การจัดการความรู้ฉบับชาวบ้าน


'ชุมชนเขาคราม' สร้างแผนแม่บทฯ แก้จน : การจัดการความรู้ฉบับชาวบ้าน
เรื่อง...กรเกษ ศิริบุญรอด
       จากตัวเมืองจังหวัดกระบี่ไปประมาณสิบกว่ากิโลเมตรเป็นที่ตั้งของตำบลเขาคราม ชุมชนเล็กๆ ที่ในอดีตคนในชุมชนเคยมีหนี้สินรวมกันกว่า 120 ล้านบาท ทั้งที่เป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) และหนี้นอกระบบ แต่มาวันนี้ปัญหาเหล่านั้นได้คลี่คลายลง เนื่องจากการร่วมแรงร่วมใจของคนในตำบล ระดมทุนทรัพย์ ทุนทางปัญญา ทุนทางสังคม และทุนธรรมชาติ ริเริ่มจัดทำแผนแม่บทชุมชนขึ้นมาใช้จัดการปัญหาในชุมชน และร่วมมือกันดำเนินงานด้วยตัวเอง โดยมีจุดหมายปลายทางคือสังคมสวัสดิการที่คนในชุมชนเป็นผู้สร้างและรับประโยชน์ หนี้ 120 ล้าน : จากความไม่รู้สู่ความรู้และปัญญา
       ตำบลเขาครามประกอบไปด้วย 6 หมู่บ้านคือ หมู่ 1 บ้านทุ่ง หมู่ 2 บ้านหนองจิก หมู่ 3 บ้านไหนหนัง หมู่ 4 บ้านเขาแก้ว หมู่ 5 บ้านเขาขาว และหมู่ 6 บ้านเขาค้อม โดยมีอาณาเขตทางทิศตะวันตกติดต่อกับทะเลอันดามันใน 2 หมู่บ้านคือ บ้านหนองจิก และบ้านไหนหนัง มีประชากรกว่า 8,000 คน ที่อยู่รวมกันระหว่างชาวไทยพุทธกับชาวไทยมุสลิม มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ชาวเขาครามจึงประกอบอาชีพที่หลากหลาย เช่น การทำสวนปาล์ม สวนยางพารา เลี้ยงสัตว์ และการประมง เป็นต้น
       ในช่วงนั้นเอง แวดวงการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ได้มีการจุดประกายเรื่องการจัดทำ "แผนแม่บทชุมชน"ขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือให้ชาวบ้านได้ทบทวนตัวเอง และจัดทำแผนเพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชนและหาทางออกด้วยการพึ่งตนเอง ต.เขาครามเป็นหนึ่งในชุมชนที่ได้รับคัดเลือกจากมูลนิธิหมู่บ้านให้เข้าร่วมเครือข่ายแผนแม่บทชุมชนเข้มแข็ง ในปี 2543 โดยมีกิจกรรมสำคัญคือ การรวบรวมผู้นำของชุมชนมาร่วมดำเนินงานจัดกิจกรรมบททวนตัวเอง ศึกษาข้อมูล รวบรวมความคิด กำหนดทิศทาง กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา และกำหนดอนาคต ตลอดจนสร้างอุปนิสัย พันธะสัญญา หรือความเชื่อมั่นที่ดีของคนให้เกิดขึ้นในชุมชน ที่มาจากจิตสำนึกรัก ผูกพัน หวงแหนชุมชน หวงแหนชาติของตนเองเป็นที่ตั้ง เพื่อให้ชุมชนเขาครามสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยมีนายเชษฐา มุคุระ นายก อบต.เป็นประธาน และ ธกส.สนับสนุนด้านเงินทุนในการดำเนินงาน ส่วนสถาบันพัฒนาชนบท มูลนิธิหมู่บ้าน คอยเป็นพี่เลี้ยงให้การสนับสนุน ด้านข้อมูล ด้านวิชาการ และให้กำลังใจ
        การร่างแผนแม่บทชุมชนเริ่มต้นด้วยการเก็บข้อมูลปัญหาและศักยภาพของชุมชน เพื่อทำความรู้จักตัวเอง แบ่งออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ดังนี้ 1.รู้จักตนเอง เป็นการสำรวจให้รู้ว่าตัวเองเป็นอยู่อย่างไร ทำไมถึงเป็นหนี้ ไม่มีเงิน มีรายได้เท่าไร ใช้จ่ายค่าอะไรไปแค่ไหน 2.รู้จักชุมชน เป็นการค้นหาศักยภาพของชุมชนว่าเขาครามมีอะไรดี รากเหง้าเป็นอย่างไร มีภูมิปัญญาท้องถิ่นอะไร และ 3.รู้จักโลก คือการสร้างนิสัยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและทันต่อสถานการณ์โลก ซึ่งจะทำให้สามารถรู้อดีต ปัจจุบัน และสร้างอนาคตได้
        "ก่อนที่จะมีการสำรวจตัวเอง แรกเริ่มเดิมทีชาวบ้านไม่เชื่อว่าชุมชนจะมีปัญหาหนี้สินมากมาย แต่พอได้ทำแบบสอบถาม ได้ทำบัญชี กรอกตัวเลขค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพื่อหาต้นเหตุของการไม่มีเงิน ผลสำรวจทำให้ผมถึงกับตกใจ เพราะว่าคนในเขาครามกว่า 1,600 ครัวเรือน เป็นหนี้รวมกันมากกว่า 120 ล้านบาท" นายเชษฐา กล่าว
        จากข้อมูลหนี้สินครัวเรือนซึ่งไม่เคยเปิดเผยมาก่อน เมื่อนำมารวมกันได้กลายเป็นข้อมูลสำคัญที่ช็อคคนทั้งตำบล แทบไม่มีใครเชื่อว่าชาวเขาครามจะเป็นหนี้รวมกันมากถึงเพียงนี้ ไม่มีใครรู้ว่าชาวเขาครามต้องซื้อข้าวสารกันปีละถึง 6 ล้านบาท ซื้อเหล้า บุหรี่ ขนมขบเคี้ยวปีละนับสิบล้านบาท ความรู้นี้ได้นำไปสู่การหวนทบทวนวิถีชีวิตของคนเขาครามใหม่ เกิดเป็นจิตสำนึกร่วมกันของคนในชุมชน ที่จะมีชีวิตที่มีความสุขมีสวัสดิการในชีวิตที่ดี เมื่อสามารถปลุกจิตสำนึกให้คนในชุมชนตระหนักถึงปัญหาร่วมกันแล้ว จึงมีการจัดเรียกประชุมแกนนำ พูดคุยตกลงกันจะทำแผนแม่บทชุมชนแบบพึ่งตนเอง นายประพาส ธรรมศรี เลขาธิการ อบต.กล่าวว่า การประชุมจะเป็นการถกปัญหากันถึงข้อมูลที่ได้สำรวจมา พอเห็นตัวเลขค่าใช้จ่ายของคนเขาครามที่มีมากกว่ารายรับ ที่ประชุมจึงรู้ทันทีว่า ในแผนแม่บทที่จะต้องร่างขึ้นมา แผนนั้นจะต้องพึ่งตัวเองให้มากที่สุด คือต้องลดการนำเข้าสินค้าภายนอก เพื่อเงินของชุมชนจะได้ไม่รั่วไหลไปอยู่ที่อื่น และต้องสร้างนิสัยการเก็บออม
       "ผมจำได้ว่าระหว่างที่เราประชุมหาทางออก โดยมีกองข้อมูลเอกสารวางอยู่เต็มโต๊ะ ก็มีชาวบ้านคนหนึ่งเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาว่า ถ้าคนเขาครามจะเป็นหนี้ ก็น่าจะเป็นหนี้กันเอง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้น เพื่อระดมเงินทุนให้หมุนเวียนอยู่ในตำบล แทนที่จะเป็นหนี้คนข้างนอก"นายประพาส กล่าว เส้นทางสู่การเรียนรู้ใหม่
       เมื่อชาวบ้านตกลงกันจะจัดตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์ แต่ขาดประสบการณ์ในการดำเนินงาน ดร.วิชิต นันทสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาชุมชน มูลนิธิหมู่บ้าน จึงเข้ามามีบทบาททำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง หรือ "คุณอำนวย" สร้างกระบวนการการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นแก่ชาวบ้าน
        ดร.วิชิตกล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่สำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้าน ว่าตนเองมีศักยภาพอยู่ในตัวมากมาย การสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดกับชาวบ้านจะถูกถ่ายทอดผ่านกิจกรรม 4 วิธีด้วยกันคือ
        1.สร้างเวทีการเรียนรู้ เป็นวิธีที่ช่วยการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้ทุกคนได้กล้าแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
       2.การทำแบบสำรวจข้อมูล เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ให้ชาวบ้านได้ทบทวนตัวเอง โดยแบบสอบถามจะอยู่ในรูปแบบของคำถามที่ทำให้เกิดการทบทวนตัวเอง ตั้งแต่เรื่องง่ายๆ ไปจนถึงเรื่องที่สลับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น ครอบครัวมีกี่คน แต่ละคนประกอบอาชีพอะไรบ้าง มีรายรับ รายจ่ายเท่าไร เป็นต้น
       3.การค้นหาลายแทงชีวิต เป็นการจัดทำคู่มือของชุมชนที่ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดทำ และร่วมกันคิดกำหนดทิศทางในการแก้ปัญหา โดยผ่านการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบจากข้อมูลรายได้ รายจ่าย หนี้สินรวม ทรัพยากร และศักยภาพที่เป็นจริงในแต่ละชุมชน เพื่อกำหนดอนาคตของชุมชน เปรียบเสมือนการวางวิสัยทัศน์ร่วมกันของคนในชุมชน
        4.การฝึกอบรมและการศึกษาดูงาน เป็นการไปศึกษาดูงานตามสถานที่ต่างๆ ที่ดำเนินงานจนประสบความสำเร็จ เพื่อพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน แล้วนำความรู้ที่ได้จากการดูงานมาปรับใช้ให้เข้ากับท้องถิ่น
        "ชาวบ้านไม่ชอบฟังทฤษฎีวิชาการ การจะสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับชาวบ้านจะต้องยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ การศึกษาดูงานตามหน่วยงาน หรือชุมชน ที่ประสบความสำเร็จจึงเป็นสิ่งสำคัญ" ดร.วิชิต กล่าว
       นั้น ดร.วิชิตจึงเตรียมรายชื่อและข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ และการทำแผนแม่บทชุมชนเข้มแข็ง เพื่อให้ชาวเขาครามได้ไปศึกษาหาความรู้ เช่น กลุ่มสหกรณ์เครดิตยูเนียน จ.พระนครศรีอยุธยา เด่นเรื่องการส่งผลิตภัณฑ์ทางเกษตรออกขาย ประเทศอิสราเอล กลุ่ม อบต.ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ศึกษาเรื่องการทำแผนแม่บทชุมชน ศูนย์พัฒนาอาชีพและรายได้ ต.ชมพู จ.เชียงใหม่ ที่มีจุดเด่นเรื่องสร้างรายได้แก่สมาชิก กลุ่มของครูประยงค์ รณรงค์ ต.ไม้เรียง จ.นครศรีธรรมราช และกลุ่มออมทรัพย์หมู่บ้าน ต.คลองเปียะ จ.สงขลา เป็นต้น
       นายเชษฐากล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ชาวเขาครามทุ่มเทแรงกายแรงใจศึกษาข้อมูลในเชิงลึกตามหน่วยงานต่างๆ เพื่อดูความเป็นไปได้ในทุกๆ ด้านของการทำแผนแม่บทชุมชนเข้มแข็ง และการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ทำให้ชาวเขาครามมีข้อมูลที่เพียงพอจะสร้างแผนแม่บทเป็นของตัวเอง
       จากนั้นแกนนำชาวบ้านจึงมาระดมสมองกันนำข้อมูลจริงที่มีอยู่มาผนวกกับความต้องการของชาวเขาครามถึง "สิ่งที่อยากเห็น อยากเป็น อยากมี" ในอนาคตข้างหน้า และท้ายที่สุดก็นำมาสรุปเป็นบทเรียนของตนเอง จนกลายเป็นแผนแม่บทชุมชนเขาครามที่ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมมากที่สุด โดยมีเป้าหมายหลักในการลดหนี้และการสร้างสวัสดิการในชุมชนให้ "กินดีอยู่ดี มีสุข" ที่มีเนื้อหาครอบคลุม 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1.ทำให้เกษตรกรลดต้นทุนในการผลิตและการดำรงชีวิต 2.ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และ 3.สร้างนิสัยการออมให้เกิดขึ้นในชุมชน
       แผนแม่บทชุมชนเข้มแข็งตำบลเขาคราม เป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนไปสู่การพึ่งตนเอง ที่กำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันไปในทุกส่วนของระบบเศรษฐกิจสังคมของชุมชนเขาครามบนพื้นฐานของทรัพยากร ผลผลิต และความรู้ภูมิปัญญาของชุมชน แบ่งออกเป็น 4 สถาบัน คือ 1.สถาบันการเรียนรู้ 2.สถาบันการเงิน 3.สถาบันวิสาหกิจชุมชน และ 4.สวัสดิการชุมชน
       ณ วันนี้ ความสำเร็จของชาวชุมชนเขาครามได้กลายเป็นต้นแบบให้กับงานพัฒนาชุมชนระดับชาติไปแล้ว จากเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชาวเขาครามผู้ประสบวิกฤตชีวิตอย่างหนักได้ศึกษาเรียนรู้จากการดูงาน "เรื่องดีๆ" ที่ชาวบ้านในที่อื่นๆ ทำ แต่ปัจจุบันนี้ ชุมชนเขาครามกลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานและเรียนรู้ของชุมชนอื่นๆ อีกมากมายทั่วประเทศ เคล็ดลับที่ชาวเขาครามเพียรบอกผู้มาดูงานคือ ขอให้ประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้จากเขาครามให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละชุมชน คนในชุมชนจะต้องเรียนรู้ร่วมกันบนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง โดยมีเป้าหมายปลายทางร่วมกัน
ที่มา www.newschool.in.th
คำสำคัญ (Tags): #kmclass
หมายเลขบันทึก: 63192เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2006 18:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 10:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท