“ ชาวนนทรีรวมใจประดิษฐ์ดอกไม้จันท์นถวายพ่อหลวง ร.9 “/เตือนใจ เจริญพงษ์


ขอนำเนื้อหา เรื่อง "ชาวนนทรีรวมใจประดิษฐ์ดอกไม้จันท์นถวายพ่อหลวง ร.9 “ 

จากวารสารนนทรี ฉบับที่1 ปี2560 เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม  

มาเผยแพร่ทาง blog GotoKnow อีกครั้งดังนี้คะ

                     ตามที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 

ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดกิจกรรม “ โครงการจิตอาสาประดิษฐ์ดอกไม้จันท์นพระราชทาน “

ขึ้นเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช นั้น 

ด้วยทรงพระราชอนุสรณ์ถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และทรงเข้าพระทัยถึงความรัก 

ความผูกพัน และความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยทีมีต่อล้นเกล้าล้นกระหม่อมพระองค์นี้อย่างหาที่สุดมิได้  

สืบเนื่องจากพระองค์ทรงขจัดปัดเป่าทุกข์ยากของราษฎร และทรงวางแนวทางสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน 

อีกทั้งทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก มีผลทำให้พระเกียรติยศของพระองค์เลื่องลือไปทั่วโลก 

สำหรับการประดิษฐ์ดอกไม้จันท์นในโครงการนี้จะมีครูผู้ฝึกสอนจากวิทยาลัยในวังหญิง และวิทยาลัยในวังชาย 

รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายพระราชฐานชั้นใน ช่วยสอนการประดิษฐ์ดอกไม้จันท์นแก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน 

และประชาชนทั่วไป

          ในการนี้ ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ส.มก.) 

ได้มอบหมายให้ ส.มก.เป็นศูนย์กลางของชาวนนทรี ทั้งศิษย์เก่าและนิสิตปัจจุปัน 

รวมทั้งบุคคลากรทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อรวมใจประดิษฐ์ดอกไม้จันท์นถวายพ่อหลวง ร.9 อย่างเป็นทางการ

 เพราะต่างซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และประชาชนอย่างหาที่สุดมิได้ 

  และเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560  ส.มก. ได้เปิด “ โครงการชาวนนทรีรวมใจประดิษฐ์ดอกไม้จันท์นถวายพ่อหลวง ร.9 “ 

 อย่างเป็นทางการ โดยมี นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรีในรัชกาลที่9 เป็นประธาน  

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกรนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  นายก ส.มก. 

 นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

นอ.หญิงสุวัฒนา ลิ้มแหลมทอง

 และพี่- เพื่อน-น้อง ชาวนนทรีมาร่วมงานอย่างคับคั่ง

              ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี นายก ส.มก. เปิดเผยว่  เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดประชุมสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า

        “ ผมปลื้มใจมากที่ได้ร่วมงานประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ของ ส.มก.  และได้ร่วมทำดอกไม้จันท์นด้วย “ 

 นอกจากนี้นายก ส.มก.ได้รายงานสรุปในการประชุมสภามหาลัยถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของการร่วมแรง ร่วมใจ100 วัน 100,000 ดอก 

พร้อมทั้งขอให้นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีส่วนร่วมในเรื่องนี้ด้วย ชึ่งปัจจุบันมีนิสิตอยู่ประมาณ 70,000 คน

 และเจ้าหน้าที่ใน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อีก 12,000 คน เพื่อจะได้ช่วยกันคนละ 1 ดอก ร่วมกับ ส.มก. ให้ได้ครบ 100,000 ดอก

( ยิ่งมากยิ่งดี) ขอความร่วมมือทุกคณะและทุกหน่วยงานใน มก.ด้วย

สำหรับความเป็นมาและธรรมเนียมการใช้ดอกไม้จันท์นนั้น กล่าวกันว่า คนไทยใช้ดอกไม้จันท์นในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย

มาช้านานถึง  4  สมัย คือ สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งรูปแบบของแต่ละสมัยก็แตกต่างกันไป

         “  ดอกไม้จันทน์ “ ใช้ในการจัดทำพิธีฌาปนกิจศพ มีธรรมเนียมการใช้ดอกไม้จันทน์ควบคู่กับธูปทองและเทียนทอง 

เพราะเชื่อว่ากลิ่นหอมของดอกไม้จันทน์จะนำดวงวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปสู่สรวงสวรรค์ แต่ธรรมเนียมการใช้ดอกไม้จันทน์

จะใช้เฉพาะผู้มีตระกูลสูงเท่านั้น สามัญชนจะใช้ไม่ได้ เพราะดอกไม้จันทน์เป็นของสูง เป็นของต้องห้าม และมีราคาแพง 

  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 พบว่าดอกไม้จันทน์เริ่มหายากขึ้น จึงมีผู้คิดค้นประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์เทียม 

โดยการนำไม้จันทน์มาทำเป็นแผ่นบาง ๆ นำมาเข้ารูปลักษณะคล้ายดอกไม้ชนิดต่าง ๆ แต่รวมเรียกว่า “ดอกไม้จันทน์ “ 

ใช้ในงานพิธีหลวง ต่อมาจึงแผ่ขยายการใช้ดอกไม้จันทน์เทียมในหมู่สามัญชน นับแต่นั้นมาเริ่มมีธรรมเนียมการใช้ในหมู่สามัญชน 

โดยแขกที่มาร่วมงานจะนำดอกไม้จันทน์ไปวางไว้ที่พานหน้าโลงศพ เป็นการเผาหลอกก่อน 

แล้วจึงนำดอกไม้จันทน์ทั้งหมดไปใช้ในการเผาจริงอีกครั้ง ต่อมาไม้จันทน์ที่ใช้ทำดอกไม้จันทน์หายากจนแทบหาไม่ได้เลย 

จึงเปลี่ยนไปใช้วัสดุอย่างอื่นแทน เพราะหาง่ายและมีราคาถูก แต่แก่นแท้ของธรรมเนียมการใช้ดอกไม้จันทน์ก็ยังไม่เปลี่ยนไป

ดอกไม้จันทน์แบบทั่วไปที่นิยมใช้กันมาเป็นแบบธรรมดาส่วนใหญ่ทำเป็นรูปดอกกุหลาบ ดอกแก้ว มีขั้นตอนการทำที่ไม่ยุ่งยาก 

และมีสีสันตายตัวคือ สีขาว สีครีม หรือสีดำ แต่ในยุคปัจจุบันด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านที่สร้างสีสันสีต่าง ๆ ของดอกไม้จันทน์ 

ทำให้ดอกไม้จันทน์มีความแปลกในรูปแบบ สีสันก็เปลี่ยนไปด้วย ทำให้ทัศนคติของคนที่นำไปใช้มีความรู้สึกว่า 

การใช้ดอกไม้จันทน์เพื่อเป็นการเคารพ ระลึกถึงผู้ล่วงลับ ไม่มีบรรยากาศของความโศกเศร้าแต่อย่างเดียว

 

สำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ครั้งนี้มีการจัดทำดอกไม้ 7 ขนิด 

ซึ่งล้วนมีความหมายที่ลึกซึ้ง เพราะเป็น 7 ดอกไม้จันท์นพระราชทาน ถือเป็นสัญลักษณ์จากใจของเหล่าพสกนิกร

ที่ร่วมกันประดิษฐ์เพื่อถวายแด่องค๋พ่อหลวง ร.9 ประกอบด้วย

1.ดอกดารารัตน์ (Dadfodil)

      เป็นดอกไม้ทรงโปรดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และพระราชทานให้กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

 พระบรมราชินีนาถอยู่เสมอ เมื่อครั้งยังทรงศึกษาและประทับอยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ดอกดารารัตน์นิยมใช้

มอบให้แก่บุคคลอันเป็นที่รัก เพื่อบอกว่ามิเคยหวังสิ่งใดตอบแทน และยังหมายถึง เกียรติยศ ความกล้าหาญ สัญลักษณ์ของความหวัง

 นอกจากนี้ดอกดารารัตน์ ยังมีความหมายที่ลึกซึ้ง ดารา หมายถึง ดวงดาว คือสิ่งที่อยู่สูงสุด คำว่ารัตน์ หมายถึง แก้ว หรือสิ่งที่มีค่า

2.ดอกกุหลาบ

      เป็นสัญลักษณ์แห่งความรักอันบริสุทธิ์ด้วยอานุภาพแห่งความจงรักภักดีของทวยราษฎร์ที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในองค์

พระประมุขของชาติ เพื่อถวายความอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้เป็นกษัตริย์ที่รักยิ่ง

ของปวงชนชาวไทย

3.ดอกพุตตาน

      เป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคง และความอุดมสมบูรณ์ ชาวจีนเชื่อว่าเป็นไม้มงคล เพราะดอกพุตตานเปลี่ยนสีได้ถึง 3 สี 

ภายในวันเดียวกัน ซึ่งเปรียบเสมือนวัฎจักรของชีวิตมนุษย์ที่เริ่มต้นเปรียบเหมือนเด็กที่เป็นผ้าขาว เติบโตขึ้นพร้อมกับสีสัน

ที่แต่งแต้มขึ้นมาจนกระทั่งสูงอายุมากขึ้น พร้อมกับสีที่เข้มข้น จนกระทั่งร่วงโรยจากไป เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ

และเป็นพระราชกุศลอุทิศถวายครั้งสุดท้ายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

4.ดอกลิลลี่

      เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงความรักที่บริสุทธิ์เช่นเดียวกับดอกกุหลาบสีขาว อีกทั้งดอกลิลลี่สีขาวยังสื่อถึงความซื่อสัตย์

และเทิดทูนด้วยอานุภาพแห่งความจงรักภักดีของพสกนิกรชาวไทยที่มีต่อพระบาทสทเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

และความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

5.ดอกกล้วยไม้

        เป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคง ความรัก และความสง่างาม สมดั่งพระมหากรุณาธิคุณในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ

นานัปการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชให้ขจรขจายไปทั้งแผ่นดินไทยตลอดถึงนานาประเทศทั่วโลก

6.ดอกชบาทิพย์

       เป็นดอกไม้ที่สร้าสรรค์ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อสื่อถึงการดับสูญและความเป็นทิพย์ เพื่อเป็นการถวายความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย

แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงสถิตย์ในดวงใจของปวงประชาราษฎร์ชั่วนิรันด์

7.ดอกชบาหนู

    เปรียบเสมือนความอาลัยในการสูญเสียของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า เป็นสัญลักษณ์ที่แทนดวงใจไทยทุกดวง

ในการน้อมส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

## การทำกิจกรรมประดิษฐ์ดอกไม้จันท์นครั้งนี้ นายก ส.มก. และ นอ.หญิง สุวัฒนา ลิ้มแหลมทอง ผู้บริหาร 

คณาจารย์จากคณะต่างๆและนิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์  อีกทั้งสมาชิกนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สาขาจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ  รวมทั้งพี่น้องชาวนนทรีหลายรุ่นต่างอุทิศเวลา ร่วมแรง ร่วมใจประดิษฐ์ดอกไม้จันท์นหมุนเวียนกันทุกวัน

เพื่อน้อมถวายและส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยหลักธรรมทำให้แผ่นดินไทยร่มเย็นเป็นสุข อีกทั้งพระองค์ทรงขจัดความทุกข์ยากของราษฎร

ของพระองค์ได้อย่างแท้จริง จนได้รับความจงรักภักดีอย่างแน่นแฟ้นจากชาวไทยและชาวต่างประเทศมาโดยตลอด

        อนึ่งงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 

กำลังจะมีขึ้นในช่วงเดือน ต.ค. 2560 ตามที่คณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ

 ได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ โดยพระราชพิธีดังกล่าวจะแบ่งเป็น 5 วัน ดังนี้

 วันที่ 1 พระราชกุศลออกพระเมรุ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

วันที่ 2 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

วันที่ 3 เก็บพระบรมอัฐิ ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

วันที่ 4 งานพระราชกุศล พระบรมอัฐิ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

และวันที่ 5 เลี้ยงพระภิกษุ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พร้อมเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานพระวิมาน

บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

สำหรับภาพรวมการดำเนินการในส่วนภูมิภาค ทุกจังหวัดได้เตรียมจัดทำซุ้มขนาดใหญ่ 76 ซุ้ม 

และซุ้มขนาดกลางทุกอำเภอ 802 ซุ้มส่วน ในต่างประเทศจะมีซุ้มขนาดกลางที่สถานเอกอัครราชทูตไทย

และสถานกงสุล 96 ซุ้ม และซุ้มขนาดเล็กตามวัดไทย 539 ซุ้ม



ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท