อารยธรรมโบราณ; พระพุทธสิหิงค์คุณค่าทางประวัติศาสตร์



                      อารยธรรมโบราณ;  พระพุทธสิหิงค์คุณค่าทางประวัติศาสตร์

                                                                               สุภัชชา  พันเลิศพาณิชย์

 

              ดินแดนทางเหนือที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ครั้งเก่าก่อนที่มีการรวมตัวเกิดก่อเป็นรัฐและแว่นแคว้นจนเป็นอาณาจักรล้านนาผ่านสายน้ำที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์เช่นลุ่มน้ำกกได้ถูกเขียนไว้เป็นตำนานอย่างเช่นการสร้างเวียงโยนกโดยราชวงศ์สิงหนวัติกุมารหรือราชวงศ์ลวจังกราชซึ่งเล่าย้อนอดีตถึงชนชาติที่มาเช่น ชนชาติลวะและกลุ่มคนไทย (สรัสวดี อ๋องสกุล:2555, 42-43)สมัยลุ่มน้ำกกเรื่องราวคนไทยเรียกชื่อเมืองตามบ้านเรือนตนว่าโยนก ซึ่งบางครั้งใช้คำว่ายวนในรัชสมัยพญามังรายได้รวบรวมเมืองต่างๆแถบลุ่มน้ำกกเข้าด้วยกัน แคว้นโยนได้ถูกเรียกกันมาเนิ่นนานจนถึงสมัยพระเจ้าติโลกราชคำว่าอาณาจักรล้านนาได้เกิดขึ้นส่วนคำว่าคนเมืองที่ใช้เรียกคนภาคเหนือปรากฏในช่วงร้อยปีเศษมานี่เอง(รายงานจดหมายเหตุแห่งชาติ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร พ.ศ.2427) (สรัสวดี อ๋องสกุล:2555, 49-50) ก่อนสถาปนาอาณาจักรล้านนาชาวไทยยวนได้สั่งสมอารยธรรมลุ่มน้ำกกมาหลายศตวรรษผสมผสานวัฒนธรรมความเชื่อในเรื่องการนับถือผี เชื่อในเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติซึ่งต่อมาได้มีการนับถือพระพุทธศาสนาที่ปะปนความเชื่อดั้งเดิมภายหลังพุทธศตวรรษที่20จึงเป็นศาสนาบริสุทธิ์(สรัสวดี อ๋องสกุล:2555, 57) คำว่าดินแดนแถบลุ่มน้ำกกคือเชียงแสนและเชียงราย(สรัสวดี อ๋องสกุล:2555, 42-43)มีตำนาน เอกสาร พงศาวดารเขียนไว้มากมายเกี่ยวกับกษัตริย์ล้านนา วัด  และพระพุทธรูปสำคัญเช่นพระพุทธสิหิงค์  พระพุทธรูปที่ปรากฏหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในอินเดียสมัยคันธาระ ได้รับอิทธิพลจากการทำรูปปั้นเทพเจ้าของชาวกรีกโดยกษัตริย์ชาวกรีกพระนามว่า เมนันเดอร์หรือพระเจ้ามิลินท์ที่เข้ามายึดครองบางส่วนของชมพูทวีปพระองค์ปรีชาในการปกครองและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราชเพราะพระเจ้ามิลินท์ทรงได้พระธรรมเทศนาของพระอรหันต์นาคเสนจึงศรัทธา เลื่อมใสในพระศาสนาจน การสร้างถาวรวัตถุต่างๆรวมทั้งพระพุทธรูปมากมาย ดังนั้นพัฒนาการการทำพระพุทธรูปไว้สักการบูชาจึงมีผ่านมาหลายยุคหลายสมัยเข้ามาถึงประเทศไทยอาทิเช่นทวาราวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ตามลำดับจนกระทั่งล้านนามีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวพระพุทธสิหิงค์อย่างมากมายซึ่งครั้งหนึ่งเมืองเชียงรายที่วัดพระสิงห์เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนี้เช่นกัน(ประพันธ์ กุลวินิจฉัย: 2555, 1-2)

              วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงรายเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ในสมัยท้าวมหาพรหมครองเมืองเชียงราย ซึ่งปรากฎในตำนานพระพุทธสิหิงค์ว่าท้าวมหาพรหมยกทัพไปตีเมืองกำแพงเพชรแล้วได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไว้วัดนี้แล้วค่อยนำไปหล่อรูปเหมือนที่เกาะดอนแท่นเมืองเชียงแสนจากนั้นได้ถวายต่อพระเจ้าแสนเมืองมาได้อัญเชิญพระพุทธสิงค์จึงได้ประดิษฐานอยู่เมืองเชียงใหม่

              พระอุโบสถวัดพระสิงห์ขนาดไม่ใหญ่มากนัก มีรูปปั้นสิงห์คู่หนึ่งอยู่สองข้างทางบันไดทางขึ้น หน้าบรรพ์จำหลักลายกนกประดับกระจก ข้างในพระอุโบสถมีพระประธานสัมฤทธิ์รูปทรงคล้ายพระสิงห์ของเชียงใหม่  มีพระพุทธรูปปางต่างๆอีกหลายองค์มีพระสังกัจจายน์และสาวกข้างๆพระอุโบสถ มีพระอุโบสถขนาดเล็กกว่าเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสัมฤทธิ์หน้าตักกว้าง๑๗ เซนติเมตรสูงทั้งฐาน 65 เซนติเมตร    พระเมาฬีเป็นรูปดอกบัวตูม พระอุระนูน ชายสังฆาฎิสั้น นั่งขัดสมาธิเพชรเป็นพระพุทธรูปเชียงแสนรุ่นแรกชาวเชียงรายเรียกว่า พระสิงห์ส่วนทางใต้จะเรียกพระพุทธรูปลักษณะนี้ว่า พระพุทธสิหิงค์ ส่วนหลังอุโบสถ       วัดพระสิงห์เคยมีศาลาโถงประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ทำเป็นรอยบุ๋มลงไปในแผ่นหิน มีอักษรพื้นเมืองอยู่ที่ขอบ พระพุทธบาท 1บรรทัดจารึกว่า กุศลาธมมฺมา อกุศลาธมฺมา(ต.อมาตยกุล: 2513,32)

     พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงรายถือว่าเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองเชียงราย ตามตำนานความเชื่อพระพุทธสิหิงค์ทางเหนือเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร มีพุทธลักษณะสำคัญแบบสิงห์หนึ่งทั่วไป ซึ่งเมืองเชียงแสนก็มีการสร้างพระพุทธสิหิงค์ประจำเมืองเช่นกัน ได้แก่พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงราย และเกี่ยวข้องกับตำนานพระพุทธสิหิงค์” แต่งโดยพระโพธิรังสี และใน“ชินกาลมาลีปกรณ์” ที่แต่งโดยพระรัตนปัญญาเถระว่าในสมัยท้าวมหาพรหมครองเมืองเชียงรายได้อัญเชิญมาจำลองแบบที่เกาะดอนแท่น เมืองเชียงแสนทำให้พระพุทธสิหิงค์เกี่ยวข้องทั้งเมืองเชียงรายและเชียงแสน แต่จากพุทธลักษณะพระพุทธสิหิงค์เชียงรายพบว่าเป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนหนึ่งในรุ่นต้นพุทธศตวรรษที่21แล้วซึ่งมีลักษณะสำคัญคือประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระรัศมีเป็นดอกบัวตูม ชายสังฆาฎิสั้นเหนือพระถัน สิ่งที่สังเกตได้คือ พระพักตร์กลมเล็ก  ประทับนั่งบนฐานกลีบบัวที่ลักษณะแต่บัวหงาย ฐานเป็นชิ้นเดียวกับองค์พระพุทธรูป พระวรกายไม่อวบอ้วน พระเนตรมองตรง ซึ่งน่าจะมาจากช่างสกุลเดียวกัน(ศักดิ์ชาย สายสิงห์. : 2551,202)

              ประวัติความเป็นมา พระสีหลปฏิมา  หรือ  พระพุทธสิหิงค์

พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสำคัญที่ประวัติความเป็นมาอันยาวนานคู่บ้านคู่เมืองโดยประชาชนทั่วไปมักเรียกว่า พระสิงห์เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยสุโขทัยประทับนั่งขัดสมาธิ ปางสมาธิ มีลักษณะสมส่วน งดงามเรื่องราวของพระพุทธสิหิงค์ปรากฏในตำนานชาวล้านนาทั้งใน“ตำนานพระพุทธสิหิงค์” แต่งโดยพระโพธิรังษี พระเถระชาวเชียงใหม่แต่งไว้เป็นภาษาบาลีในสมัยที่เชียงใหม่ยังเป็นเมืองหลวงของล้านนาเรียกว่า“สิหิงค์นิทาน” และใน“ชินกาลมาลีปกรณ์”ซึ่งแต่งโดยพระรัตนปัญญาเถระและตำนานเมืองเหนือของ สงวน โชติสุขรัตน์ที่แสดงถึงปาฎิหารย์ของพระพุทธสิหิงค์จนเป็นตำนานการสร้างวัดฟ้าฮ่าม เชียงใหม่และ ตำนานรัตน-  พิมพวงศ์  จนกระทั่ง“พงศาวดารโยนก” ได้รวบรวมตำนานหลายๆ ฉบับเข้าด้วยกัน

              พระพุทธสิหิงค์ตามตำนาน“ชินกาลมาลีปกรณ์”กล่าวไว้ว่าบรรดาขุนนางต่างกราบทูลให้พระเจ้าแสนเมืองมาซึ่งพระชนม์มายุเพียง 15 พรรษา พระโอรสของพระเจ้ากือนาขึ้นครองราชย์แทนที่จะเป็นเจ้ามหาพรหมผู้เป็นอาของพระเจ้าแสนเมืองมาทำให้ เจ้ามหาพรหมผู้ครองเมืองเชียงรายยกทัพมาล้อมเมืองเชียงใหม่เพื่อแย่งชิงราชสมบัติแต่ไม่สำเร็จ ต่อมาภายหลังเจ้ามหาพรหมได้นำ“พระพุทธสิหิงค์”ที่ได้มาจากกำแพงเพชร มาถวายเพื่อเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษและยอมสวามิภักดิ์ พระเจ้าแสนเมืองมา ทรงยกโทษให้และให้กลับไปครองเมืองเชียงรายตามเดิมและพระองค์ทรงรับสั่งให้นำพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานไว้ที่   วัดลีเชียงพระ คือวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ในปัจจุบัน

                   พระพุทธสิหิงค์ตามตำนานกล่าวว่า กษัตริย์ลังกาเป็นผู้สร้างประมาณ พ.ศ. 1700 ต่อมา กษัตริย์สุโขทัยได้ให้เจ้าผู้ครองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็น ประเทศราช ส่งทูตไปของจากลังกาและพระองค์ได้ลงไปรับถึงเมืองนครศรีธรรมราชและ เมื่อสุโขทัยตกเป็นเมืองขึ้นของอยุธยาสมัยขุนหลวงพะงั่ว พระพุทธสิหิงค์จึงไปอยู่ที่อยุธยา แล้วไปอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรเพราะถูกพระสนมเจ้าเมืองกำแพงเพชรทูลขอไปให้บุตรชายที่เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรขณะนั้น เจ้ามหาพรหมเจ้าเมืองเชียงรายได้ ยกทัพมาล้อมเมืองกำแพงเพชรเพื่อชิงพระพุทธสิหิงค์ เจ้าเมืองกำแพงเพชรเห็นว่าสู้ไม่ได้จึงยอมมอบถวายพระพุทธสิหิงค์ให้แต่โดยดีและได้นำกลับมามอบให้พระเจ้าแสนเมืองมาจึงได้ครองเมืองเชียงรายตามเดิม(พระครูสุธีสุตสุนทร, และคณะ : 2556, )

              พระพุทธสิหิงค์ตามตำนานการสร้างวัดฟ้าฮ่าม เชียงใหม่กล่าวว่า ในปีพ.ศ.1943 พระเจ้ากือนา เจ้าเมืองเชียงใหม่ กษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์มังราย สวรรคต บรรดาขุนนางได้อัญเชิญพระเจ้าแสนเมืองมาพระราชโอรสของพระองค์ขึ้นครองราชย์แทนที่จะเป็นเจ้าท้าวมหาพรหมผู้เป็นอาของพระเจ้าแสนเมืองมาซึ่งขณะนั้นพระเจ้ากือนาให้ครองเมืองเชียงรายและก่อนจะมีพิธีราชาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเจ้าท้าวมหาพรหมคิดก่อการกบฎยกทัพมาจากเชียงรายแต่ต้องพ่ายแพ้ขุนพลแสนผานองแม่ทัพแห่งเชียงใหม่ จนต้องไปขออาศัยอยู่กับเจ้าเมืองกำแพงเพชรและมีเรื่องบาดหมางกันจึงอพยพกลับมาเชียงใหม่พร้อมขอพระราชทานอภัยโทษซึ่งการกลับมาครั้งนี้ได้นำพระพุทธสิหิงค์จากเมืองกำแพงเพชรมาถวายพระเจ้าแสนเมืองมาด้วยแต่ก่อนที่จะมอบให้พระพุทธสิหิงค์ให้ทรงขอยืมนำมาจำลองแบบที่เชียงรายเมื่อองค์จำลองเสร็จสมบูรณ์ได้นำองค์จริงกลับมาคืนพระเจ้าแสนเมืองมาโดยการล่องเรือจากแม่น้ำปิงขึ้นที่ท่า วังสิงห์คำ ในขณะที่อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ขึ้นบุษบก องค์พระทรงแสดงปาฏิหารย์เปล่งรัศมีเรืองรองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นลำยาวประมาณ2,000 วา เป็นที่อัศจรรย์ใจ พระเจ้าแสนเมืองมาทรงโปรดให้สร้างวัดขึ้นที่นั่นเรียกว่า วัดฟ้าฮ่าม(คำว่าฮ่ามทางเหนือหมายถึงฟ้าเรืองรอง,ฟ้าอร่าม) มาจนกระทั่งทุกวันนี้ ส่วนพระพุทธสิหิงค์ทรงอัญเชิญไปเพื่อจะประดิษฐานไว้ที่วัดบุปผาราม(วัดสวนดอก)เชียงใหม่แต่รถบุษบกก็ติดขัดลากต่อไปไม่ได้ พระเจ้าแสนเมืองมาเห็นดังนั้นทรงถือว่าเป็นบุพนิมิตว่าพระพุทธสิหิงค์ต้องการประดิษฐานอยู่ที่นั่น จึงอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระวิหารวัดลีเชียงพระหรือปัจจุบันเรียกว่าวัดพระสิงห์ เชียงใหม่นั่นเอง(สงวน โชติสุขรัตน์ : 2552, 513-514)

 

“ตำนานพระพุทธสิหิงค์”หรือ“สิหิงค์นิทาน”

              พระพุทธสิหิงค์สร้างขึ้นพ.ศ.700 โดยพระอรหันต์ 20 พระองค์ พระราชาสิงหล 3 พระองค์ แต่นิ้วพระหัตถ์ชำรุดไม่สมบูรณ์ได้หล่อใหม่หนึ่งนิ้ว จนพุทธศาสนาล่วง 1500 พรรษาหรือประมาณพ.ศ.1800 ตรงกับกษัตริย์เมืองสุโขทัยพระนามว่า พระเจ้าไสยณรงค์ ที่มีพระแสนยานุภาพได้ขยายราชอาณาจักรทำให้นครศรีธรรมราชและกรุงศรีอยุธยาตกเป็นเมืองขึ้นของสุโขทัย เมื่อครั้งกษัตริย์สุโขทัยเสด็จประพาสนครศรีธรรมราชประสงค์อยากได้พระพุทธรูปลักษณะงดงาม เจ้านครศรีธรรมราชทรงรับอาสาที่จะนำมาถวายให้และได้ให้ทูตไปเป็นตัวแทนพระองค์ทูลขอพระพุทธสิหิงค์แล้วนำมาถวายพระเจ้าไสยณรงค์ได้อัญเชิญไว้ในกรุงสุโขทัย จวบจนพระองค์ทรงสวรรคตได้มีกษัตริย์ครองเมืองสุโขทัยอีก 3 พระองค์ จนถึงสมัยพระเจ้า-   อัตถกะลิไทขึ้นครองราชย์ซึ่งตรงกับกษัตริย์อยุธยาคือสมเด็จพระรามาธิบดี ทรงมีพระเดชานุภาพมากได้ยกทัพมาตีสุโขทัย พระเจ้าอัตถกะลิไททรงพ่ายแพ้ตกเป็นเมืองขึ้นอยุธยาจนพระองค์เสด็จสวรรคต สุโขทัยได้ว่างกษัตริย์ พระรามาธิบดีได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาไว้ที่กรุงศรีอยุธยา ต่อมากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาพระองค์หนึ่งได้มารดาพระยาญาณดิส(พระยายุธิษฐิระ)เจ้าเมืองกำแพงเพชรมาเป็นมเหสี(น่าจะเป็นพระสนมมากกว่า) พระสนมพระยาญาณดิสผู้เป็นบุตรชายอยากได้พระพุทธสิหิงค์ จึงให้มารดาทูลขอกับเจ้าเมืองกำแพงเพชรโดยใช้กลอุบายว่า จะทูลขอพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งในวัดพระศรีสรรเพชญส่งไปให้ พระยาญาณดิสบุตรชายเจ้าเมืองกำแพงเพชรไม่ทราบกลอุบาย ทรงอนุญาตให้พระมเหสี(หรือพระสนม)เลือกเอาตามใจชอบ ซึ่งพระนางได้ติดสินบนขุนพุทธบาลผู้รักษาพระบอกให้รู้ว่าองค์ใดคือพระพุทธสิหิงค์และเมื่อทราบ ก็ให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ส่งไปที่กำแพงเพชร จนเวลาล่วงไปหลายวันพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงทราบจึงโกรธมาก ฝ่ายพระมเหสีได้ทรงกราบทูลว่าพระองค์ทรงบอกให้เลือกตามใจชอบและไม่ทราบว่านั่นคือพระพุทธสิหิงค์ ทรงรอให้พระยาญาณดิสบุตรชายตนสร้างองค์จำลองเสร็จแล้วจะนำมาคืน พระพุทธสิหิงค์จึงประดิษฐานอยู่เมืองกำแพงเพชรแต่นั้นมา กลับมาทางฝ่ายล้านนาสมัยพระเจ้ากือนาปกครองเมืองเชียงใหม่พ.ศ.1906 ให้ท้าวมหาพรหม    พระอนุชา(น้องชาย)ปกครองเมืองเชียงราย ท้าวมหาพรหมได้ขอกองทัพเชียงใหม่สมทบกับกองทัพเชียงรายยกมาล้อมตีเมืองกำแพงเพชร พระยาญาณดิสเห็นว่าทรงสู้ไม่ได้ จึงแสดงความเป็นมิตรไมตรีอ่อนน้อมต่อ       ท้าวมหาพรหมและท้าวมหาพรหมได้ขอพระพุทธสิหิงค์ต่อพระยาญาณดิสแล้วนำมาไว้ที่เชียงรายได้ให้ช่างแก้ไขนิ้วมือที่ชำรุดและโปรดจำลองขึ้นอีกองค์หนึ่ง

              ในปีพ.ศ.1943 พระเจ้ากือนาสวรรคต บรรดาขุนนางต่างอัญเชิญพระเจ้าแสนเมืองมาโอรสพระองค์ขึ้นตรองราชสมบัติ ท้าวมหาพรหมไม่พอพระทัยจึงยกทัพมาตีเชียงใหม่เพื่อหวังแย่งชิงพระราชสมบัติแต่ต้องพ่ายแพ้ต่อขุนผานอง จึงล่าถอยมาเชียงรายกองทัพเชียงใหม่ตามมาและจับตัวท้าวมหาพรหมได้จึงฆ่าเสียแล้วอัญเชิญพระพุทธสิงหิงค์ไปยังเมืองเชียงใหม่(สงวน โชติสุขรัตน์ : 2552,525-526)

              ในหนังสือรัตนพิมพวงศ์ โดยพระพรหมราชปัญญาเถระเป็นผู้แต่งไว้ พ.ศ.1950 ได้เล่าถึงตำนานพระพุทธสิหิงส์ไว้ว่า  พระยาญาณดิส ครองเมืองกำแพงเพชรตรงกับพระเจ้ากือนาครองเมืองเชียงใหม่สวรรคต แต่แทนที่จะอัญเชิญพระท้าวมหาพรหมพระอนุชาครองราชย์กลับเชิญพระเจ้าแสนเมืองมาพระโอรส         พระเจ้ากือนาครองแทน จึงเกิดสงครามระหว่างอาและหลาน ซึ่งพระเจ้าพรหมพ่ายแพ้ได้หนีไปพักพิงที่กำแพงเพชร ฝ่ายพระยาญาณดิสต้อนรับอย่างดีพร้อมนำพระแก้วมรกตและพระพุทธสิหิงค์มาอวดที่ท้องพระโรง ท้าวมหาพรหมอยากได้ไปแก้ปัญหาการเมืองทราบว่านางจันทน์มารดาพระยาญาณดิสเป็นผู้ดูแลรักษา จึงสนิทสนมจนได้เสียกันจึงออกปากขอยืมมาทั้งสององค์เพื่อให้ชาวล้านนาได้ชื่นชมแล้วจะนำกลับมาคืน ส่วนพระพุทธสิหิงค์ได้บอกพระยาญาณดิสว่า จะนำไปจำลองแบบให้เหมือนจริงเพื่อเผยแพร่ศาสนาในล้านนา   (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ผศ.ดร., 2547)

              พระพุทธสิหิงค์ตามตำนานโยกนกกล่าวว่า พระเจ้ากือนาสวรรคตปีพ.ศ.1943 พระเจ้าพรหม    พระอนุชายกทัพมาจากเชียงรายเพื่อแย่งชิงราชสมบัติจากพระเจ้าแสนเมืองมาผู้เป็นหลาน ซึ่งเยาว์วัยอยู่  ขุนพลแสนผานองอำมาตย์ผู้ซื่อสัตย์ของพระเจ้ากือนาได้รวบรวมไพร่พลต่อสู้ จนพระเจ้าพรหมพ่ายแพ้ไปขออาศัยอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร ต่อมาทรงสำนึกผิดได้กลับมาขอพระราชทานอภัยโทษกับพระเจ้าแสนเมืองมาพร้อมนำพุทธสิหิงค์ที่ได้จากเมืองกำแพงเพชรมาถวายให้ด้วย พระเจ้าแสนเมืองมาจึงให้กลับไปครองเมืองเชียงรายตามเดิม ซึ่งพระเจ้าพรหมขอยืมไปจำลองแบบที่เชียงรายก่อนแล้วนำมาคืน พระเจ้าแสนเมืองมาโปรดให้นำพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานที่วัดสวนดอก(วัดบุพผารามเชียงใหม่) แต่ติดขัดที่ตลาดรีเชียงจะชักลากจูงอย่างไรก็ไม่ไป จึงโปรดให้สร้างพระอารามไว้ที่นั่นซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า วัดลีเชียงพระ ต่อมาเรียกกันว่า          วัดพระสิงห์ในปัจจุบัน

          เรื่องราวพระพุทธสิหิงค์ปรากฏอีกครั้งในสมัยพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ยกกองทัพมาตีเชียงใหม่ พระเจ้าแสนเมืองมารักษาเมืองไว้ไม่ได้หนีไปเมืองอังวะ พระนารายณ์ได้นำพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลายาวนานถึง 106 ปี ต่อมาปีพ.ศ.2310 ไทยแก่กรุงแก่พม่า ได้นำกองทัพเชียงใหม่รวมเข้ากับกองทัพพม่า ชาวเชียงใหม่เห็นพระพุทธสิหิงค์ได้อัญเชิญกลับไปเชียงใหม่อีกครั้งพ.ศ.2338 กองทัพเชียงใหม่เป็นอิสระจากกองทัพพม่าเข้ารวมกับกองทัพไทยกลาง พระเจ้ากาวิละผู้ครองเมืองเชียงใหม่ได้นำหนังสือขอกองทัพจากกรุงเทพฯฯฯ พระบาสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่1 ได้มอบหมายให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทยกกองทัพมาช่วยรบที่เชียงใหม่ จนตีทัพพม่าและทรงเห็นพระพุทธสิหิงค์ทรงดำริว่าพระพุทธสิหิงค์อยู่คู่กับกรุงอยุธยามาช้านานแล้ว จึงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับกรุงเทพฯฯฯพร้อมทรงสร้างพระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นที่ประทับพระพุทธสิหิงค์นับแต่นั้นมา แต่เมื่อพระองค์ทิวงคตไม่มีใครปฏิบัติบูชา พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้พระอนุชาคือสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวอัญเชิญพระพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานไว้ ณ ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ตราบเท่าทุกวันนี้(สงวน โชติสุขรัตน์ : 2552, 527-528)

              จากเอกสารตำนานนั้นแตกต่างกันบ้างเรื่องปาฏิหาริย์เช่นรายละเอียดของเหตุการณ์ซึ่งบ้างก็ว่าท้าวมหาพรหมเป็นพุทธมิตรกับเจ้าเมืองกำแพงเพชร บ้างก็ว่าท้าวมหาพรหมมาล้อมตีแล้วชิงพระพุทธสิหิงค์ไปแสดงให้เห็นว่าท้าวมหาพรหมเจ้าเมืองเชียงรายเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์แล้วนำไปจำลองแบบที่เกาะดอนแท่น เมืองเชียงแสน มีฉลองสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อท้าวมหาพรหมสิ้นพระชนม์     พระเจ้าแสนเมืองมาจึงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเชียงรายมายังเมืองเชียงใหม่ และประดิษฐานยังวัดเชียงพระ ภายหลังเรียกว่าวัดพระสิงห์ ตามนามพระพุทธรูปที่นิยมเรียกกันในล้านนา ถือได้ว่าพระพุทธสิหิงค์ (วัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่) และการที่ท้าวมหาพรหมถวายพระพุทธสิหิงค์แก่พระเจ้าแสนเมืองมาเพื่อเป็นการไถ่โทษจนได้กลับไปเป็นเจ้าเมืองเชียงรายนั้นเป็นเรื่องการเมือง เพื่อการสร้างบุญบารมีขึ้นใหม่และการเรียกศรัทธาประชาชน และโดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือโดยผ่านพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อย่างพระพุทธสิหิงค์ซึ่งราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20  มีการสร้างพระพุทธรูปแบบพระพุทธสิหิงค์แบบขัดสมาธิเพชรอยู่และพบหลักฐานคือพบพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรองค์หนึ่งที่วัดพระเจ้าเม็งราย มีจารึกกล่าวนามว่า “พระพุทธสิหิงค์” จารึกระบุ      ปี พ.ศ. 2013 พระพุทธสิหิงค์ หรือที่นิยมเรียกว่า “พระสิงห์” คงได้ความนิยมในการสร้างช่วงเวลานี้เองและในการเรียกชื่อ “พระสิงห์” อันเป็นที่มาของพระพุทธรูปในกลุ่มนี้ จากการที่ได้พบพระพุทธรูปในกลุ่มขัดสมาธิเพชรในล้านนา ซึ่งเป็นสายวิวัฒนาการมาจากศิลปะปาละและพุกาม ความเชื่อเรื่องพระพุทธสิหิงค์คือพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรแบบล้านนานี้เองที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญทำให้เกิดการสร้างพระพุทธรูปแบบนี้อย่างแพร่หลายไปยังแหล่งอื่นๆ และอาจกล่าวได้อีกว่าพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรเป็นพระพุทธสิหิงค์ได้ทุกองค์ โดยสร้างขึ้นตามตำนานและแตกต่างกันออกไปตามฝีมือช่างในแต่ละท้องถิ่น

              ในส่วนที่นำเรื่องศิลปกรรมไปเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์การเมืองตามแนวคิดของ              พิเศษ เจียจันทร์พงษ์[1] เสนอว่าการที่สมเด็จพระราชวังบวรฯ ทรงเลือกพระพุทธสิหิงค์ที่เป็นพระพุทธรูปแบบขัดสมาธิราบมานั้นเพื่อต้องการให้เห็นความแตกต่างจากงานศิลปกรรมของพม่าที่นิยมสร้างพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร อันแสดงให้เห็นถึงอำนาจทางการเมืองของพม่าด้วย[2] ความแตกต่างกันตรงเนื้อหาเรื่องการประดิษฐานของพระพุทธสิหิงค์ทำให้เห็นถึงประวัติพระศาสนาอิทธิพลนิกายสิงหลที่มีต่อล้านนา ซึ่งในช่วงนั้นเชียงใหม่หมู่สงฆ์ได้เกิดความแตกแยกเป็น 3 นิกายคือ นิกายพื้นเมือง(นิกายดั้งเดิม) ที่ได้รับอิทธิพลมาจาก   หริภุญชัย(ลำพูน) นิกายรามัญที่ได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาแบบลังกา ซึ่งพระสุมนเถระพระภิกษุชาวสุโขทัยนำเข้ามาและนิกายสิงหลเป็นนิกายที่มีพระสงฆ์จากไทยเดินทางไปศึกษาจากลังกาโดยตรง ต่อมาได้รับการยอมรับของชาวล้านนาและบรรดาเจ้านายชั้นสูงในราชวงศ์

 

บรรณานุกรม

ก. หนังสือ

ต.อมาตยกุล. เมืองเหนือและเมืองใต้. พระนคร : แพร่พิทยา. 2513.

ศักดิ์ชาย สายสิงห์.. ศิลปะเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯฯฯฯ : กรมศิลปากร. 2551.

สงวน โชติสุขรัตน์. ตำนานเมืองเหนือ พิมพ์ครั้งที่ 4. นนทบุรี : ศรีปัญญา. 2552.

สรัสวดี อ๋องสกุล ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 9 กรุงเทพฯฯฯฯ: อมรินทร์. 2555.

 

ข.งานวิจัย 

จริศักดิ์ เดชวงศ์ญา. วัดพระสิงห์: ศูนย์กลางพุทธศาสนาแห่งหนึ่งในล้านนาศึกษาจากโบราณวัตถุสถาน. ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 2535.

พระครูสุธีสุตสุนทรดร.ฤทธิชัย แกมนาคและ นางสุภัชชา พันเลิศพาณิชย์. รายงานการวิจัยเรื่องการวิเคราะห์เนื้อหาเกี่ยวกับสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์. สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2556.

ประพันธ์ กุลวินิจฉัย.วิเคราะห์เรื่องพระพุทธรูปในฐานะปูชนียวัตถุของชาวพุทธ. รายงานการวิจัยคณะมนุษยศาสตร์. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2555.

 

ค.วารสาร

ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ผศ.ดร.. พระพุทธสิหิงค์ คือพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในศิลปะล้านนา” ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ธันวาคม 2547.


หมายเลขบันทึก: 634470เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2017 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2017 22:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท