จุดคานงัดของการปฏิรูปการศึกษา (ตอนที่ 2)​


ทั้งหมดที่กล่าวมาคือ เรื่องการกำหนดเป้าหมายของการออกข้อสอบให้ตรงกับเป้าหมายของการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่ประเด็นสำคัญต่อไปคือ การจัดการเรียนการสอนที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ซึ่งต้องอาศัยหัวใจอีกดวงหนึ่งคือ คุณครู

ถ้าการปฏิรูปการเรียนรู้เป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปการออกข้อสอบก็น่าจะเป็นหัวใจของการปฏิรูปการเรียนรู้ เพราะจะนำไปสู่การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอน เพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนนิสิตนักศึกษาให้เป็นตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ในแผนการศึกษาแห่งชาติ (1)  มีตัวชี้วัดตามเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่สองตัวคือ คะแนน PISA และคะแนน O-NET ที่คาดหวังว่าจะเพิ่มขึ้น ในตอนก่อนได้กล่าวไว้แล้วว่า จุดเด่นของแบบทดสอบ PISA คือการทดสอบการใช้ความรู้ (ในชีวิตจริง)  และแบบทดสอบ O-NET ก็ได้เริ่มใช้แนวคิดเดียวกันนี้ เมื่อเทียบกับ Bloom's educational taxonomy ก็น่าจะเป็นการปรับระดับการเรียนรู้ให้ง่ายขึ้นเป็น ดังนี้ 

ระดับที่ 1. จำได้

ระดับที่ 2. เข้าใจ 

ระดับที่ 3.ใช้ความรู้เป็น  และแบ่งการใช้ความรู้เป็นสองระดับย่อย คือ 

ระดับ 3.1 ใช้ความรู้แก้ปัญหาอย่างง่าย - นำความรู้มาใช้ได้โดยตรงเนื่องจากใช้ความรู้เพียงมโนทัศน์เดียว 

ระดับ 3.2 ใช้ความรู้แก้ปัญหาซับซ้อน - เนื่องจากต้องใช้ความรู้ร่วมกันหลายมโนทัศน์ จึงต้องอาศัยทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะการแก้ปัญหา  

อย่างไรก็ตามปัญหาที่เคยแก้แล้ว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายครั้ง) อาจถูกเปลี่ยนเป็นปัญหาอย่างง่ายสำหรับผู้นั้น นี่คือความแตกต่างอย่างหนึ่งระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับมือใหม่ ผู้เชี่ยวชาญคือ ผู้ที่แก้ปัญหาซับซ้อนในวงการของตนมามากแล้ว จึงมีวิธีแก้ปัญหาซับซ้อนจำนวนมากอยู่ใน Cognitive structure  (ถ้าสนใจเรื่อง Cognitive structure เชิญอ่านเรื่อง การเรียนรู้ที่ง่ายสนุกและจำได้ดี บทที่สี่ทฤษฎีการเรียนรู้) และสามารถนำมาใช้เป็นวิธีแก้ปัญหาอย่างง่ายได้ ทำให้ทุ่นเวลา นอกจากนี้ ยังมีความชำนาญในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เมื่อพบปัญหาซับซ้อนที่ไม่คุ้นเคยก็สามารถคิดได้อย่างสะดวกรวดเร็ว (นั่นคือการเรียนรู้จากการฝึกฝน และการผ่านประสบการณ์จริงมามาก)

ในแบบทดสอบของ  PISA (และ O-NET) มีการใช้ความรู้ทั้งแบบ 3.1 และ 3.2 ในรูปแบบของการนำเสนอสถานการณ์หรือปัญหาที่นักเรียนมีโอกาสพบได้ในชีวิตจริง ครูผู้สอนจึงควรทำความคุ้นเคยกับโครงสร้างและเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังแบบทดสอบเหล่านี้ และนำมาใช้ในการออกแบบการจัดการเรียนการสอน (และการสอบ) เพื่อให้นักเรียนฯเกิดความรู้ที่นำไปใช้แก้ปัญหาได้ในชีวิตจริง และใช้ในการตอบข้อสอบซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้าในชีวิตจริงๆของการเป็นนักเรียนฯ และเป็นการสร้างทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะการแก้ปัญหา  

แนวทางหนึ่งในการทำความเข้าใจกับการเรียนรู้เป็นระดับ จำได้ เข้าใจ ใช้ความรู้เป็น คือแนวคิดการสร้างปัญญาทางพุทธศาสนา ซึ่งประกอบด้วยสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา และภาวนามยปัญญา ดังนี้

1. สุตมยปัญญา เป็นการเรียนรู้จากการฟัง (หรืออ่าน หรือดู หรือดูและฟัง จากของจริงหรือสื่อ) เป้าหมายอย่างน้อยต้องจำได้ (ถ้าเป็นห่วงว่าจะจำไม่ได้ก็จดหรือทำหมายเหตุไว้ มีตัวอย่างการฟังและจดเลคเช่อร์อยู่ในเรื่อง การเรียนรู้ที่ง่ายสนุกและจำได้ดี บทที่สองเคล็ดไม่ลับของอาจารย์กวดวิชา ) ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ยากนักจะเข้าใจได้ (คือสามารถเชื่อมโยงได้กับความรู้เดิม ซึ่งเก็บไว้ในรูปแบบของ Cognitive structure ในความจำระยะยาว)

2. จินตมยปัญญา เป็นการเรียนรู้โดยหยิบยกประเด็น ที่จดหรือทำเครื่องหมายไว้ ขึ้นมาใช้การคิดอย่างมีวิจารณญาณ เพื่อแก้ปัญหา (โดยเปรียบเทียบกับ Cognitive structure ที่เกี่ยวข้อง ดูความเหมือนความต่าง หาทางสร้างความเชื่อมโยง  ถ้าจำเป็นก็ปรับปรุง Cognitive structure ขึ้นใหม่ นั่นคือการเกิดการเรียนรู้ครั้งใหญ่)  เมื่อปรับให้เข้าไปอยู่ใน Cognitive structure ได้แสดงว่าเข้าใจ (และจำได้ดี พร้อมนำไปใช้)

3. ภาวนามยปัญญา เป็นการเรียนรู้จากการนำไปปฏิบัติ (โดยการฝึกหรือใช้งานจริง) แล้วดูว่าได้ผลหรือไม่ ถ้าไม่ได้ผลก็ต้องย้อนกลับไปใช้การคิดอย่างมีวิจารณญาณอีกครั้ง เพื่อปรับ Cognitive structure ให้ดีขึ้นกว่าเดิม พร้อมสำหรับนำไปปฏิบัติใหม่ (นั่นคือ  PDCA) 

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือ เรื่องการกำหนดเป้าหมายของการออกข้อสอบให้ตรงกับเป้าหมายของการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่ประเด็นสำคัญต่อไปคือ การจัดการเรียนการสอนที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ซึ่งต้องอาศัยหัวใจอีกดวงหนึ่งคือ คุณครู ประเด็นนี้มีแสดงไว้อย่างชัดเจนว่าต้องทำอย่างไร ในคำกล่าวเปิดการประชุม Qudwa 2017 Global Teachers' Forum ที่ Abu Dhabi เมื่อวันที่  7 ตุลาคม 2560 โดย Sheik Abdullah Zayed (2)  รัฐมนตรีต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ ตอนหนึ่งว่า ".........คุณครูที่ประสงค์จะปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง ต้องเปลี่ยนบทบาทจากครูผู้สอนบทเรียนและตรวจการบ้าน เป็นครูผู้ให้คำปรึกษา ชักชวนให้นักเรียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และจัดให้มีกิจกรรมกลุ่มเพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะและวิธีคิด การเป็นผู้ให้คำปรึกษาหมายถึง การช่วยให้นักเรียนเข้าถึงประสบการณ์จากชีวิตจริง ไม่เพียงแค่ที่ได้จากหนังสือเท่านั้น...." 

อ้างอิง

(1) แผนการศึกษาแห่งชาติ Http://www.onec.go.th/index.ph...

(2) Sheik Abdullah Zayed. Https://www.thenational.ae/uae...

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

11 ตุลาคม 2560

หมายเลขบันทึก: 638942เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2017 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2020 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากๆครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท