๕๘๑. การบริหารจัดการสถานศึกษา..กับการควบคุมภายใน


การควบคุมภายใน..เป็นเครื่องมือช่วยผู้บริหารในการกำกับดูแลและบริหารงาน เป็นดัชนีของการบริหารงานที่มีมาตรฐาน ช่วยลดความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้ และเป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติงาน....

งานวิชาการ” คือหัวใจของการบริหารสถานศึกษา..ซึ่งครูทุกท่านทราบดี แต่ผมกลับมองว่า..ถึงเป็นหัวใจ..แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก..แต่”งานการเงิน”ก็สำคัญและมีความเสี่ยงสูง ผมอึดอัดคับข้องใจ..ที่จะทำให้งานการเงินของโรงเรียน ซึ่งถูกต้องอยู่แล้ว ให้ถูกระเบียบมากขึ้น ด้วยหลักฐานงานทะเบียนและการรายงานเขตฯ..ที่ทำได้เป็นปัจจุบัน

ผมได้รับการกำกับติดตามและชี้แนะ..จากฝ่ายตรวจสอบภายในของเขตพื้นที่..เมื่อปี๒๕๕๙ที่ผ่านมา..และได้ครูผู้มีความมุ่งมั่นทุ่มเทและรับผิดชอบ  เรียนรู้และทำงานการเงิน..ได้อย่างมีประสิทธิภาพ...

ทำให้วันนี้..ผมปลอดโปร่งโล่งสบาย ให้เวลากับงานบริหารวิชาการได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องหวาดผวากับงานการเงิน..แบบเสี่ยงๆอีกต่อไป..

วันนี้..ผมจึงดีใจ..ที่ได้เข้าประชุมเชิงปฏิบัติการ “ระบบการควบคุมภายใน”อีกครั้ง แต่ครั้งนี้..ไม่เหมือนเดิม..เพราะผมมีความสุขกับการอบรม และเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นว่า..การควบคุมภายใน ไม่ได้ครอบคลุมแต่งานการเงินอย่างเดียว มีอะไรมากกว่านั้นเยอะมาก

ท่านวิทยากรที่เขตพื้นที่เชิญมาวันนี้..คุณมะลิวรรณ ศรีนา จาก สพป.สมุทรสงคราม ต้องยอมรับว่าท่านเก่งจริงๆ  ท่านพูดเรื่องที่มีเนื้อหาขั้นตอนละเอียด ให้เข้าใจได้ง่าย ผู้ฟังปฏิบัติได้และมองงานออกตลอดแนว...

วิทยากร..ขึ้นต้นด้วย”การบริหารองค์กรที่ดี” มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การติดตาม กำกับ ควบคุมและดูแล ให้มีการจัดกระบวนการเพื่อใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ ตรงเป้าหมาย คุ้มค่าและประหยัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง..

รากฐานที่จะช่วยให้มีการกำกับ ดูแลองค์กรที่ดีประกอบด้วย..การควบคุมภายใน การบริหารความเสี่ยง และการตรวจสอบภายใน

ทำไม..สถานศึกษาต้องมีระบบควบคุมภายใน..และทำไม..ต้องรายงานการประเมินผลการควบคุมภายในทุกปี..

เพราะระเบียบ คตง.ว่าด้วยหลักเกณฑ์มาตรฐานการควบคุมภายใน พ.ศ.๒๕๔๔ กำหนดไว้..อันนี้ผมยอมรับได้..

แล้วยิ่งจะยอมรับมากขึ้น..เมื่อศึกษาลงลึกไปและพบว่า..การควบคุมภายใน..เป็นเครื่องมือช่วยผู้บริหารในการกำกับดูแลและบริหารงาน เป็นดัชนีของการบริหารงานที่มีมาตรฐาน ช่วยลดความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้ และเป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติงาน....

ด้วยการวิเคราะห์ตามแบบประเมินการควบคุมภายในด้วยตนเอง(Control Self Assessment หรือ CSA) ที่วิทยากร..แนะนำและฝึกให้วิเคราะห์งานที่มีความเสี่ยงสูง....

ผมยกตัวอย่าง เรื่อง..การออกเขียนได้ของนักเรียนชั้น ป. ๑ – ๒ แล้วลงมือเขียนวัตถุประสงค์ ตามด้วยกระบวนการปฏิบัติ อะไรบ้างที่จะทำให้บรรลุตามวัตถุประสงค์

จากนั้นวิเคราะห์ขั้นตอนที่ปฎิบัติจริงนั้น..ปฏิบัติอย่างไร ใช้กิจกรรมใดในการปฏิบัติ

ในขั้นตอนการปฏิบัติ ผมกำหนดกิจกรรมฝึกทักษะและพัฒนาทักษะการอ่านการเขียน โดยใช้กิจกรรม “บันไดทักษะ ๔ ขั้น”  ในช่องกิจกรรมที่ปฏิบัติ มีกิจกรรมการฝึกและพัฒนาทักษะให้นักเรียน..แต่การดำเนินงานยังไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด และการนิเทศติดตามประเมินผล ก็ยังไม่เป็นระบบ ขาดการนำผลการประเมินมาพัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง..อันนี้นี่แหละ คือ..ปัญหา...

ปัญหา..แสดงให้เห็นว่า..ยังมีความเสี่ยงอยู่..จากนั้นวิทยากรก็ให้วิเคราะห์ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร จะแก้ไขอย่างไร และใครเป็นคนแก้ไข..

เมื่อปัญหา..ตามมาด้วยสาเหตุ..ครอบคลุมเป็นที่เรียบร้อย ผมก็ต้องคิดวิธีการแก้ไข(การปรับปรุงการควบคุม) ซึ่งถือเป็นนวัตกรรม หรือเป็นวิธีปฏิบัติที่ดีได้ทั้งสิ้น..

ถ้าเราใช้การแก้ไขด้วยวิธี..การพัฒนาครูด้วยรูปแบบที่หลากหลาย เช่น PLC  มีการจัดหาสื่อที่เหมาะสม และมีการกำหนดมาตรการในการติดตามผลอย่างเป็นระบบ และมีการนำผลการประเมินมาใช้ในการพัฒนางาน เป็นต้น

ตัวอย่างการวิเคราะห์งานการเรียนการสอนตามแนวทางที่ผมกล่าวมา สามารถนำไปกรอกลงแบบการควบคุมภายในที่เกี่ยวข้อง(ปย.๒)..ได้ง่ายและชัดเจนที่สุด..

วันนี้..ผมจึงมีความเชื่อมั่นว่า..การบริหารจัดการในสถานศึกษา กับการควบคุมภายใน..เป็นเรื่องเดียวกัน และสอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๒  กรกฎาคม  ๒๕๖๐

 






หมายเลขบันทึก: 631438เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2017 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2017 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เมื่อเดินมาถูกทางก็จงมั่นใจว่า

ต้องก้าวต่อไป  เป็นกำลังใจให้จ้ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท