Digital Disruption': Challenges and Opportunities in the era of Thailand 4.0


Digital Disruption': Challenges and Opportunities in the era of Thailand 4.0

ลูกศิษย์ส่งมาค่ะ

รับมือกับ “สงคราม 9 ทัพ: การเผชิญหน้ากับ Digital Disruption” 
โดย พลอากาศตรี ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ  

ผมมีโอกาสไปบรรยายเรื่อง  'Digital Disruption': Challenges and Opportunities in the era of Thailand 4.0” ให้มิตรโรตาเรี่ยน พระโขนงฟัง เมื่อวันที่ 27 ก.ย.60 เนื่องจากคนทำธุรกิจและนักลงทุนให้ความสนใจว่า เรื่องนี้มีความสำคัญและจำเป็นที่จะส่งผลต่อการทำธุรกิจของพวกเขาในอนาคตอย่างไร ?

           อย่างที่รู้กันเทคโนโลยีดิจิทัลมีประโยชน์มากมาย ขณะเดียวกันก็มีความท้าทาย ที่จะต้องปรับตัวรับมือกับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่อาจทดแทนหรือเปลี่ยนแปลงสินค้า/การบริการแบบเดิมให้หยุดชะงักหรือสูญสิ้นไป นั้น คือความหมายของ 'Digital Disruption' ที่ผมพยายามจำกัดความเพื่อง่ายต่อความเข้าใจนั้นเอง

          ที่ผ่านมาความท้าทายของเทคโนโลยีดิจิทัล มีการพัฒนาที่ก้าวกระโดดจนทำให้เกิดระลอกคลื่นของการเปลี่ยนแบบฉับพลัน โดยผมขอแบ่งการถูกทดแทนด้วยดิจิทัล เป็นคลื่น 3 ระลอกดังนี้

คลื่นแรกของการถูกทดแทนด้วยดิจิทัล (1.Wave of Digital Disruption) เมื่อเข้าสู่ ยุคข้อมูลข่าวสาร (Information Age) นับแต่คอมพิวเตอร์เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.1960 ที่ทำให้ข้อมูลจำนวนมหาศาลถูกจัดเก็บในรูปแบบดิจิทัล ทั้งตัวอักษร, เสียง หรือภาพเคลื่อนไหว ส่งผลต่อการรับรู้ของผู้คนทั่วโลกได้สัมผัส ดังนี้
          1. ‘ตัวอักษร’ (Text) เปลี่ยนจากการใช้เครื่องพิมพ์ดีด มาเป็นการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ Word พิมพ์ข้อความ โดยเริ่มในปี 1983 ปัจจุบันแทบไม่มีใครใช้เครื่องพิมพ์ดีดแล้ว
          2. ‘เสียง’ (voice) เปลี่ยนจากการบันทึกเสียงบนแผ่นเสียง มาเป็น เทปคาสเซ็ท ในปี 1970 และเปลี่ยนเป็น CD ในปี 1980 ปัจจุบันแทบไม่มีใครเล่นแผ่นเสียงหรือเทปคาสเซ็ทแล้ว
           3. ‘รูปภาพ/ภาพเคลื่อนไหว’ (picture/movie) เปลี่ยนจากบันทึกด้วยฟิล์ม มาเป็น ดิจิทัลไฟล์ ในปี 1988 ส่งผลให้ บริษัท โกดัก ที่ไม่ได้ปรับตัวต้องปิดตัวไป

คลื่นที่ 2 ของการถูกทดแทนด้วยดิจิทัล (2.Wave of Digital Disruption) เมื่อเข้าสู่ ยุคอินเทอร์เน็ท (Internet Age) นับแต่ ค.ศ.1990 ผู้คนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตติดต่อสื่อสารผ่านเครื่อง PC หรือ Notebook ทำให้สังคมเปลี่ยนรูปแบบการทำงานที่เชื่อมโยงด้วย World Wide Web ผู้คนถูกกระชับเข้าใกล้กันมากขึ้นและในขณะเดียวกันก็เปิดกว้างแบบไร้พรมแดน ทำให้โลกพลิกโฉม ดังนี้
          4. ‘การสื่อสาร’ (communication) จุดเด่นคือการเกิดขึ้นของ e-mail รับส่งข้อมูลแทนที่การส่งข้อความทางไปรษณีย์ ปัจจุบันการสื่อสารด้วยจดหมายลดลง ส่วนการส่งโทรเลขถูกกลืนหายไป ทุกวันนี้บริษัทไปรษณีย์ไทยต้องปรับตัวในการให้บริการด้านโลจิสติกที่เปลี่ยนไปจากเดิมแต่มีความหลากหลายเข้ามาทดแทน
          5. ‘การค้า’ (commerce) เกิดรูปแบบการค้าออนไลน์ดอทคอม เข้ามาเขย่าวงการด้วย e-commerce และ e-auction เกิดเป็นการตลาดดิจิทัลออนไลน์ให้กับบริษัท องค์กรต่างๆ เช่น amazon ที่เริ่มขึ้นเมื่อ ค.ศ.1994 โดยช่วงแรกขายหนังสือเป็นหลัก ปัจจุบันขายสินค้าแทบทุกชนิดโดยไม่มีร้านค้าเป็นของตนเอง การค้า e-commerce นี้ช่วยเพิ่มช่องทางการค้าออนไลน์ขึ้น แต่หากร้านค้าที่ปรับตัวไม่ทันก็ส่งผลให้ต้องปิดตัวลง มีให้เห็นจำนวนมาก อาทิ Toy-R-Us ซึ่งขณะนี้ได้ยื่นขอล้มละลาย 
          6. ‘ความรู้’ (knowledge) เกิดแหล่งความรู้ขนาดใหญ่บนอินเทอร์เน็ต ถือเป็นยุคเรียนรู้ผ่าน search engine อย่าง google และเกิดพื้นที่ห้องสมุดออนไลน์ เช่น Wikipedia ในปี ค.ศ. 2001 เป็นสารานุกรมออนไลน์ที่เปิดให้ทุกคนร่วมกันสร้างและแลกเปลี่ยนความรู้ จนทำให้สารานุกรมและวารสารต่างๆ ในรูปของสิ่งพิมพ์ถดถอย จนต้องปิดตัวไป

คลื่นที่สามของการถูกทดแทนด้วยดิจิทัล (3.Wave of Digital Disruption) คือ ยุคอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สาย (Mobile Broadband Age) เป็นยุคที่เกิด 3G/4G นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 ที่ทุกคนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งการเกิด Over the Top (OTT) คือบริการสื่อสารแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเตอร์เน็ต โดยผู้ให้บริการไม่ต้องลงทุนโครงข่ายสัญญาณเอง เป็นธุรกิจแบบใหม่ที่มีบทบาทสำคัญต่อผู้คนในวงกว้างเข้ามาให้บริการต่างๆ มากมาย ดังนี้
          7. ‘สังคม’ (social) เปลี่ยนไปสู่สังคมออนไลน์เต็มรูปแบบ ผู้คนเปลี่ยนรูปแบบการพูดคุย ใช้ทั้งการส่งข้อความและภาพผ่านทาง Social Media เช่น Facebook, Line โดยสมาร์ทโฟนหรือโทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์ที่มีอิทธิพลให้ทั้งข้อดีมากมาย แต่ก็ก่อให้เกิดข้อเสีย นั่นคือ “สังคมก้มหน้า” เมื่อผู้คนก้มหน้าก้มตา กดมือถือ แบบไม่มีใครสนใจขึ้นมาด้วย
          8. ‘สื่อบันเทิง’ (entertainment media) สามารถดูหนังฟังเพลงผ่าน Youtube หรือบริการ OTT อื่นโดยไม่จำเป็นต้องเช่า/ซื้อ CD มาดู ส่งผลให้ร้านเช่า CD ต้องทยอยปิดตัว แม้กระทั่งปัจจุบันคนดูทีวีลดลงมาก เพราะหันมาดูผ่านอินเทอร์เน็ตแทน
          9. ‘รูปแบบธุรกิจ’ (business model) เปลี่ยนไปโดยมีอินเทอร์เน็ตเข้ามาเป็นตัวกลางเชื่อมต่อผู้คน ผ่านทาง Application, Website หรือ social media เข้ามาให้บริการ เช่น การเกิด Uber เพื่อเรียกรถสาธารณะหรือ AirBnB ที่จองและเช่าที่พักผ่านออนไลน์ ส่งผลให้เจ้าของธุรกิจต้องปรับตัวตามการพัฒนาของเทคโนโลยีด้วย

           เหตุการณ์ที่กล่าวข้างต้น เสมือนกับ "สงครามเก้าทัพ" ที่ประเทศไทยและทั่วโลกโดนกองทัพดิจิทัลเข้ารุกตี ทำให้ของเก่าสูญสิ้นไปจากโลกใบนี้ แม้ไม่ใช่การมาพร้อมกันแบบสงครามเก้าทัพในอดีต แต่มันจะไม่หยุดเพียงแค่นี้ ในอนาคตอันใกล้กองทัพดิจิทัลจะยิ่งถูกพัฒนาและรุกเข้ายิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของ Internet of Thing (IoT), Artificial Intelligence (AI) และ Blockchain เป็นต้น ซึ่งผมจะพูดถึงในครั้งต่อไป เพราะความท้าทายเหล่านี้ ทำให้ทุกสรรพสิ่งมีความชาญฉลาดมากขึ้นและเกิดการสื่อสารระหว่างคนกับสิ่งของ หรือสิ่งของกับสิ่งของ ซึ่งจะนำไปสู่ คลื่นถัดไปของการถูกทดแทนด้วยดิจิทัล (Next Wave of Digital Disruption) ได้แก่
          - สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ทุกชนิดจะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและมีความชาญฉลาดมากขึ้น เช่น รถยนต์ที่ขับเคลื่อนเองได้ ดังนั้นสินค้าใดที่ไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อมาสู่คนหรือโทรศัพท์มือถือ จะคงอยู่ยากยิ่งขึ้น
          - อาชีพหลายอย่างจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ แม้กระทั่งวิชาชีพที่ใช้ความรู้ในเชิงวิเคราะห์หรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เนื่องจากคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์จะถูกพัฒนาให้ฉลาดมากยิ่งขึ้น
          - คนกลางจะหายไป เมื่อบนโลกอินเทอร์เน็ตมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นส่งผลให้มีความไว้ใจกันบนอินเทอร์เน็ต (Internet Trust) ทำให้คนทำธุรกรรมใดๆ ต่อกันโดยตรง จนไม่จำเป็นต้องมีอาชีพที่เป็นคนกลางอีกต่อไป

สรุป ผู้ประกอบการยังคงต้องมุ่งมั่นในธุรกิจของท่าน โดยตระหนักรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ให้เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและการบริการอย่างรู้เท่าทัน ดังนั้น อย่าปล่อยให้ธุรกิจตนเองถูกกวาดหายไปจากเวทีโลก เพราะถูกแทนที่ด้วยดิจิทัล (digital disrupt) เป็นอันขาด.

โดย พลอากาศตรี ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ  

คำสำคัญ (Tags): #Thailand 4.0#hr
หมายเลขบันทึก: 638216เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2017 23:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2017 23:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากครับ

ได้แนวคิดดีๆมากเลย

ขอบคุณมากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท