Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

มากำหนดสิทธิในสัญชาติไทยของบุคคลเกิดในไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ จากมารดาสัญชาติไทยและบิดาตามกฎหมาย ซึ่งเป็นคนต่างด้าวเกิดในไทยกัน ???


กรณีศึกษานางสาวสุนิสา

: การกำหนดสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติของคนเกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ จากมารดาสัญชาติไทยและบิดาตามกฎหมายซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปีการศึกษา ๒๕๔๙ ภาคฤดูร้อน

เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐

-------------

ข้อเท็จจริง

--------------

นายสุชาติ แซ่จึงเกิดเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๘ ที่ตำบลป้อมปราบศัตรูพ่าย อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย จังหวัดพระนคร จากนายเม่งอั้ง ซึ่งเป็นคนสัญชาติจีน และนางซิ้วเอง ซึ่งเป็นคนสัญชาติไทย

โดยที่ไม่รู้ว่า ตนมีสัญชาติไทยโดยการเกิด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ นายสุชาติ ซึ่งมีอายุประมาณ ๒๒ ปี ได้มีคำร้องลงลายมือชื่อนายสุชาติเพื่อขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และในปีนี้เอง ทางราชการได้ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้นายสุชาติ และนายสุชาติเองก็ได้ต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตลอดมาจนนายสุชาติมีอายุ ๓๐ ปี

ต่อมา ในราวปี พ.ศ.๒๔๙๕ นายสุชาติได้ไปร้องขอบัตรประจำตัวประชาชนสัญชาติไทยต่อเจ้าหน้าที่อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๖ โดยอ้างสิทธิตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.๒๔๘๖ และพระราชกฤษฎีการะบุท้องที่ให้บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในพระนครและธนบุรีมีบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.๒๔๙๕ แต่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่ยอมรับคำร้องของนายสุชาติ

ในที่สุด ในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๕ นายสุชาติจึงได้ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต่อศาลเพื่อขอให้ศาลนี้แสดงว่า ตนเป็นบุคคลสัญชาติไทย

ศาลทั้งสามชั้นพิพากษายกฟ้องนายสุชาติใน พ.ศ.๒๔๙๗

ปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนว่า ในปัจจุบัน แม้แพ้คดีในศาลดังกล่าว นายสุชาติก็ยังอาศัยอยู่ในประเทศไทยตลอดมาจนถึงปัจจุบัน และยังคงถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เขาได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติจีนโดยสำนักทะเบียนเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และยังปรากฏต่อไปว่า นายสุชาติก็ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีนแดง) หรือสาธารณรัฐจีน (จีนไต้หวัน) หรือไม่ปรากฏมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก

ในปัจจุบัน นายสุชาติก็ประกอบอาชีพเป็นคนทำอาหารจีนในภัตตาคารที่มีชื่อเสียงใน กทม. และสมรสตามกฎหมายไทยกับนางรัตนา คนสัญชาติไทย โดยการจดทะเบียนสมรสเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ บุคคลทั้งสองมีบุตรด้วยกัน ๑ คน กล่าวคือ นางสาวสุนิสา ซึ่งเกิดที่ กทม. เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๐

-------------

คำถาม

--------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า จะต้องใช้กฎหมายของประเทศใดในการกำหนดสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดของนางสาวสุนิสา ? และโดยกฎหมายนั้น นางสาวสุนิสามีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดด้วยข้อกฎหมายใด ? เพราะเหตุใด ?[1]

-------------

แนวคำตอบ

--------------

กรณีเป็นเรื่องการพิจารณาสิทธิในสัญชาติไทยของนางสาวสุนิสา จึงเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ย่อมเป็นไปตามกฎหมายมหาชนภายในของรัฐคู่กรณี เว้นแต่จะมีสนธิสัญญากำหนดเป็นอย่างอื่น

เมื่อไม่ปรากฏว่า มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ การพิจารณาสิทธิในสัญชาติไทยของนางสาวสุนิสาจึงต้องเป็นไปภายใต้กฎหมายไทย ซึ่งเป็นกฎหมายมหาชนของรัฐเจ้าของสัญชาติไทย กฎหมายไทยในที่นี้ ก็คือ กฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทยซึ่งมีผลในขณะที่นางสาวสุนิสาเกิด กล่าวคือ เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๐ ก็คือ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย ปว.๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕

โดยพิจารณากฎหมายไทยดังกล่าว เราจึงอาจมีความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในสัญชาติไทยของนางสาวสุนิสาใน ๔ ลักษณะ ดังนี้

ในประการแรก บุคคลที่เกิดในช่วงนี้จะมีสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาหากบุคคลนั้นมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้มีสัญชาติไทยในขณะที่เกิดตามมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม[2] แต่เมื่อรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า ในขณะที่นางสาวสุนิสาเกิด กล่าวคือ ใน พ.ศ.๒๕๓๐ นายสุชาติบิดาตามกฎหมายไม่มีสิทธิในสัญชาติไทยอีกต่อไปแล้ว จึงสรุปได้ว่า นางสาวสุนิสาไม่อาจมีสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา

ในประการที่สอง บุคคลที่เกิดในช่วงนี้จะมีสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาหาก (๑) บุคคลนั้นเกิดนอกประเทศไทย (๒) โดยมีมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทยในขณะที่เกิด และ (๓) ไม่ปรากฏมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายไม่มีสัญชาติตามมาตรา ๗ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม[3] ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า แม้จะปรากฏว่า มารดาของนางสาวสุนิสาเป็นคนสัญชาติไทย แต่เมื่อนางสาวสุนิสาเกิดในประเทศไทย และยังปรากฏมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย นางสาวสุนิสาจึงไม่อาจได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาตามมาตรา ๗ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม

แต่อย่างไร ขอให้ตระหนักว่า โดยผลของมาตรา ๑๐ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ บุคคลที่เกิดก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ โดยมารดาเป็นคนสัญชาติไทยในขณะที่เกิด ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดในวันที่ดังกล่าว ดังนั้น เมื่อพิจารณาปรับข้อเท็จจริงของนางสาวสุนิสากับข้อกฎหมายดังกล่าว จึงสรุปความเห็นได้ว่า นางสาวสุนิสาย่อมกลับมาได้สัญชาติไทยนี้เช่นกัน เพราะมีมารดาเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิด และสัญชาติที่ได้มานี้ มีสถานะเป็น “สัญชาติไทยโดยการเกิด” แต่จะใช้สิทธิได้เพียงตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นต้นมา

ในประการที่สาม บุคคลที่เกิดในช่วงเวลานี้จะได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลอัตโนมัติของกฎหมายตามมาตรา ๗ (๓) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม[4] หากมีข้อเท็จจริงครบ ๓ ประการดังต่อไปนี้ กล่าวคือ (๑) เกิดในประเทศไทย (๒) จากบิดาตามกฎหมายที่มีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย มารดามีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย[5] และ (๓) บิดาและมารดาต้องมิใช่คนต่างด้าว ซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องมิใช่บุคคลที่มีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ[6] ดังนั้น เมื่อพิจารณาปรับข้อเท็จจริงของนางสาวสุนิสากับข้อกฎหมายดังกล่าว จึงสรุปความเห็นได้ว่า นางสาวสุนิสาจึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดน กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๐ ทั้งนี้ เพราะ (๑) เธอเกิดใน กทม. ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย (๒) บิดาตามกฎหมายมีสิทธิอาศัยถาวรตามกฎหมายคนเข้าเมือง ดังจะเห็นว่า เขาถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) และ (๓) เธอไม่มีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวที่ฝ่ายหนึ่งมีสถานะคนต่างด้าวที่มีเอกสิทธิและความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ในประการที่สี่ บุคคลที่เกิดในช่วงเวลานี้จะมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนแบบมีเงื่อนไข หาก (๑) เกิดในประเทศไทย (๒) บิดาตามกฎหมายเป็นคนต่างด้าว หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏบิดาตามกฎหมาย มารดาเป็นคนต่างด้าว และ (๓) บิดาหรือมารดานั้น ตามแต่กรณี เป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองในลักษณะไม่ถาวร อันได้แก่ เข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต/เข้าเมืองชั่วคราว/เข้าเมืองผิดแต่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยชั่วคราว ซึ่งเงื่อนไขที่จะใช้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนจะเกิดขึ้นเมื่อมีคำสั่งอนุญาตโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อ ๒[7] แห่ง ปว.๓๓๗ ดังนั้น เมื่อพิจารณาปรับข้อเท็จจริงของนางสาวสุนิสากับข้อกฎหมายดังกล่าว เราจะพบว่า นางสาวสุนิสาไม่ตกอยู่ภายใต้ ปว.๓๓๗ เพราะแม้บิดาตามกฎหมายจะเป็นคนต่างด้าว แต่บิดาไม่มีสถานะคนต่างด้าวที่เข้าเมืองแบบไม่ถาวร ข้อกฎหมายนี้จึงไม่ส่งผลใดๆ ต่อนางสาวสุนิสา

จึงสรุปคำตอบได้ว่า โดยกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทย นางสาวสุนิสาจึงได้สัญชาติไทยโดยการโดยหลักดินแดนตั้งแต่เกิดใน พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นต้นมา และได้สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นต้นมา

----------------------------------------------



[1] ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปีการศึกษา ๒๕๔๙ ภาคฤดูร้อน

[2] ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด (๑) ผู้เกิดโดยบิดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย ……..

[3] ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ………..(๒) ผู้เกิดนอกราชอาณาจักรไทยโดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือบิดาไม่มีสัญชาติ ………..”

[4] ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ……………….(๓) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย

[5] เป็นไปตาม ข้อ ๑ แห่ง ปว.๓๓๗ บัญญํติว่า

ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น

(๑) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(๒) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ

(๓) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น

[6] ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๘ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม ซึ่งบัญญัติว่า

“ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวย่อมไม่ได้สัญชาติไทย ถ้าขณะที่เกิดบิดาหรือมารดาเป็น

(๑) หัวหน้าคณะผู้แทนทางทูตหรือเจ้าหน้าที่ในคณะผู้แทนทางทูต

(๒) หัวหน้าคณะผู้แทนทางกงสุลหรือเจ้าหน้าที่ในคณะผู้แทนทางกงสุล

(๓) พนักงานหรือผู้เชี่ยวชาญขององค์การระหว่างประเทศ

(๔) คนในครอบครัวซึ่งเป็นญาติอยู่ในความอุปการะหรือคนใช้ซึ่งเดินทางจากต่างประเทศมาอยู่กับบุคคลใน (๑) (๒) หรือ (๓)

[7] ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลตามข้อ ๑ ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว ไม่ได้สัญชาติไทย เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น

หมายเลขบันทึก: 629266เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2017 22:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2017 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท