๕๕๒. น้ำใจเพื่อน...น้ำใจผู้ปกครอง


ผมนึกถึงเกษตรอำเภอ..ทุกวันนี้ยังมีอยู่ไหม.?.และเขามีหน้าที่อะไร.?.ถ้าภาระงานไม่มาก อยากแนะนำให้ลงพื้นที่ หรือเข้ามาดูและแนะนำให้โรงเรียนบ้าง....

“มีเพื่อนดีเพียงหนึ่งถึงจะน้อย ดีกว่าร้อยเพื่อนคิดริษยา”..ยังเป็นข้อคิดประจำใจผม ซึ่งมีเพื่อนไม่มาก..แต่ทุกคนที่คบ ผมพบแต่ความจริงใจ ไม่จำเป็นต้องหาเพิ่ม แต่เติมเต็มกำลังใจซึ่งกันและกันจะดีกว่า..

เพื่อนครู..ที่ผมประทับใจ ไม่เคยลืม..วันนี้มีโอกาสได้ไลน์คุยกัน..ขอแบ่งปันความรู้จากเธออยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องราวของ..เกษตรอินทรีย์..วิถีพอเพียง..

เราเคยเป็นครูโรงเรียนเดียวกัน..ปัจจุบันเธอย้ายกลับภูมิลำเนา แล้วสอบเป็นผู้บริหารโรงเรียน..พัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก จนได้รางวัลระดับชาติมากมาย นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์สูงกว่าโรงเรียนประจำจังหวัด..และโรงเรียนของเธอก็ถูกคัดเลือกให้เป็น “โรงเรียนดีศรีตำบล”

เธอชื่อ..ผอ.อัญชัญ ครุฑแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านป่ามะม่วง แห่งเมืองตาก..ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นหญิงเหล็ก..ผอ.แกร่งกล้าแห่งบ้านป่ามะม่วง..ทุ่มเทเวลาให้งานการศึกษาอย่างแท้จริง..

ผมติดตามผลงานเธอในเฟส..แทบไม่น่าเชื่อ..แปลงผักหลังโรงเรียนในพื้นที่กว่า ๔ ไร่ มีผักงดงามมาก แบบมืออาชีพ เกิดจากการดูแลเอาใจใส่ของนักเรียน..แต่ที่แน่ๆ อยู่ในการควบคุมและแนะนำการปลูกโดย ผอ.อัญชัญ.....

วันนี้..เธอไลน์มาถามผม..

“เปิดเทอมแล้ว เริ่มปลูกผักหรือยัง..” “ปลูกแล้ว”

“ถ่ายรูปมาให้ดูหน่อยซิ” ผมก็เลยถ่ายไปให้เธอดูทันที

“ทำไม..ผักมันขึ้นกระด๊อกกระแด๊กจัง” ผมไม่โกรธ ที่เธอพูดแบบนี้ แต่ก็โต้ตอบไป..

“ใครจะปลูกเก่งเหมือนเธอล่ะ..สามีก็เรียนจบเกษตรมาโดยตรง”

“ไม่เกี่ยวเลย..เราเรียนรู้มาจากพ่อกับแม่ ที่เป็นชาวไร่ชาวนา และที่โรงเรียนมีเกษตรจังหวัดเข้ามาแนะนำ”

เธอพูดจบ..ทำให้ผมนึกถึงเกษตรอำเภอ..ทุกวันนี้ยังมีอยู่ไหม.?.และเขามีหน้าที่อะไร.?.ถ้าภาระงานไม่มาก อยากแนะนำให้ลงพื้นที่ หรือเข้ามาดูและแนะนำให้โรงเรียนบ้าง....

ผมไม่ได้บอก ผอ.อัญชัญ ถึงสาเหตุที่ผักไม่งาม เนื่องจากรีบปลูก วันนั้น..ทีวีมาขอถ่ายทำแปลงเกษตร เพื่อดูการทำงานร่วมกันของนักเรียน จึงต้องเตรียมดินและหว่านเมล็ดให้เสร็จในวันเดียว.

“ทำใหม่เลย..ต้องกลับหน้าดินก่อน” “แล้วไง?”

“สับดิน แล้วตากดินไว้อย่างน้อย ๑ สัปดาห์ ให้ดินได้พัก” “ดินมีพักด้วยเหรอ?”

“อย่ากวน ฟังต่อ..หลังจากนั้น บำรุงดิน ใส่ขี้วัว ปุ๋ยคอก คลุกเคล้าเข้าด้วยกัน ทิ้งไว้ ๑ สัปดาห์ จึงจะเริ่มปลูก”

“ผักที่เหมาะกับหน้าฝน คือ บวบ ฟักทอง กระเจี๊ยบเขียว มะเขือ ผักกาดขาว”

มะเขือ ผักกาด เพาะกล้าหรือขุดหลุมหยอดก็ได้ ถ้าเพาะกล้าก็ย้ายลงแปลง ถ้ามีใบ ๒ ถึง ๓ ใบ”

“ถ้าลงแปลงแล้ว ก็ดึงต้นที่ไม่แข็งแรงทิ้ง..รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย”

“ในดินมีไส้เดือนบ้างไหม?” “ไม่มี”

“ดิน ถ้ามีไส้เดือนแสดงว่าดินดี หลักการดูดินง่ายๆ ถ้าดินดี ปลูกอะไรก็ดี” “ครับ”

“อย่าลืม..เอาดินคลุกขี้วัวสัก ๑ อาทิตย์ แล้วค่อยหยอด หรือปลูก” “ขอบคุณครับ”

คุยไลน์เป็นที่เรียบร้อย ผมรีบไปที่แปลงผักปลอดสารพิษทันที มีอยู่ ๓ แปลง..ผมรีบดำเนินการตามคำแนะนำ ๑ แปลง เป็นแปลงทดลอง หรือแปลงสาธิต..เพื่อเป็นตัวอย่างหรือสื่อแนะนำให้นักเรียนเข้าใจและปฏิบัติได้..ในวันจันทร์...

เย็นมากแล้ว..รีบเก็บเครื่องมือ..ผู้ปกครองขับรถเข้ามาในโรงเรียน บ้านอยู่ไม่ไกลโรงเรียนมากนัก มีอาชีพทำนาและปลูกอ้อย เคยมาขอพันธุ์ข้าวจากโรงเรียนไปปลูกเมื่อ ๒ ปีก่อน และทุกปีจะมาขอน้ำหมักชีวภาพ(อีเอ็ม) ไปขยายต่อเพื่อเป็นปุ๋ยในไร่อ้อย..ล่าสุด. เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี่เอง ผมให้ไป ๕ ขวด..ท่าทางเขาดีใจ และผมก็ภูมิใจ..ที่มีผู้ปกครองเห็นความสำคัญของเกษตรอินทรีย์

ผู้ปกครอง..ยื่นถุงพลาสติกให้ผม “ตอนนี้น้ำกำลังเข้านาเลยจับปลาช่อนได้เยอะ ทำปลาเค็มมาฝากครู ตอนแรกก็ว่าจะตากแดดเดียว..พอดีฝนตก..เลยตากซะหลายวัน”

“ขอบคุณมากนะครับ”

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๓ มิถุนายน ๒๕๖๐

หมายเลขบันทึก: 629267เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2017 22:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2017 22:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท