น้ำใจชาวชบา...นำพารอยยิ้ม ครั้งที่ 4 : ง่ายงามของกิจกรรมนอกหลักสูตรในแบบคิดไม่ออกให้บอก "สี"


ถามว่า – หากนิสิตไม่ไปซ่อมแซมและทาสี อีกนานแค่ไหนล่ะที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งชุมชนและภาคส่วนรัฐ-ท้องถิ่น หรือแม้แต่เอกชนจะเข้าไปดูแลเรื่องเหล่านี้ และยิ่งใกล้จะเปิดเรียนแล้วก็ยังไร้วี่แววการซ่อมบำรุง ยิ่งทำให้ผมผ่อนคลายสบายใจเข้าทำนอง “ทำเถอะ – ปล่อยไว้ก็ไม่รู้เมื่อไหร่ใครจะเข้ามาทำ” !

ตั้งใจจะเขียนถึง โครงการ น้ำใจชาวชบา...นำพารอยยิ้ม ครั้งที่ 4 มานานแล้ว แต่ยังไม่ลงตัวพอที่จะเขียนได้

โครงการดังกล่าวเป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรของสโมสรนิสิตคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมที่จัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 4 และปีนี้มุ่งสู่การ “บริการสังคม” บนฐานคิดของการใช้ชุมชนเป็นห้องเรียนและใช้กิจกรรมค่ายอาสาพัฒนา หรือการบำเพ็ญประโยชน์เป็นกลไกการขับเคลื่อน


อยากทำ : ใจนำพาศรัทธานำทาง

จากการพูดคุยกับ “เจ้านุ้ย” (จินดารัตน์ ประนนท์) นายกสโมสรนิสิตคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม ทำให้รู้ว่าเจ้าตัวและทีมงานอยากจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาชุมชน เพราะส่วนใหญ่แผนงานประจำปีที่มีอยู่ก็เวียนวนอยู่กับประเพณีนิยมในคณะ มีไม่มากนักที่จะออกเชิงสร้างสรรค์ในแบบการบริการสังคม

นอกจากนั้นก็มาจากการที่เจ้าตัวมีโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมในทำนองนี้ร่วมกับเพื่อนต่างคณะ หรือโครงการอื่นๆ ที่ออกไปช่วยเหลือสังคมและชุมชน จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำกิจกรรมบริการสังคมมากขึ้นเท่าตัว –

เป็น “ความอยาก” ในแบบ “ใจนำพาศรัทธานำทาง” ล้วนๆ 

เพราะ “เจ้านุ้ย” ยอมรับชัดเจนว่าตัวเองไม่ค่อยมีประสบการณ์ด้านนี้เลยก็ว่าได้ รู้แค่ว่า “อยากทำ และอยากทำ”

และอีกหนึ่งเหตุผลที่บอกกล่าวกับผมก็คือการตระหนักว่าในฐานะที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามมาตั้งถิ่นฐานในชุมชนขามเรียงก็อยากทำประโยชน์ต่อชุมชนแห่งนี้ด้วยตนเองอย่างเป็นรูปธรรมสักครั้งอย่างจริงๆ จังๆ จนเป็นที่มาที่ไปของการเลือก “โรงเรียนขามเรียงเขียบโนนแสบงดอนมัน” เป็นพื้นที่จัดกิจกรรม


โรงเรียนขามเรียงเขียบโนนแสบงดอนมัน เปิดทำการสอนระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษา ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2465 เดิมในอดีตมีชื่อว่าโรงเรียนประชาบาลตำบลท่าขอนยาง (วัดบ้านขามเรียง) กระทั่งปี พ.ศ.2485 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนบ้านขามเรียง (ขามเรียงวิทยาคาร) 

จวบจนวันที่ 29 เมษายน 2551 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนขามเรียงเขียบโนนแสบงดอนมัน และเคยกลายเป็นข่าวฮือฮาชวนอมยิ้มมาในช่วงหนึ่งผ่านจอทีวีและหนังสือพิมพ์ว่าเป็นโรงเรียนที่มีชื่อยืดยาวอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทย เพราะเป็นชื่อของหมู่บ้านในพื้นที่บริการของโรงเรียนจำนวน 4 หมู่บ้านนั่นเอง


ง่ายงาม : คิดอะไรไม่ออกให้บอก “สี”

โครงการ น้ำใจชาวชบา...นำพารอยยิ้ม ครั้งที่ 4 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29-30 เมษายน พ.ศ. 2560 ประกอบด้วยวัตถุประสงค์หลักสำคัญๆ เช่น ส่งเสริมให้นิสิตรู้จักการเสียสละการเป็นผู้ให้และรู้จักการแบ่งปันสิ่งของแก่ผู้อื่นและฝึกการนำหลักธรรมมาใช้ในการแก้ปัญหาชีวิตและสังคม

ในทางกิจกรรมก็เน้นกิจกรรมบริการสังคม หรือบำเพ็ญประโยชน์และสิ่งแวดล้อมแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อนให้เมื่อยหัวสมองมากนัก เน้นการทำงานที่ตนเองคิดว่าทำได้และทำได้ดีเป็นหัวใจหลัก เช่น ซ่อมแซมและทาสีอุปกรณ์ในสนามเด็กเล่น ม้านั่ง ศาลาพักร้อน ลาน BBL ซึ่งดูแล้วก็เป็นงานที่ไม่ยากเกินกำลังของนิสิต เข้าทำนอง “คิดอะไรไม่ออกก็บอกสี” นี่แหละ

ดยส่วนตัวผมนะ - ผมไม่ได้วิตกอันใดมากนักกับวาทกรรม “คิดอะไรไม่ออกก็บอกสี” ขอเพียงสิ่งที่ทำเป็นเรื่องจากเจตนาดี เป็นเรื่องที่ให้ประโยชน์แก่ผู้รับก็ยิ่งใหญ่พอตัวแล้ว 

ถามว่า – หากนิสิตไม่ไปซ่อมแซมและทาสี อีกนานแค่ไหนล่ะที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งชุมชนและภาคส่วนรัฐ-ท้องถิ่น หรือแม้แต่เอกชนจะเข้าไปดูแลเรื่องเหล่านี้ และยิ่งใกล้จะเปิดเรียนแล้วก็ยังไร้วี่แววการซ่อมบำรุง ยิ่งทำให้ผมผ่อนคลายสบายใจเข้าทำนอง “ทำเถอะ – ปล่อยไว้ก็ไม่รู้เมื่อไหร่ใครจะเข้ามาทำ” !

เฉกเช่นกับอีกประเด็นที่ผมสนใจคือความพยายามที่จะแนวคิดการทำเอา “หลักธรรม” เข้าไปใช้ในการจัดกิจกรรม นั่นคือ “สังคหวัตถุ 4” ที่ประกอบด้วยทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตา ซึ่งต่างยึดโยงอยู่กับหลักแห่งการให้และแบ่งปัน หรือการมีใจปรารถนาดีต่อผู้อื่นฉันญาติมิตร สอดรับกับเอกลักษณ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ที่พึ่งของสังคมและชุมชน) และอัตลักษณ์นิสิต (ช่วยเหลือสังคมและชุมขน) หรือแม้แต่ค่านิยมของนิสิต (MSU FOR ALL) ว่า “พึ่งได้” อันหมายถึงพึ่งตนเองได้และเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ –

ใช่ครับ- ทั้งปวงก็หลีกไม่พ้นเรื่องของจิตอาสา จิตสาธารณะ หรือการเป็นอาสาสมัครดีๆ นั่นเอง เพียงแต่มิได้สร้างการงานอันใหญ่โตหรูหรา ตรงกันข้ามกับเลือกที่จะทำงานง่ายๆ ไม่ซับซ้อนซ่อนปมใดๆ ให้เป็นภาระ หรือเกินแรงของตัวเอง ทว่าเน้นการทำงานบนฐานใจ เน้นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมอย่างเป็นทีม และเน้นการทำไปเรียนรู้ไปแบบไม่เขินอาย และไม่จิตตกว่าตนเองเป็น “มือใหม่” จนออกอาการขวยเขินที่จะแสดงพลังอันง่ายงามของตัวเอง


การมีส่วนร่วม : ความท้าทายที่ยังต้องท้าทายต่อไป

โดยสรุปแล้วการงานในครั้งนี้คืออีกหนึ่งความงดงามที่แสนง่ายงามของสโมสรนิสิตคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมนั่นเอง ที่เรียกว่าง่ายงามเพราะเป็นงานใหม่ที่ทีมงานไม่ค่อยสันทัดและมีประสบการณ์ในด้านนี้ เป็นความงามที่เกิดจากฐานใจที่ต้องการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยฯ

หรือแม้แต่เป็นความงามที่สามารถผนึกกำลังนิสิตจากทุกชั้นปีมาช่วยกันได้อย่างล้นหลาม --- มิใช่ปล่อยเป็นภาระของทีมคณะกรรมการบริหารองค์กร หรือแม้แต่การฝากหวังและกดดันให้น้องๆ ปี 1 เป็นผู้แบกรับชะตากรรมอยู่ฝ่ายเดียว

แต่ที่ผมให้ความสำคัญและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ “เจ้านุ้ย” เป็นพิเศษก็คือเรื่องของการสำรวจพื้นที่ เตรียมพื้นที่และการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับชุมชนผู้เป็น “เจ้าบ้าน” 

กิจกรรมครั้งนี้มีตัวตนของค่ายอาสาพัฒนาอยู่ในตัวอย่างเสร็จสรรพ ดังนั้นการสำรวจพื้นที่ ร่วมคิดร่วมตัดสินใจกับ “เจ้าบ้าน” ที่เป็นครู นักเรียนและชาวบ้านเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่น่าเสียดายว่าช่วงเวลาที่ไปสำรวจพื้นที่นั้นเป็นช่วงปิดภาคเรียนจึงไม่ได้พบเจอใครมากมาย เป็นการพบปะและร่วมตัดสินใจระหว่างนิสิตกับผู้อำนวยการโรงเรียนล้วนๆ

และจากนั้นก็ไม่ได้ลงชุมชนเพื่อประสานงาน ไม่มีการมาประชุมชี้แจง ทำความเข้าใจและเชื้อเชิญให้ชาวบ้าน หรือแม้แต่นักเรียนที่ปิดภาคเรียนได้กลับมามาร่วมด้วยช่วยกัน ดังนั้นกิจกรรมที่เกิดขึ้นเกือบทั้งหมดจึงกลายเป็นว่านิสิตคือ “เจ้าของ” หรือ “เจ้าภาพ” อย่างเสร็จสรรพ

ผมจะไม่พูดถึงห้วงเวลาเปิด-ปิดเรียนตามประชาคมอาเซียนให้เสียเวลา แต่กิจกรรมครั้งนี้ก็หยัดยืนในครรลองนั้น และอีกสักระยะถึงจะเปิดเรียน จึงไม่ใคร่แน่ใจนักว่ากว่าจะถึงวันเปิดภาคเรียน สิ่งที่นิสิตได้ซ่อมแซมจะได้รับการดูแลอย่างไร 

แต่ที่แน่ๆ ผมไม่ห่วงเรื่องการใช้ประโยชน์ เพราะช่วงเย็นๆ จะมีคนเข้ามาใช้บริการสนามกีฬาของโรงเรียนเป็นประจำอยู่แล้ว


ในทำนองเดียวกันนี้ ผมชอบเรื่องที่นิสิตไม่ค่อยมีประสบการณ์ในด้านซ่อมแซมและทาสีมากนัก แต่ก็ฉลาดพอที่จะขอความรู้จากช่างที่มารับเหมาก่อสร้างในโรงเรียนฯ ให้ได้ช่วยแนะนำ หรือแม้แต่ร่วมด้วยช่วยกัน ทั้งแรงคิด อุปกรณ์ และแรงกาย นี่คือการบูรณาการการทำงานที่นิสิตแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี



ท้ายที่สุด ...

ผมไม่แน่ใจนักว่าผลลัพธ์การเรียนรู้ที่เกิดกับนิสิตจะเป็นเช่นใดบ้าง นิสิตได้เรียนรู้กระบวนการทำงานอย่างเป็นทีม นิสิตได้เรียนรู้การบริหารงาน บริหารคน นิสิตได้เรียนรู้หลักการทำงานแบบมีส่วนร่วม หลักการสื่อสาร หลักการเรียนรู้ชุมชน หรือแม้แต่การบรรลุซึ่งวัตถุประสงค์โครงการที่ว่าด้วยเรื่องหลักแห่งการให้และการนำคุณธรรมมาใช้จริงในการพัฒนาตนเองและสังคม หรือแม้แต่บรรลุหมุดหมายเอกลักษณ์ อัตลักษณ์นิสิตและค่านิยมการเป็นนิสิตที่ดีมากน้อยแค่ไหน ---

รวมถึงการชี้วัดว่าการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเช่นนี้ ตอบโจทย์การเรียนรู้เชิงรุกในศตวรรษที่ 21 กี่มากน้อยกันแน่

ใช่ครับ ผมยังไม่ได้ถอดบทเรียนเชิงลึกกับนิสิตในกลุ่มทำงานนี้เลย แต่ยืนยันได้ว่าการงานในครั้งนี้เป็นงานง่ายงามที่ควรค่าต่อการนำมาเขียนไว้ไม่แพ้โครงการอื่นๆ

แต่ที่แน่ๆ ผลลัพธ์เชิงประจักษ์ก็แจ่มชัดว่าโรงเรียนและชุมชนได้รับประโยชน์จากสิ่งที่นิสิตได้ลงแรงกายและใจไปอย่างไม่ต้องสงสัย !!!!


หมายเหตุ

ภาพ : สโมสรนิสิตคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม

เขียน : 3 กรกฎาคม 2560

หมายเลขบันทึก: 630621เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2017 12:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2017 20:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เป็นกิจกรรมเล็กๆแต่งดงาม

เคยให้ชาวญี่ปุ่นทำกิจกรรมแบบนี้


5 ปี ผ่านไป ตอนนี้ชาวญี่ปุ่นกลับมาทำที่ไทยด้วย

คนนี้เลยมาทำที่เชียงใหม่


ขอชื่นชมนิสิตทุกๆคนครับ

ที่สร้างสรรค์สิ่งดีๆ

สนใจอ่านเพิ่มที่นี่ 555

https://www.gotoknow.org/posts/483088

ขอบพระคุณ ขจิต ฝอยทอง มากๆ นะครับที่แวะมาเสริมหนุนกำลังใจเด็กๆ

อย่างที่เราเข้าใจครับ การงานทุกอย่างมีนัยสำคัญของมันในตัวเอง วันและวัยของนิสิตยังต้องออกแรงให้ได้เหงื่อ พัฒนากาย ใจ สมอง อารมณ์คู่กันไป แต่ที่แน่ๆ การเรียนรู้ผ่านกิจกรรม PBL ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน จะช่วยให้นิสิตมีแรงบันดาลใจในการต่อยอดไปสู่กิจกรรมเชิงรุกที่ลึกซึ้งและซับซ้อนกว่านี้อย่างไม่ต้องสงสัย


นั่นคือสิ่งที่ผมเชื่อ.....ครับ



ชอบครับ วลี "คิดอะไรไม่ออกให้บอก สี" เพราะสีมันเปลี่ยนสรรพสิ่งให้ดูใหม่ ดูดี ได้ง่ายๆนี่เอง

-สวัสดีครับอาจารย์

-ตามมาส่งพลังใจและชื่นชมกับผลงานของน้องๆ ครับ

-บ่อยครั้งได้อ่านข้อความสั้นๆ "ใจนำพาศรัทธานำทาง"

-ชี้ชัดแจ้งเกี่ยวกับการเดินสายแห่งความดีเช่นนี้ครับ

-พลังกาย พลังใจ จงก่อเกิด..กับน้องๆ ทุก ๆคนครับ



เริ่มเล็กจากสิ่งที่ใช่ ลงมือทำแล้วสุขกายสุขใจ ถอดบทเรียนเมื่อไหร เชื่อว่าขยายต่อแนวคิดการมีส่วนร่วม "ตัดสินใจ" คือ การแสดงความเป็นเจ้าของ และการระดมทรัพยากร ระดมจิตใจ จะทำให้งานชิ้นหน้ายั่งยืน ยืนนาน ๆ

เดี๋ยว อ.แผ่นดินจัดให้ค่ะ น้อง ๆ ได้เรียนรู้แน่นอน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท