บันทึกสำหรับพี่น้อย


“นี่เธอ ถ้าเธอเล่นทำงานกันแบบนี้ แล้วคนที่มาตามงานต่อไปเขาจะทำงานได้อย่างไร งานที่ผอ.จะต้องทำคือวันนี้ แล้วเธอมาเสนอเอาในวันนี้ เป็นใครเก่งมาจากไหนก็เตรียมตัวกันไม่ทัน ลองดูซิ หนังสือมันเข้าสำนักงานมากี่วันกันแล้ว ตอบมา.....”

ผมลองหลับตาแล้วนึกย้อนกลับไปถึงวันที่ได้ยินเสียงนั้นผ่านห้องทำงานของพี่กุญ มันทำให้ผมถึงกับตกใจและจิตตก ผมไม่เข้าใจว่าทำไม มันมีความผิดอะไรนักหนาที่ต้องทำให้หัวหน้าดุลูกน้องด้วยเสียงดังขนาดนั้น และผมก็ไม่เข้าใจว่า ต้องดุด้วยเสียงดังขนาดนั้นจริงๆหรือ

คนแบบนี้ ผมคงไม่คบด้วยแน่ๆ

............................................................................................................................................

มีเพื่อนร่วมงานกลุ่มหนึ่งขอให้ผมเขียนเรื่อง “พี่น้อย”

และผมก็รับปากไปโดยที่ไม่รู้เลยสักนิดว่าในตอนนั้น ว่าจะเขียนเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับ “พี่น้อย” เพราะจะว่าไป ผมเพิ่งจะเริ่มรู้จักมักจี่กับพี่น้อยได้เพียง ๕ ปีเท่านั้นเอง แต่เอาเถอะ ไหนๆก็ไหนๆ ผมจะพยายามลองนึกดูว่า พี่น้อยในสายตาของผมจะออกมาเป็นคนอย่างไร

...............................................................................................................................................

พี่น้อยในวัยสาว

ผมมีอายุน้อยกว่าคนต้นเรื่องมากนัก จะให้ย้อนกลับไปดูเจ้าตัวตอนวัยสาวก็คงจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เว้นเสียแต่ว่าจะไปนั่งสมาธิให้ถึงฌาน แต่ภาพสะท้อนบางอย่างทำให้ผมได้เห็นพี่น้อยในช่วงเวลานั้นได้พอเลาๆ

พี่น้อยเริ่มเข้ามาทำงานในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ตั้งแต่เริ่มเปิดโรงพยาบาลร้อยเตียงแรก ในสมัยที่ท่านอาจารย์อุดม ชมชาญ เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล พี่น้อยเล่าว่า อาจารย์อุดมเรียกเข้าไปพบแล้วถามมาว่า “เธออยากจะให้ผมสอนงานหรืออยากทำงานสบาย ถ้าเลือกแบบแรก เธอจะเหนื่อยมากนะ” รู้ใช่ไหมครับ ว่าพี่น้อยเลือกตอบข้อไหน

ผมก็ไม่รู้ว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายของพี่น้อยนะครับ ที่เลือกที่จะเรียนรู้งานจากการทำงานหนักตั้งแต่ครั้งนั้นมา เพราะจากนั้นไป ชีวิตของพี่น้อยก็เปลี่ยนไปจริงๆ ใครที่บอกว่าทำงานหนักในช่วงต้นแล้วจะสบายในบั้นปลายนั้นเป็นเรื่องจริง ผมก็จะบอกว่า อาจจะจริงบางส่วนและไม่จริงนักในหลายกรณี

ที่ว่าจริงนั้น ก็คือความสบายจากการชินต่อการทำงานหนักมาตลอดเป็นเรื่องจริง ไม่ว่าจะมีงานแบบไหนประเดประดังเข้ามา คนที่เคยทำงานมาก่อนก็จะทราบว่าควรทำอะไร อะไรต้องรีบ อะไรต้องผ่องถ่าย ความคิดความอ่านจะเป็นระบบ อันนี้ผมว่าทุกคนคงเชื่อว่า พี่น้อยก็เป็นเช่นนั้น

แต่ที่ผมรู้สึกว่าไม่น่าจะจริง ก็คือ ผมเห็นพี่น้อยทำงานหนักตลอดเวลา และไม่มีแนวโน้มที่จะสบายขึ้นเลยอย่างที่โบราณว่าไว้ นั่นคงเป็นเพราะเธอเลือกที่จะมาทำงานในโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลที่เพิ่งเปิดบริการเพียงร้อยเตียงแรก และกำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะเป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่โตที่สุดในภาคใต้ รักษาโรคต่างๆเก่งที่สุดในภาคใต้ มีอาจารย์แพทย์เก่งๆมากมาย เท่านั้นยังไม่พอ ระบบบริหารที่มีหมอมาเป็นผู้อำนวยการหรือหัวหน้าสายตรงของเธอนั้น ล้วนเป็นคนที่เก่งระดับเทพเบื้องบนทั้งนั้น ไหนจะขึ้นชื่อว่าดุเป็นเลิศก็มี สั่งงานยากๆตอนเช้าแล้วตามงานตอนบ่ายก็พบบ่อย (ว่ากันว่า ในสมัยที่ท่านอาจารย์วิจารณ์เป็นคณบดี พี่น้อยจะได้รับตลับเทปคาสเซ็ทที่บันทึกสั่งงานหรือคำแนะนำต่างๆจากท่านแทบจะทุกเช้า ประเภทที่ว่า เมื่อมาถึงโต๊ะทำงานก็จะต้องรีบถอดเทปกันทันที เพราะอาจารย์อาจจะตามงานในช่วงบ่าย) และเมื่อโรงพยาบาลเติบโตมาได้ระยะหนึ่ง ก็มีงานประกันคุณภาพเริ่มเข้ามาในระบบบริการของสถานพยาบาล ลองนึกภาพดูสิครับ ว่าโรงเรียนแพทย์ที่ได้รับการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (hospital accreditation) เป็นแห่งแรกได้นั้น คนทำงานจะเหนื่อยหนักกันเพียงไร และแน่นอนว่าหนึ่งในกุญแจแห่งความสำเร็จนั้นก็คือคนต้นเรื่องของผม “พี่น้อย”

ผมรู้จักพี่น้อยในวัยสาวเพียงเท่านี้จริงๆ

เธอจะสวยแค่ไหน ใครจะมาจีบเธอบ้าง แล้วทำไมเธอจึงเลือกสามีคนนี้ เธอมีลูกสาว ๒ คน (เออ...อันนี้รู้จักดีแฮะ) คนหนึ่งทำงานในสายการจัดการ (และจัดการงานได้เก่งแบบแม่) และอีกคนเป็นหมอที่กำลังศึกษาต่อในสาขารังสีวิทยา ผมคงรู้เพียงเท่านี้ รู้ไม่มาก เพราะในช่วงเริ่มต้นของการรู้จักกัน ผมไม่ชอบพี่น้อยนี่นา

พี่น้อยในวัยทำงาน

จะว่าไป ในช่วงวัยทำงานของพี่น้อยที่ผมรู้จัก ก็คงตั้งแต่โรงพยาบาลของเราเติบโตได้อย่างรวดเร็วและเต็มที่ มีคนไข้ไว้วางใจเข้ามารับการรักษามากมาย ตั้งแต่วันละหลักร้อย จนมาถึงตอนนี้ตัวเลขน่าจะถึงวันละสี่พันราย มีคนไข้นอกปีละหนึ่งล้านราย และมีคนไข้นอนโรงพยาบาลปีละเกือบห้าหมื่นราย

พี่น้อยในวัยนี้เหลือเค้าโครงอะไรให้ผมได้ติดตามบ้างหนอ ผมจะลองประติดประต่อดูนะครับ

โรงพยาบาลเปิดบริการในเฟสต่างๆมากขึ้น การบริการในส่วนของสายสนับสนุนก็ต้องเติบโตให้รวดเร็วตามการขยายตัวของบริการโรงพยาบาล ลองหลับตานึกภาพดูนะครับว่างานสนับสนุนมีอะไรบ้าง

งานบริการด้านเวชระเบียน ที่สมัยก่อนคนไข้ไม่กี่พันราย มาจนปัจจุบันขึ้นเป็นหลักล้าน มีช่วงที่ใช้แฟ้มเวชระเบียนเป็นกระดาษแข็งสีขาวๆเย็บมุมไว้ด้วยแม็กซ์ และเปลี่ยนมาเป็นแฟ้มกระดาษปกสีเขียว ทุกๆเช้าจะมีพนักงานขนแฟ้มกองมหาศาลไปกระจายยังห้องตรวจต่างๆ และรับกลับในช่วงบ่ายแก่ๆ จนมาถึงปัจจุบันที่ระบบเวชระเบียนได้เปลี่ยนเป็นระบบคอมพิวเตอร์ร้อยเปอร์เซ็นต์

การบริการอาหารหรือโภชนาการ ต้องให้บริการอาหารแก่คนไข้ในเป็นหลัก รวมถึงปัจจุบันต้องทำงานมากกว่าการเสิร์ฟอาหาร เช่น การดูแลโภชนาการคนไข้กลุ่มต่างๆเป็นรายโรค รายคน การสร้างนวัตกรรมต่างๆให้ทันต่อความทันสมัยทางการแพทย์ เป็นต้น

การบริการด้านผ้า การซักผ้า การส่งผ้าสะอาดไปยังหน่วยงานบริการปลายทาง เช่น หอผู้ป่วย ห้องผ่าตัด งานเวชภัณฑ์กลาง ผ้าห่อเครื่องมือประเภทต่างๆ

การบริการด้านเวชภัณฑ์กลาง ที่มีหน้าที่รับเครื่องมือแพทย์มาทำความสะอาด ให้สะอาดที่สุดในชีวิต (ขอเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า การทำให้ปราศจากเชื้อ) แล้วส่งกลับไปยังหน่วยบริการต่างๆทั่วโรงพยาบาล เช่น เครื่องมือผ่าตัด ชุดเครื่องมือเย็บแผล เครื่องมือทำคลอด และอื่นๆอีกมากมาย

การเงิน ที่ต้องจัดการด้านความมั่นคงและฐานะของโรงพยาบาลภาครัฐ ผมเชื่อว่าในยุคที่เปิดโรงพยาบาลช่วงแรกๆนั้น ระบบการเงินอาจจะไม่ซับซ้อนเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับในปัจจุบันที่มีระบบต่างๆมากมายที่มาข้องเกี่ยว การเบิกจ่ายเงินตามกองทุนต่างๆ ที่สุดแสนจะผันผวนประหนึ่งตลาดหุ้นประเทศไทย ส่งเบิกไปไม่ผ่านบ้าง ไม่จ่ายบ้าง ผิดเงื่อนไขบ้าง เป็นต้น (พอๆๆๆ นี่มันเรื่องพี่น้อย ไม่ใช่เรื่องการเมือง) มาจนถึงตอนนี้ที่โรงพยาบาลต้องดูแลเงินเข้าออกในระดับพันล้าน คิดตามทันไหมครับ ว่ามันยุ่งเหยิงขนาดไหน

งานที่ดูแลเรื่องสังคมสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาสและยากไร้ ที่ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สิทธิประโยชน์ผู้ป่วย” เป็นงานที่ขยายตัวและซับซ้อน นั่นเพราะระบบบริการที่ประชาชนทุกคน (ทุกชาติ ทุกประเภท สินะ) สามารถเข้าถึง และทุกคนจะถูกพ่วงด้วยสิทธิ์ประเภทต่างๆ และต่อเนื่องไปถึงการดูแลหลังจากออกจากโรงพยาบาล การเข้าพักในอาคารเย็นศิระ ล้วนเป็นงานของทีมนี้

นั่นเป็นงานของสายสนับสนุนทางการแพทย์ระบบหลักๆ ที่เติบโตมาพร้อมๆกับการบริหารงานของผู้บริหารโรงพยาบาล และแน่นอนที่ผู้ประสานเชื่อมต่อระบบต่างๆ ก็จะมีพี่น้อยท่านนี้นี่เองที่เป็นผู้ประสานงานมือฉมัง

เลขาฯโรงพยาบาล

ผมเองก็ชักจะไม่ค่อยแน่ใจ ว่าการเป็นเลขาฯของโรงพยาบาล กับเลขาฯของผู้อำนวยการ และหัวหน้าสำนักงานโรงพยาบาลนั้นแตกต่างกันแค่ไหน แต่ในมุมมองของผมนั้น ผมว่ามันคืออันเดียวกัน

ผมเข้าใจว่าพี่น้อยทำงานในตำแหน่งเลขาฯของโรงพยาบาล เพราะว่าเธอรู้เรื่องของโรงพยาบาลมากที่สุดคนหนึ่ง ผู้อำนวยการมาแล้วก็เปลี่ยนไป แต่เลขาฯโรงพยาบาลยังทำงานอยู่ที่เดิม เธอสามารถตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลได้เกือบทุกเรื่อง หรือหากว่าเรื่องไหนที่ไม่ทราบโดยตรงก็ยังทราบว่าควรไปถามใครต่อได้อีก

ผมเองก็ทราบพอเลาๆ ว่างานเลขาฯก็คงประมาณนี้ และคงเข้าใจแบบนี้ไปตลอดกาลจนกระทั่งความคิดเปลี่ยนไปเมื่อได้อ่านหนังสือ “เล่าเรื่องผู้นำ” ของท่านวิษณุ เครืองาม หนังสือที่ผู้เขียนบอกว่าจะเล่าเรื่องราวของนายกรัฐมนตรีท่านต่างๆ ที่เป็นเสมือนเจ้านายสายตรงของท่านในแง่มุมต่างๆ แต่ผมอ่านไปก็รู้สึกว่า นั่นคือการเล่าเรื่องหน้าที่การงานของท่านได้อย่างสนุกสนาน เคล้าด้วยมุมมองด้านต่างๆจากผู้นำแต่ละท่าน หนังสือเล่มนั้นทำให้ผมมองงานของเลขาฯ ไปในอีกรูปแบบหนึ่งเลยทีเดียว

มันคืองานที่ต้องใช้สมองและปัญญามากเอาการ ต้องใช้ความสามารถในการจดจำเรื่องต่างๆ ระเบียบหยุมหยิมของทางราชการ ต้องรู้กาละเทศะ ต้องรู้จักคน ต้องมีเครือข่ายภายนอกและภายใน และอีกหลายต้องที่ผมไม่สามารถบรรยายออกมาได้ทั้งหมด และผมเชื่อว่าผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ท่านใด ไม่มีเลขาฯน้อย ท่านนั้นคงลำบากเลือดออกทางตาแน่นอน

พี่น้อยมักจะบอกผมเสมอว่า พี่คือหัวหน้าสำนักงานโรงพยาบาล มันคือตำแหน่งงานที่เรียบง่ายในสายตาคนภายนอก แต่อย่าลืมว่า เรากำลังพูดถึงสำนักงานของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ที่ทำงานซับซ้อนระดับนานาชาติ หากสำนักงานไม่ทำงานแบบชุมทางรถไฟ งานคงสะดุด รถไฟเสียเวลา รถไฟคงออกไม่ได้ หรือกระทั่งรถไฟชนกัน (อันนี้ คงไม่ได้หมายถึงควงสาวมาชนกันหรอกนะครับ)

ผู้จัดการคุณภาพโรงพยาบาล ฟังดูก็รู้สึกงง ว่าพี่น้อยมาทำอะไรตรงนี้ เอาเถอะ ผมจะเล่าให้ฟัง

หากจะย้อนกลับไปถึงสมัยที่อาจารย์สุธรรมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ขณะนั้นโรงพยาบาลขยายขนาดเตียงได้เต็มที่ และกำลังจะเพิ่มเตียงในส่วนของอาคารเฉลิมพระบารมี งานหนักงานหนึ่งของทีมโรงพยาบาลก็คือ การขอรับการรับรองคุณภาพจากสถาบันพัฒนารับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ. ในขณะนั้น ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อมาเป็น สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล หรือ สรพ. ในปัจจุบัน) งานนี้เป็นงานใหม่

จะว่าไป คำว่าคุณภาพในคณะแพทย์สงขลานครินทร์ก็ไม่ใช่เรื่องที่ใหม่มากนักในตอนนั้น เพราะกระบวนการควบคุมคุณภาพของโรงพยาบาลและคณะได้รับการพัฒนามาตั้งนานก่อนหน้านั้นเสียอีก ไม่ว่าจะเป็น ๕ส QC QA และอะไรอีกตั้งหลายอย่าง แต่ครั้นจะให้ พรพ.เข้ามาประเมินนั้นมันกลายเป็นความท้าทายอย่างมากมาย นั่นเป็นเพราะ คนอื่นจะเข้ามาประเมินเรา เราต้องมาจัดการระบบของโรงพยาบาลให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานของสากล งานนั้นเรียกให้คนตื่นทั้งโรงพยาบาล ทั้งหมอ พยาบาล และคนทำงานระดับต่างๆ และด้วยความที่เป็นงานใหม่ พี่น้อยจึงต้องอยู่ในส่วนการประสานงาน

“พี่นี่อยากจะต่อต้านมากๆเลยรู้มั้ยอาจารย์ พี่ไม่ชอบ แต่ตอนนั้นมันจำเป็นต้องทำ เพราะระบบเราใหญ่ขึ้น ความปลอดภัยของคนไข้เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นถึงแม้จะเกลียดแค่ไหน เราก็ต้องทำโรงพยาบาลเราให้มีคุณภาพ” เธอเคยบอกกับผมในวันหนึ่งที่ผมรู้สึกว่า งาน HA นี่มันน่าเบื่อ มันเหมือนถูกบังคับจากคนอื่น

“พี่ว่าการทำงานในช่วงนั้นมันสนุกมากๆ ทุกคนมาช่วยกัน ทีมของเราดีมาก เราเหนื่อยกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารโรงพยาบาล คนทำงานระดับต่างๆ พอพี่ทำไปสักพักก็เริ่มเห็นด้วยว่า HA มีความสำคัญมากๆ ระบบเราที่ว่าดีๆนั้น ตอนนั้นมันยังมีช่องโหว่มากมาย” เธอยังเล่าต่อเมื่อเห็นว่าผมยังไม่คล้อยตามกับคำว่า “ดี” ที่เธอว่ามา

ผมเพิ่งมาเริ่มเห็นด้วยกับสิ่งที่พี่น้อยเล่ามา ก็เมื่อได้เข้ามาทำงานกับพี่น้อยจริงๆจังๆนี่เอง

และเมื่อผมต้องมาเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาล

ก็คงเป็นอย่างที่โบราณว่าไว้ เมื่อไม่ชอบอะไรก็คงต้องได้มันมา

ฮ่า ฮ่า ฮ่า อย่าเพิ่งคิดว่าผมไม่ชอบพี่น้อย จนได้พี่น้อยมานะครับ คิดผิดไปไกลเลยเชียว เพราะไอ้ที่เคยไม่ชอบพี่น้อยนั้นมันเป็นอดีตที่ผมไม่เคยรู้จักเธอต่างหาก ผมเริ่มมาพูดคุยกับพี่คนนี้ในช่วงที่เป็นรองหัวหน้าภาควิชาสูติฯ ในครั้งนั้น อาจารย์สุธรรมซึ่งกำลังเป็นหัวหน้าภาควิชา ได้ให้ผมอ่านงานวิจัยของพี่น้อย งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรื่องร้องเรียนซึ่งเป็นงานที่เธอได้ทำมาตลอดตั้งแต่เริ่มงานที่โรงพยาบาล และเรื่องร้องเรียนในยุคหลังๆล้วนซับซ้อนและรุนแรงขึ้นทุกวัน “การจัดการเรื่องร้องเรียน ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์” ซึ่งตีพิมพ์ในสงขลานครินทร์เวชสารในปีพ.ศ. ๒๕๕๕ (Songkla J Med 2012; 30: 277-85.) ที่หัวหน้าภาควิชาให้ผมอ่าน เพราะท่านคงอยากได้ประโยชน์จากงานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งเป็นการรวบรวมประสบการณ์แล้วนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและนำไปใช้ได้จริง (และก็ได้ใช้จริงๆเสียด้วย ทั้งเอามาจัดการเรื่องร้องเรียนขณะทำงานบริหาร และนำความรู้ชิ้นนี้ไปบรรยายในงานที่เขาอุตส่าห์เชิญให้ผมไปพูดอีกหลายครั้ง) การถูกให้อ่านในครั้งนั้นทำให้ความรู้สึกที่เคยไม่ชอบจากครั้งกระนู้นเริ่มคลายลงไป ไม่ใช่เพราะเนื้อหา แต่เป็นเพราะการได้พูดคุย

เอาล่ะ แล้วอะไรที่ว่าไม่ชอบแล้วได้มา ท่านว่ามันคือเก้าอี้บริหารโรงพยาบาลที่ต้องรับมานั่นไงขอตอบ....

เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕ พี่น้อยจึงได้มาเป็นผู้ปฐมนิเทศให้ผมอย่างเป็นทางการ

และนับจากนี้ไป ผมก็จะเล่าเรื่องราวของพี่น้อยผ่านสายตาของผมจริงๆเสียที (เกริ่นมาเสียยืดยาว)

ผมมานั่งวิเคราะห์ดูก็พบว่า งานของสาวต้นเรื่อง (ที่ดำเนินมาเกือบจะท้ายเรื่องแล้ว) คนนี้มี ๓ ประเภท คือ งานประจำวัน งานประจำปี และงานจร

งานประจำวัน คืองานหัวหน้าสำนักงาน (คือตำแหน่งที่เธอรักนักหนา)

งานหัวหน้าสำนักงานของเธอคือความสะดวกของผู้รับบริการ เอกสารต่างๆ การจัดเก็บและค้นหาคือนวัตกรรมของเธอ ถามอะไรมาตอบได้ หากจำไม่ค่อยได้ก็ใช้เวลาค้นหาได้อย่างรวดเร็ว การจัดวาระประชุมแต่ละครั้ง ผู้บริหารจะได้ข้อมูลสนับสนุนอย่างมากมาย จนช่วงแรกๆผมก็งง

“พี่น้อยครับ เรื่องทิ้งขยะนี่ทำไมมันมีรายงานหลายหน้าจัง ผมว่าเรากำลังจะพูดในเรื่องปัจจุบัน พี่เอาสิ่งที่เขาประชุมกันเมื่อ ๓ ปีที่แล้วมาให้ผมดูทำไมตั้งมากมาย” ผมบ่นออกไปประสาคนขี้เกียจอ่าน

“อาจารย์คะ อาจารย์กำลังจะประชุมเพื่อหาข้อสรุปของการแก้ปัญหา ซึ่งไม่ใช่เพิ่งแก้กันเมื่อวาน อาจารย์ต้องรีบอ่านสิ่งเขาเคยประชุมกันมาก่อนหน้า เพื่อที่จะได้เข้าใจที่มาที่ไป เวลาผู้ร่วมประชุมเสนอหรือแย้งมา จะได้ตอบเขาถูก” นั่นเป็นครั้งแรกๆที่เธอสอนงานผม และเอกสารที่เรียบร้อยทั้งหมดก็เป็นผลงานการจัดการของทีมงานเธอ แต่นั่นคงเป็นจุดอ่อนของตัวเธอเอง เพราะยิ่งเอกสารมากเท่าไหร่ ผู้บริหารขี้เกียจอ่านอย่างผมก็จะเดินไปหาแล้วบอกว่า “ป้า..ช่วยเล่าสรุปหน่อย” ทุกที

ในช่วงที่ผมมาทำงานในหน้าที่รองผู้อำนวยการนั้น พี่น้อยก็ถูกแต่งตั้งเป็นรองผู้อำนวยการเหมือนกัน ทั้งนี้คณบดีคงรู้ดีกว่าใครๆว่า เธอคนนี้จะสามารถดูแลงานบ้านงานเรือนของโรงพยาบาลได้อย่างดีที่สุด

อ่านไม่ผิดหรอกครับ “งานบ้านงานเรือน”

เธอถูกวางตัวให้เป็นแม่บ้านของโรงพยาบาล ดูแลความสะอาด ความเป็นอยู่ของคนที่มาใช้บริการของโรงพยาบาล ดูแลและประสานงานของระบบสนับสนุนต่างๆ ดังนั้นสิ่งที่เราสามารถเห็นได้จากสายตาก็คือ ความสะอาด แสงสว่างของโรงพยาบาลในตอนกลางคืน อาคารตรงไหนชำรุด รั่ว ลอก ถลอก พี่น้อยก็จัดการได้ (ฮ่า ฮ่า ฮ่า เธอเรียกคนมาช่วยทำครับ เรื่องนี้พี่น้อยจะเก่งมาก เบอร์โทรศัพท์ลูกน้องคนไหนพี่แกมีหมด และยังรู้ด้วยว่า เรื่องไหนจะต้องเรียกใครให้มาช่วย) สวนในโรงพยาบาลก็ได้รับการดูแล ตกแต่งให้ดูสดใส การปรับปรุงโรงอาหารของโรงพยาบาลเสียใหม่ ให้ดูสะอาด น่าเข้าไปนั่งกิน (แม้นว่าผู้คนจะล้นหลามเสียจนหาที่นั่งกินแทบจะไม่ได้ในเวลาเร่งด่วน) คณบดีในขณะนั้นถามผมว่า vision ของโรงอาหารแห่งนี้คืออะไร ผมตอบไม่ได้สิครับ

“โรงอาหารสาธารณะของภาครัฐที่ดีที่สุดในภาคใต้” คือคำตอบสุดท้าย และพี่น้อยก็เป็นหัวแรงหลักจนโรงอาหารของเราก็ได้เป็นอย่างที่เห็น

“คุณหมอธนพันธ์รู้มั้ย วันนี้ผมได้มานั่งทานอาหารมื้อเที่ยงที่โรงพยาบาลของคุณหมอ ผมว่ามันเป็นโรงอาหารที่เยี่ยมมากเลยนะครับ อาหารมีหลากหลาย สะอาดและราคาก็ไม่แพง ผมนี่มีความสุขมากเลย” วันนั้นหัวใจผมพองโต เพราะผู้ที่ชมโรงอาหารในวันนั้นคือ ศาสตราจารย์ผู้มีชื่อเสียงในสังคมท่านหนึ่ง คนอย่างท่านจะไปทานอาหารในร้านหรูที่ไหนก็ได้ แต่ท่านมานั่งกินมื้อเที่ยงในโรงพยาบาลของเราและรู้สึกชื่นชมมา เรื่องนี้ พี่น้อยคงยังไม่ทราบนะครับ

พี่น้อยยังคงเป็นถุงเงินของโรงพยาบาลด้วยนะครับ

สิ่งหนึ่งที่เป็นจริงก็คือ ทุกพื้นที่ของโรงพยาบาลคือเงิน พื้นทางเดินคือเงิน อากาศก็คือเงิน เอ๊ะ มันหมายความว่าอย่างไร

ผมกำลังจะบอกว่า พื้นที่ต่างๆของโรงพยาบาลที่ไม่ได้ใช้ในการรักษาพยาบาลนั้นคือพื้นที่ให้บริการทางธุรกิจ รายรับของโรงพยาบาลที่เกิดจากธุรกิจเช่าพื้นที่นั้นมีมูลค่ามหาศาล เค้าคิดเงินกันเป็นตารางเมตรรวมจุดทศนิยมกันเลยครับ พื้นที่ในโรงอาหารต้องมีการประมูล พื้นที่ตั้งร้านค้าต้องประมูล พื้นที่ตั้งตู้กดเงินต้องประมูล พื้นที่ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณโทรศัพท์ต้องประมูล ผมเคยนั่งสังเกตการณ์ช่วงเวลาที่จะมีการต่อสัญญาร้านค้าต่างๆ และพอจะเข้าในว่า “โรงพยาบาลได้ประโยชน์สูงสุด ผู้ประกอบการได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม” กฎเกณฑ์ ที่มาที่ไปของร้านค้า แนวทางการขึ้นราคาตั้งแต่ในอดีตจะถูกนำมาหารือกันก่อนในทีมบริหาร โดยมีเธอเป็นผู้นำเข้ามา และหลายครั้ง ผอ.ก็จะหันมาหารือ “น้อยว่ายังไง” แล้วข้อสรุปต่างๆก็จะลงตัวกันก่อนที่จะพบผู้ประกอบการ ฮ่าฮ่าฮ่า...ไม่ใช่ว่าเธอใหญ่ แต่นั่นเพราะเธอรู้ทุกเรื่อง

“คุณนายละเอียด” คืออีกชื่อหนึ่งที่ผมเอาไว้แอบนินทาเธอกับคนอื่นๆ

จะไม่ให้แอบเรียกอย่างนี้ได้อย่างไร ก็ในเมื่อวันหนึ่งผมได้เข้าไปนั่งสังเกตการประมูลผ้าที่จะต้องนำมาใช้ในโรงพยาบาล สำหรับผมแล้วก็คงคิดอย่างผิวเผินว่า การประมูลซื้อของน่าจะต้องลงเอยกันที่ราคาถูกที่สุด นั่นอาจจะถูกส่วนหนึ่ง แต่ส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ คุณภาพของเนื้อผ้า เชื่อไหมว่าเธอนั่งดูกันถึงรายละเอียดที่ว่า ผ้าทำจากอะไร การทอใช้เส้นใยกี่เส้น (เน้น..ใช้ใยกี่เส้น) ซึ่งมันจะทำให้ผ้ามีความคงทนแข็งแรง ในขณะที่ผ้าเช็ดตัวก็จะดูกันที่น้ำหนัก บางคนอาจจะคิดว่า ผ้าเช็ดตัวยิ่งหนายิ่งหนักยิ่งดี (ลองนึกถึงผ้าเช็ดตัวในโรงแรมหรูดูสิครับ....ว่าไป ผมไม่เคยนอนหรอก) แต่มีคำถามจากคุณป้าท่านนั้นว่า “จะหนักไปไหน เวลาซักแต่ละทีเค้าคิดค่าซักกันเป็นกิโล ยิ่งหนักยิ่งซักแพง” เอาไปนั่น ผมล่ะชอบจริงๆ

เธอละเอียดกระทั่งการชงน้ำชารับรองแขก

ผมว่าผมโชคดีมากที่ได้ไปนั่งทำงานในสำนักงานของเธอ เพราะน้ำชาที่ถูกเสิร์ฟทุกวันจะมีรสชาติกลมกล่อมมาก มันมีการผสมชาในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน บ้างก็เอาชาผสมดอกเก็กฮวย ใส่ใบเตย ผสมนู่นผสมนี่จนออกมาหอมถึงโคนลิ้นทีเดียว วันไหนไม่มีน้ำชา ก็มีน้ำผลไม้ปั่น สมู้ทตี้บ้าง น้ำพรุนบ้าง ก็เสาะหากันไป

มาถึงตอนนี้ ตอนที่ผมกลับไปทำงานที่ภาควิชาตามปกติ เมื่อเวลาคอแห้ง หรือหิว ก็ยังคงวิ่งลงมาที่ชั้น ๒ อยู่บ่อยๆ

งานประจำวันอีกอย่างที่จะลืมไม่ได้ของพี่น้อยก็คือ “เลขาฯ มูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์”

ไม่รู้จะบอกว่าเป็นบุญหรือเวร ที่พี่น้อยต้องมารับงานเลขาฯ ประจำมูลนิธิฯ ที่ว่าบุญนั้น เพราะมูลนิธิฯเป็นงานที่รับบุญ บุญจากการบริจาค บุญที่เงินนั้นได้ไปช่วยเหลือพันธกิจของโรงพยาบาล โดยเฉพาะการให้การรักษาผู้ป่วย พี่น้อยจะทำหน้าที่ในการดูแลและบริหารงานในมูลนิธิฯ และชื่อว่าพี่น้อย การทำงานที่ว่าก็คือการทุ่มสุดตัว และไอ้การทุ่มสุดตัวนี่เอง ที่ผมว่าเป็น “เวร” ของเธอ (ฮา....ขอขำหน่อย)

สำหรับมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ประธานโดยตำแหน่งก็คือคณบดี

อาจารย์สุธรรมได้คุยกับเลขาฯ ในเรื่องที่สำคัญเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ “ตราสารมูลนิธิ” เพราะขณะที่ท่านรับตำแหน่งนั้น มูลนิธิฯก็มีอายุการก่อตั้งมานานหลายปี ควรจะถึงเวลากลับมาดูตราสาร ปรับปรุงแก้ไขให้ทันสมัย เหมาะสม และมีความรัดกุมมากเพียงพอที่จะดูแลการรับ การใช้จ่ายเงินบุญก้อนนี้ให้ตรงตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค และเจตนารมณ์ของมูลนิธิฯ

งานนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมากครับ เพราะตราสารก็เสมือนรัฐธรรมนูญ ที่คอยกำกับทิศทางของมูลนิธิฯ ไม่ให้เฉไฉออกไปอย่างอื่น โปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่ต้องใช้จ่ายให้สมกับเป็น “เงินบุญ”

พี่น้อยใช้เวลาเป็นเดือนในการอ่าน ศึกษา และทำความเข้าใจในตราสารของมูลนิธิฯ เธอได้ติดต่อไปยังมูลนิธิฯโรงพยาบาลใหญ่ๆในกรุงเทพหลายแห่ง มูลนิธิฯที่ไม่ใช่โรงพยาบาลบางแห่งที่มีกิจการ มีชื่อเสียงในการจัดการ จากนั้นก็มาเริ่มลงมือแก้ไขร่วมกับคณบดี โดยมีที่ปรึกษาทางกฏหมาย มาช่วยเหลือเต็มกำลัง ผมเชื่อว่าในขั้นตอนนี้ต้องอาศัยเครือข่ายที่ดีมากครับ จึงจะสามารถจัดการเรื่องใหญ่โตแบบนี้ได้

“พี่อดหลับอดนอนมาเป็นเดือนนะอาจารย์ พี่อ่านทุกคำ ทุกวรรค พี่ต้องเข้าใจตราสารจนทะลุปรุโปร่ง เพื่อในวันที่จะมาเข้าประชุมรับรองโดยกรรมการมูลนิธิฯ พี่จะได้นำเสนอและตอบคำถามจากกรรมการได้ทุกคำถาม” เธอเล่าเรื่องช่วงเวลาที่เสมือนเป็นเวรกรรมของเธอที่ต้องมาอดตาหลับขับตานอนกับเรื่องตราสารฯ ให้ผมฟัง ฟังดูเหมือนเหนื่อย แต่แววตาที่เธอเปล่งประกายออกมาขณะเล่านั้น ผมแปลความไปถึงความภูมิใจจากผลงานที่ทำอย่างมาก ผมเชื่อว่าเธอเหนื่อยมากครับ ภาระและหน้าที่ของเลขาฯมูลนิธิฯ ก็คล้ายๆกับผู้จัดการ ผู้ดูแลเงิน ผู้ร่วมหาเงิน ผู้ร่วมบริหารเงิน (ผ่านความเห็นชอบจากกรรมการมูลนิธิฯ) เธอเต็มใจทำและรักงานนี้มากเพราะเธอบอกว่า “พี่เข้ามาช่วยบริหารเงินบุญของผู้มีจิตศรัทธาบริจาค” และเงินที่ผมกำลังเล่าให้ฟังอยู่ขณะนี้มีมูลค่าราวพันล้าน

จะว่าไปก็ใช่ว่าเธอจะมีความสุขจากการทำงานให้มูลนิธิฯแต่เพียงผู้เดียวนะครับ พวกผมก็มีความสุขเช่นเดียวกัน

งานประจำปี คืองานที่โรงพยาบาลหรือคณะแพทย์ต้องร่วมกันจัดการตามรอบปฏิทิน เช่น งานวันเด็ก งานวันปีใหม่ กีฬาสี และงานทำบุญโรงพยาบาล

อันที่จริงงานเหล่านี้ถูกจัดขึ้นมาทุกปี ไม่มีปีใหม่ที่ประเทศไทยไม่มีปีใหม่ (ใช่ไหม) แม่งานจะถูกหมุนเวียนให้หน่วยงานต่างๆได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพ แต่ที่ผมรู้สึกได้ว่า “งานทำบุญโรงพยาบาล” นั้น พี่น้อยจะมีความรู้สึก “อิน” มากเป็นพิเศษ

“ทำไมผมรู้สึกว่าพี่ดูจะทุ่มเทกับงานทำบุญโรงพยาบาลมากจัง มันก็เป็นการทำบุญไม่ใช่เหรอพี่” ผมถามออกไป ซึ่งพี่น้อยคงจะชินกับคำถามแบบนี้จากผมอยู่หลายครั้ง

“อาจารย์รู้มั้ย แต่ละปีมีคนมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเราเท่าไหร่” เธอตั้งคำถามออกมา ซึ่งแน่นอนว่าผมตอบได้อย่างมีชั้นเชิง “ราวพันคน”

“แล้วจิตหรือวิญญาณของคนไข้ที่เสียชีวิตนั้น เขามีที่ไปทุกคนรึเปล่า” เธอย้อนถามกลับมาอีก ซึ่งแน่นอนว่าผมหน้าจะออกอาการเอ๋อขึ้นมาจนเธอเล่าต่อไป

“ตอนที่เราเปิดบริการโรงพยาบาลไปได้ระยะหนึ่ง ตอนนั้นอาจารย์อุดมเป็นผู้อำนวยการ ท่านได้ปรารภเช่นนี้ มันจึงเป็นที่มาของการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาลของเรา และถือเป็นโอกาสที่ดีในการทำบุญให้โรงพยาบาลไปด้วยเลยทีเดียว” เรื่องราวแบบนี้ผมเองก็เพิ่งได้ทราบ แต่ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าทำไมพี่น้อยจึงให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษสำหรับงานนี้

“อาจารย์รู้ไหม ใกล้ถึงวาระทำบุญโรงพยาบาลทีไร พี่จะร้อนรุ่มทุกที มันเหมือนกับมีอะไรสักอย่างพยายามมาบอกมาเตือน จนบางครั้งพี่ต้องนั่งนิ่งๆและบอกไปว่า ไม่ลืมค่ะ ไม่ลืม” เอาล่ะสิ ป้าเล่นเล่ามาแบบนี้ก็ทำให้ผมขนลุกขึ้นมาผิวนูนเป็นตุ่มๆเชียว

ว่ากันว่า ใกล้ถึงงานบุญ เหล่าวิญญาณที่ยังคงตกค้างอยู่ในโรงพยาบาลจะร้อนรนมาก เขาอยากไป เขาอยากออก เขาต้องการผลบุญที่จะได้รับ และพลังงานแห่งความร้อนรนเหล่านี้จะส่งผ่านถึงใครคนหนึ่งซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก “พี่น้อย”

ในช่วงหลังๆ ผมก็เริ่มเข้าใจและสังเกตุเห็นจริงๆ

พี่น้อยจะขี้หงุดหงิด จิตใจจะร้อนรน (ซึ่งผมก็มักจะล้อเธอเสมอว่านั่นคือกลุ่มอาการวัยทอง)

พี่น้อยจะได้รับรู้อะไรแปลกมากมายในช่วงนี้ เช่น เสียงแปลกๆ กลิ่นแปลกๆ (ซึ่งผมจะแปลความไปว่า เธอกำลังกังวลเรื่องงานทำบุญมากเกินไป)

เราจะได้เห็นปรากฏการณ์แปลกๆเกิดขึ้น เช่น จู่ๆ กระถางธูปเกิดไฟลุกไหม้ขึ้นเอง (อันนี้ผมก็เห็นมาจากภาพที่เขาถ่ายส่งมาให้ดู) เหตุการณ์นี้สร้างความประหลาดใจให้กับผมและเธอมาก มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไอ้กระถางธูปที่มีลุกไหม้น่ะ มันเป็นโลหะนะครับ ไม่ใช่พลาสติก ว่าแล้วก็ดูเหมือนพี่น้อยจะนึกออก

“อาจารย์ พี่ว่ามันมีที่มานะ ปีนี้เราเลื่อนกำหนดการทำบุญออกไป เพราะว่ามีงานซ้อนทับกัน เราคงไม่ได้นึก ว่ามีคนรองานนี้อยู่มาก เค้าคงมาบอกเรา” เธอเล่าให้ผมฟัง ว่าแล้วก็ขนลุกซู่ขึ้นมาอีกรอบ

และผมก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในงานทำบุญใหญ่ของโรงพยาบาลในฐานะผู้บริหารจริงๆ เขาจัดงานกันได้อย่างดี มีความเชื่อหลายอย่างถูกส่งต่อกันมาและปฏิบัติอย่างเรียบร้อย เริ่มจากพิธีบวงสรวงพระพรหมของมหาวิทยาลัย เพื่อบอกท่านถึงงานบุญใหญ่ที่จะเกิดขึ้น งานนี้ผู้อำนวยการจะมาเอง จากนั้นก็จะไปกราบพระรูปพระราชบิดา ซึ่ง ๒ ขั้นตอนนี้จะต้องทำก่อนงานบุญ ๑- ๒ วัน และในวันงานก็จะมีพิธีสงฆ์ตามปกติ งานนี้เราในฐานะคนมาร่วมงานก็อาจจะรู้สึกเพียงแค่นั้น แต่ความละเอียดอ่อนต่อจิตใจมันเกิดขึ้นในหลายขั้นตอนมาก ตั้งแต่การจัดสถานที่ที่หลายครั้งจะมีภาคธุรกิจจากภายนอกเข้ามาขอมีส่วนร่วม ข้าวของที่หยิบยืมมาจากที่อื่นก็ใช้ของที่ดี สวยงาม นิมนต์พระที่มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาเป็นผู้สวด และที่ขาดไม่ได้คือ การเปิดโอกาสให้คนมาร่วมงานได้เขียนชื่อผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเขาใส่ลงพาน เพื่อจะได้เผาส่งผลบุญไปให้ในช่วงกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล งานนี้จึงได้รับผลบุญไปหลายจิตวิญญาณ ทั้งคนที่เสียชีวิตในโรงพยาบาล ญาติผู้ร่วมงาน (ชื่อพ่อของผมก็ถูกเขียนชื่อเผาส่งไปด้วย) และที่น่ารักมากๆอีกอย่างก็คือ สัมภเวสี หรือวิญญาณเร่ร่อนไร้ญาติก็จะได้รับการแผ่อุทิศผลบุญไปให้ด้วย

เห็นหรือยัง ว่างานนี้ส่งผลต่อชีวิตของคนต้นเรื่องผมมากขนาดไหน

งานจร คืองานไม่ประจำ หรืออาจจะประจำของคนอื่นแล้วหมุนเวียนมาถึงเรา

งานจรแต่ละงานมีความสำคัญแตกต่างกัน ซึ่งผมรู้สึกว่า จรแต่ละจรที่ผ่านมาในช่วงเวลา ๔ ปีนั้น ไม่ใช่จรธรรมดา ผมลองพยายามนึกว่ามีงานอะไรบ้าง

งานรับเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในพิธีเสด็จเปิดอาคาร “รัตนชีวรักษ์” ทรงมอบโล่แก่ผู้บริจาคเงินมูลนิธิฯ วางศิลาฤกษ์อาคารบริการวิชาการ พิธีทูลเกล้าถวายปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และการถวายพระกระยาหารเที่ยง เรียกว่างานเดียวที่จัดขึ้นนั้นเพื่อ ๕ งานย่อย

งานบริหารจัดการด้านบริการอาหารในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

งานอัญเชิญพระบรมสารีริธาตุที่ได้รับประทานจากสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

งานก่อสร้างศาลาประดิษฐานหลวงปู่ทวดและสร้างรูปหล่อหลวงปู่ทวด

เอาเป็นว่าผมจะเล่าเรื่องพี่น้อย เฉพาะ ๔ งานใหญ่นี้ก็แล้วกันนะครับ

งานรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

งานนี้จัดว่าเป็นงานใหญ่ที่สุดในสมัยคณบดีสุธรรม โดยมีพี่น้อยเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาล

ที่ผมว่าใหญ่ที่สุดก็เพราะว่าพระองค์เสด็จมาทรงงานตั้ง ๕ อย่าง คือการเปิดอาคารรัตนชีวรักษ์ และวางศิลาฤกษ์อาคารบริการวิชาการ ซึ่งงานนั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่ทางคณะฯและมหาวิทยาลัย ได้กราบบังคมทูลเพื่อขอชื่ออาคารจากพระองค์ผ่านทางสำนักพระราชวัง และคณะแพทย์ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่อมาให้ พร้อมทั้งพระนามย่อ “สธ” มาให้ด้วย จากนั้นเมื่อหมายกำหนดการออกมา ทีมงานก็เริ่มทำงานและนับถอยหลังไปด้วยกัน

แต่ทุกคนดูเหมือนจะตื่นเต้น ไม่รู้ว่าควรทำอะไรก่อนหลังดี พี่น้อยดูเหมือนว่าจะตั้งหลักได้ก่อนใครๆ นั่นไม่ใช่เพราะความเก่งอย่างเดียว แต่ด้วยความ “แก่” แก่งาน แก่วิชา แก่เครือข่าย รู้ว่าควรหารือใคร เชิญใครมาช่วยงาน มันจึงทำให้งานค่อยเริ่มมีรูปร่างเค้าโครง และทีมเริ่มออกตัวไปด้วยกัน ดีหน่อยที่ในตัวพระราชพิธีนั้น ที่ปรึกษาหลักก็คือกองราชพิธี และงานโยธาฯของสำนักราชวังได้ส่งคนลงมาเอง ปะรำพิธีเขาก็ลงมาติดตั้งให้ การซ้อมเข้าเอางานและเตรียมการร่วมฉายพระรูปก็มีคนลงมาซ้อมให้ ซึ่งช่วยพวกเราไปได้มาก (ผมรู้สึกว่าประเทศเรามีบุญ ที่มีคนอย่างคนในกองราชพิธี ในงานโยธาฯ มาช่วยทำงาน เพราะพวกเขาจะลงไปทุกที่ที่ท่านเสด็จ จัดงานได้อย่างสมพระเกียรติจริงๆ เจ้าของพวกเราจะได้รับการดูแลเรื่องความเรียบร้อยในทุกๆเรื่อง)

ในส่วนของการพระราชทานโล่ที่ระลึกแก่ผู้บริจาคเงินเข้ามูลนิธินั้น เป็นงานหลักของพี่น้อยจริงๆ เนื่องจากในช่วงเวลานั้น เธอได้ถูกพ่วงตำแหน่งเลขานุการมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ไปด้วย ดังนั้นการจัดการเรื่องผู้มีอุปการคุณจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกท่านที่มารับโล่ในวันนั้นจะต้องได้รับการเชิญและดูแลอย่างสมเกียรติด้วยเช่นเดียวกัน

พิธีทูลเกล้าถวายปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เป็นงานหลักของคณะแพทย์และมหาวิทยาลัยที่ต้องมาช่วยกันอย่างสุดแรง เพราะนี่คือการสรรเสริญพระองค์ท่านและเป็นเกียรติของคณะแพทย์อย่างหาที่สุดมิได้ เราเป็นคณะแพทย์แห่งแรกที่ได้ทูลเกล้าถวายปริญญาแพทยศาสตร์แก่พระองค์ท่าน ซึ่งสถานที่จัดงานคือโถงหน้าห้องประทับรับรอง ณ ชั้น ๑๑ อาคารเฉลิมพระบารมี เตรียมงานกันหลายเดือน เพื่องานที่เกิดขึ้นเพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง สิ่งที่เป็นเรื่องราวเบื้องหลังของหน้างานตรงนี้ก็คือ การจัดเตรียมห้องประทับให้พระองค์เพื่อเปลี่ยนฉลองพระองค์ ซึ่งนั่นเป็นห้องที่ถูกจัดเตรียมเอาไว้โดยเฉพาะอยู่แล้ว หน้าที่ของพวกเราก็คือ “จัดห้อง” ซึ่งเป็นงานที่ถนัดที่สุดของคุณนายน้อยนั่นเอง

ทีมงานของเธอถูกระดมขึ้นมาทำความสะอาด ปัดกวาดเช็ดถู งานนี้เก้าอี้สำหรับทรงประทับพักผ่อนได้ถูกจัดทำขึ้นมาใหม่ ครั้งแรกที่ผมเห็นด้วยตาก็รู้สึกได้ว่ามันสวยงาม ดูดีมีระดับชนิดขึ้นหิ้งได้

“อาจารย์รู้ไหม พี่ซื้อเก้าอี้ตัวนี้มาราคาเท่าไหร่” เธอถามออกมาขณะที่เดินไปตรวจงานด้วยกัน

“จะไปรู้ได้ไง ผมไม่ใช่พวกรักการเดินช๊อปปิ้งเสียหน่อย” ผมตอบออกไป เพราะสุดจะคาดเดา ส่วนเธอก็ยิ้มด้วยมุมปากแล้วบอกผมว่า “นี่คือเก้าอี้ที่เคยอยู่ในมูลนิธิไงอาจารย์ พี่เห็นว่ามันเริ่มเก่าแล้ว แต่โครงสร้างมันยังดีอยู่มาก เลยให้แม่บ้านของงานเคหะฯ คนที่มีความสามารถด้านเย็บเบาะ มาจัดการซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ อาจารย์ดูสิ นี่คืองานฝีมือของแม่บ้านโรงพยาบาลเราจริงๆนะ ส่วนหนังเก้าอี้ พี่เป็นคนเลือกเอง”

เรื่องรสนิยมนี่ต้องยกให้ท่านป้าคนนี้เลยนะครับ เชื่อผมเถอะ

ยังครับ เรื่องห้องน้ำก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเข้าไปเยี่ยมชม เพราะเราเองก็ไม่เคยรู้ว่าห้องน้ำในวังเป็นเช่นไร เราจะต้องจัดอย่างไร งานนี้แม่งานของเราเธอตั้งต้นอย่างเรียบง่ายครับ เริ่มต้นจากของใช้จำเป็นในห้องน้ำ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน หวี แป้ง ส่วนของเสริมเพิ่มเติมอื่นๆก็อาศัยการสอบถามเอา เช่น พระองค์ทรงโปรดโลชั่นหรือโคโลญจน์ยี่ห้ออะไร เราจะมียาอมชุ่มคอวางไว้ด้วยไหม แจกันดอกไม้ควรจะมีแค่ไหนและควรจัดวางตรงไหน พรมเช็ดเท้าขนาดเท่าไหร่ สีอะไร ทุกอย่างล้วนขึ้นตรงกับคำสั่งของเธอ

บางทีผมก็ทึ่ง บางทีผมก็ขำ เพราะในช่วงที่จัดห้องน้ำกันนั้น พี่น้อยเดินเข้าเดินออกอยู่หลายครั้ง ย้ายนู่นย้ายนี่หลายรอบ ดูเหมือนเธอจะไม่เคยพอใจในผลงานของตัวเองเลยสักครั้ง จัดไปจัดมา บางทีมันก็คือการจัดวางในรูปแบบแรกๆที่เธอจัดวางนั่นแหละ

แต่เชื่อผมเถอะครับ เราควรเชื่อและวางใจในรสนิยมของท่านป้าผู้นี้จริงๆ

ส่วนงานจัดถวายพระกระยาหารเที่ยง จัดขึ้นที่โถงห้องประชุมบนชั้น ๑๒ C อาคารเฉลิมพระบารมี งานนี้ผู้ร่วมโต๊ะเสวยก็คือวีไอพีของจังหวัด งานนี้ผมไม่ค่อยได้เข้าไปร่วมสังเกตุการณ์ แต่ได้รับรู้รายการอาหารต่างๆ ได้ลองชิมอาหารที่ฝ่ายโภชนาการของโรงพยาบาลจัดเตรียม เรียกว่าเป็นการซ้อมมือก่อนแสดงจริง บางรายการสั่งวัตถุดิบมาจากต่างจังหวัด (เราสั่งเส้นหมี่ปลามาจากนครศรีธรรมราช) แต่เมื่อครั้นลองปรุงแล้วกลับรู้สึกว่ามันไม่อร่อย จนท้ายที่สุด รายการอาหารจึงมีเพียง ๔ ชุด

ชุดแรกมียำสาหร่าย ข้าวห่อสาหร่ายไส้ปลาไหลกุ้ง

ชุดที่ ๒ มีข้าว ข้าวสวยผสมข้างสังข์หยด ข้าวมันไก่สีนิล

ชุดที่ ๓ ห่อหมกปลาอินทรีย์ กระดูกหมูอ่อนต้มใบชะมวง หมูค๊อง (เอ๊ะ หรือว่าควรเป็น หมูค้อง กันแน่นะ) ไก่ต้มนึ่งเกลือ หลนปู ผักสด

ชุดที่ ๔ ผลไม้ ไอศครีมน้อยหน่า เฉาก๊วย

งานนี้ผมทราบมาว่า ข้าวมันไก่ ได้มาจากร้านอาหารในโรงอาหารของโรงพยาบาลเราเอง (เห็นไหมครับ ห้องอาหารสาธารณะของภาครัฐที่ดีที่สุดในภาคใต้ตาม vision เลยไหม) เมื่อเจ้าของร้านเธอทราบว่าต้องทำอาหารถวาย เขาจึงไปสั่งให้เลี้ยงไก่ด้วยนมผง ซึ่งเนื้อไก่จะนุ่มกว่าปกติ ว่ากันว่า ขณะที่กำลังเสวยอาหารอยู่นั้น ได้มีองครักษ์ส่วนหนึ่งนำปิ่นโตลงมาที่โรงอาหารและขอซื้อข้าวมันไก่เพิ่มเพื่อจะพาไปเข้าวัง งานนี้คนขายน้ำตาไหลลงกี่หยดก็คงไม่มีใครนับ และเขาจะคิดเงินเท่าไหร่เชียวนะ ผมคาดว่าทุกคนคงจะเดาได้ดี

ยังครับ เบื้องหลังของการจัดงานจะไม่ครบรสหากไม่ได้เล่าเรื่อง “ดอกไม้”

เพราะเมื่อใกล้วันเสด็จก็มีปัญหาว่า ดอกไม้ในหาดใหญ่ไม่สวยถูกใจท่านป้าต้นเรื่อง ในช่วงบ่ายวันนั้นแกเลยจับเรือบินตราสิงโตขึ้นไปกรุงเทพ และทันทีที่ออกจากดอนเมือง เธอก็พุ่งตรงไปยังปากคลองตลาดพร้อมลูกน้องคู่ใจ เธอเดินดู เดินเลือกซื้อดอกไม้ตั้งแต่หัวค่ำ เลือก ต่อรอง วางเงิน แล้วไปเจ้าต่อไป ใช้เวลาแบบนี้เกือบถึงรุ่งเช้า จากนั้นก็เหมารถเพื่อนำดอกไม้ไปส่งที่ cargo แล้วก็เดินทางกลับ

นั่นคงเป็นมหกรรมเดินช๊อปปิ้งที่ยาวนานและทรหดเป็นที่สุดของคนๆหนึ่ง เดินตั้งแต่หัวค่ำยันรุ่งสาง แต่เธอทำได้ เพราะเธอเป็นผู้หญิง (ฮา.....) และเธอเป็นพี่น้อย (ฮา....อีกรอบ หารู้ไม่ คนนี้นี่แหละ นักช๊อปตัวแม่)

“มูลค่าการซื้อดอกไม้ในวันนั้น รวมกับค่าเรือบินไปกลับกรุงเทพ หาดใหญ่ ยังราคาถูกกว่าซื้อดอกไม้ในตลาดหาดใหญ่เสียอีก” เธอว่ามาอย่างนั้น และดอกไม้ก็ถูกบรรจงจัดวาง ตกแต่งอย่างดีจากทีมของตึกบริหารคณะแพทย์

ผมโชคดีจริงๆนะครับ ที่ได้ร่วมงานกับพี่ๆน้องๆกลุ่มนี้ เห็นทีมที่ดี เห็นฝีมือการทำงาน และเห็นน้ำใจซึ่งกันและกัน ส่วนพี่น้อยน่ะเหรอครับ เธอสลบไปได้เพียงครึ่งวัน ก็มาบัญชาการได้ต่อไป

งานนี้ผ่านไปด้วยดีครับ สิ่งไม่คาดฝันเกิดขึ้นหลายอย่างมาก และอีกไม่นานเราก็ต้องเตรียมรับเสด็จ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเป็นการส่วนพระองค์เพื่อทรงดูงานวิสัญญีของคณะแพทย์ ม.อ. ซึ่งงานนี้พี่น้อยก็คงอยู่ในฐานะเดิม ก็คือเป็นผู้ประสานงานในส่วนสถานที่ จัดห้องประทับ และห้องสรง

งานบริหารจัดการด้านบริการอาหารในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร งานนี้เป็นงานจรที่เราเคยทำกันมาเมื่อนานมาแล้ว แต่ร้างราไปนานจนลืม กระทั่งคณะทันตแพทย์บอกขึ้นมาในที่ประชุมว่า ขอเปลี่ยนงานดูบ้าง คราวนี้คณะแพทย์จึงได้มีโอกาสเป็นประธาน

ผมอยากจะเล่าให้เห็นภาพดังนี้นะครับ ในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรนั้น งานจริงจะมีเพียง ๒ – ๓ วัน และมีวันให้ซ้อมใหญ่อีก ๑ วัน อาหารที่ต้องบริการนั้น คือการบริการคนทำงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วันซ้อมไปจนถึงวันสุดท้ายของการรับปริญญา ลองนึกภาพนะครับ วันซ้อมใหญ่ใช้ ๓ มื้อ รวมถึงอาหารสำหรับกองกำลังรักษาความปลอดภัยในเขตมหาวิทยาลัยและศูนย์ประชุม ส่วนในวันรับปริญญาจริง เราต้องบริการอาหารแก่ตำรวจ ทหาร ที่ดูแลรักษาความปลอดภัยการเสด็จตั้งแต่สนามบิน เส้นทางเสด็จ สถานที่พระราชทานปริญญาบัตร ลองคิดดูว่า ต้องใช้อาหารแต่ละมื้อมากขนาดไหน ผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเราต้องเลี้ยงอาหารมากมายขนาดนี้ คำตอบก็ได้มาจากการไปประชุมที่จังหวัด เขามีข้อตกลงกันว่า ใครเป็นเจ้าภาพ ต้องดูแลเรื่องอาหารแก่คนทำงานที่เกี่ยวข้องทั้งจังหวัด “แม่เจ้า !” ผมอุทานออกมาเป็นภาษาบาลีในใจอยู่ ๒๘ รอบด้วยความไม่เข้าใจว่าทำไม

ปัญหาก็คือ อาหารปริมาณมากแบบนี้จะมีความยุ่งยากในการบริหารจัดการมาก ข้าวบูด ข้าวไม่พอ ข้าวเหลือต้องทิ้ง ข้าวไม่อร่อย และกำลังคนในการแจกจ่าย

ผมจำได้ว่า คณบดีพูดในที่ประชุมว่า “คณะแพทย์มีกำลังคน มีโรงครัวเป็นของตัวเอง มีโรงอาหารสำรอง และมีคนเก่ง” ท่านจึงอาสารับงานนี้มาทำ แล้วพี่น้อยกับพี่อึ่ง หัวหน้างานโภชนการคนเก่งของเราอีกคนก็เหนื่อยกันยกใหญ่อีกรอบ

ด้วยความสามารถของทั้ง ๒ ท่านที่กล่าวมา ทำให้เราจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาหารถูกสั่งมาจากหลายร้านค้า เลือกเมนูที่เสียยากบูดยาก ทนต่ออากาศร้อนอบอ้าวได้ดี ลองชิมมาแล้วต้องอร่อย (ย้ำ ลองชิมก่อนสั่งซื้อ) และเราจัดอาหารเพียง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของที่ควรจะต้องจัด หรือเรียกว่าน้อยกว่าที่ควรจะเป็นโดยให้โรงครัวของโรงพยาบาลและร้านอาหารในโรงอาหารเป็นเมนูสำรอง เรียกว่า ขาดเมื่อไหร่ เติมได้ทันที อาหารต้องไม่เหลือทิ้งขว้าง

“เราประหยัดเงินให้มหาวิทยาลัยได้เกือบ ๒ ล้านบาท” นี่คือการรายงานในที่ประชุมหลังจากเสร็จงานไปแล้ว

งานอัญเชิญพระบรมสารีริธาตุที่ได้รับประทานจากสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก งานนี้ไม่ใช่พี่น้อยเป็นคนไปรับอัญเชิญมานะครับ แต่ในเมื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้มีวาระที่จะประดิษฐานอยู่ในโรงพยาบาล ก็ไม่แคล้วต้องเป็นหน้าที่ของเธอในการจัดหาที่หาทาง

ที่มาที่ไปของการได้รับประทานพระบรมสารีริกธาตุนั้น ผมก็ยังรู้สึกงงงง แต่ศรัทธาเกิดเพราะทราบมาว่า เป็นการประทานมาจากสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งขณะนั้นพระองค์ยังทรงพักรักษาพระอาการอาพาธอยู่ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รู้กันว่าท่านมีพระอาการที่หนักมาก พูดไม่ได้ แต่พระองค์ยังทรงงานได้ (อย่าเพิ่งสงสัยไปมากกว่าผมนะครับ ว่าพระองค์ทรงงานได้อย่างไร ศรัทธาเท่านั้นที่จะลดความสงสัยลงได้)

พระบรมสารีริกธาตุเป็นพระธรรมธาตุ เสด็จมาเพื่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์จำนวน ๙ พระองค์

พี่น้อยเป็นแม่งานในการจัดการสถานที่ (นั่นไง งานถนัดของเธอจริงๆ) และด้วยบารมีส่วนตัวของคนแก่งาน ก็มีคนอาสามาช่วยมากมาย นั่นรวมถึงภาคธุรกิจจากภายนอกก็มาขอร่วมด้วยเช่นกัน

และครั้นเมื่องานอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเสร็จสิ้น หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน สมเด็จพระสังฆราชก็สิ้นพระชนม์ ในช่วงเวลาแห่งความเศร้านั้น ผมกลับมีความรู้สึกปีติบางอย่างเกิดขึ้น ผมรู้สึกว่าโรงพยาบาลของเราแสนจะโชคดีที่มีโอกาสได้รับประทานสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาจากพระองค์เอง (ผ่านการอัญเชิญมาด้วยมือของ แม่แก้วกัลยา ท่านที่ผมนับถือมากๆอีกท่านหนึ่ง)

พี่น้อยได้จัดสถานที่ประดิษฐานชั่วคราวไว้บริเวณโถงโรงพยาบาลด้านหน้า และมีสถานที่สำหรับให้คนอื่นๆได้มากราบไหว้บูชาตามศรัทธาของชาวพุทธ ถ้าใครสังเกตุก็จะพบว่า ดอกไม้บูชามีการถูกจัดวางสลับสับเปลี่ยนให้ดูดี สะอาด และดูสดอยู่ตลอดเวลา และในช่วงเวลานั้นก็มีการมาสวดมนต์ร่วมกันอยู่นานทีเดียว มีคนเล่าเรื่องราวในวงสวดมนต์ให้ผมฟังอยู่เรื่อยๆ

“น้องแป๊ะรู้ไหม ในช่วงบทสวดแผ่เมตตานะ สัตว์เล็กสัตว์น้อย ยุง มด แมงมุม แมลงต่างๆ จะเข้ามาในวงสวดมนต์จำนวนมากมายเลย มาวนเวียนไม่ได้มากัดต่อย พี่ว่ามันมารับส่วนบุญจากบทแผ่เมตตาแน่ๆเลย” นี่เป็นคำบอกเล่าจากรุ่นพี่ท่านหนึ่ง ซึ่งเธอเป็นสายสวดมนต์ ณ ที่แห่งนี้เหมือนกัน

“อาจารย์ คืนก่อนพี่เห็นอาจารย์.....เดินผ่านข้างๆกลุ่มที่พวกเราสวดมนต์กันด้วยนะ พี่รู้สึกแปลกใจ ว่าทำไมอาจารย์เหมือนคนปกติที่มีชีวิต พี่ไม่ได้รู้สึกว่าท่านเสียไปแล้ว พี่ไม่ได้รู้สึกกลัวเพราะท่านเสียชีวิตไปแล้วแม้แต่น้อย” นี่ก็มาจากอีกปากหนึ่ง

“อาจารย์ พี่เห็น.....มากราบพระบรมสารีริกธาตุ” เธอคนนั้นกำลังพูดถึงเพื่อนร่วมงานของผมซึ่งเพิ่งจากกันไปก่อนวัยอันควร ซึ่งเมื่อได้ยินดังนั้นก็รู้สึกปีติเกิดขึ้นทุกทีไป

ผมเคยมีโอกาสได้มองเข้ามาในผะอบที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในคราวที่เราต้องอัญเชิญท่านมาประดิษฐานที่ห้องทำงานคณบดีช่วงหนึ่ง เนื่องจากต้องจัดลานกิจกรรมในบริเวณหน้าโรงพยาบาล ในวันนั้นได้เห็นพระบรมสารีริกธาตุเป็นครั้งแรกในชีวิต ความตื่นใจอยู่ที่เราพบว่า ท่านเสด็จเพิ่มมาเป็น ๑๒ พระองค์ ทุกคนในที่นั้นต่างเห็นพร้อมๆกัน

หลายท่านอาจจะไม่เห็นด้วย ไม่เข้าใจ ไม่น่าเชื่อ แต่ผมบอกแล้วไงครับ “ศรัทธา” คือคำตอบสุดท้ายนั่นเอง

งานก่อสร้างศาลาประดิษฐานหลวงปู่ทวดและสร้างรูปหล่อหลวงปู่ทวด งานนี้เรียกว่าเป็นมหากาพย์ครับ

ทำไมน่ะเหรอ

แผนการในการสร้างรูปหล่อหลวงปู่ทวดและศาลาประดิษฐานมีมาตั้งหลายปีแล้ว ผมจำตัวเลขไม่แม่น แต่พอจะคาดเดาได้ว่ากว่า ๑๐ ปี ในตอนนั้นคณะแพทย์โชคดีมากที่ท่านเจ้าอาวาสวัดช้างให้ได้อนุญาตให้หล่อรูปหลวงปู่ทวดได้ (อันนี้ผมเรียกว่า หลวงปู่ทวดแห่งวัดช้างให้ เป็นลิขสิทธิ์ของวัดครับ ใครจะมาอ้างชื่อแล้วเอาไปหาประโยชน์ทางพาณิชย์ไม่ได้) และเรายังได้ท่านอาจารย์ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติมาช่วยออกแบบศาลาประดิษฐานหลวงปู่ทวดให้ด้วย แต่จนแล้วจนรอด โครงการนี้ก็ไม่สามารถไปถึงฝันได้ด้วยอุปสรรคต่างๆนานา และเมื่อครั้นอาจารย์สุธรรมเข้ามารับตำแหน่งคณบดี ท่านมีดำริว่าจะดำเนินโครงการนี้ให้เสร็จสิ้นเพราะว่าค้างหิ้งมานานมากแล้ว งานนี้เลยต้องใช้สรรพกำลังหลายอย่างมากทีเดียว ตั้งแต่การเข้าพบท่านอาวาสวัดช้างให้องค์ปัจจุบันเพื่อขออนุญาตหล่อรูปปั้นหลวงปู่ทวด การติดต่ออาจารย์ภิญโญอีกครั้งเพื่อดูและปรับเปลี่ยนแบบศาลาประดิษฐานหลวงปู่ทวด การขอความเห็นและฉันทามติจากกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ กรรมการประจำคณะแพทยศาสตร์ และขอความเห็นชอบจากมหาวิทยาลัย

ฟังดูเหมือนราบรื่น แต่ขอบอกว่า ทุกขั้นตอนล้วนยากเย็นหนักหนาสาหัส

ผมได้ร่วมสังเกตุ (อีกแล้ว) เวลาคณบดีเข้ามาพูดคุยเตรียมงานกับพี่น้อยแล้วก็รู้สึกทึ่ง ทึ่งในความวิริยะ อุตสาหะ การวางแผนดำเนินงาน ตั้งแต่การขอเข้าพบท่านเจ้าอาวาส การเตรียมรูปหล่อ การเตรียมเหรียญที่ระลึกจากการร่วมบริจาคเงินเพื่อสร้างศาลาฯ การจัดเตรียมสถานที่สร้างศาลาฯ และการทำพิธีวางศิลาฤกษ์

รูปหล่อหลวงปู่ทวด หล่อจากโรงหล่อที่ท่านเจ้าอาวาสไว้วางใจ เป็นองค์สีดำ

เหรียญที่ระลึกถูกจัดทำขึ้นมาหลายรูป ตามจำนวนที่ท่านเจ้าอาวาสอนุญาต ท่านยังย้ำเสมอว่า “ห้ามเป็นพุทธพาณิชย์”

และงานที่ต้องจัดการมี ๒ อย่าง นั่นคือการสมโภชน์รูปหล่อและเหรียญหลวงปู่ทวด และการวางศิลาฤกษ์เพื่อก่อสร้างศาลาฯ เอางานแรกก่อนนะครับ

ในวันที่มีการสมโภชน์นั้น ต้องมีการวางแผนงานกันอย่างดี ตั้งแต่การจัดเลี้ยง การเชิญแขกร่วมงาน การดูแลจัดการด้านสถานที่ การดูแลความปลอดภัยของเหรียญหลวงปู่ทวดที่จะได้รับการปลุกเสก เขาเล่ามาว่า ในพิธีการปลุกเสกพระนั้น จะมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาในงานมากมาย ทั้งคนดีและคนไม่ดี บางคนมาเพื่อที่จะขโมยพระที่ได้รับการปลุกเสกแล้ว ดังนั้นพี่น้อยจึงจัดทีม รปภ. ยืนเฝ้าหน้าวิหารหลวงปู่ทวดไม่ให้ใครที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าออก ฟังดูแล้ว ผมก็รู้สึกขำๆนะครับ ขำว่าทำไมจึงต้องทำกันขนาดนั้น มันอยากได้พระกันถึงกับต้องขโมยกันเลยหรือไง แต่ในวันงานจริงๆผมจึงเข้าใจ

เราออกเดินทางไปวัดช้างให้ตั้งแต่เช้ามืด (ซึ่งแน่นอนว่า คุณนายน้อยไปตั้งแต่ก่อนไก่ตื่นเสียอีก) บรรยากาศในบริเวณวัดช้างให้ดูพลุกพล่าน มีรถบรรทุกจอดอยู่ด้านในหลายคัน นั่นคือรถที่บรรทุกเหรียญที่จะมารับการปลุกเสก ซึ่งเป็นของเอกชนสายเซียนพระ สายสิญจน์ถูกผูกระโยงระยางไปทั่วทั้งลานจอดรถ ในเต๊นท์ ในวิหารหลวงปู่ทวด และในพระอุโบสถ

หลวงปู่ทวดองค์ของโรงพยาบาลประดิษฐานอยู่ในวิหาร ด้านหน้ารูปปั้นหลวงปู่ทวดของวัด มีการทยอยนำเหรียญเล็กๆน้อยๆ สร้อยคอห้อยพระมาฝากตั้ง รปภ.เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่บัดนั้น

วันนั้นเป็นวันเสาร์ ๕ วันที่เขาบอกมาว่า เป็นศิริมงคลมากที่สุดในรอบปี

ในช่วงเช้าจะมีการสวดมนต์บท “ภาณยักษ์” บทสวดที่เชื่อกันว่าช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป ฟังๆดูก็น่าจะเป็นการสวดมนต์ธรรมดาจากพระสงฆ์หลายรูปในพระอุโบสถ แต่ผมกลับรู้สึกว่ามันไม่ธรรมดา

จิตใจผมร้อนรุ่ม (สงสัย สิ่งชั่วร้ายที่จะถูกปัดเป่าออกไปนั้น คงจะเป็นผมเสียด้วยแล้วกระมัง) อากาศรอบข้างในบริเวณวัดมันร้อนอบอ้าว ปราศจากลม ผู้ร่วมพิธีต่างผันตัวเข้าหาพัดลม บ้างก็พัดด้วยตัวเอง บ้างก็ลุกขึ้นเดินออกจากเต๊นท์ไปหาร่มไม้ และผมก็รู้สึกว่า คงไม่เฉพาะผมกระมังที่ร้อนรุ่ม เพราะพระที่สวดมนต์ท่านก็คงจะร้อนรุ่มเช่นเดียวกัน นั่นเป็นเพราะว่า มีพระบางรูปเปล่งเสียงสวดออกมาแบบแปลกๆ จังหวะจะโคนแตกต่างจากรูปอื่น ส่งเสียงคล้ายคนโวยวายกระโชกโฮกฮาก

“นั่นพระจะต่อยกันมั้ย” ผมถามเพื่อนรุ่นพี่ที่อยู่ข้างๆ

“ไม่รู้สิอาจารย์ หรือว่าพระจะเป็นลม” กลายเป็นผมถูกถามกลับ

“ปกติบทสวดภาณยักษ์จะเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้แหละคุณหมอ ไม่รู้ว่าเป็นบทของพระ หรือเกิดอาการแบบนี้ขึ้นมาเอง ยักษ์จะมาทำร้ายพระพุทธเจ้าน่ะ จึงต้องออกแรงกันหน่อย” อดีตท่านผู้ว่าฯวินัย กรุณาเฉลยคำตอบให้ผมฟัง

พิธีสวดภาณยักษ์เลิกก่อนเที่ยง เพื่อให้พระได้ฉันภัตตาหารเพล รวมถึงเหล่าญาติโยมที่ต่างก็หิวโหยและเสียเหงื่อกันถ้วนทั่ว ผมสังเกตว่าพระทุกรูปก็ดูปกติดีอยู่ ไม่มีรูปใดทำท่าโกรธขึ้งใส่กัน ไม่มีใครส่อเค้าจะเป็นลมอย่างที่ได้ยินเสียงสวดเมื่อครู่

พิธีในช่วงบ่ายคือการสวด “มหาพุทธาภิเษก” ซึ่งเป็นการเสริมบารมี สร้างสิริมงคล การสวดรอบนี้จะต้องมีพระจำนวนหนึ่งเข้าไปนั่งสวดมนต์อยู่ในวิหารหลวงปู่ทวด ผมได้ยินเขาเรียกว่า “พระนั่งปรก”

ครั้นเมื่อเริ่มมีการสวดมนต์ผมก็ขนลุกซุ่ เพราะบทสวดที่พระเปล่งออกมานั้นช่างไพเราะจับใจ ท่านสวดไปได้ไม่นานบรรยากาศรายรอบตัวก็เย็นลง ครึ้มลง จากนั้นก็มีลมพัดกรรโชกมาอย่างไม่รู้ตัว มาจากทุกทิศทุกทาง ตามมาด้วยฝนกระหน่ำลงมาเหมือนลืมตกมาชาติหนึ่ง ในศาลาที่ผมนั่งไหว้พระอยู่นั้นเริ่มมีน้ำซึมเข้าทางขอบของหน้าต่าง หลายคนต้องย้ายที่นั่ง ผมหันมองออกไปด้านนอกก็พบว่า พื้นดินภายในวัดขณะนี้ ส่วนหนึ่งกำลังถูกน้ำท่วม

ฝนตกอยู่อย่างนี้สักระยะใหญ่ๆ และเริ่มซาลง ซาลง จนเกือบหยุดสนิทเมื่อพระสวดมนต์จบ ฟ้ากลับใสสว่างดังเดิม

นอกจากพื้นดินเปียกแฉะ เราแทบไม่รู้เลยว่า เมื่อครู่นี้มันเกิดอะไรขึ้น

มีรุ่นพี่เล่าให้ผมฟังว่า คนร่วมงานส่วนหนึ่งได้ออกจากวัดเพื่อไปไหว้เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ขากลับมาในช่วงบ่าย ได้สังเกตุเห็นว่า บริเวณวัดช้างให้ในขณะนั้นมีเมฆฝนปกคลุมและคงกำลังมีฝนตกหนัก มันน่าแปลกในที่ว่า “ฝนตกอยู่จุดเดียวนะอาจารย์ เมฆดำครึ้มกระจุกตัวตกเฉพาะที่วัดอย่างเดียวเลย” แล้วเขาก็ยื่นภาพถ่ายนั้นส่งมาให้เราดู

งานในวันนั้นเสร็จสิ้นลงอย่างเรียบร้อย ความชุลมุนเกิดขึ้นจริงๆในช่วงที่จะอัญเชิญรูปหล่อหลวงปู่ทวดออกจากวิหารมาวางบนรถเพื่ออัญเชิญท่านกลับมายังสงขลานครินทร์ มีคนจำนวนหนึ่งจริงๆที่พยายามจะเข้าไปในวิหารให้ได้ แต่ติดที่ รปภ.ของเราทำหน้าที่อย่างแข็งขัน

เล่ามาตั้งนาน แล้วพี่น้อยเกี่ยวอะไรนักหนา

จะว่าไปก็ไม่เกี่ยวมากเท่าไหร่ครับ แค่เป็นคนประสานงานระหว่างปัตตานีกับหาดใหญ่ ตั้งแต่การเริ่มเข้าพบเจ้าอาวาสจนกระทั่งวันนี้ เป็นคนจัดการเรื่องการสร้างเหรียญหลวงปู่ทวด เดินทางไปที่โรงหล่อ และจัดการให้เขาทำลายแป้นพิมพ์พระเมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้น จัดการเรื่องการกระจายเหรียญที่ระลึกไปยังผู้บริจาค ดูแลและเก็บรักษาเหรียญที่ทำด้วยทองคำ คอยดูแลท่านเจ้าอาวาสเมื่อท่านมารับบริการที่โรงพยาบาล จัดการอาหารในวันพิธีสมโภชน์องค์พระ ก็ไม่ค่อยมากหรอกครับ ใช่ไหม

และรูปหล่อหลวงปู่ทวดก็ได้มาประดิษฐานอยู่ในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และรอวันที่จะย้ายไปประดิษฐานอยู่ ณ ศาลาหลวงปู่ทวด ที่กำลังจะถูกสร้างขึ้นหน้าอาคารเฉลิมพระบารมี ซึ่งหลังจากที่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและขอฉันทมติจนได้รับความเห็นชอบแล้ว คณบดีและทีมงานจึงได้เริ่มคุยกับท่าน รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ เรื่องแบบของศาลาฯอีกครั้ง

“วิหารที่เราจะสร้างต่อจากนี้ไป จะเป็นศิลปะของภาคใต้อย่างแท้จริง ไม่เหมือนใครและจะไม่มีใครเหมือน” อาจารย์ภิญโญบอกกับพวกเราในตอนนั้น

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ วิหาร (หรือจะเรียกว่า ศาลา) สร้างเสร็จแล้ว และกำลังรอวันที่จะมีพระพุทธรูปที่ถูกออกแบบโดยอาจารย์ภิญโญอีกเช่นเดียวกัน ซึ่งตอนนี้กำลังสร้างแบบและหล่ออยู่ และเมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้นเรียบร้อย วิหารฯแห่งนี้จะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูป และรูปหล่อหลวงปู่ทวดต่อไป ซึ่งจะเป็นที่พักพิงทางจิตใจของเหล่าพุทธศาสนิกชน และเป็นสถานที่ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ต่อไปอย่างไม่รู้จบ

อ้าว....แล้วพี่น้อยมาเกี่ยวอะไร

ก็ไม่เกี่ยวมากนักหรอกครับ นอกเสียจากป้าแกเป็นเลขาฯมูลนิธิฯ และอย่าลืมว่า มูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์คือเจ้าภาพหลักในการก่อสร้าง เป็นผู้ประสานงานระหว่างผู้ออกแบบ ผู้ก่อสร้าง กับโรงพยาบาล ดูแลระเบียบการก่อสร้างให้ถูกระเบียบของทางราชการ การจัดการในงานพิธีวางศิลาฤกษ์ ผมนึกได้เท่านี้นะ

พี่น้อยทำงานหนักมาตลอดนะครับ

แต่ก็เป็นอย่างที่ท่านอาจารย์อุดม เจ้านายคนแรกได้บอกกับเธอเอาไว้ว่า “ทำงานกับผมจะหนักหน่อยนะ แต่ผมก็จะสอนงานให้”

.........................................................................................................................................................

ให้ตายเหอะ คนเราลองไม่ชอบอะไรดูสิ เดี๋ยวมันก็จะได้เจอ ได้ถูกทดสอบกันจนได้

นี่ผมต้องมาทำงานร่วมกับพี่น้อยเหรอเนี่ย ผมไม่ชอบป้าคนนี้ แกดุเกินไป ผมคิดว่า “ผมจะไม่คบกับคนๆนี้แน่ๆ”

แต่.....พี่น้อยครับ ช่วยอธิบายเรื่องนี้ให้ผมทราบอย่างรวดเร็ว กำลังจะต้องไปประชุม

แต่....พี่ หิวจัง

แต่....ป้า ไปกินข้าวเที่ยงกัน

แต่....พี่น้อย ป้ายหน้าร้านผมมันจะพัง พี่ช่วยแนะนำร้านไหนก็ได้ ให้ไปเอาลงให้ผมหน่อยได้ไหมครับ

แต่....ป้าครับ ช่วยหน่อย เรื่องร้องเรียนที่เข้ามานี้ คงเหลือบ่ากว่าแรงว่ะ

แต่.... ฮ่า ฮ่า ฮ่า ผมนี่ไม่อยากคบแกเลยจริงๆ

ธนพันธ์ ชูบุญเขียนเรื่องพิชยาอยู่ ๕ วัน

๘ มิถุนายน ๒๕๖๐

หมายเลขบันทึก: 629507เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2017 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2017 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

-สวัสดีครับอาจารย์

-ผมอ่านเรื่องของพี่น้อยแล้วสนุกแถมแฝงไปด้วยความรู้ต่าง ๆด้วยครับ

-โดยส่วนตัวแล้วผมชอบอ่านเรื่องสั้น และบันทึกนี้ก็ทำให้ผมได้อ่านและจินตนาการถึงคนต้นเรื่องนามว่า"พี่น้อย"ได้อย่างชัดแจ้งเลยครับ

-อ่านไปยิ้มไป นี่คือเสน่ห์ของการอ่านบันทึกที่ไม่มีภาพประกอบครับ

-จินตนาการถึงรูปร่างหน้าตาของคนต้นเรื่องไปด้วย แถมยังจินตนาการไปถึงสถานที่ต่างๆ ที่เธอทำกิจกรรมด้วยแล้วยิ่งเพิ่มอรรถรสในการอ่านครับ

-ขอบคุณอาจารย์ที่นำเรื่องราวของ"พี่น้อย"เอ๊ะ...หรือว่าผมควรจะเรียกเธอว่า"ป้าน้อย"ดีครับ...55

-ถึงอย่างไรก็ตามผมก็ชื่นชมในตัวของเธอครับ

-ด้วยความเคารพอาจารย์และตนต้นเรื่องครับ...

เพชรน้ำหนึ่ง

ขอบคุณที่อุตส่าห์อ่านนะครับ

จะเรียกพี่น้อย ป้าน้อย หรือยายน้อย ก็ตามแต่ความสะดวกและสถานการณ์ครับ

ขอบคุณมากค่ะอาจารย์ที่บันทึกเผยแพร่ เห็นความสุขรอบ ๆ ตัวคุณป้าน้อย และคุณลักษณะที่ดีมากมายของคน ๆ หนึ่งที่นอกจากทำงานเพื่อเลี้ยงชีพแล้ว ยังสร้างคุณค่ามหาศาลให้องค์กรและประเทศชาตินะคะ

เหมือนอ่านประวัติศาสตร์คณะแพทย์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ไปด้วยเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท