​ไปเรียนรู้การบริหารการเปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัย


ที่สุดยอด strategic thinking ก็คือ ช่วงเช้าวันที่ ๒๗ เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. นพ. นิรันดร์ จัดให้มีการประชุมเชิงปรึกษาหารือระบบการจัดการ เพื่อบรรลุเป้าหมาย การเปลี่ยนแปลงระบบและกลไก ระดับสถาบัน ให้เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้แบบ Transformative Learning โดยระบุประเด็นหารือไว้ ๖ ประเด็น

ไปเรียนรู้การบริหารการเปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัย

วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๐ ผมไปจังหวัดอุบลราชธานี    เพื่อร่วม “การสัมมนาวิชาการ การปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้แบบ Transformative Learning สำหรับบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ ๒๑”  ที่จัดโดยวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี   

จึงได้ไปเรียนรู้วิธีบริหารการเปลี่ยนแปลงของท่านคณบดี ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข คือ นพ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ  ผู้เคยเป็นทั้ง สว. และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ    เห็นแล้วผมบอกตัวเองว่า นี่คือรูปแบบการบริหารส่วนงานในมหาวิทยาลัยที่เราต้องการ ... บริหารการเปลี่ยนแปลง ทั้งในภาพใหญ่ และภาพรายละเอียด    

นพ. นิรันดร์ ไม่ใช่คนทางการศึกษา     แต่เมื่อมารับหน้าที่คณบดีก็ศึกษาหลักการและเป้าหมายของการ จัดการศึกษาสำหรับบุคลากรสุขภาพอย่างรวดเร็ว    เมื่อเข้าใจแนวทาง HPER สำหรับศตวรรษที่ ๒๑    ก็ดำเนิน ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทันที   

โดยจัดการสัมมนาครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๐ เชิญท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง สาธารณสุข ไปให้นโยบายการพัฒนาระบบสุขภาพ เชื่อมโยงไปยังการปรับเปลี่ยนหลักสูตรและการจัดการศึกษา   ซึ่งผมเล่าไว้ ที่นี่    เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ก็เพื่อให้ได้ภาคีร่วมมือจากหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่  

นพ. นิรันดร์ติดต่อผม ขอวันที่ผมว่างไปร่วมการสัมนาครั้งที่ ๒    ก็ได้วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๐   โดยการสัมมนามี ตั้งแต่วันที่ ๒๗ ถึง ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๐    เป้าหมายหลักก็เพื่อให้ได้รับการสนับสนุน เชิงสถาบันจากท่านอธิการบดี มอบ. และความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในพื้นที่     รวมทั้งมีการประชุม เชิงปฏิบัติการ Curriculum Design ด้านต่างๆ  

ที่สุดยอด strategic thinking ก็คือ ช่วงเช้าวันที่ ๒๗ เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.    นพ. นิรันดร์ จัดให้มีการประชุมเชิงปรึกษาหารือระบบการจัดการ เพื่อบรรลุเป้าหมาย การเปลี่ยนแปลงระบบและกลไก ระดับสถาบัน ให้เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้แบบ Transformative Learning    โดยระบุประเด็นหารือไว้ ๖ ประเด็นคือ

  • โครงสร้างหลักสูตร
  • ยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาที่เหมาะสม
  • การพัฒนาอาจารย์
  • การจัดสรรทรัพยากร
  • การเงิน งบประมาณ และการบริหาร
  • การประกันคุณภาพการศึกษา

ผู้เข้าร่วมประชุมนำโดย รศ. ดร. นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี   คณบดีของคณะด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ๔ คณะ   รวมทั้งผู้บริหารระดับคณบดีของคณะด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ของมหาวิทยาลัยใกล้เคียง อีก ๒ มหาวิทยาลัย    และผู้บริหารระดับรองๆ ลงไป รวมผู้เข้าร่วมประชุมราวๆ ๓๐ คน    ประชุมกันเป็นโต๊ะกลม    ฝ่ายเยือนได้แก่ ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์, ศ. พญ. วณิชา ชื่นกองแก้ว, นพ. อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล, รศ. พญ. จิตเกษม สุวรรณรัฐ  และผม  

การประชุมดำเนินไปแบบที่ทาง วิทยาลัยแพทยศาสตร์ฯ เล่าเป้าหมายและแผนยุทธศาสตร์ การปรับเปลี่ยนหลักสูตรและการเรียนการสอนเพื่อสนองสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป    แล้วคณะผู้ไปเยือน เล่าการริเริ่มดำเนินการในมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น จุฬาฯ  มหิดล  สงขลานครินทร์  นเรศวร  แม่ฟ้าหลวง  มทส. กับ รพ. มหาราชนครราชสีมา  มหาสารคาม  เป็นต้น  

การจัดการประชุมสองชั่วโมงนี้ จึงเป็นการประชุมทำความเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยจะต้องเปลี่ยนแปลง เชิงระบบ เชิงกติกา และเชิงการจัดสรรทรัพยกร อย่างไรบ้าง ในภาพใหญ่ของมหาวิทยาลัย     เพื่อหนุนการ เปลี่ยนแปลงด้านการผลิตบัณฑิตสาขาวิชาชีพสุขภาพ ให้สอดคล้องกับระบบสุขภาพในปัจจุบัน  

เพิ่มเติม ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๐

มีคนมาบอกผมในภายหลังว่า การจัดการการเปลี่ยนแปลงอย่างมียุทธศาสตร์และขั้นตอนนี้    พบความท้าทายสำคัญที่ รพ. สรรพสิทธิประสงค์  ซึ่งเป็นสถานร่วมมือฝึกนักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิก     ที่อาจารย์แพทย์ที่นั่นยังไม่เข้าใจความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนวิธีจัดการเรียนการสอน    ซึ่งในความเห็นของผม ผู้บริหารวิทยาลัยแพทยศาสตร์ฯ และผู้อำนวยการโรงพยาบาล รวมทั้งทีมแกนนำ ต้องร่วมกันวางยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงที่โรงพยาบาลด้วย 

วิจารณ์ พานิช

๒๘ มิ.ย. ๖๐  ปรับปรุง ๑๓ ส.ค. ๖๐

 

หมายเลขบันทึก: 633415เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2017 05:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 สิงหาคม 2017 05:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท