วัดความสนใจเรียนของนักเรียน



เอกสาร Measuring student engagement in upper elementary through high school : a description of 21 instruments ของ REL Southeast น่าสนใจมาก ในด้านเทคนิควัดความสนใจเรียนของนักเรียน      เอกสารนี้ เผยแพร่ตั้งแต่ปี ๒๕๕๔   

เรื่องการวัดเพื่อพัฒนาการศึกษาหรือการจัดการเรียนรู้นี้ สำคัญมากสำหรับประเทศไทย   การวัด ความสำเร็จ หรือความก้าวหน้า ในหลากหลายมิติ มีความสำคัญต่อการปรับปรุงวิธีการจัดการเรียนรู้ ของครูและโรงเรียน   ย้ำว่า เราต้องการความรับผิดชอบปรับปรุงวิธีการจัดการห้องเรียน หรือปรับปรุงการเรียนรู้ของนักเรียน ในระดับตัวครู ทีมครู โรงเรียน และเขตพื้นที่การศึกษา    หากเราสามารถยกระดับความรับผิดชอบดังกล่าวได้ ก็จะมีหวังว่าการฟื้นคุณภาพการศึกษาไทย จะเป็นไปได้ 

ที่จริงเรื่องนี้เชื่อมโยงกับการปฏิรูประบบการศึกษา   

ปัญหาสำคัญของการศึกษาในยุคปัจจุบัน คือห้องเรียนเป็นสิ่งน่าเบื่อ กระบวนการเรียนรู้ที่ครูจัดให้ ไม่น่าสนใจ   ครูเก่งแต่ทฤษฎี แต่ไม่เข้าใจ เข้าไม่ถึงใจนักเรียน ไม่ได้คำนึงถึงผลลัพธ์การเรียนรู้ของศิษย์    คิดแต่จะสอนให้ครบตามหลักสูตรมาตรฐาน 

โปรดสังเกตข้อความ “the multidimensional nature of engagement (behavioral, emotional, and cognitive) and the object of engagement.”ในหน้า ii ของเอกสาร   ว่าความสนใจมีหลายมิติ รวมทั้งจุดสนใจก็มีหลายจุด    

ตัววัดตามเอกสารนี้มี ๓ กลุ่ม  ๒๑ ตัว   ข้อน่าแปลกใจสำหรับสังคมไทยคือ กลุ่มแรก ๑๔ ตัววัด วัดโดยตัวนักเรียนเอง   นี่คือจุดสำคัญที่สุดที่ผมขอตั้งข้อสังเกตให้แก่วงการศึกษาไทย   มีเพียงกลุ่ที่ ๒ จำนวน ๓ ตัววัดเท่านั้น ที่ครูเป็นผู้วัด   อีก ๔ ตัววัดเป็นตัววัดทั่วๆ ไป อยู่ในกลุ่มที่ ๓   

 

คนมีความคิดซุกซนอย่างผมอดคิดต่อไม่ได้ ว่าน่าจะวัด engagemet ของครู, ผู้อำนวยการโรงเรียน, ผู้บริหารเขตการศึกษา, และผู้บริหารในกระทรวงศึกษาฯ   โดยให้มีนักวิชาการอิสระตีความรายงานของ REL Southeast ชิ้นนี้ปรับเข้ากับบริบทไทย    น่าจะเป็นฐานความเข้าใจลึกๆ เพื่อปฏิรูประบบการศึกษาไทย ให้ถึงผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็ก อย่างถึงรากถึงโคน   

ผมขอชักชวนนักการศึกษาไทยให้อ่านเอกสารหน้า ๙ - ๑๒ เพื่อทำความเข้าใจความหมายที่ซับซ้อน ของคำว่า engagement   และตัวเป้าหมายของ engagement ก็มีความหลากหลาย คือมีหลายเป้าในเวลาเดียวกัน  ได้แก่ student engagement, school engagement, academic engagement, engaged time, student engaged learning, academic responding, student engagement in class, engagement in school work

 

ตัววัดทั้ง ๒๑ ตัวอยู่ในตารางที่ ๒ หน้า ๑๑   จะเห็นว่าการวัดตนเองของนักเรียน ๑๔ ตัวนั้น มีอยู่ถึง ๕ ตัวที่วัดครบทั้ง ๓ มิติของ engagement คือมิติ พฤติกรรม (behavioral)อารมณ์ (emotional), และความเข้าใจ (cognitive)

ตัววัด ๓ ตัวที่ทำโดยครู เป็นการวัดนักเรียนรายคน   และแต่ละตัวมีคำถามที่ซับซ้อน   เป็นตัววัดย่อย ซ้อนอยู่ข้างในตัววัดแต่ละตัว    อ่านแล้วเห็นชัดว่าเป็นตัววัดที่มีมานานแล้ว    และเป็นตัววัดเพื่อพัฒนา (formative assessment)   ทำไมวงการศึกษาไทยละเลยเรื่องนี้ก็ไม่รู้   น่าเสียดาย  

 

ตัววัดกลุ่มสุดท้าย สองตัววัดโดยสังเกตนักเรียนเป็นรายคน และอีกสองตัววัดโดยสังเกตห้องเรียน   ผมตีความเอาเองว่า ในบริบทไทยควรเป็น peer assessment โดยเพื่อนครูด้วยกันเอง  ผสมกับการสังเกตของ ผู้อำนวยการโรงเรียน   และของศึกษานิเทศก์    

ที่น่าสนใจคือ แต่ละตัววัดที่เขาเสนอมีผลงานวิชาการหรือผลงานวิจัยเป็นพื้นฐานทั้งหมด   เขาบอกว่า แต่ละตัววัดมีจุดแข็งและจุดอ่อน ต้องใช้ร่วมกันจึงจะให้ความหมายที่ครบถ้วน   และต้องเข้าใจวิธีวัดของตัววัดแต่ละตัว ซึ่งเขาสรุปมาให้ด้วย  

ผมคิดว่า นักการศึกษาไทย ที่มีบทบาทต่อการกำหนดระบบการศึกษาของชาติอยู่ในขณะนี้ ไม่อ่านเอกสารนี้ไม่ได้ 





วิจารณ์ พานิช

๑๙ มิ.ย. ๖๐



หมายเลขบันทึก: 630644เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2017 21:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กรกฎาคม 2017 21:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

I support this "...น่าจะวัด engagemet ของครู, ผู้อำนวยการโรงเรียน, ผู้บริหารเขตการศึกษา, และผู้บริหารในกระทรวงศึกษาฯ..." on 3 dimensions: performance (on standards/target, on time, and on budget); networking (ethics, roles, and community participation); and 'learning' (or self-motivation).

The repot (below) may provide some bases for measuring 'learning' (that 'engagement' is a factor): 

https://sdg.uis.unesco.org/201... A Pragmatic and Unified Approach to Measure Learning Globally
Posted on July 12, 2017 By Silvia Montoya, Director of the UNESCO Institute for Statistics.


<p></p>

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท