พูดอย่างไร จึงจะทำให้คนรักและศรัทธา


พูดอย่างไร จึงจะทำให้คนรักและศรัทธา

ดร. ถวิล  อรัญเวศ

รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4

      บทกลอน สุภาษิต คำพังเพย นิทานชาดกและนิทาน
ปรัมปราหลายเรื่อง สะท้อนให้เห็นว่า คำพูด หรือการพูดา
จากนั้น สามารถจะทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ
คนที่มีทักษะในการพูด มีวาทศิลป์ หรือการนำเสนองาน
ถือว่ามีชัยไปแล้วกว่าครึ่ง เพราะฉะนั้น ในการทำสงครามหรือ
กิจการในระหว่างประเทศ เขาจึงมีนักการทูตไว้เจรจา เพราะเชื่อว่า
จะต่อสู้กันด้วยอาวุธหรือพละกำลังเพียงอย่างเดียว ก็คงยาก
ที่จะประสบความสำเร็จได้ มีแต่ทรัพยากรบุคคลจะ
สูญเสียหรือตายเปล่าเท่านั้น

     คำโบราณก็ให้การยอมรับเรื่องนี้ เช่น
“ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี
แต่ชั่วดี
เป็นตรา” 
พูดไปสองไพเบี้ยนิ่งเสียตำลึงทอง
ปลาหมอ ตายเพราะปาก ฯลฯ

     สุนทรภู่ กวีเอกของโลก ก็ได้
ประพันธ์คำกลอนความสำคัญของการพูดไว้ว่า

 

    "ถึงบางพูด พูดดี เป็นศรีศักดิ์   

    มีคนรัก รสถ้อย อร่อยจิต  

    แม้พูดชั่ว ตัวตาย ทำลายมิตร 

    จะชอบผิด ในมนุษย์ เพราะพูดจา"  

                                                   (จากนิราศภูเขาทอง ของสุนทรภู่)

       นึกถึงคำสอนที่พระ พ่อ แม่ หรือครูบาอาจารย์เคยสอนไว้ว่า

       “จะพูด จะจาอะไร คิดให้รอบคอบก่อน

        เพราะพูดแล้ว จะเอากลับมาไม่ได้

       จะพูดจาอะไร ให้เลือกสรรคำพูดที่ดี สุภาพ ไพเราะ

       พูดให้คนสบายใจ ดีกว่าทำให้คนทุกข์ใจ

      พูดให้ฟังสบายหู  ดูสบายตา พาสบายใจ

     เพราะคำพูดตามใจตามอารมณ์ของเรา

     จะส่งผลร้ายต่อจิตใจคนอื่น 

      พูดไปสองไพเบี้ยนิ่งเสียตำลึงทอง ปลาหมอ ตายเพราะปาก

      สำหรับนิทานชาดกเกี่ยวกับคำพูดก็มีหลายเรื่อง
ขอยกอุทาหรณ์ เรื่อง “โคนันทวิศาล”

สมัยเรียนระดับประถมศึกษา มาแล้ว ดังนี้   

     สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วันเชตวัน
เมืองสาวัตถี ทรงปรารภการพูดเสียดแทงให้เจ็บใจ
ของพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...

      กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในสมัยของพระเจ้าคันธาระ
ครองเมืองตักกศิลา แคว้นคันธาระ

       พระโพธิสัตว์เกิดเป็นโคนามว่า “นันทิวิสาล
เป็นโคมีรูปร่างสวยงาม มีพละกำลังมาก มีพราหมณ์คนหนึ่ง
ได้เลี้ยงและรักโคนั้นเหมือนลูกชาย โคนั้นคิดจะตอบแทน
บุญคุณการเลี้ยงดูของพราหมณ์ในวันหนึ่ง ได้พูดกะพราหมณ์ว่า      
"พ่อ จงไปท้าพนันกับโควินทกเศรษฐีว่า โคของเรา
สามารถลากเกวียนหนึ่งร้อยเล่ม ที่ผูกติดกันให้เคลื่อนไหวได้
พนันด้วยเงินหนึ่งพันกหาปณะเถิด"

      พราหมณ์ได้ไปที่บ้านเศรษฐีและตกลงกันตามนั้น นัดเดิมพันกัน
ในวันรุ่งขึ้น ในวันเดิมพัน พราหมณ์ได้เทียมโคนันทิวิสาลเข้าที่เกวียนเล่มแรก
เพื่อลากเกวียนหนึ่งร้อยเล่มผูกติดกันซึ่งบรรทุกทราย กรวดและหินเต็มลำ
แล้วขึ้นไปนั่งบนเกวียน เงื้อปฏักขึ้นพร้อมกับตวาดว่า      

"ไอ้โคโกง โคโง่ เจ้าจงลากเกวียนไปเดี๋ยวนี้"

     ฝ่ายโคนันทิวิสาลเมื่อได้ยินพราหมณ์พูดเช่นนั้น ก็คิดน้อยใจว่า       

        "พราหมณ์เรียกเราผู้ไม่โกง ว่าโกง ผู้ไม่โง่ ว่าโง่"

       จึงยืนนิ่งไม่เคลื่อนไหว โควินทกเศรษฐีจึงเรียกให้
พราหมณ์นำเงินหนึ่งพันกหาปณะมาให้แล้วกลับบ้าน

      ฝ่ายพราหมณ์ผู้แพ้พนันเงินหนึ่งพันกหาปณะ
ปลดโคแล้วก็เข้าไปนอนเศร้าโศกเสียใจอยู่ในบ้าน
ส่วนโคนันทิวิสาลเห็นพราหมณ์เศร้าโศกเสียใจเช่นนั้น
จึงเข้าไปปลอบและกล่าวว่า      

"พ่อ ฉันอยู่ในเรือนของท่านตลอดมา
เคยทำภาชนะอะไรแตกไหม เคยเหยียบใครๆ
เคยถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะในที่อันไม่ควรหรือไม่
เพราะเหตุใด ท่านจึงเรียกเราว่า โคโกง โคโง่

ครั้งนี้เป็นความผิดของท่านเอง ไม่ใช่
ความผิดของฉัน บัดนี้ ขอให้ท่านไปเดิมพัน
กับโควินทกเศรษฐีใหม่ด้วยเงินสองพันกหาปณะ
ขออย่างเดียว ท่านอย่าได้เรียกฉันว่า โคโกง
โคโง่ ท่านจะได้ทรัพย์ตามที่ท่านปรารถนา
ฉันจะไม่ทำให้ท่านเศร้าเสียใจ"

     พราหมณ์ได้ทำตามที่โคนันทิวิสาลบอก ในวันเดิมพัน
พราหมณ์จึงพูดจากอ่อนหวานว่า    
"นันทิวิสาลลูกรัก เจ้า
จงลากเกวียนทั้งร้อยเล่มนี้ไปเถิด"

     โคนันทวิสาล ได้ฟังดังนั้น จึงได้ลาก
เกวียนร้อยเล่มที่ผูกติดกัน ด้วยการออกแรงลาก
เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ทำให้เกวียนเล่มสุดท้ายไป
ตั้งอยู่ที่เกวียนเล่มแรกอยู่ พราหมณ์จึง
ชนะพนันด้วยเงินสองพันกหาปณะ

    พระพุทธองค์เมื่อนำอดีตนิทานมาสาธกแล้วตรัสว่า      
"ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่า คำหยาบ ไม่เป็นที่
ชอบใจของใครๆ แม้กระทั่งสัตว์เดียรัจฉาน"

แล้วได้ตรัสพระคาถาว่า      
"บุคคลควรพูดแต่คำที่น่าพอใจเท่านั้น
ไม่ควรพูดคำที่ไม่น่าพอใจในกาลใดๆ”

      เมื่อพราหมณ์พูดคำที่น่าพอใจ
โคนันทิวิสาลได้ลากสัมภาระอันหนักได้
ทั้งยังทำให้พราหมณ์ผู้นั้นได้ทรัพย์อีกด้วย
ส่วนตนเองก็เป็นผู้ปลื้มใจ เพราะการช่วยเหลือนั้นด้วย 

 

พูดอย่างไร จึงจะพูดให้คนรักและศรัทธา

          การจะทำให้คนรักและศรัทธาในคำพูดของเรา
ควรจะใช้วาทศิลป์ ดังนี้

          1. พูดคำจริง

             ปากกับใจ ต้องตรงกันเสมอ เวลาเราจะสื่อสาร
หรือพูดกับใคร พูดอย่างสุจริตใจด้วยคำสัตย์
คำจริงเป็นที่ตั้ง ไม่เสแสร้ง ไม่ปากว่า ตาขยิบ
หรือปากอย่าง ใจอย่าง ทำให้คนฟังเชื่อมั่นใน
คำพูดของเรา และไม่คิดว่าเราจะเป็นคนพูดตลบตะแลง

          2. พูดแต่สิ่งที่มีประโยชน์

             สิ่งใดที่จะก่อให้เกิดความผูกพันและมุ่งมั่นใน
การพัฒนาองค์กร เราก็ควรจะพูดให้เขาเห็นว่าองค์กร
เราจะก้าวหน้าและพัฒนาไปได้นั้น คงไม่มีใคร นอก
จากพวกเราเอง ฉะนั้น เราจึงมาร่วมด้วยช่วยกัน
พัฒนาองค์กร ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรใน
การที่จะทำให้องค์กรของเราดีขึ้น และพัฒนา
ได้อย่างไร ขอให้ท่านได้แถลงไข ชี้แจงจะได้
นำไปเป็นจุดกระตุ้นให้พวกเราได้ร่วมพลัง
และร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนต่อไป

         3. พูดด้วยจิตเมตตา

             การพูดที่มีจิตเมตตา คือพูดเพื่อปรารถนา
จะให้ผู้ฟังได้อรรถประโยชน์จากสิ่งที่เราพูด
แนะนำออกไป เมื่อเรามีเมตตาจิต พูดฟังสามารถ
จะนำไปปฏิบัติและแก้ไขได้ นั้นคือเรามีเมตตา
ไมใช่พูดซ้ำเติมในสิ่งที่เขายังมีทุกข์ ต้อง
พูดปลอบใจให้เขาคลายในสิ่งที่เรากำลัง
ประสบกับความทุกข์และคำแนะนำที่ให้
ไปนั้น สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

         4. พูดสร้างศรัทธา ให้เขาได้ไตร่ตรอง
จนเห็นความจริงด้วยตนเขาเอง

            การจะสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นนั้น
เป็นเรื่องยากมาก แต่การที่จะทำลายศรัทธา
ความเชื่อถือนั้นเป็นเรื่อง่ายกว่า เพราะ
คนเราจะศรัทธาอะไร ก็จะดูผลงานที่ได้
แถลงให้ไว้ และก็เป็นความจริง ไม่หยิบยก
เอาความดีของใครมาเป็นเรื่องหลอกให้เขา
เชื่อมั่นแต่สร้างศรัทธาด้วยผลงานของเราเอง

           5. พูดปลอบใจให้กำลังใจใน
ตัวเขาเพื่อเติมแรงใจให้มุ่งมั่น
ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค

               เพราะคนเรา ถ้าได้กำลังใจแล้ว
จะทำอะไรก็มีใจ และเต็มใจที่จะทำสิ่งนั้น
ต่อไปจนกว่าจะพบความสำเร็จ แม้
จะเหน็ดเหนื่อยเพียงใดก็จะยอมทน


สรุป

          สรุปได้ว่า การพูดทำให้สามารถชนะใจ
คนอื่นๆได้เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้ ไม่มีอะไร
จะผูกมัดใจคนได้เท่ากับคำพูด แม้จะมีเงิน
มากมายก่ายกองสักปานใด ถ้าพูดไม่ได้ใจ
แล้วไซร้ ก็เปล่าประโยชน์ และถึงแม้จะไม่มีเงิน
แต่พูดดี ก็จะทำให้คนฟังมีใจเกินร้อยพร้อม
จะคอยเป็นพันธมิตรสนับสนุนกิจการให้
เจริญรุ่งเรืองต่อไป การที่จะพูดให้
คนเกิดศรัทธาเชื่อมั่นได้นั้น
เราจะต้องพูดคำจริง พูดในสิ่งที่มี
ประโยชน์ ประกอบด้วยจิตเมตตาที่
จะยังประโยชน์ให้เกิดแก่คนฟัง
และรู้จักพูดปลอบใจเพื่อให้เขา
เกิดพลังใจเชื่อมั่นและยืนหยัด
ที่จะทำให้สิ่งที่ถูกต้องดีงามต่อไป

 

กลอนการพูด

     หากจะพูด หยุดคิด สักนิดหนึ่ง

คนฟังซึ้ง ทึ่งเรา พูดเข้าท่า

ปากเป็นศรี มีชัย ได้ราคา

สร้างศรัทธา พาที ดีกว่าใคร

     เป็นเจ้านาย ขายฝัน นั่นละเอียด

อย่าหยามเหยียด เสียดสี เป็นขี้ข้า

รู้ไม่จริง ยิ่งถอย ด้อยปัญญา

เอาแต่ด่า พาต่ำ ช้ำดวงใจ

     ปากเป็นเอก เลขเป็นโท โชว์นิสัย

เผยความนัย ให้รู้ ผู้ปราดเปรื่อง

หมั่นศึกษา หาไว้ ให้รุ่งเรือง

รู้ประเทือง เนืองนิตย์ คิดการณ์ไกล

     มีคารม คมคาย หลายแต้มต่อ

พูดด่าทอ ล่อแม่ แย่กันใหญ่

พูดมาคำ ซ้ำด่า น่าขับไป

คนดีไซร้ ไม่ทำ จำไว้นา

     พวกมุสา น่าชัง ยังอยากคบ

พวกประจบ สบคำ ทำหวานจ๋า

พอลับหลัง ขังขึง ขมึงตา

ดีต่อหน้า พาเสีย ละเหี่ยใจ

     อย่าคุยนาน การเมือง เรื่องงดเว้น

ขัดประเด็น เห็นต่าง อย่างเหยียดหยัน

แม้พี่น้อง ท้องเดียว เที่ยวฆ่าฟัน

ความสัมพันธ์ อันดี มีอันจม

     คุยต่างขั้ว กลัวว่า พาขัดแย้ง

อาจรุนแรง แบ่งข้าง ต่างคุยข่ม

ต่างความเชื่อ เมื่อสุด ฉุดอารมณ์

พูดแล้วล่ม ปมร้อน กร่อนสายใย

     รู้ขอโทษ โปรดเอ่ย เผยขึ้นก่อน

รู้โอนอ่อน ผ่อนรับ กลับยิ่งใหญ่ 

รู้ว่าผิด คิดต่อ ขออภัย

รู้จักให้ ได้มิตร จิตเมตตา

    

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

 

http://www.dhammathai.org/chad...

http://www.kalyanamitra.org/th...20

https://vallop-magmee.blogspot...2012/05/blog-post_4332.html

หมายเลขบันทึก: 631812เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2017 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2017 20:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท