ชีวิตที่พอเพียง : 2995b โรงงานผลิตปัญญา : 9. ชีวิตของอธิการบดี


อธิการบดีจำนวนน้อยได้รับเงินเพิ่มจากค่าปริญญา หรือจากการเขียนและพิมพ์จำหน่ายตำราเรียน เขาบอกว่าคนเป็นอธิการบดีไม่มีใครรวยเลย ยกเว้นหนึ่งคน คือ Eliphalet Nott อธิการบดีของ Union College รวยจากการขายที่ดินในนิวยอร์ก รายได้จากการประดิษฐ์เรือกลไฟ และสิทธิบัตรเตาผิง เขาเป็นอธิการบดีอยู่ ๖๒ ปีและบริจาคเงิน ๖ แสนเหรียญให้แก่วิทยาลัย

ชีวิตที่พอเพียง  : 2995b โรงงานผลิตปัญญา :  9. ชีวิตของอธิการบดี

บันทึกชุด โรงงานผลิตปัญญา ตีความจากหนังสือ Wisdom’s Workshop :  The Rise of the Modern University    สำหรับตอนที่เก้านี้ ตีความจากบทที่ 4 A Land of Colleges

เล่าชีวิตของอธิการบดี ของวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ยุคก่อนและหลังสงครามกลางเมือง    คือตอนกลางศตวรรษที่ ๑๙ (สงครามกลางเมือง ค.ศ. 1861 – 1865)    ซึ่งเป็นยุคก่อนประเทศสยามมีมหาวิทยาลัย    ว่าเป็นงานที่มีลักษณะ “งานหนักเงินน้อย”    โดยที่ในตอนนั้นเป็นยุคที่ วิทยาลัยผุดเป็นดอกเห็ด  และล้มหายตายจากไปก็มาก

อเมริกาสมัยนั้นยังอยู่ในยุคตามก้นยุโรป    และสถาบันการศึกษามักผูกโยงกับศาสนา     กว่าร้อยละ ๙๐ ของอธิการบดีเป็นพระ    แต่ละวิทยาลัยจะขึ้นอยู่กับนิกายของศาสนาคริสต์  และเชื่อมโยงกับ(มหา)วิทยาลัยแม่ ที่อธิการบดีเรียนจบมา     ความเชื่อในตอนนั้นคือ การศึกษาต้องเชื่อมโยงกับศาสนา  และสอนคุณธรรมที่เชื่อมโยง กับศาสนา    โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับศาสนาตริสต์นิกายโปรเตสเต๊นท์  

ดังนั้น อธิการบดีจึงเป็นผู้สอนวิชา ปรัชญาคุณธรรม (moral philosophy)    และทำหน้าที่นำสวด (chapel service) ซึ่งเป็นกิจกรรมแรกของวัน ทุกวัน ก่อนอาหารเช้า    และตอนบ่ายหลังจบชั้นเรียน    รวมทั้งกิจกรรม สวดยาวในเช้าวันอาทิตย์    และอาจต้องให้คำสอน (ทางศาสนา) ตอนบ่ายหรือค่ำวันอาทิตย์     กิจกรรมคำสอน ของอธิการบดีหรือของแขกรับเชิญ ในวันอาทิตย์  อาจมีส่วนช่วยสร้างศรัทธาทั้งต่อศาสนา และต่อวิทยาลัย     สร้างความเข้มแข็งให้แก่วิทยาลัย    โดยในปี 1831 มีการกำหนดวันสวดประจำปีเพื่อวิทยาลัย    ช่วยให้อธิการบดี สร้างศรัทธาและแสวงหาการสนับสนุนวิทยาลัยง่ายขึ้น

หากคำสอนศาสนาของอธิการบดีขจรขจายออกไปนอกโบสถ์ประจำวิทยาลัย สู่สังคมภายนอก   โดยอาจแพร่ออกไปทางสื่อมวลชน    หากคำสอนเป็นที่ชื่นชอบ การสนับสนุนก็ตามมา     หากคำสอน ออกไปทางโลกย์และก่อความเห็นขัดแย้ง  ก็อาจสร้างความเสียหายแก่วิทยาลัย    และอาจรุนแรงถึงขนาด อธิการบดีถูกปลด     โดยที่ต้องไม่ลืมว่าผู้เป็นกรรมการใน Board of Trustee ก็อาจมีความเชื่อและความคิดเห็น แตกต่างกัน 

เรื่องการไม่สร้างความขัดแย้ง ฟังดูไม่ต่างจากสมัยปัจจุบันนะครับ

หน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของอธิการบดีคือเสาะหาอาจารย์    ซึ่งมีสองประเภท คือศาสตราจารย์ กับติวเต้อร์ 

ศาสตราจารย์มักเป็นผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี แล้วไปเรียนต่อในโรงเรียนฝึกพระ (Seminary) ที่มีชื่อเสียง    แล้วไปเป็นนักเทศน์  หรือเป็นครูใน Academy   หรือคัดเลือกจากคนเป็นหมอ  หรือเป็นนักกฎหมาย    ส่วนติวเต้อร์มักเป็นผู้เรียนจบปริญญาตรีใหม่ๆ และยังหางานพระทำไม่ได้    จึงมาเป็นติวเต้อร์ไปพลางๆ ก่อน สองสามปี    ติวเต้อร์นี้มักไม่อยู่นาน

อ่านจากหนังสือแล้ว  รู้สึกว่าสมัยนั้นอาชีพพระดูจะเป็นที่นิยมมากกว่าเป็นอธิการบดี หรืออาจารย์ (มหา)วิทยาลัย    และ(มหา)วิทยาลัยในสมัยนั้นใกล้ชิดกับวงการศาสนามากกว่าในปัจจุบันมาก 

หน้าที่สำคัญยิ่งของอธิการบดีอีกอย่างหนึ่งคือแสวงหาทุนสนับสนุน  เพราะค่าลงทะเบียนเรียน จากนักศึกษาไม่เพียงพอ  เนื่องจากนักศึกษามีจำนวนน้อย    เขายกตัวเลขปี ค.ศ. 1840 จำนวนนักศึกษาเฉลี่ย วิทยาลัยละ ๙๓ คน    ปี 1850 ๑๑๖ คน    ปี 1860 ๑๒๐ คน    เขาใช้คำว่า อธิการบดีต้องออกไป “ล่า” (hunt) หาการสนับสนุน เป็นเงินกองทุน (endowment)   เงินก่อสร้างอาคารและค่าครุภัณฑ์   และเงินค่าดำเนินการ    (มหา)วิทยาลัยบางแห่งส่งอธิการบดี หรือเจ้าหน้าที่ระดมทุน ออกไประดมทุนในต่างรัฐ    เดินทางไปเรื่อยๆ เป็นปีก็มี 

มีตัวอย่างอธิการบดีของวิทยาลัยเล็กๆ ในรัฐอิลลินอยส์     เดินทางไประดมทุนในรัฐทางฝั่งตะวันออก ของประเทศอยู่บ่อยๆ จนในที่สุดไปอยู่เพื่อระดมทุนเป็นการถาวร   มอบหน้าที่อธิการบดีให้ศาสตราจารย์ ท่านหนึ่งทำงานแทน

เพื่อช่วยเหลือการเงินแก่วิทยาลัย จึงมีการตั้งสมาคมการศึกษา เช่น Western College Society, American Education Society เพื่อช่วยระดมทุนเอาไปสนับสนุนวิทยาลัยต่างๆ 

ค่าตอบแทนที่อธิการบดีได้รับตั้งแต่ไม่ได้รับค่าตอบแทนเลย     โดยเฉพาะในวิทยาลัยเล็กๆ (ประมาณ ๑๐ แห่ง) สำหรับอธิการบดีใหม่    จนเวลาผ่านไปหลายปีจึงได้รับเงินเดือน    และที่ได้รับเงินเดือน (ที่จริงเงินปี) ก็ได้รับตั้งแต่ปีละสองสามร้อยดอลล่าร์  ไปจนสูงสุดที่ ๓,๐๐๐ ดอลล่าร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด 

อธิการบดีจำนวนน้อยได้รับเงินเพิ่มจากค่าปริญญา  หรือจากการเขียนและพิมพ์จำหน่ายตำราเรียน    เขาบอกว่าคนเป็นอธิการบดีไม่มีใครรวยเลย    ยกเว้นหนึ่งคน คือ Eliphalet Nott  อธิการบดีของ Union College    รวยจากการขายที่ดินในนิวยอร์ก  รายได้จากการประดิษฐ์เรือกลไฟ  และสิทธิบัตรเตาผิง    เขาเป็นอธิการบดีอยู่ ๖๒ ปีและบริจาคเงิน ๖ แสนเหรียญให้แก่วิทยาลัย   

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ก.ค. ๖๐

 

หมายเลขบันทึก: 635664เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2017 07:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2017 07:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท