KM วันละคำ : 681 ถามผิด โปรดถามใหม่



ผมกำลังชวนท่านผู้อ่าน และผู้สนใจ KM ย้อนกลับไปทำความเข้าใจทฤษฎี Double-loop Learning ของ Chris Argyris ()   อย่าลืมนะครับ KM เป็นเรื่องการเรียนรู้ 

และการเรียนรู้เริ่มจากการตั้งคำถาม    ต่อจากการตั้งสมมติฐาน

ไม่ว่าจะทำอะไร ต้องเริ่มจากการตั้งสมมติฐาน    แต่ส่วนใหญ่เราลืมนึกถึงสมมติฐาน หรือเป้าหมายของงาน    คือเราทำงานอย่างอัตโนมัติ ละเรื่องสมมติฐานหรือเป้าหมายของงานไว้ในฐานเข้าใจ   นั่นคือปรกติของมนุษย์ทั่วไป

แต่หากจะให้ผลงานมีคุณภาพ หรือก่อผลกระทบสูง  เราต้องเข้ากระบวนการคิด ระบบที่ ๒ ()    และตั้งคำถามย้อนกลับไปที่เป้าหมายที่แท้จริงของงานนั้น   

ผมเคยได้รับการสั่งสอนว่า ไม่ว่าจะทำอะไรให้ตั้งคำถามกับตนเองว่า “เรากำลังทำกิจกรรมอะไรอยู่” (What business are we in?)    และตั้งคำถามต่อว่า คุณค่าของผลงานนั้นคืออะไร   ความสำเร็จของงาน ในระดับคุณค่าคืออะไร  

KM เป็นการเรียนรู้จากการทำงาน

คนเราเรียนรู้จากการทำงานแบบ Single-loop Learning เป็นส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด   เพราะทำงานตามเป้าหมายที่มีการกำหนดไว้แล้ว    ตนเองหรือทีมงานเน้นหาวิธีทำงานให้บรรลุเป้าหมายนั้น   และใช้ข้อมูลผลงาน feedback ไปปรับที่วิธีทำงาน    ไม่แตะต้องที่เป้าหมายหรือสมมติฐาน

KM ที่มีพลังสูงต้องมีทั้ง Single-loop Learning  และ Double-loop Learning    คือต้องใช้ข้อมูลผลงาน feedback กลับไปที่เป้าหมายหรือสมมติฐานของงาน   ว่าควรมีการเปลี่ยนแปลงหรือยกระดับหรือไม่    เพื่อยกระดับความท้าทายของงานยิ่งขึ้น    จะเห็นว่า ใน Double-loop Learning ทีมงานต้องพร้อมสร้าง และรับมือความท้าทาย   รวมทั้งบรรยากาศในองค์กรต้องเอื้อให้พนักงานท้าทายเป้าหมาย หรือสมมติฐาน ของงานได้ด้วย

เขียนถึงตรงนี้ ผมสะท้อนใจว่า สภาพดังกล่าวคงจะเกิดในระบบราชการปัจจุบันได้ยากมาก    แต่สำหรับในระดับปัจเจกบุคคล   ไม่ว่าทำงานอยู่ในระบบหรือสภาพแวดล้อมใด เราสร้างตัวจากการเรียนแบบสองวง (Double-loop Learning) ได้เสมอ   … เรียนจากการท้าทายเป้าหมายเดิม สู่เป้าหมายใหม่ที่ทรงคุณค่ากว่า ท้าทายกว่า

ต้นปี ๒๕๐๑ ผมไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา     ซึ่งข้อสอบยากมากและมีมากข้อ ไม่มีคนทำได้หมด    จำได้ว่ามีโจทย์ข้อหนึ่งผิด   ผมตอบไปว่าโจทย์ผิด  โจทย์ที่ถูกคือ .... และตอบโจทย์นั้นไป     ผลรวมทั้งหมดคือผมสอบได้และได้อยู่ห้อง ๒๒ ซึ่งเป็นห้องคิง    ได้มีเพื่อนเก่งๆ มากมาย    มาจากโรงเรียนมีชื่อเสียงกว่าครึ่งห้อง    ผมอยู่ในกลุ่มเด็กต่างจังหวัด อายุ ๑๖ ขวบ   ไม่ค่อยประสีประสา ชีวิตในกรุงเทพ    แต่ก็มีอาจารย์แอบมาดูตัวผมเชียวนะครับ    เข้าใจว่าเพราะผมอาจหาญไปแก้โจทย์ ข้อสอบแข่งขันเข้าเรียน

เล่าความหลังเพื่อจะบอกความลับในชีวิตว่า ผมเป็นนักแก้โจทย์ หรือเปลี่ยนสมมติฐานมาตลอดชีวิต    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนสมมติฐานการทำงาน

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ก.ย. ๖๐


 

หมายเลขบันทึก: 638991เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2017 23:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2017 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท