๕๘๗. การอ่าน คิด วิเคราะห์..จะสำเร็จได้..ก็เพราะ”ครู”


ข้อคำถามแบบอัตนัย..จะฝึกให้นักเรียนคิดแล้วเขียนตอบ ฝึกการลำดับความ เห็นพัฒนาการของลายมือ ทำงานอย่างมีสติ รอบคอบ.ส่วนคำตอบ ก็(อาจจะ)ไม่ผิดทั้งหมด มีส่วนถูกบ้าง จะช่วยสร้างกำลังใจให้เด็กอยากเรียนรู้ภาษาไทย..

ผมทำเรื่องนี้มาหลายปี..จึงกล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่า “การอ่าน คิด วิเคราะห์..จะสำเร็จได้ ก็เพราะ”ครู” ที่โรงเรียนไม่มีปัญหาเด็กอ่านไม่คล่อง หรืออ่านไม่ได้ แต่ปัญหาที่พบก็คือ..อ่านแล้ววิเคราะห์ไม่เป็น..จับประเด็นไม่ถูก...

นำเรื่องนี้มาเขียน ก็ใช่ว่าจะทำสำเร็จแล้ว..ยังต้องดำเนินการต่อไป และแน่ใจว่า..งานนี้ต้องใช้เวลา  ทำในทุกระดับชั้น และทำอย่างต่อเนื่อง..อย่างไม่มีเงื่อนไข..

เมื่อหลายปีก่อน..การอ่าน คิด วิเคราะห์ ยังไม่ได้พูดถึงในวงกว้าง..ต่อมานโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดไว้เป็นวาระแห่งชาติแล้ว ที่จะกำกับ ติดตามและประเมินผลให้เด็กไทยทุกคนอ่านคล่องเขียนคล่อง เมื่อจบ ป.๓....

ส่วนการอ่าน คิด วิเคราะห์..เริ่มอย่างเข้มข้นตั้งแต่ชั้น ป.๔  แต่ละปีที่เคยทดสอบการอ่านฯจากเครื่องมือของ สพฐ.ศธ.ปีละ ๑- ๒ ครั้ง...แต่ปีการศึกษานี้กำหนดการประเมินถึง ๔ ครั้ง...จึงไม่ใช่เรื่องธรรมดาเสียแล้ว

ผมบอกนักเรียนชั้น ป.๖ ที่ผมสอนมาตลอดว่า..การอ่านเป็นทักษะ..ต้องค่อยๆฝึกและศึกษาเรียนรู้ นอกจากจะเกิดประโยชน์ต่อการทดสอบระดับชาติโอเน็ตแล้ว ยังสามารถนำไปใช้เรียนรู้ตลอดชีวิต..

ปัญหาระดับชาติ..ณ ตอนนี้ นอกจากเด็กไทยอ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่องมากขึ้นแล้ว ยังพบว่า..อ่านแล้วคิดไม่เป็น สื่อสารไม่ได้..ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมาก อาจตกเป็นเครื่องมือ ของการโฆษณาชวนเชื่อ..

ครูหลายท่าน..อาจฝึกทักษะการอ่าน คิด วิเคราะห์ ด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย จากแบบทดสอบสำเร็จรูป จากข้อสอบเก่าๆ ซึ่งโดยมากจะเป็นแบบปรนัย แบบเลือกตอบ..

ผมคิดว่า..ถ้าครูคิดเครื่องมือหรือแบบฝึกด้วยตัวครูเองจะเป็นการดีมากกว่า อาจไม่ดีที่สุดก็ไม่เป็นไร เพราะครูจะเป็นผู้ใกล้ชิดเด็ก ทราบปัญหาฯ สามารถกำหนดความยากง่ายได้ และที่สำคัญ..ควรใช้เครื่องมือแบบอัตนัย หรือปลายเปิด..

ข้อคำถามแบบอัตนัย..จะฝึกให้นักเรียนคิดแล้วเขียนตอบ ฝึกการลำดับความ เห็นพัฒนาการของลายมือ ทำงานอย่างมีสติ รอบคอบ.ส่วนคำตอบ ก็(อาจจะ)ไม่ผิดทั้งหมด มีส่วนถูกบ้าง จะช่วยสร้างกำลังใจให้เด็กอยากเรียนรู้ภาษาไทย..

ไม่เหมือนข้อสอบแบบเลือกตอบแบบปรนัย..ผิดแล้วผิดเลย..ค่าคะแนนก็วัดอะไรได้ไม่มาก นอกจากจะทำให้นักเรียนเสียความรู้สึก และไม่สนุกในการเรียนแล้ว ยังบั่นทอนคุณภาพในระยะยาวด้วย...

อย่างไรก็ตาม..ข้อสอบแบบเขียนตอบ ไม่ได้ฝึกเด็กอย่างเดียว ฝึกครูด้วยเหมือนกัน..ฝึกตั้งแต่การออกแบบเครื่องมือ ฝึกตั้งคำถาม ฝึกความอดทนที่จะอ่านและฟังคำตอบของนักเรียนแต่ละคน..

หลายวันมาแล้วที่ผมฝึกแบบนี้ เด็ก ป.๖ เริ่มคุ้นชินกับข้อคำถามใหม่ๆ..บทอ่านใหม่ๆในแต่ละวัน..เขียนตอบมากขึ้น และ “คิดลึก”มากขึ้น เพราะรู้ว่าต้องคิดในเชิงเปรียบเทียบ ที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากกว่าบทอ่านทั่วไป..

ผมใช้บทอ่านที่เป็นบท”ร้อยกรอง” ให้เด็กอ่าน คิด และวิเคราะห์ แล้วตอบคำถาม นอกจากเด็กจะอ่านคำสัมผัสคล้องจองที่ไพเราะแล้ว ยังได้เนื้อหาและอรรถรส ตลอดจนได้ฝึกการเข้าถึง”ความยาก”อย่างมีกระบวนการด้วย....

ผมขอยกตัวอย่างบทสำหรับอ่าน..ที่ผมใช้สอน..ซึ่งนำมาจากหนังสือร้อยกรอง..ที่ผมอ่านเป็นประจำ ดังนี้...

ฉันติดคุกครั้งนี้ชั่วชีวิต                   เพราะทำผิดคิดรักตัวอักษร

ถูกคุมขังตั้งแต่เช้าจนเข้านอน        กราบวิงวอนโปรดอย่ามาประกัน

คุกหนังสือคือคุกสุขและโศก        คุกหนังสือคือโลกแห่งความฝัน

คุกหนังสือคือดนตรีชุบชีวัน          คุกหนังสือคือคำมั่น”ฉันรักเธอ”

จงตอบคำถาม...

๑       “หนังสือ”  เปรียบเหมือนสิ่งใด

๒     การติดคุกครั้งนี้ เหตุใดผู้เขียนจึงไม่อยากให้ประกันตัว

๓     “ฉันติดคุก..ชั่วชีวิต” หมายความว่าอย่างไร

๔     “ฉันรักเธอ” เธอ คือ ใคร

๕     จากการอ่านบทร้อยกรองนี้..ขอให้นักเรียนตั้งชื่อเรื่องตามความรู้สึกนึกคิดของนักเรียน........

นับเป็นการฝึก..จากบทอ่านและข้อคำถามง่ายๆ ที่ช่วยกระตุ้นความสนใจให้นักเรียนใฝ่เรียนใฝ่รู้..เวลาเฉลย ก็ให้นักเรียนตอบทีละคนและให้โอกาส อภิปรายร่วมกัน..

วันนี้..ผมให้บทอ่านที่เป็นบทร้อยกรองอีก..เช่นเดียวกัน..

เป็นชาวนาหน้าดำกรำแดดฝน       ต้องดิ้นรนสู้ไปไม่หวาดหวั่น

ผลิตข้าวเลี้ยงชีพชนคนทุกชั้น       แม้จะถูกเย้ยหยันงานที่ทำ

งานทุกอย่างต่างมีศักดิ์ศรีอยู่          อย่าลบหลู่งานนั้นว่าชั้นต่ำ

แม้ผืนนายังอาศัยดินไถดำ              ข้าวทุกคำต้องอาศัยคนไถนา...

จงตอบคำถาม...

๑.     จากการอ่านบทร้อยกรองนี้ นักเรียนมีความรู้สึกอย่างไร..

๒.   จงบอก “ปัญหา”ของ ชาวนาไทย ในปัจจุบัน

๓.   “ชาวนา"ควรปฏิบัติอย่างไร ให้สอดคล้องกับคำว่า “พอเพียง”

๔.   คำใดเป็น”คำซ้อน” หรือที่เรียกว่า”สัมผัสพยัญชนะ”

๕.   จงตั้งขื่อเรื่องบทร้อยกรองนี้....

ผม..ให้นักเรียนไปอ่าน คิดวิเคราะห์..ให้เวลา ๓๐ นาที..ตอนนี้ขอไปต้อนรับคณะอาจารย์จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จ.สุพรรณบุรี ที่มาเยี่ยมชมโรงเรียน..ครับ

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๘  สิงหาคม  ๒๕๖๐

 








หมายเลขบันทึก: 632974เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2017 21:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 สิงหาคม 2017 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท