วจส.คืออะไร


วิทยาลัยการจัดการทางสังคม ::สืบสานภูมิปัญญา พัฒนาการจัดการ เพื่อสังคม::

จากการที่ได้ค้นคว้าแหล่งข้อมูลการจัดการความรู้ของประเทศไทย ก็ได้พบแหล่งที่น่าสนใจมากมาย แต่ที่มีความน่าสนใจที่น่าจะเป็นประโยชน์ก็น่าจะเป็นหน่วยงานนี้ ก็คือ

วิทยาลัยการจัดการทางสังคม        
 วจส.                       

เบื้องหลังความเป็นมา
คำสำคัญคำหนึ่งในบริบทของวิชาการว่าด้วยเรื่องการแสวงหาความรู้คือคำว่า “ญาณวิทยา” (Epistemology) ซึ่งโดยความหมายแปลว่า “ทฤษฎีของความรู้” (Theory of Knowledge) ส่วนในเชิงเนื้อหานั้นข้อสนทนาของญาณวิทยาก็คือ การสนทนาภายใต้คำถามที่ว่า “ความรู้แต่ละชุดเกิดขึ้นมาได้อย่างไร อิงอยู่กับปรัชญาหรือโลกทัศน์แบบใด”
       ปัญหาสำคัญเมื่อกล่าวถึงคำว่า “ความรู้” ก็คือการเข้าใจว่าความรู้ดำรงตนอยู่อย่างไร้ปัจจัยกำหนด (neutral) ส่งผลให้ผู้คนไม่ตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปของความรู้แต่ละอย่าง และยอมรับความรู้นั้นๆ ในฐานะที่เป็นข้อสรุปอันไม่ต้องสงสัย แต่ในการศึกษาด้านญาณวิทยานั้น เป็นการศึกษาที่ตั้งอยู่บนความคิดที่ว่า ความรู้แต่ละอย่างถูกสร้างขึ้นภายใต้ปรัชญาความเชื่อ และโลกทัศน์ของผู้สร้าง ดังนั้น ผู้สร้างความรู้ที่ยืนอยู่บนปรัชญาคนละชุด ย่อมผลิตความรู้ในเรื่องเดียวกันออกมาแตกต่างกัน
       ชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นก็มีกระบวนการสร้างความรู้เพื่อใช้ในชุมชน ทั้งในแง่การแก้ปัญหาเชิงปฏิบัติในระบบการผลิตทางการเกษตร การจัดการทรัพยากร การจัดการความสัมพันธ์ของคน ฯลฯ ทั้งนี้ความรู้ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นภายใต้บริบทเฉพาะ (situated knowledge) เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์เฉพาะของแต่ละชุมชน ดังนั้นกระบวนการสร้างความรู้ของชุมชนจึงอิงอยู่กับสภาพการณ์ของชุมชน และโลกทัศน์ของคนในชุมชนนั้นๆ กระบวนการเช่นนี้แตกต่างจากกระบวนการสร้างความรู้แบบรวมศูนย์ (centralised) ในระบบการศึกษาที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองปรัชญาว่าด้วยความเป็นรัฐ
       ในแง่การพัฒนาประเทศ รัฐได้ผลิตนโยบาย “กลาง” เพื่อใช้กับทุกชุมชนในประเทศ อย่างไรก็ดี บทเรียนของการพัฒนาที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่า นโยบายกลางไม่สามารถตอบสนองความจริงที่ว่าชุมชนแต่ละชุมชนมีสภาพที่แตกต่าง และมีปัญหาแตกต่างกันไป ด้วยเหตุนี้วิทยาลัยการจัดการทางสังคม จึงถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดการให้ องค์ความรู้ท้องถิ่นได้รับการยอมรับ และถูกนำไปใช้ทั้งในทางนโยบายและวิถีปฏิบัติ เพื่อสร้างสังคมแห่งดุลยภาพและเป็นสุข นั่นก็คือ วิทยาลัยการจัดการทางสังคมจะทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นเกิดกระบวนการวิเคราะห์ และสังเคราะห์องค์ความรู้ของตน รวมทั้งเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน ตลอดจนนำเสนอบทบาทในทางปฏิบัติขององค์ความรู้ดังกล่าวต่อสังคม เพื่อให้สังคมเกิดกระบวนการเรียนรู้องค์ความรู้ท้องถิ่นด้วยเช่นกัน
 

วิทยาลัยการจัดการทางสังคม
       การทำงานของวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) ที่ผ่านมานั้น ไม่ว่าโดยกรรมการหรือโดยความร่วมมือกับผู้อื่น ส่วนใหญ่คือ ‘การพัฒนาความรู้’ ซึ่งรวมถึงการค้นหาความรู้ การถอดความรู้ การสร้างความรู้ อย่างไรก็ตามการพัฒนาความรู้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้เท่านั้น
       คำว่า ‘การจัดการความรู้’ หมายถึง การจัดการหลายมิติ หลายองค์ประกอบที่เกี่ยวกับความรู้ เริ่มตั้งแต่การค้นหา การประมวล การเลือกสรร การปรุงแต่ง การเก็บรักษา การถ่ายทอด การเผยแพร่แลกเปลี่ยน การประยุกต์ และการยกระดับ เป็นต้น การจัดการความรู้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการทางสังคมที่หมายถึงการจัดการในหลายมิติ หลายองค์ประกอบที่เกี่ยวกับสังคม
       คำว่า ‘การเรียนรู้’ หมายถึง การที่จะเพิ่มความรู้ความเข้าใจและทักษะต่าง ๆ เพื่อให้สามารถทำและทำได้ดี การเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้ และเป็นมิติที่มีความสำคัญในตนเอง
       คำว่า ‘การจัดการทางสังคม’ ยังคู่กับคำว่า ‘การจัดการเพื่อสังคม’ ซึ่งหมายถึง การนำมิติทุกอย่างเข้าผสานรวมกันเพื่อประโยชน์ของสังคม อันเป็นฐานคิดสำคัญในการกำหนดแนวทางทำงานรวมถึงบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ ของ วจส. อีกด้วย
 

การจัดการทางสังคมมีหลายระดับ 
       ได้แก่ การจัดการเรียนรู้ในระดับครอบครัว การจัดการกลุ่ม การจัดการบริการชุมชนแบบบูรณาการ การจัดการเรียนรู้และการทำงานในระดับเครือข่าย ตลอดจนการจัดการขบวนการพัฒนาสังคม เป็นต้น
 

การจัดการทางสังคม แบ่งเป็น ๘ กลุ่ม ดังนี้ 
       ๑. การจัดการชีวิต ซึ่งรวมถึงการจัดการด้านสุขภาพอนามัย ชีวิต จิตใจ การวางแผนชีวิต การจัดการครอบครัว การพัฒนาครอบครัว การมีสัมมาอาชีวะ
       ๒. การจัดการกิจกรรม เช่น งานวัด การทำโครงการต่าง ๆ
       ๓. การจัดการความสัมพันธ์ ที่จะนำไปสู่ทุนทางสังคมและนำไปสู่การสมานฉันท์ เป็นความสัมพันธ์ที่ป้องกันความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นแบบทวิภาคี หรือพหุภาคี ล้วนเรียกว่าเป็นการจัดความสัมพันธ์ทั้งสิ้น
       ๔. การจัดการประชากร เริ่มตั้งแต่ในชุมชน สัดส่วนประชากรในชุมชน
       ๕. การจัดการองค์กร การจัดการบริหารองค์กรแบบมีส่วนร่วม ทำให้ทุกคนทำงานอย่างมีความสุขบนหลักธรรมาภิบาล
       ๖. การจัดการท้องถิ่น จะมีการจัดการอย่างไร ทำอย่างไรให้ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ชุมชน เกิดความสมบูรณ์พูนสุข การจัดการท้องถิ่นมีความหมายมากที่สุดในแง่ของการผสมผสานทุกอย่างเข้าด้วยกัน
       ๗. การจัดการความรู้ การค้นหา การเลือกสรร การจัดเก็บ การเผยแพร่ การยกระดับ สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญและมีประโยชน์มาก
       ๘. การจัดการภาวะผู้นำ และทักษะการบริหาร สังคมต้องมีผู้นำ มีนักบริหาร บางครั้งผู้นำและผู้บริหารเป็นคนคนเดียวกัน จัดการอย่างไรให้เกิดภาวะผู้นำ มีผู้นำที่ดีและมีทักษะ
 

กลุ่มเป้าหมายที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนา
       ได้แก่ ผู้นำชุมชน ชุมชน องค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชน ประชาสังคม 

กลุ่มกิจกรรมที่สำคัญของ วจส.
       ๑. การจัดการทางสังคม
       ๒. การจัดการความรู้
       ๓. การเรียนรู้
 
บทบาทของ วจส.
๑. สนับสนุนการสนับสนุนให้องค์กรชุมชนหรือองค์กรต่าง ๆ ได้ทำงานด้านการจัดการความรู้ และการจัดการทางสังคม 
๒. ประสาน ความร่วมมือก่อให้เกิดความเชื่อมโยงหลายฝ่าย ที่สำคัญคือประสานการจัดหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับกลุ่มเป้าหมาย ๕ กลุ่ม 
๓. ดำเนินการ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางที่ทำเรื่องการจัดการความรู้ นั่นหมายถึงจะต้องมีระบบข้อมูลที่ใส่ความรู้เข้าไปในลักษณะจัดการความรู้ที่เป็นประโยชน์ ต่อกลุ่มเป้าหมายและเป็นประโยชน์กับหน่วยงานอื่นที่อาจมีการจัดการความรู้ ถ้าสามารถประสานเชื่อมโยงได้จะเป็นระบบการจัดการความรู้ที่สมบูรณ์ที่สุด

รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์วิทยาลัยการจัดการความรู้

หมายเลขบันทึก: 63245เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2006 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท