​ชีวิตที่พอเพียง : 2902. เพ่งพิศพินิจนึกเรื่องชีวิตและความตาย



หนังสือเรื่อง เมื่อลมหายใจกลายเป็นอากาศ แปลจาก When Breath Becomes Air เขียนโดย Paul Kalanithi ศัลยแพทย์ระบบประสาทผู้ล่วงลับด้วยโรคมะเร็งปอดเมื่ออายุ ๓๖ ปี


อ่านแล้วจะได้รู้จักมนุษย์ที่มีจิตใจละเอียดอ่อน จนผมสงสัยว่าความละเอียดอ่อน และไวต่อความรู้สึก (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอัจฉริยภาพของพอล กาละนิธิ) นั่นเอง ที่เป็นต้นเหตุหนึ่งของความทุกข์ยากในชีวิตของตนเอง


ผมได้เห็นระบบการศึกษาที่เอื้อให้เยาวชนได้เรียนตามความสนใจ (คลั่งใคล้) ของตนเอง โดย พอล กาละนิธิ เรียนระดับอุดมศึกษาทั้งด้านมนุษยศาสตร์ (ตรีและโท สาขาวรรณคดีอังกฤษ), วิทยาศาสตร์ (ตรี สาขาชีววิทยาของมนุษย์ เอกสาขาประสาทวิทยาศาสตร์), และแพทยศาสตร์ (แพทยศาสตร์ และแพทย์เฉพาะทางสาขาประสาทศัลยศาสตร์) ข้อความในหนังสือพิสูจน์อัจฉริยภาพหลากด้านของเขา


อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า นี่เป็นการตีความในแนวหนึ่ง เรื่องชีวิตและความตาย ที่พิเศษคือ พอล กาละนิธิมีความสามารถเขียนเล่าความรู้สึกนึกคิดของตนเองออกมาอย่างละเอียด และกล้าเล่าความย้อนแย้งในความคิดความรู้สึกของตนเอง โดยเขาบอกว่า เขาต้องการถักทอเรื่องชีววิทยา ศีลธรรม ชีวิต และความตาย เข้าด้วยกัน ในหนังสือ


ผมชอบสาระในหน้า ๖๘ ที่กล่าวว่า “ต้องไม่เรียนรู้ความรู้แค่อย่างเดียว ทว่าต้องเรียนรู้ปรีชาญาณด้วย” ผมเดาว่า “ปรีชาญาณ” แปลจาก intuition เวชปฏิบัติต้องใช้ทักษะนี้ ดังนั้นการเรียนแพทย์ ช่วยให้สั่งสมทักษะนี้โดยไม่รู้ตัว โดยไม่ต้องรู้จักคำคำนี้ โดยที่การเรียนเรียนจากการฝึกฝนในการปฏิบัติงานจริง และจริงๆ แล้วมนุษย์ทุกคนต้องฝึกทักษะนี้ตั้งแต่แรกเกิด แต่ผมเดาว่า ระบบการศึกษาแบบให้ผู้เรียนรับถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูปจากครูและตำรา ได้ทำลายศักยภาพในการพัฒนาทักษะนี้


พอล กาละนิธิ กล่าวถึง “ปรีชาญาณ” ว่า เป็น “การตัดสินใจที่มาจากเสียงของตนเอง” ซึ่งผมเดาว่า แปลมาจากคำว่า inner voice


ในหน้า ๑๒๘ เขากล่าวถึงคำของ เฮมิงเวย์ ว่า เมื่อได้รับประสบการณ์อันเข้มข้นแล้ว ก็ให้ให้ล่าถอยสู่การพินิจนึก แล้วบันทึกเรื่องเหล่านั้น” นี่อย่างไรเล่า สุดยอดความลับว่าด้วยการเรียนรู้อยู่ตรงนี้เอง และตรงกันกับทฤษฎีเรียนรู้สมัยใหม่ที่ว่า การเรียนรู้ที่แท้มาจาก action ตามด้วย reflection ผมนึกขอบคุณท่านผู้แปล (คือคุณโตมร ศุขปรีชา) ที่แปลคำว่า reflection ว่า “พินิจนึก” อันไพเราะ ซึ่งถ้าเช่นนั้น critical reflection ก็น่าจะแปลว่า เพ่งพิศพินิจนึกซึ่งเข้าใจว่า ผมได้ยินจากปากของ ศ. ดร. เจตนา นาควัชระ เป็นระยะๆ มานานกว่า ๒๐ ปีแล้ว แต่ไม่ get


ทำให้ผมตระหนักว่า ทฤษฎีว่าด้วยการเรียนรู้ (และทฤษฎีด้านอื่นๆ) อยู่ในการปฏิบัติเต็มไปหมด แต่คนที่มีสมองขนาดผมจับไม่ค่อยติด รวมทั้ง แม้คนที่มีปัญญาสูง เข้าใจเรื่องนั้นๆ ดี ก็ยังหาภาษาสำหรับอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ไม่ชัดเจนหรือบางทีคนอื่นเข้าใจไม่ตรงกับที่ “ผู้รู้” ต้องการบอก


คำว่า intuition ในภาคไทยบางทีก็ใช้ว่า “ปรีชาญาณ” บางทีก็ใช้คำ “ปัญญาญาณ” โดยที่ผมคิดว่า ผลลัพธ์ของ intuition ส่วนใหญ่แสดงออกมาเป็นการกระทำ การตัดสินใจ แต่ก็มีส่วนที่แสดงออกมาเป็นคำพูด/ข้อเขียน เพื่ออธิบายเรื่องราว


หนังสือ เมื่อลมหายใจกลายเป็นอากาศ จึงเกิดจากกระบวนการ “เพ่งพิศพินิจนึก” ออกมาเป็นตัวอักษร กลั่นออกมาจากใจของบุรุษผู้เป็นอัจฉริยะ ที่ผ่านการศึกษาทั้ง “ศาสตร์นุ่ม” และ “ศาสตร์แข็ง” แถม “ศาสตร์ปฏิบัติ” ที่ต้องฝึกฝนเข้มข้นแบบทารุณในช่วงที่เป็นแพทย์ประจำบ้านด้านประสาทศัลยศาสตร์ คือทำงานสัปดาห์ละ ๑๐๐ ชั่วโมง เกินกว่าข้อกำหนด ๘๘ ชั่วโมง จะเห็นว่า ในช่วงต้นของวิชาชีพแพทย์ ถูกกดขี่แรงงานนะครับ


แถมยังเขียนภายใต้ภาวะจิตใจที่บีบคั้น คือรู้ว่าตนเองเป็นมะเร็งปอดระยะที่สี่ ใกล้ความตายเต็มที แต่ก็ยังเขียนได้อย่างไพเราะลึกซึ้ง โดยเขียนจากกระบวนการ “เพ่งพิศพินิจนึก


เป็นหนังสือที่อ่านสนุกและประเทืองปัญญา โดยต้องอ่านแบบ “เพ่งพิศพินิจนึก


วิจารณ์ พานิช

๒๘ มี.ค. ๖๐

SCB Park Plaza




หมายเลขบันทึก: 627929เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2017 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2017 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท