นฉัน คุณคือคนอื่น เพราะ สถ. กับ อปท เป็นนคนละองค์กรกัน

[8]หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0810.5/ว.1896 ลงวันที่ 15 กันยายน 2560 แจ้งแนวทางปฏิบัติในการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ, https://drive.google.com/file/d/0B9uni9dPdWajSTFJbG9TYjh4MUk/view?usp=drivesdk

& บันทึกการตอบข้อหารือศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียม รถนวดข้าว รถสีข้าว และรถเกี่ยวข้าวเครื่องเครื่องจักร เรื่องเสร็จที่ 19/2560 วันที่ 11 กันยายน 2560 ออกตามข้อบัญญัติ ของ อปท. โดยสามารถเรียกเก็บภาษีได้ เป็นรายได้ก่อนดำเนินการเหมือนการขออนุญาต ประกอบกิจการโรงงาน ทั่วไป, https://drive.google.com/file/d/0B9uni9dPdWajNGpqZVBIdnRJQ2s/view

[9]คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 54 ง วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 หน้า 109-110, http://www.ratchakitcha.soc.go...

& “ม.44” แก้ทุจริตท้องถิ่นตัดวงจรอุปถัมภ์-ริบอำนาจ?, bmanews : 24 กุมภาพันธ์ 2560, http://110.170.184.194/bmanews...  

& ราชกิจจาเผยแพร่ม.44 แก้เด็กเส้น สอบ-เลื่อนตำแหน่ง โอนย้าย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, 21 กุมภาพันธ์ 2560, https://www.matichon.co.th/news/471695

[10]สถ. จัดสอบแข่งขันบุคคลเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ประจำปี 2560, 25 กรกฎาคม 2560, http://www.tnews.co.th/content...  & อัษฎางค์'ไขก๊อกประธาน'กสถ.' ลั่นรักษาจิตวิญญาณ-ไม่รับใช้รัฐบาล ยันวางระบบแล้วไม่กระทบสอบบรรจุ, ในมติชน (กรอบบ่าย)  ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม 2560, ในฅนเทศบาล 3 สิงหาคม 2560, http://kontb.blogspot.com/2017/08/blog-post_3.html

[11]สถ.วางกฎเหล็ก เฟ้นสรรหาผู้บริหาร อปท. 9,000 อัตรา, 18 ตุลาคม 2560, http://www.banmuang.co.th/news/politic/93672 & พฤศจิกายนนี้ เปิดระบบออนไลน์ รับสมัครสอบสายงานผู้บริหาร “ข้าราชการท้องถิ่น” ปลัด-รองปลัด-ผอ.-หัวหน้าฝ่าย,19 ตุลาคม 2560, http://www.thailocalmeet.com/index.php/topic,65053.0.html  

[12]นายกฤติภัทร  ภิญโญชุติวัต (นายชาญวุฒิ สีบุญมา) ปลัดเทศบาลตำบลพระบุ อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น ฟ้องศาลปกครอง ขอให้ชะลอการสอบคัดเลือกและการคัดเลือกพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหาร คดีหมายเลขดำที่ บ. 207/2560 วันที่ 22 สิงหาคม 2560, https://drive.google.com/file/d/0B9uni9dPdWajVWJQTWRXT29ieUE/view?usp=drivesdk  

&  กรณีศึกษา..วิเคราะห์หลักเกณฑ์การสอบคัดเลือกฯพนักงานเทศบาล ข้อ 23, https://drive.google.com/file/... 

& มาตรฐานทั่วไปทั่วไปเกี่ยวกับสอบคัดเลือกพนักงานเทศบาล, https://drive.google.com/file/... 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท