๕๔๘. PLC...ทุกที่ทุกเวลา..ไม่มีขีดจำกัด


PLC ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะการกระทำที่แสดงถึงการแบ่งปันหรือการแลกเปลี่ยนของครู แต่มุ่งเน้นให้ความสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน ความจริงใจของสมาชิก และการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในโรงเรียน

ผมไปร่วมการอบรม PLC ที่เขตพื้นที่การศึกษา หลังจากที่ศึกษาด้วยตนเองมานาน สิ่งที่รู้มาก่อนก็คือ PLC ไม่ใช่วิธีสอน แต่เป็นกระบวนการทำงานการศึกษา....

ความรู้ที่ได้รับจากห้องประชุม..ก็ไม่ได้เหนือความคาดหมาย เป็นที่รู้และทำกันอยู่ของครูรุ่นเก่า จะว่าไป..ก็เหมือนนำหลักสูตรและวิธีสอนมาปัดฝุ่น และเมื่อทำอย่างเป็นระบบและมีกระบวนการขั้นตอน..จึงหมายรวมถึงการบริหารจัดการได้อย่างหนึ่ง ที่เป็นการบริหาร เพื่อ ”คุณภาพ” ผู้เรียน..

ผมทำ..PLC กับครูบ่อยมาก..เห็นได้จากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทั้งการอ่านและโอเน็ต แต่..ในความจำกัดของบุคลากรและเงื่อนไขเวลา ตลอดจนปัญหาของผู้เรียนมีไม่มาก..ทำให้ผมกับครู มุ่งสู่เป้าหมายด้วยเส้นทางลัด..อันนี้ก็ต้องหันกลับมาทบทวน..

PLC..ของผมผ่านกิจกรรมนิเทศภายในและประชุมวิชาการ..เดือนละ ๒ – ๓ ครั้ง..และทุกครั้ง ก็จะถกปัญหา และหารือถึงข้อที่ต้องแก้ไข..ด้วยการใช้คนเข้าไปร่วมด้วยช่วยกันและใช้นวัตกรรมที่มีทั้งเครื่องมือและวิธีการ..

กระบวนการPLCที่ผมทำ..แลกเปลี่ยนอภิปรายกันบนถนนหน้าอาคาร ในสนามหญ้าหน้าเสาธง..ใช้เวลาตั้งแต่ ๒๐ นาที จนถึง ๑ ชั่วโมง..รู้เรื่องและปฏิบัติได้ทันที..

การอบรมครั้งนี้มีครูไปด้วย ก็เท่ากับว่าผมจะได้ทำงานง่ายขึ้น เพราะPLC (Professional Learning Community) คือเครื่องมือในการดำรงชีวิตที่ดีของครู ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งครูจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากครูผู้สอนมาเป็นครูฝึกหรือครูผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนและห้องเรียนจะต้องเปลี่ยนจากห้องสอนมาเป็นห้องทำงาน..

ผมอยากเห็นห้องเรียนที่มีชีวิตชีวา ก็คงจะได้เห็นในปีการศึกษานี้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ครูทุกคนก็ต้องปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน...

จึงจะได้ชื่อว่าเป็นชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพอย่างแท้จริง เพื่อทำงานร่วมกันและสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน..

ในทางทฤษฎี ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพมี ๒ ลักษณะ คือ มุ่งเน้นการศึกษากลุ่มย่อยในโรงเรียนและมุ่งเน้นการศึกษาทั้งโรงเรียนหรือในภาพรวมของโรงเรียน..

และที่สำคัญ PLC ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะการกระทำที่แสดงถึงการแบ่งปันหรือการแลกเปลี่ยนของครู แต่มุ่งเน้นให้ความสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน ความจริงใจของสมาชิก และการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในโรงเรียน

มุ่งเน้นไปที่การสะท้อนผลการปฏิบัติ รวมทั้งร่วมกันเสนอแนะแนวทางการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน

เครื่องมือในกิจกรรมหลักของ PLC ที่ผู้บริหารและครูต้องรู้และเข้าใจ ประกอบด้วย (๑)Dialogue หรือ สุนทรียสนทนา ซึ่งเราทำกันอยู่แล้ว (๒) ..Lesson Study คือการศึกษาบทเรียน..

Lesson Study เป็นกิจกรรมการสร้างการเรียนรู้ของกลุ่มครู อันนี้ผมถือว่าสำคัญมากที่ต้องเร่งดำเนินการ จึงต้อง เริ่มจากการตั้งหัวข้อคำถามก่อนว่า..”ทำอย่างไร..บ้านหนองผือ..โรงเรียนขนาดเล็กจะพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้อย่างยั่งยืน..”

เมื่อต้นสังกัดให้นโยบาย..ผมจะต้องหลากหลายในการปฏิบัติ หาแนวทางพัฒนาสถานศึกษาร่วมกับครู ด้วยกระบวนการ PLC... ทำได้ทุกที่ทุกเวลา..ไม่มีขีดจำกัด

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๐


หมายเลขบันทึก: 629031เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2017 22:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2017 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท