ชมรมไร้กล่องเสียง


วันนี้ได้มีการนัดคุยกันในกลุ่มชมรมไร้กล่องเสียง  ประกอบด้วย คุณกัญญารัตน์  พยาบาลจากภาควิชา ENT , คุณณภัทร หัวหน้าหอผู้ป่วย ENT , ดต.สมจิตร  บุญราศรี  และคุณจรวย  ด้วงเหมือน  ผู้ป่วยซึ่งเป็นสมาชิกชมรมไร้กล่องเสียง  พร้อมด้วยพี่จุด  เพื่อที่จะวางแผนการปฏิบัติงานของชมรม  ในปี 2550  เนื่องจากพี่จุดมีประสบการณ์ในเรื่องนี้น้อยมาก  จึงได้ขอให้กลุ่มช่วยเล่าประสบการณ์แต่ละคนและให้ข้อคิดเห็นกันก่อน  เพื่อช่วยให้พี่จุดเข้าใจการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ดียิ่งขึ้น  พี่จุดได้ขออนุญาตผู้ป่วยนำความรู้ที่ได้รับมาถ่ายทอดให้ทุกท่านที่สนใจได้รับทราบด้วย  ดังนี้ค่ะ

 ปุจฉา    : ผู้ป่วยที่ผ่าตัดกล่องเสียงทุกราย สามารถฝึกพูดได้  หรือไม่

วิสัชนา :  ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของการผ่าตัด ว่า ผ่าตัดเอาส่วน ไหนออกบ้าง ดังนั้น  ผู้ป่วยที่จะฝึกพูด  จะต้องมีการคัดเลือก

ปุจฉา     :              ผู้ป่วย ควรจะฝึกพูดได้เมื่อไร

วิสัชนา  :              หลังจากผ่าตัด / ฉายแสง และแผลหายดีแล้ว

ปุจฉา     :              หลัก / ขั้นตอน ในการฝึกพูดมีอะไรบ้าง

วิสัชนา  :              หลักการ คือ ถ้าบังคับให้เรอได้  ก็พูดได้ 

นั่นคือส่วนหนึ่งของคำถาม คำตอบ ที่ได้จากการร่วม ปลรร  กันในวันนั้น นอกจากนี้  ดต.สมจิตร  และคุณจรวย  ยังได้เล่าถึงเคล็ดลับต่าง ๆ ให้ฟังดังนี้ 

ดต.สมจิตร            เล่าให้พวกเราฟังว่า  ครั้งแรกที่ป่วยด้วยโรคนี้ได้ไปตรวจรักษาที่ รพ.แห่งหนึ่ง    หมอให้ผ่าตัด  ครั้งนั้น  เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้ให้ผู้ป่วยที่เคยรับการผ่าตัดกล่องเสียงแล้วมาพูดคุยด้วย  แต่ผู้ป่วยคนนั้นพูดส่งเสียง แบ๊ะ ๆ พร้อมทำท่าทางประกอบ  ผมตกใจมากไม่มารักษาอีกเลย  หายไป 1 ปี  จนผมหายใจไม่ออก  จึงมารักษาที่ รพ. มอ.  

 จากนั้น  ดต.สมจิตร  เล่าต่อว่า  ผู้ป่วยที่ผ่าตัดกล่องเสียง  แม้จะผ่านการฝึกพูดมาแล้วก็ตาม  แต่ละคนไม่สามารถพูดได้เท่าเทียมกัน  ช้า เร็วต่างกัน เช่น บางคนพูดได้เพียง 2-3 คำ  บางคนพูดได้ประโยคสั้นๆ  บางคนพูดได้เหมือนคนปกติ   บางคนฝึกหลายเดือน  บางคนฝึกเพียงสัปดาห์เดียว

คุณสมจิตร  รีบพูด สนับสนุนขึ้นมาทันทีว่า  ดต.สมจิตร  ผ่าตัดกล่องเสียงมาแล้ว 6 ปี  หลังผ่าตัด ฝึกพูดเพียง1 สัปดาห์  ก็พูดได้  ส่วนผมผ่าตัดมาแล้ว 7 ปี  ผมฝึกอยู่ 2 เดือน ได้ ดต.สมจิตร  นี้แหละมาช่วยฝึกผม   

พี่จุด  ถามต่อด้วยความสงสัยว่า  ทำไมแต่ละคนพูดได้ไม่เท่ากัน  ล่ะค่ะ  มันน่าจะพูดได้ เหมือนกันนะคะ  โดยใช้เวลาต่างกันก็ได้ค่ะ ดต.สมจิตร  และคุณจรวย  ช่วยกันให้คำตอบว่า

1.       อยู่ที่ความตั้งใจ อดทน พยายาม และเสียสละเวลาในการมาฝึกพูดของผู้ป่วยเอง  บางคนไม่ยอมมา  เพราะเสียเวลาทำมาหากิน  หรือบางคนไม่มีญาติพามา

2.       บางคนคิดว่าสามารถใช้เครื่องช่วยพูดได้

3.       ระยะเวลาการฝึก ถ้ามากไป ผู้ป่วยก็เบื่อ น้อยไปก็ไม่ได้ผล  เพราะฉะนั้น  การฝึกพูดที่เหมาะสม  ควรประมาณ 2 ครั้ง/เดือน

4.       อารมณ์ของผู้พูดมีความสำคัญมาก  หากมีอารมณ์เครียด  กังวล  โกรธ ดีใจ หัวเราะ  จะทำให้พูดไม่ออก  เพราะหลอดอาหาร  เกร็ง   ทำให้ไม่สั่น  จึงพูดไม่ได้ 

และถ้าเป็นไปได้นะครับ  ควรให้ผู้ป่วยที่ฝึกพูดได้แล้วมาช่วยฝึกจะดีกว่าให้เจ้าหน้าที่ฝึก 

อ้าว !  ทำไม  เป็นอย่างนั่นล่ะค่ะ  มันมีเทคนิคต่างกันหรือคะ

 เทคนิค  ไม่ต่างหรอกครับ  ต่างกันที่เจ้าหน้าที่เข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยได้ไม่ดี  เท่าผู้ป่วยด้วยกันเอง  และพวกคุณต้องเข้าใจด้วยนะครับว่า  คนพิการส่วนใหญ่จะขี้ใจน้อย และอีกข้อที่แตกต่างกันคือ ความเชื่อถือ  ผู้ป่วยจะเชื่อถือผู้ป่วยด้วยกันเองมากกว่า  เพราะมีประสบการณ์ตรง 

พี่สมจิตรค่ะ  เพราะเหตุใดพี่จึงพยายามฝึกพูด  จนพูดได้ดี ในขณะที่หลายรายใช้เครื่องช่วยฝึกพูดล่ะค่ะ

 อ้อ !  ที่ผมไม่ใช้เครื่องช่วยฝึกพูด  เพราะผมอายครับ  การใช้เครื่องต้องถืออุปกรณ์มาจ่อที่คอเวลาจะพูด  ทำให้คนรู้ว่าเราเป็นอะไร  แต่ถ้าฝึกพูดได้เอง  คนทั่วไปไม่ทราบครับ  เขาจะทราบแต่เพียงว่าเราเป็นหวัดเรื้อรัง  ถึงพูดเสียงแหบ  แล้ว ดต.สมจิตร  ก็เล่าต่อ  พร้อมหัวเราะเสียงดังด้วยความชอบใจว่า  แม่ค้าที่ตลาดเขาทักผมว่าเป็นหวัดนานจัง  ทำไมไม่เอามะนาวไปกินสักลูกล่ะ  จะได้หายเป็นหวัดสักที  เอามั้ย  ฉันให้  ทำให้พวกเราหัวเราะ  ชอบใจตามๆกันไปด้วย 

จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  พี่จุดขอสรุปดังนี้ค่ะ

1.       การคัดเลือกผู้ป่วย

: แพทย์เป็นคนบอกว่าผู้ป่วยรายไหนบ้างที่ควรส่งเข้ากลุ่มฝึกพูดได้

: ต้องไม่มีเงื่อนไข  เช่น ไม่มีใครพามา ติดธุระ

: ควรมีการคัดเลือกผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดแล้ว ได้ผลดี สามารถพูดได้ มาเป็นพี่เลี้ยงแก่ผู้ป่วยใหม่  

2.       การเตรียม

:  ควรมีการประเมินความพร้อม  ความรู้  ความเข้าใจ  และทัศนคติฃองผู้ป่วย / ครอบครัว เกี่ยวกับการฝึกพูด

:  ควรมีการเตรียมตัวผู้ป่วย เช่น การฝึกสมาธิ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีจิตสงบ ใจเย็น

: ควรมีการเตรียมตัวญาติ / ครอบครัว ให้มีความพร้อมในการดูแล สนับสนุนช่วยเหลือ   ผู้ป่วย

: ควรมีอาสาสมัครเป็นผู้ช่วยครูฝึกสอน  นับเป็นเทคนิคที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการฝึกมากขึ้น

: เตรียมตารางผู้ช่วยครูฝึกสอน

3.       การฝึก

: ฝึกให้ผู้ป่วย เรอ ก่อน: ระยะเวลาที่เหมาะสมดีในการฝึกประมาณ 2 ครั้ง/เดือน

: ผู้ป่วยต้องมีความตั้งใจ  และพยายามในการมาฝึกอย่างสม่ำเสมอ

: ควรดื่มน้ำบ่อย ๆ กรณีเสมหะเหนียว

4.       ด้านจิตใจ/สังคม

: เจ้าหน้าที่ / ญาติ ควรเข้าใจสภาพอารมณ์ / จิตใจของผู้ป่วย (ธรรมชาติของผู้ป่วยพิการจะน้อยใจง่ายมากค่ะ)                               

คำสำคัญ (Tags): #palliative-care
หมายเลขบันทึก: 63191เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2006 18:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 09:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
สวัสดีค่ะ พี่จุด ตามมาอ่านค่ะ...มีประโยชน์มากค่ะ
  • เยี่ยมเลยครับ
  • อ่านไปพบว่าพี่เขียนได้ดีมากเลยครับ
  • ขอบคุณมากครับ

บันทึกยาว แต่ดึงดูดให้อ่านทุกตัว ทุกอักษร ต่อเนื่อง โดยไม่ละสายตาเลยค่ะ พี่จุด ยอดเยี่ยมจริงๆ  

เมื่อไร ผู้บริหารเรา จะเห็นความสำคัญและคุณค่าของการบันทึกแบบนี้บ้างน๊า เฮ้อ..

ขอบคุณ คุณเมตตา คุณขจิต และ อ.ปารมี มากนะคะที่ให้กำลังใจด้วยดีมาโดยตลอด

คิดว่าบันทึกนี้อาจเป็นตัวอย่างสำหรับคนที่จับประเด็นได้ไม่ดีก็ได้นะคะ เพราะตัวเองเป็นคนจับประเด็นไม่ดี ก็เลยใช้วิธีเขียนเล่า แต่ต้องรีบเขียน มิฉะนั้นจะลืม เพราะความจำสั้น บางครั้งพอพูดคุยกับผู้ป่วยจบ ออกจากห้องปั๊บรีบจดย่อๆไว้เลย กลับถึงบ้านต้องพยายามเขียนเลย แล้วส่งน้องที่ทำงานพิมพ์ ทีนี้จะแก้เมื่อไร หรือจะส่งบันทึกเมื่อไรก็ได้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท