เก็บตกวิทยากร (35) : เรียนรู้วิถีค่ายอาสาพัฒนาผ่านเรื่องสั้นสะท้อนสังคม "เหมือนอย่างไม่เคย"


แทบไม่น่าเชื่อว่าผ่านมาร่วมๆ 50 ปีแล้ว เรื่องสั้นเรื่องนี้ยังคงมีสถานะที่แจ่มชัดและร่วมสมัยอย่างมหัศจรรย์ และเหมาะอย่างยิ่งที่นิสิตนักศึกษาผู้ซึ่งหลงรักวิถีค่ายอาสาพัฒนาจะต้องหยิบจับมาอ่าน เพราะนี่คือกระจกอีกบานที่สะท้อนเส้นทางคำถามและคำตอบอย่างท้าทาย




การจัดการเรียนรู้ในประเด็น “แนวทางการบริหารจัดการค่ายอาสาพัฒนา” เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2560 ผมออกแบบกระบวนการเรียนรู้ออกเป็น 2 ช่วง กล่าวคือ ช่วงแรกเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษาอันเป็นวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นในชื่อ “เหมือนอย่างไม่เคย” ของ รศ.วิทยากร เชียงกูลและอีกกระบวนการคือการเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษาจากประสบการณ์ตรงจริงๆ ของนิสิต หรือองค์กรนิสิต -

แต่ในบันทึกนี้จะเล่าในประเด็นกรณีศึกษาผ่านเรื่องสั้นเรื่อง เหมือนอย่างไม่เคย






ว่าด้วยเรื่องเหมือนอย่างไม่เคย (โดยสังเขป)


เรื่องเหมือนอย่างไม่เคย เป็นเรื่องสั้นที่ รศ.วิทยากร เชียงกูล เขียนเผยแพร่ครั้งแรกในราวๆ ปี พ.ศ.2511 สะท้อนเรื่องราวนักศึกษาจากเมืองหลวงที่มีจิตอาสา~จิตสาธารณะไปออกค่ายอาสาพัฒนาในชนบทแห่งหนึ่ง โดยการสร้าง “ศาลาประชาคม” ให้กับชาวบ้าน ซึ่งเชื่อว่าศาลาดังกล่าวคือสัญลักษณ์ หรือกระทั่งเครื่องมืออย่างหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน แต่ก็มิได้แจ่มชัดว่าชาวบ้านต้องการ หรือจำเป็นต่อชาวบ้านแค่ไหน


ภายในเรื่องสะท้อนทัศนคติมุมมองของนักศึกษาที่มีต่อชนบทประหนึ่งเมืองแห่งอุดมคติที่ถึงแม้จะแร้นแค้น แต่กลับเต็มไปด้วยอากาศอันดี ท้องฟ้าแสนสวย ผู้คนหลากน้ำใจ มีมิตรภาพ ขณะที่คนในหมู่บ้านก็มองกลับมายังนักศึกษาว่าเป็น “คนสำคัญ” เป็น “คนพิเศษ” เก่งกาจสามารถ สวยและหล่อ น่าสนใจ ชวนค่าต้องการให้ความเคารพประหนึ่ง “ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง”


เช่นกับการสะท้อนให้เห็นถึงวิถีของความเหลื่อมล้ำระหว่างนักศึกษาชาวค่ายที่พยายามจะเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับชาวบ้าน ผ่านการกิน การแต่งกาย การพูดจา ตลอดจนวิถีชีวิตของนักศึกษาชาวค่ายผ่านกิจกรรมสันทนาการที่เต็มไปด้วยท่าทางอันแปลกตาและไม่คุ้นชินของชาวบ้าน เช่นเดียวกับการสะท้อนถึงเรื่องราวอันเป็นช่องว่างระหว่างนักศึกษากับผู้นำชุมชนและช่องว่างของผู้ปกครองจากส่วนราชการกับชาวบ้าน –





เปิดเวทีให้นิสิตอ่านและโสเหล่กันเอง



ในทางกระบวนจัดการเรียนรู้ ผมแบ่งกลุ่มนิสิตออกเป็นกลุ่มๆ ละประมาณ 8-10 คน จากนั้น (1) ให้แต่ละคนอ่าน “เอาเรื่อง” (เอาความ) (2) ให้สมาชิกในกลุ่มโสเหล่ หรือจัดการความรู้ผ่านกรณีศึกษาในเรื่องสั้นภายใต้ประเด็นหลัก 3 ประเด็น คือมีอะไรน่าสนใจ มีอะไรเป็นหลุมดำที่ต้องระมัดระวังและมีอะไรที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้จริงกับค่ายอาสาพัฒนาของตนเองได้บ้าง จากนั้น (3) ให้แต่ละกลุ่มสรุปประเด็นดังกล่าวเป็นผังมโนทัศน์ เพื่อเตรียมนำเสนอหน้าชั้น -





กระบวนการจัดการเรียนรู้ดังกล่าว หากไม่นับเป็นกระบวนการของการพัฒนาทักษะการอ่าน ทั้งที่เป็น การอ่านเพื่อจับประเด็น วิเคราะห์ วิพากษ์ หรือเรียกรวมๆ ว่า “อ่านเอาเรื่อง” ผมถือว่านี่คืออีกหนึ่งกระบวนการของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือการจัดการความรู้ดีๆ นั่นเอง กล่าวคือ การจัดการความรู้ในส่วนบุคคล-เฉพาะตนและการจัดการความรู้แบบมีส่วนร่วมที่แอบอิงอยู่กับทักษะของการบริหารจัดการกลุ่มในวิถีของทีม หรือประชาธิปไตย –



อย่างไรก็ดีผมก็ไม่ลืมที่จะย้ำว่านี่ไม่ใช่การศึกษาผ่านกรณีของตัวเอง หากแต่เป็นการเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษาที่เป็นวรรณกรรมประเภทบันเทิงคดี หรือวรรณกรรมสะท้อนสังคมที่ยังคงร่วมสมัย ซึ่งก็เป็นที่น่าชื่นใจว่าทั้งหมดไม่เคยอ่านเรื่องนี้มาก่อน และต่างยืนยันว่ายิ่งอ่านยิ่งฉุกคิดให้ทบทวนตัวเองไปอย่างเสร็จสรรพ บางคนถึงขั้นรู้สึกราวกับว่ายิ่งอ่านยิ่งเหมือนโดนหยิกและตบหน้าเบาๆ เป็นระยะๆ ...


เช่นเดียวกับบางคนก็รู้สึกแปลกใจว่าแทบไม่น่าเชื่อว่าผ่านมาร่วมๆ 50 ปีแล้ว เรื่องสั้นเรื่องนี้ยังคงมีสถานะที่แจ่มชัดและร่วมสมัยอย่างมหัศจรรย์ และเหมาะอย่างยิ่งที่นิสิตนักศึกษาผู้ซึ่งหลงรักวิถีค่ายอาสาพัฒนาจะต้องหยิบจับมาอ่าน เพราะนี่คือกระจกอีกบานที่สะท้อนเส้นทางคำถามและคำตอบอย่างท้าทาย






มีความหมายใดในเหมือนอย่างไม่เคย


ด้วยเวลาอันจำกัด ผมไม่ได้ให้ทั้ง 10 กลุ่มมานำเสนอหน้าชั้น ผมเลือกวิธีการเชื้อเชิญเอาตามความสะดวกใจ หรือสมัครใจ เรียกได้ว่าใครพร้อม หรือใครอยากออกมานำเสนอผลการโสเหล่ก็ขอให้ชูมือชูไม้และลุกออกมาเลย –


แต่ที่แน่ๆ กลุ่มทุกกลุ่มก็มีมุมมองหรือทัศนะที่คล้ายคลึงกัน เห็นบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับประยุกต์ไปออกค่ายอาสาพัฒนา หเช่น

  • การจัดกิจกรรมบนฐานความต้องการของชุมชน หรือการสนธิโจทย์ระหว่างความต้องการของนิสิตกับชาวบ้าน
  • การสร้างการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน มิใช่นิสิตนักศึกษาก้มหน้าก้มตาสร้างศาลาประชาคมแต่กลับไม่มีการชักชวนให้ชาวบ้านออกมา “ร่วมด้วยช่วยกัน”
  • การเรียนรู้บนฐานวัฒนธรรมชุมชน โดยการปรับตัวให้กลมกลืนกับชุมชนให้ได้มากที่สุด ลดทอนความแตกต่างระหว่างนิสิตนักศึกษากับชุมชน ทั้งที่เป็นภาษา การกิน การแต่งกาย ฯลฯ



  • การบริหารค่ายอย่างเป็นทีม มีการสรุปงานเพื่อปรับแก้งานในรายวัน (ประเด็นนี้เข้ากรอบ PDCA ไปโดยปริยาย)
  • การใช้นกหวีดเป็นสัญลักษณ์ของค่ายแทนเครื่องเสียง สื่อสารมิติการประหยัดทรัพยากร และการเลี่ยงที่จะใช้เครื่องเสียงรบกวนชาวบ้าน
  • ความเหมาะสมของกิจกรรมสันทนาการต่อการรับรู้ของชาวบ้านและเด็กๆ ในทำนอง “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม”
  • วิถีการทำงานค่ายร่วมกับผู้นำชุมชน หรือกระทั่งระบบภาคีในภาครัฐ
  • วิถีการเลี้ยงฉลองความสำเร็จของค่ายในแบบฟุ่มเฟือย แต่ชุมชนก็ยังเข้าไม่ถึง หรือมีส่วนร่วมค่อนข้างน้อย
  • การติดตามประเมินผลการใช้ประโยชน์ของชุมชนต่อการงานของที่ชาวค่ายได้สร้างขึ้น
  • ฯลฯ




ครับ- นี่คือส่วนหนึ่งที่นิสิตสะท้อน หรือสื่อสารออกมาผ่านการอ่านเรื่องสั้นฯ และโสเหล่กันภายในกลุ่ม ซึ่งดูแล้วก็ไม่ขี้เหร่เลยทีเดียว มีความแจ่มชัดจนผมไม่ต้องสรุป หรือต้องบรรยายเพิ่มเติมว่าการบริหารตัดการค่ายอาสาพัฒนาที่ดีควรเป็นอย่างไร





ยืนยันตรงนี้ว่า จัดกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ ไม่ใช่ผมขี้เกียจ หรือเฉื่อยชาไร้พลังอันใดหรอกนะครับ แต่ด้วยข้อจำกัดทางเวลาและการเชื่อว่าการเรียนรู้เชิงรุกเช่นนี้จะก่อเกิดความรู้ในเรื่องการจัดการค่ายอาสาพัฒนาและช่วยเพิ่มพูนทักษะอันแท้จริงในหลายๆ เรื่องไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นทักษะในศตวรรษที่ 21 หรือแม้แต่ Soft skills ซึ่งก็น่าจะดีกว่าการต้องเรียนรู้ในแบบเดิมๆ คือ “แบมือรับ” หรือ “อ้าปากรอป้อน” ประหนึ่งทารกที่ไร้พัฒนาการ



เขียน : 28 มีนาคม 2560
ภาพ : พนัส ปรีวาสนา

หมายเลขบันทึก: 626613เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2017 16:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2017 08:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การจัดกระบวนการเรียนรู้ ทำให้นักศึกษา

คิดตามและสรุปได้เองค่ะ

เป็นการสอน แบบไม่ต้องสอนเอง


เห็นกระบวนการทั้งหมด

ชอบใจที่เอาเรื่องเขียนของอาจารย์วิทยากร เชียงกูล

มาให้นิสิตเป็นแนวทางในกการทำกิจกรรมได้

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท