พัฒนากระบวนการคิด มีจิตสาธารณะ : การทำงานเป็นทีม... สัมมนาสโมสรนักศึกษาคณะเทคโนโลยีการจัดการ มทร.อีสาน วข.สุรินทร์


การปรับทุกข์ บำรุงสุข กันและกันเสมอๆ อาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้พลังมันยั่งยืน รอยยิ้ม ไม่ได้เกิดขึ้นจากความสุขเสมอไป แต่รอยยิ้มที่มอบให้กัน ในวันที่ลำบาก จะเป็นรอยยิ้มที่ทรงคุณค่า น้ำตาที่ไหล อาจไม่ใช่แค่เวลาที่เศร้า แต่อาจเป็นน้ำตาแห่งความปีติสุข ในวันที่ผ่านพ้นความทุกข์ไปด้วยกัน

เราจะอยู่ร่วมกันฉันพี่น้อง

จะประคองกันไปให้ถึงฝัน

ถึงจะว่าอย่างไรว่าตามกัน

เรามุ่งมั่นมุ่งเน้นความเป็นทีม


การทำงานเป็นทีม เป็นสิ่งที่เราคาดหวังให้เกิดขึ้นกับคนไทยมาโดยตลอด เพราะเคยได้ยินได้ฟังมาว่า คนไทยเป็นคนเก่ง มีความสามารถมากในทุกๆศาสตร์ เสียอยู่เรื่องเดียวคือ การทำงานเป็นทีม อันเป็นพื้นฐานของความปรองดองที่รัฐบาลชุดปัจจุบันคงอยากเห็น (อันนี้ไม่ได้ค่าโฆษณา เมื่อไหร่จะเลี้ยงตั้งครับท่านผู้นำ)

ในยุทธศาสตร์การพัฒนานิสิต นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2560-2564 ของสำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ฉบับวันที่ 10 มีนาคม 2560 ได้กล่าวไว้ว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ การปลูกฝังให้นิสิตนักศึกษา ตระหนักและให้ความสำคัญในการพัฒนาความคิดของตนเอง บนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต – Global Mindset

กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ – Qualification Framework for Higher Education, TQF: HEd มุ่งเน้นแนวทางที่ครอบคลุมการพัฒนานิสิตนักศึกษาตามที่กำหนดมารตฐานผลการเรียนรู้ – Domains of Learning ประกอบด้วยคุณวุฒิ 5 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านคุณธรรม/จริยธรรม (2) ด้านความรู้ (3) ด้านทักษะทางปัญญา (4) ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ และ (5) ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยี โดยจำแนกเป็นทักษะวิชาชีพ – Hard Skills กับทักษะคนและสังคม – Soft Skills (ลองหาโอกาสหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ สกอ.)

คณะเทคโนโลยีการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ จัดสัมมนาคณะกรรมการบริหารสโมสรนักศึกษา พร้อมทั้งจัดทำแผนกิจกรรมพัฒนานักศึกษา เพื่อต้องการสร้างสัมพันธภาพระหว่างคณะกรรมการฯสโมสรนักศึกษาชุดใหม่ ระหว่างวันที่ 29-30 พฤษภาคม 2560 ณ ระเบียงแก้วมุกดารีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร มีคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ 5 คน และนักศึกษา 21 คน ผมได้รับหน้าที่ให้เป็นวิทยากรใน 3 หัวข้อ 1) การวางตัวเพื่อเสริมสร้างการเป็นผู้นำนักศึกษา 2) ผู้นำนักศึกษากับการทำงานเป็นทีม และ 3) กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์เพื่อการสร้างทีม

ในทีมวิทยากร มี ผมและครูชินกร พิมพิลา (ครูตุ๊กติ๊ก) เป็นผู้บริหารจัดการ จากโจทย์ที่ให้มา จากการพูดคุย กับเจ้าภาพ เป็นความต้องการพัฒนาทีม และสานสัมพันธภาพระหว่างทีมงานของคณะกรรมการสโมสรฯ ชุดใหม่ ความท้าทายแรกที่คิดไว้คือ เราต้องลองเปลี่ยนรูปแบบการสร้าง “ทีม” ที่เราใช้กิจกรรมนันทนาการเป็นหลักมาโดยตลอด “เสียงกลอง ทำนอง และเนื้อเพลง” เป็นจุดเชื่อมผสาน “เป้าหมาย” กับ “กิจกรรม” แต่เมื่อทำมาร่วม 10 ปี กลับเริ่มอิ่มตัวกับรูปแบบที่ทำกันมา เสมือนเป็นจุดเปลี่ยนของการใช้กิจกรรมนันทนาการเป็นหลักมาสู่การ “พัฒนากระบวนการคิด” บนฐานของการ “มีจิตสาธารณะ”

การวางแผนร่วมกัน 2 คน จึงพร่างพรูว่าเราจะต้องเปลี่ยน บนข้อจำกัดอีกเรื่องของทีมคือ การขาดมือกลอง ที่รู้ลีลาของพวกเรา เรามีมือกลองที่ช่วยสร้างสีสันมาตลอด แต่บางงานบางกิจกรรม ด้วยข้อจำกัดส่วนตัวของแต่ละคนในทีม เราจึงต้องแสวงหาแนวทางการสร้างและทำกิจกรรมที่ใช้กลองให้น้อยลงหรือไม่ใช้เลยก็ได้......... โดยยังคงเนื้อหา สาระและความบันเทิงเริงใจไว้ให้ได้ และการตกลงกันในทีมว่า รอบนี้ให้ “งด” ปรบมือรวมใจ ที่เราสานต่ออุดมการณ์รุ่นพี่ๆมาโดยมิขาด ครานี้ อาจต้องลอง “งด” ดูบ้าง

การให้น้องๆปิดตา เปิดใจ มากขึ้น การเรียนรู้ใจตนเอง และรับฟังเพื่อเรียนรู้คนอื่นให้มากขึ้น จึงเป็นแนวทางหลักของกิจกรรมทั้งหมดในครั้งนี้ การอยู่ท่ามกลาง "พลัง" ที่ถูกแฝงอยู่ของผู้นำ การ "ดึงพลัง" ของเขาออกมาเพื่อให้สามารถแสดง "ศักยภาพ" ได้อย่างเต็มที่ จึงเป็นหน้าที่ของ "เรา"

กิจกรรมเล่าเรื่องจากภาพถ่าย รู้เขา รู้เรา ต้องการการเรียนรู้เพื่อน พร้อมๆกับการเรียนรู้ตนเองที่ผ่านการกลั่นกรองความคิดว่า จะเล่าบอกเพื่อนว่าอะไรดี เป็นการเปิดใจเรียนรู้กันและกัน กิจกรรมเป็ดหาบ้าน อยากเห็นการทำงานเป็นทีมที่อาศัยพื้นฐานจิตใจของการมีส่วนร่วม “รักษ์” บ้านเกิดหรือชุมชนที่อาศัยอยู่ เพื่อหวังการวางแผนร่วมกัน กิจกรรมบ่วงพันธนาการ ก็เพื่อให้ทุกๆคนได้ ผสานพลังความคิด ตริตรอง และค่อยๆช่วยกันแก้ไขปัญหา

กิจกรรมหลักที่ใช้เป็นกระบวนการพัฒนาทีม เน้นการ “คิด เขียน พูด” เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะที่เห็นต่างและเห็นตาม โดยการเขียนเรื่องราวใน “อดีต” ของสโมสรฯ ในมุมมองของตน ทั้งเรื่องที่ดีและเรื่องที่อยากให้ปรับปรุง จากนั้นก็เป็นการเขียน “เล่า” เรื่องราวใน “ปัจจุบัน” ของ “ทีม” ที่คิดว่า “เด่น” และ “ด้อย” หรือจุดแข็งและจุดอ่อน เพื่อเล่าให้กันฟังอย่างเปิดใจ ตามด้วย “อนาคต” ที่ทุกคนอยากเห็น ผ่าน โอกาสและแนวทางการพัฒนา คล้ายๆการวิเคราะห์องค์กร ผ่าน SWOT แต่ที่ยังขาดอยู่คือการถามถึง “อุปสรรค” หรือความท้าทาย เพราเวลามีจำกัด

และกิจกรรมในช่วงสุดท้ายคือ “สัมปทานพื้นที่” ซึ่งเป็นการจำลอง “บทบาท” ผ่าน “หน้าที่” ที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก จากนั้นผ่อนคลายด้วยกิจกรรม “วาดภาพเพื่อน” เพื่อนสลายกำแพงของดวงตา เพื่อผ่านไปยังดวงใจอันเข้มแข็งของทีม อันอิงกติการ่วมกัน เพื่อมีสัตย์อันเป็นเป้าสำคัญ

เวทีพูดคุยในวงสุดท้าย เป็นการ “เขียน” เล่าความรู้สึกว่า 1 วันที่ผ่านมา รู้สึกอย่างไร ทุกคนดูจะชอบการเขียน เขียน เขียน ความรู้สึกลงไป... แล้วก็สรุปการทำกิจกรรมร่วมกับวิทยากร 1 วัน โดยให้นายกสโมสรฯ เป็นผู้กล่าวสรุป โดยมีเงื่อนไขว่า ไม่ต้องกล่าวถึงวิทยากร........ นายกฯ กล่าวได้จับใจมาก โดยเฉพาะประโยคเด็ดที่หลวมรวมความรู้สึกทุกๆคนไว้ด้วยกันที่ว่า “ทุกๆคน อย่าทิ้งผมนะ

บันทึกเรื่องนี้ดูจะยาวไปสักหน่อย เพราะต้องการบันทึก “ความทรงจำ” ดีๆที่ได้ร่วมกันทำงาน วิทยากรเองก็ประเมินและเตรียมแผนมามากกว่านี้ แต่เมื่อทางคณะเจ้าภาพส่งกำหนดการมาให้ เราจึงถอนกิจกรรมหลายอย่างออกไป กระบวนการที่ตั้งใจจะทำ “แผน” จึงเป็นหน้าที่ของคณะเจ้าภาพในวันพรุ่งรุ่งขึ้น

การไปช่วยกันทำงานครั้งนี้ ก็ได้เจอกัลยาณมิตรที่ดี เจอสหายเก่าอย่าง อาจารย์คอส ผู้เชื้อเชิญให้ไปร่วมงาน ได้เจอ “พลัง” ของหนุ่มสาวนักกิจกรรมที่มุ่งมั่น แต่ยังขาดการเชื่อมใจผสานพลังอันทรงคุณค่า ครั้งนี้ จึงถือว่าไปช่วยทำให้พลังถูกจุดขึ้น แต่จะมอดไวหรือยั่งยืน คงขึ้นอยู่กับ “ทีม” สโมสรฯ และคณาจารย์ที่จะช่วยประคับประคองกันไปถึงฝั่งฝันหรือไม่? ความท้าทายนี้ เป็นความท้าทายที่สวยงาม

การปรับทุกข์ บำรุงสุข กันและกันเสมอๆ อาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้พลังมันยั่งยืน รอยยิ้ม ไม่ได้เกิดขึ้นจากความสุขเสมอไป แต่รอยยิ้มที่มอบให้กัน ในวันที่ลำบาก จะเป็นรอยยิ้มที่ทรงคุณค่า
น้ำตาที่ไหล อาจไม่ใช่แค่เวลาที่เศร้า แต่อาจเป็นน้ำตาแห่งความปีติสุข ในวันที่ผ่านพ้นความทุกข์ไปด้วยกัน


ผมทิ้งท้ายไว้ว่า กระบวนการที่ทำมาทั้งวัน จนค่ำคือ การคิด การพูด การคุย การเปิดใจ......แต่สิ่งที่เหลือคือ การลงมือปฏิบัติ ที่จะเกิดจากแผนงานที่จะร่วมกันวางไว้................ ขอให้กำลังใจที่จะลงมือ “ทำ” เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของ “ทีม”





ณ มอดินแดง

31 พฤษภาคม 2560



หมายเลขบันทึก: 629063เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2017 17:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2017 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณบันทึกดี ๆ ครับ

เปิดใจรับสิ่งใหม่ ทำให้เราเรียนรู้ได้อีกมากมาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท