ข้อค้นพบในการจัดการความอยุติธรรมที่ปรากฏกับคนที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายซึ่งมีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดกับประเทศไทยโดยหลักบุคคล : คนเชื้อสายไทย


สถานการณ์เด่นด้านการจัดการความยุติธรรมเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย : ข้อค้นพบ


1. ข้อค้นพบในการจัดการความอยุติธรรมที่ปรากฏกับคนที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายงมีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดกับประเทศไทยโดยหลักบุคคล : คนเชื้อสายไทย

1.1. ข้อค้นพบตามข้อกฎหมายระหว่างประเทศ เราพบว่า หลักกฎหมายระหว่างประเทศยอมรับว่า สิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย อันรวมถึงสิทธิในสัญชาติ เป็นสิทธิมนุษยชนตามธรรมชาติ และเป็นความชัดเจนในทางปฏิบัติของนานารัฐจนตกตะกอนเป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เข้มแข็งว่า มนุษย์ย่อมมีสิทธิในสัญชาติตั้งแต่เกิด ดังนั้น รัฐจึงมีหน้าที่รับรองสิทธินี้ให้แก่มนุษย์ตั้งแต่บุคคลนั้นเกิดขึ้นมา จึงเป็นความยุติธรรมทางนิติบัญญัติที่ชัดเจนในระดับโลก [1] มนุษย์ทุกคนจึงมีสิทธิในสัญชาติโดยหลักสืบสายโลหิต และสิทธิในสัญชาติโดยหลักดินแดน

ทั้งนี้ สิทธิในสัญชาติโดยหลักสืบสายโลหิตนั้น ยอมรับว่าบุตรย่อมมีสิทธิในสัญชาติตามบุพการีทั้งสองฝ่ายโดยกำเนิดตามหลักสืบสายโลหิต ซึ่งเป็นจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดจากหลักบุคคล และหลักการนี้ได้รับการกำหนดเป็นกฎหมายภายในของนานาประเทศทั่วโลก

1.2. ข้อค้นพบตามข้อหลักกฎหมายไทย เราพบว่า หลักกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของไทยสอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ โดยตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ยอมรับว่า บุตรย่อมมีสิทธิในสัญชาติตามบุพการีโดยกำเนิดตามหลักสืบสายโลหิตมาโดยตลอด [2]

ทั้งนี้ วิวัฒนาการของกฎหมายว่าด้วยสัญชาติตามหลักสืบสายโลหิต สำหรับกรณีคนเชื้อสายไทยในสถานการณ์ทั่วไป ยอมรับหลักสืบสายโลหิตจากบิดาและมารดาเป็นไปโดยเท่าเทียมกัน[3] รวมถึงยอมรับหลักสืบสายโลหิตทั้งจากบิดาที่จดทะเบียนและบิดาตามข้อเท็จจริง[4] นอกจากนี้ รัฐไทยได้วิวัฒนาการกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ สำหรับกรณีคนเชื้อสายไทยในสถานการณ์พิเศษ[5] ซึ่งหมายถึง คนเชื้อสายไทยที่เคยตกอยู่ในบังคับของประเทศอื่น หรือ “คนไทยพลัดถิ่น” โดยคืนสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสืบสายโลหิตให้แก่คนกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งเป็นแนวคิดที่ก้าวหน้าอย่างมาก ดังนั้น กล่าวได้ว่า ฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐไทยได้ทำหน้าที่จัดการความยุติธรรมแก่คนที่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายซึ่งมีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดกับประเทศไทยโดยหลักบุคคล หรือคนเชื้อสายไทยไว้โดยครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว

1.3. ข้อค้นพบตามข้อนโยบายของรัฐไทย เราพบว่า รัฐไทยมีความพยายามในการขจัดปัญหาการจากการรับรองสิทธิในสัญชาติโดยการเกิดตามหลักสืบสายโลหิต โดยกล่าวได้ว่า นโยบายเพื่อคนเชื้อสายไทยในสถานการณ์ทั่วไปนั้นมีความสมบูรณ์แล้ว แต่ยังบกพร่องสำหรับคนเชื้อสายไทยในสถานการณ์พิเศษ-คนไทยพลัดถิ่น กล่าวคือ

สำหรับกรณีคนเชื้อสายไทยในสถานการณ์ทั่วไป ปรากฏการยอมรับผลการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ - DNA) ซึ่งเป็นพยานวัตถุทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือในการพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายโลหิต ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอเพื่อให้คนยากไร้ได้เข้าถึงความยุติธรรมโดยเท่าเทียม ซึ่งปรากฏหนังสือตามสั่งการหลายฉบับและโครงการพิเศษเพื่อเร่งรัดการดำเนินการ กล่าวคือ กองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม กองทุนกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกองทุนสภากาชาดไทย ซึ่งผู้ศึกษาได้มีส่วนร่วมในการผลักดันให้คนเชื้อสายไทย 908 คน ในพื้นที่ชายแดนตาก ได้เข้าสู่กองทุนสภากาชาดไทย ภายใต้โครงการตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์สัญชาติไทยในบุคคลไร้สัญชาติ เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา องค์อุปนายิกา สภากาชาดไทย (660 ครอบครัว)

แต่สำหรับกรณีคนเชื้อสายไทยในสถานการณ์พิเศษ ปรากฏปัญหาเชิงนโยบายตั้งแต่ชั้นกฎกระทรวงตลอดจนแนวทางปฏิบัติ ดังปรากฏชัดว่าคนไทยพลัดถิ่นอันเกิดจากการเสียดินแดนที่ขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 18,000 คน [6] ยังไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555

1.4. ข้อค้นพบสถานการณ์ความอยุติธรรม เราพบว่า รัฐไทยโดยฝ่ายนิติบัญญัติได้ตรากฎหมายภายในซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และรับรองสิทธิในสัญชาติโดยการเกิดตามหลักสืบสายโลหิตว่าเป็นสิทธิเด็ดขาดโดยไม่มีเงื่อนไข และรัฐไทยโดยฝ่ายบริหารในระดับนโยบายได้สร้างนโยบายเอื้อต่อการจัดการปัญหาในหลายลักษณะ ตลอดจนเมื่อเกิดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายโดยฝ่ายบริหาร รัฐไทยโดยฝ่ายตุลาการได้ทำหน้าที่ตีความกฎหมายในการอำนวยความยุติธรรมเพื่อรับรองสิทธิในสัญชาติโดยการเกิดตามหลักสืบสายโลหิตแก่คนเชื้อสายไทยมาโดยตลอด ดังปรากฏชัดในคดีนายเลิส มิชาเอล อัลเดรอัส ซัค [7] ลูกพ่อไทย แม่เยอรมนี ซึ่งควรต้องเป็นคดีสุดท้ายที่คนเชื้อสายไทยในสถานการณ์ทั่วไปต้องถูกละเมิดสิทธิในสัญชาติจนกล่าวได้ว่า ปัญหาคนเชื้อสายไทยกลุ่มนี้หลงเหลือจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับภาพรวมทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ผู้ศึกษาได้ค้นพบสถานการณ์ความอยุติธรรมในประเทศไทยซึ่งปรากฏในการจัดการความยุติธรรมโดยฝ่ายบริหาร 3 ลักษณะ กล่าวคือ

ประการแรก เราพบว่า คนเชื้อสายไทยตกหล่นจากการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสืบสายโลหิต เนื่องจากไม่ได้แจ้งเกิดจึงไร้ทะเบียนคนเกิดรับรองความสัมพันธ์ทางสายโลหิตกับบุพการี อันได้แก่ (1) กลุ่มคนที่เกิดก่อนการประกาศใช้พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2499 ซึ่งปัจจุบันคือคนชราวัย 61 ปีขึ้นไป (2) กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ซึ่งปัจจุบันคือคนที่อาศัยบนพื้นที่สูง และคนที่อาศัยบนพื้นที่เกาะ (3) กลุ่มคนซึ่งบุพการีด้อยโอกาสไร้การศึกษา (4) กลุ่มคนซึ่งเกิดนอกประเทศไทย (5) กลุ่มคนไร้รากเหง้า แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นคนติดแผ่นดินไทยโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามาจากประเทศอื่น ซึ่งคนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนด้อยโอกาสที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยการทำงานเชิงรุก

ประการที่สอง เราพบว่า แม้ปัจจุบันจะมีแนวคิดในการใช้ผลตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายโลหิต และมีกองทุนเพื่อคนยากไร้ แต่ยังปรากฏปัญหาของฝ่ายบริหารในระดับปฏิบัติการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำเภอ/เขต/เทศบาล ซึ่งปฏิเสธการร้องขอเพื่อรับรองสิทธิในสัญชาติตามหลักสืบสายโลหิตของคนเชื้อสายไทย ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย/นโยบาย โดยบุคคลากรในหน่วยงานของรัฐไทยซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย กลับละเมิดสิทธิประชาชนอันก่อการให้เกิดความรับผิดของหน่วยงานตามกฎมายไทย และก่อให้เกิดความรับผิดของรัฐไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนี้ การปฏิเสธสัมพันธภาพทางเชื้อชาติ/เชื้อสาย/ชาติพันธ์ของคนส่วนใหญ่ของรัฐ ย่อมนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงเชิงประชากร [8] และความมั่นคงของรัฐไทยเอง ดังพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2544

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญในการละเมิดสิทธิในสัญชาติของคนเชื้อสายไทย จำนวนไม่น้อยเกิดในฝ่ายบริหารของกระทรวงมหาดไทย รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันได้แก่ (1) ปัญหาความเข้าใจว่าสิทธิในสัญชาติ เป็นเรื่อง “การให้ ไม่ใช้การรับรอง” ทำให้เกิดวัฒนธรรมการใช้อำนาจตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่ (2) ปัญหาความเข้าใจเรื่องสองสัญชาติ ทำให้เกิดการเรียกร้องให้สละสัญชาติโดยการเกิดที่มีอยู่ (3) ปัญหาความเข้าใจว่าสิทธิในสัญชาติตามหลักสืบสายโลหิตเป็นสิทธิเด็ดขาด ทำให้เกิดการเรียกร้องการพิสูจน์สถานที่เกิด หรือพิสูจน์ความประพฤติ/ประวัติอาชญากรรม (4) ปัญหาความเข้าใจเรื่องหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตามข้อเท็จจริง ทำให้เกิดการเรียกร้องทะเบียนสมรส หรือทะเบียนรับรองบุตรของบิดา (5) ปัญหาความเข้าใจเรื่องหลักสืบสายโลหิตของคนที่เกิดในต่างประเทศ ทำให้เกิดการเรียกร้องให้เขาเดินทางกลับต่างประเทศเพื่อแจ้งการเกิดก่อน (6) ปัญหาการรับฟังพยานดีเอ็นเอ ทำให้เกิดการเรียกร้องพยานหลักฐานอื่นเพิ่มเติม และ (7) ปัญหาความเข้าใจเรื่องกรอบระยะเวลาการพิจาณาคำร้อง ทำให้เกิดการไม่ใยดีต่อความล่าช้าแม้คนซึ่งมีผลดีเอ็นเอแล้ว

นอกจากนี้ ปัญหาการละเมิดสิทธิจำนวนไม่น้อยก็เกิดขึ้นจากเจ้าของปัญหาเอง และผู้สนับสนุนเจ้าของปัญหา ซึ่งมีปัญหาความรู้ในกฎหมาย/นโยบายที่เกี่ยวข้อง ปัญหาทัศนคติในการแสวงหาพยานหลักฐาน และปัญหาทัศนคติในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่/ผู้นำชุมชนที่ละเมิดสิทธิของตน

ประการที่สาม ด้วยปัจจัยของข้อค้นพบประการที่หนึ่งและประการที่สอง เราพบว่า กลุ่มคนไร้รากเหง้าซึ่งมีเชื้อสายไทย อาทิ คนพิการจิตเภทในสถานสงเคราะห์ คนพลัดถิ่นในประเทศไทย คนถูกทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์ เป็นต้น เป็นกลุ่มที่ปรากฏความอยุติธรรมรุนแรงที่สุด เนื่องจากเขาเหล่านี้ปราศจากข้อเท็จจริงที่เอื้อต่อนโยบายการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ และมีอุปสรรคอย่างมากในการรวบรวมพยานหลักฐาน ตลอดจนมาตรฐาน/แนวคิดในการรับฟังพยานหลักฐานยังไม่ปรากฏอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้การปฏิบัติงานและการใช้ดุลยพินิจขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่แต่ละราย

ทั้งนี้ แม้ว่ามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 และยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิได้ว่าระบบการจัดการเรื่องนี้ไว้ ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้แม้ยังไม่อาจพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยได้โดยพลัน แต่การสำรวจและบันทึกในทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.38 ก) และได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 0 กลุ่ม 89 เขาจะได้รับการจัดสรรสวัสดิการอันจำเป็นจากรัฐไทย อาทิ หลักประกันสุขภาพ แต่เราพบว่าคนกลุ่มนี้มักจะตกสำรวจและโชคร้ายด้วยอาการป่วยหนัก อันส่งผลให้เกิดโศกนาฏกรรมแก่เขาและครอบครัว ดังปรากฏชัดในกรณีคุณต่วน ณ อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งฆ่าตัวตาย เนื่องจากความทุกขทรมานที่ป่วยด้วยโรคพาร์กินสันและถูกกดดันจากการร้องเรียนเหตุละเมิดสิทธิในการรับรองสัญชาติไทยของตน [9]

ประการที่สี่ เราพบว่า ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคนเชื้อสายไทยซึ่งกล่าวอ้างสิทธิในสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องเร่งด่วน[10] โดยฝ่ายบริหารซึ่งเป็น “ผู้รักษาการตามกฎหมายในทุกระดับ” ที่ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี ปลัดกระทรวง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้องทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลากรในหน่วยงานโดยไม่ปล่อยปละละเลยให้เกิดความอยุติธรรมเกิดขึ้นกับคนเชื้อสายไทยในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพราะความเดือดร้อนเสียหายนั้นเกิดขึ้นในประชาชนทุกระดับและจะรุนแรงมากในประชาชนด้อยโอกาสและยากไร้

ทั้งนี้ แม้ว่าฝายบริหารในระดับนโยบายของกระทรวงมหาดไทยในยุคปัจจุบัน ตระหนักถึงปัญหาองค์ความรู้ของเจ้าหน้าที่ จึงสร้างกลไกการแก้ปัญหาโดยใช้หนังสือสั่งการเชิงตำราซึ่งวางหลักคิดและขั้นตอนปฏิบัติ และตระหนักถึงปัญหาทุจริตคอรัปชั่น จึงสร้างกลไกการแก้ปัญหาโดยระบบคำร้องออนไลน์ [11] ซึ่งวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้คำร้องถูกบันทึกในฐานข้อมูลกลางและตรวจสอบได้ แต่ทั้งสองความพยายามก็ยังอยู่ระหว่างพิสูจน์ประสิทธิภาพ และยังไม่ปรากฏการเชื่อมโยงกับ “คู่มือประชาชน” ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกการตรวจสอบผลงานและลงโทษทางปกครองในส่วนวินัย ตลอดจนทางแพ่งและทางอาญา แก่เจ้าหน้าที่ผู้ละเมิดกฎหมาย

1.5. ข้อค้นพบกรณีศึกษาสำคัญซึ่งสะท้อนปัญหาความอยุติธรรม เราพบว่า กรณีศึกษาที่พบปรากฏในการทำงานของฝ่ายบริหารระดับปฏิบัติการทั้งหมด และบางส่วนฝ่ายบริหารระดับนโยบายได้แทรกแซงให้เกิดการจัดการความยุติธรรมแล้วโดยไม่จำเป็นต้องใช้กลไกของฝ่ายตุลาการ กล่าวคือ

กรณีศึกษาที่ยุติแล้ว 3 กรณี ได้แก่ (1) กรณีศึกษาคุณลุงตู่ [12] แห่งชุมชนนางเลิ้ง ซึ่งเป็นคนในเมืองกรุงเทพ และ (2) กรณีศึกษาคุณยายสุข แห่งอำเภอแม่ระมาด ซึ่งเป็นคนในชนบทชายแดนจังหวัดตาก (3) กรณีศึกษาคุณป้าอิเป่ [13] แห่งอำเภอแม่ระมาด

กรณีศึกษาที่กำลังดำเนินการ 10 กรณี ได้แก่ (1) กรณีศึกษาคุณตาโหย่เป [14] แห่งอำเภอท่าสองยาง (2) กรณีศึกษาคุณโรเจอร์[15] แห่งอำเภอลำลูกกา (3) กรณีศึกษาคุณวันชัย [16] แห่งเขตบางใหญ่ (4) กรณีศึกษาน้องพาดา [17] แห่งอำเภอแม่ระมาด (5) กรณีศึกษาคุณป้านาสี[18] แห่งอำเภอแจ้ห่ม (6) กรณีศึกษาคุณพ่อจะมู และ(7) คุณแม่แนะโก่ะ[19] แห่งอำเภอแจ้ห่ม (8) กรณีศึกษาน้องแพรว และ (9) กรณีศึกษาน้องเพลง[20] แห่งเขตพระนคร (10) กรณีศึกษาน้องเล[21] แห่งเขตราชเทวี


[1] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, แสดงความเห็นทางเฟซบุ๊คต่องานเขียน “ข้อค้นพบในการจัดการความอยุติธรรมคนซึ่งมีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดกับประเทศไทยโดยหลักบุคคล : คนเชื้อสายไทย”,

<p><span style="font-size: 16px;">&lt; <a href="https://www.facebook.com/archanwell/posts/10155111266546425">https://www.facebook.com/archanwell/posts/10155111266546425</a> &gt; เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2560.<p></p></span>
</p>
<p><span style="font-size: 16px;">“เรียน อ.ศิวนุช สร้อยทอง เป็นความชัดเจนในทางปฏิบัติของนานารัฐจนตกตะกอนเป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เข้มแข็งว่า มนุษย์ย่อมมีสิทธิในสัญชาติตั้งแต่เกิด ดังนั้น รัฐอธิปไตยจึงมีหน้าที่รับรองสิทธินี้ให้แก่มนุษย์ตั้งแต่เกิด จึงเป็นความยุติธรรมทางนิติบัญญัติที่ชัดเจนในระดับโลก มิใช่เพียงในระบบกฎหมายไทย มนุษย์แต่ละคนย่อมมี (1) สิทธิในสัญชาติโดยหลักสืบสายโลหิต และ (2) สิทธิในสัญชาติโดยหลักดินแดน ข้อเท็จจริงว่า คนเกิดมีบุพการีเป็นคนที่มีสถานะเป็นคนสัญชาติของรัฐใด รัฐนั้นก็มีหน้าที่ยอมรับให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิในสัญชาติของตโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาหรือมารดาแล้วแต่กรณี แต่หากคนเกิดนั้นมีข้อเท็จจริงว่า เกิดบนดินแดนของรัฐใด รัฐดังกล่าวก็มีหน้าที่ยอมรับให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิในสัญชาติของตนโดยการเกิดโดยหลักดินแดน...”
	<p></p></span>
</p>

[2] ดังปรากฏตามมูลนิธิธรรมประเพณีตั้งแต่ก่อนการปรากฏของกฎหมายลายลักษณ์อักษรว่าด้วยสัญชาติ และกฎหมายลายลักษณ์อักษรตั้งแต่พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 จนถึงพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ก็ยอมรับสิทธิในสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากบุพการีโดยกำเนิดมาโดยตลอด

[3] เมื่อมีแนวคิดความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง กฎหมายว่าด้วยสัญชาติของไทย โดย พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ได้แก้ไขให้สิทธิในสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากบิดา และมารดาเป็นไปโดยเท่าเทียมกัน

[4] เมื่อปรากฏปัญหาเชิงวัฒนธรรมว่า คนในแถบเอเชียจำนวนไม่น้อย มีการแต่งงานกันตามประเพณีแต่ไม่จดทะเบียนสมรส ซึ่งหากปล่อยให้การตีความคำว่า “บิดา” ตามกฎหมายสัญชาติ หมายถึง บิดาที่จดทะเบียนสมรสกับมารดาเท่านั้น ย่อมทำให้ลูกพ่อไทย แม่ต่างด้าว จำนวนไม่น้อยตกหล่นจากการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสืบสายโลหิตอย่างไม่เป็นธรรม แต่ปัญหานี้ก็ได้รับการแก้ไข โดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ซึ่งยอมรับให้คำว่า “บิดา” หมายถึงบิดาตามข้อเท็จจริงของบุตรด้วย

[5] พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555

[6] Nation Breaking News, ไทยพลัดถิ่น 14,000 คน ได้ลุ้นกรมการปกครองเร่งแก้ไขปัญหาความล่าช้าคืนสัญชาติ, < http://breakingnews.nationtv.tv/home/read.php?newsid=755667>, 28 เมษายน 2560.

[7] คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.43/2554 คดีระหว่าง นายเลิส มิชาเอล อัลเดรอัส ชัค กับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

[8] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, แสดงความเห็นทางเฟซบุ๊คต่องานเขียน “ข้อค้นพบในการจัดการความอยุติธรรมคนซึ่งมีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดกับประเทศไทยโดยหลักบุคคล : คนเชื้อสายไทย”,

<p><span style="font-size: 16px;">&lt; <a href="https://www.facebook.com/archanwell/posts/10155111266546425">https://www.facebook.com/archanwell/posts/10155111266546425</a> &gt; เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2560.<p></p></span>
</p>
<p><span style="font-size: 16px;">“...ปัญหาที่อำเภอ/เขต/เทศบาลปฏิเสธสิทธิของคนเชื้อสายไทยที่จะร้องขอพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิต จึงเป็นการที่ "องค์กรของรัฐไทยที่มีอำนาจตามกฎหมายไทย" ก่อการให้เกิดความรับผิดชอบของรัฐไทยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศอีกด้วย นอกจากว่า การปฏิเสธดังกล่าว ก็คือ การปฏิเสธสัมพันธภาพทางเชื้อชาติ/เชื้อสาย/ชาติพันธุ์ของคนส่วนใหญ่ของรัฐ อันจะนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงเชิงประชากร...”
	<p></p></span>
</p>

[9] ข่าวผู้จัดการออนไลน์, “ลูกสาวเผยคลิปถูก จนท.บุกด่าถึงบ้าน หลังไปร้องไม่มีบัตร ปชช. จนพ่อเครียดหนักผูกคอตาย”,

<h1> <u><u><span><u><u><span><u><u><u><u><span>&lt; </span></u><span><a href="http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9600000043196">http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9600000043196</a> &gt;, เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2560.
</span></u></u></u></span></u></u></span></u></u><span><p></p></span>

</h1>

[10] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, แสดงความเห็นทางเฟซบุ๊คต่องานเขียน “ข้อค้นพบในการจัดการความอยุติธรรมคนซึ่งมีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดกับประเทศไทยโดยหลักบุคคล : คนเชื้อสายไทย”,

<p><span style="font-size: 16px;">&lt; <a href="https://www.facebook.com/archanwell/posts/10155111266546425">https://www.facebook.com/archanwell/posts/10155111266546425</a> &gt; เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2560.<p></p></span>
</p>
<p><span style="font-size: 16px;">“...ความอยุติธรรมต่อคนที่อ้างสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจึงควรเป็นเรื่องใหญ่มากที่เหล่าผู้อาสาปกครองประชาชน ที่ดำรงนายอำเภอ/ผู้ว่าราชการ/อธิบดี/ปลัดกระทรวง/รัฐมนตรี ในกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย ไม่ควรปล่อยให้เรื่องราวความอยุติธรรมเกิดขึ้นบนอำเภอ/เขต/เทศบาลตามยถากรรม ... มองเป็นเรื่องไม่สำคัญ เพราะคนที่มักเดือดร้อน มักเป็นคนตัวน้อยที่ยากจน...”
	<p></p></span>
</p>

[11] หนังสือสำนักทะเบียนกลาง ด่วนที่สุด ที่ มท 0309.1/ว19 เรื่อง ระบบการรับคำร้อง/คำขอสัญชาติไทย ลงวันที่ 20 เมษายน 2560

[12] ทั้งสองคดีนี้เป็นคนที่เกิดก่อนกฎหมายการทะเบียนราษฎร และเป็นการผลักดันให้เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย/อำเภอแม่ระมาดรับฟังพยานบุคคลชุมชนเพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายโลหิตกับมารดาสัญชาติไทย

[13] เป็นคนในชนบทชายแดนจังหวัดตาก ที่เกิดในเมียนมา และคดีนี้ก็เป็นการผลักดันให้อำเภอแม่ระมาดยอมรับหลักสืบสายโลหิตจากมารดาโดยเด็ดขาด และไม่ต้องพิสูจน์สถานที่เกิด

[14] เป็นคนในชนบทชายแดนจังหวัดตากที่เกิดก่อนกฎหมายการทะเบียนราษฎร และคดีนี้ก็เป็นการผลักดันให้คลินิกกฎหมายโรงพยาบาลท่าสองยาง (ผู้สนับสนุนเจ้าของปัญหา) แสวงหาพยานบุคคลชุมชน

[15] เป็นลูกแม่ไทย พ่ออเมริกัน และคดีนี้ก็เป็นการผลักดันให้เทศบาลตำบลคูคตยอมรับหลักการถือสองสัญชาติโดยการเกิดจากบุพการี

[16] เป็นคนชนบทชายแดนศรีสะเกษโดยบุพการีไม่แจ้งเกิด และคดีนี้ก็เป็นการผลักดันให้กระทรวงยุติธรรมสนับสนุนกองทุนยุติธรรมเพื่อตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอแก่คนยากไร้ ตลอดจนผลักดันให้กลไกการยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรเกิดขึ้นได้ที่เขตบางใหญ่

[17] เป็นคนชนบทชายแดนตากโดยบุพการีไม่แจ้งเกิด และคดีนี้ก็เป็นการผลักดันให้น้องเข้าถึงกองทุนสภากาชาดไทยเพื่อตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอแก่คนยากไร้ ตลอดจนผลักดันให้อำเภอแม่ระมาดไม่เพิกเฉยต่อความล่าช้าซึ่งน้องมีผลตรวจดีเอ็นเอแล้วกว่า 1 ปี

[18] เป็นคนชนบทซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด และคดีนี้ก็เป็นการผลักดันให้อำเภอแจ้ห่มและอำเภอแม่ฟ้าหลวงยอมรับหลักสัญชาติโดยการเกิดตามสืบสายโลหิตจากมารดาอันเป็นสิทธิเด็ดขาด โดยไม่ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขเรื่องความประพฤติดี/ประวัติอาชญากรรมที่ใช้ในหลักดินแดน

[19] ทั้งสองคนเป็นคนชนบทซึ่งเคยจำคุกในคดียาเสพติด และคดีนี้ก็เป็นการผลักดันให้อำเภอแจ้ห่มยอมรับหลักสัญชาติโดยการเกิดตามสืบสายโลหิตจากบุพการีอันเป็นสิทธิเด็ดขาด โดยไม่ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขเรื่องความประพฤติดี/ประวัติอาชญากรรมที่ใช้ในหลักดินแดน

[20] ทั้งสองคนเป็นคนซึ่งเกิดในประเทศลาว จากพ่อไทย แม่ลาว และคดีนี้ก็เป็นการผลักดันให้เขตพระนครยอมรับหลักสัญชาติโดยการเกิดตามสืบสายโลหิตจากบิดาตามข้อเท็จจริง

[21] เป็นเด็กซึ่งเกิดในประเทศมาเลเซีย จากบุพการีสัญชาติไทย แต่ไม่ได้แจ้งเกิด ณ สถานทูตไทยในมาเลเซีย หรือแจ้งเกิดในเจ้าหน้าที่ทะเบียนประเทศมาเลเซีย และคดีนี้ก็เป็นการผลักดันให้เขตราชเทวียอมรับหลักสัญชาติโดยการเกิดตามสืบสายโลหิต โดยไม่ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่ามารดาจะต้องอุ้มพาน้องเลกลับไปแจ้งเกิดในประเทศมาเลเซียก่อน

หมายเลขบันทึก: 628260เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2017 14:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2017 14:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท