​จากเอาชนะปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ สู่ การมี EF แข็งแรง



วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ผมไปร่วม “เวทีวิเคราะห์สังเคราะห์บทเรียน การทำงานการทำงานสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนผ่านฐานการทำงานโรงเรียน” ที่จัดโดย สคส. สนับสนุนโดย สสส.


สสส. เลือกโครงการที่ประสบความสำเร็จสูง ๙ โครงการมาเป็นตัวอย่าง โดย ๓ โครงการสนับสนุนโดยสำนัก ๑ ซึ่งดูแลปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ สามโครงการนี้จัดการเรื่องเหล้า บุหรี่ และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ


อ่านเอกสารข้อสรุป และการแลกเปลี่ยนข้อมูลแล้ว ผมตีความว่า กระบวนทัศน์ที่ใช้ในการทำงานคุ้มครองเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพนี้ ทำโดยเน้นตัวปัจจัยเสี่ยง ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้ผลดีในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดำเนินการเชิงระบบ ในการลดความเย้ายวนต่อเยาวชน


นำไปสู่ความคิดว่า โครงการของ สสส. เน้นจัดการหรือปรับสภาพแวดล้อมของตัวเด็ก ซึ่งฟังจากข้อมูลในที่ประชุมแล้ว ได้ผลน่าชื่นชมมาก


แต่ผมคิดว่า ยังต้องทำความเข้าใจ และหาวิธีการสร้างความเข้มแข็งภายในตัวเยาวชน ในการทนต่อความเย้ายวน คุณสมบัตินั้นเรียกว่า Executive Functions and Self Regulation


ผมขอเสนอวิธีการเชื่อมจากโครงการควบคุมสิ่งแวดล้อมภายนอก สู่การพัฒนาความเข้มแข็ง ของจิตใจเยาวชนในการควบคุมพฤติกรรมของตนเอง โดยที่ผู้ดำเนินการโครงการ ฝึกทักษะการเป็น facilitator ของการไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection หรือ AAR) ร่วมกันของเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้จากโครงการถึงระดับ transformative learning คือเปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อ และกระบวนทัศน์ ซึ่งในกรณีนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงสร้างภูมิคุ้มกันภายใน ให้ไม่ตกเป็นเหยื่อของความเย้ายวน จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ซึ่งมองเป็นการเรียนรู้และพัฒนา “ทักษะชีวิต” ได้ด้วย


โครงการสร้างเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชน ควรเน้นทำเป็นกิจกรรมที่เยาวชนได้ “คิด-ทำ-คิด” คือผู้ทำโครงการทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้เยาวชนรวมทีมกันทำกิจกรรม โดยเขาคิดออกแบบกิจกรรมเอง แล้วทำเอง ตามด้วยการเก็บข้อมูลเอามา “คิด” แบบ “ไตร่ตรองสะท้อนคิด” หรือ “ใคร่ครวญ” หรือ “เพ่งพิศพินิจนึก” (reflection) สู่การเรียนรู้ภายใน เพื่อสร้างความเข้มแข็งภายใน เพื่อจะไม่เป็นเหยื่อของความเย้ายวน จากปัจจัยเสี่ยง


ผมได้เขียนบันทึกเรื่องวิธียั่วยุให้วัยรุ่นแข็งข้อต่อปัจจัยเสี่ยง ที่นี่


วิจารณ์ พานิช

๑ พ.ค. ๖๐

ห้องประชุม โรงแรมไอยรา ตึกช้าง


หมายเลขบันทึก: 629797เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2017 00:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2017 00:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท