​แนวทางการรักษาโรคกลัวเข้าสังคม


​แนวทางการรักษาโรคกลัวเข้าสังคม

แนวทางการรักษา


แนวทางการรักษาโรคกลัวการเข้าสังคมสามารถเลือกได้ 2 วิธี ได้แก่

1. การรักษาด้วยวิธีจิตวิทยา

จิตแพทย์จะเยียวยาอาการกลัวสังคมด้วยวิธี CBT (Cognitive behavior therapy) หรือการบำบัดด้วยการรับรู้และพฤติกรรม ซึ่งต้องถือว่าเป็นแนวทางการรักษาโรคกลัวการเข้าสังคมที่เหมาะสมมากอีกแนวทางหนึ่ง โดยจิตแพทย์จะพยายามโน้มน้าวผู้ป่วยให้เปลี่ยนความคิด ปรับพฤติกรรม และเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาอาการกลัวสังคมของตัวเอง เพื่อให้เขารู้สึกประหม่า และวิตกกังวลน้อยลง รวมทั้งเปิดโอกาสให้เขาเรียนรู้การเข้าสังคมมากขึ้นด้วย หรือหากผู้ป่วยไม่พร้อมจะเข้ารับการรักษาแบบเดี่ยว ๆ จิตแพทย์ก็อาจจะแนะนำให้เข้ารับการบำบัดแบบกลุ่มฝึกฝนทักษะการเข้าสังคม เรียนรู้วิธีการตอบโต้บทสนทนา และทักษะการกล้าแสดงออกทุกชนิด โดยทำร่วมกันกับผู้ป่วยเคสอื่น ๆ

2. การรักษาด้วยยา

โรคกลัวการเข้าสังคมมีแนวทางการรักษาด้วยตัวยาเช่นกัน โดยส่วนมากจิตแพทย์จะสั่งยาลดอาการซึมเศร้า (Antidepressants) และยาระงับความวิตกกังวล (Anti-Anxiety) ซึ่งระดับความรุนแรงของยาสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ระดับ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการผู้ป่วยด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ยาทั้ง 2 ตัวนี้ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากยาแต่ละตัวมีผลข้างเคียง เช่น อาการปวดหัว อาเจียน หรือทำให้นอนไม่หลับ ดังนั้นการใช้ยารักษาอาการกลัวการเข้าสังคม ควรอยู่ภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์อย่างเข้มงวดนะคะ


วิธีเยียวยาอาการผู้ป่วยแบบอื่น ๆ

นอกจากการรักษาด้วยวิธีการทางการแพทย์ที่กล่าวไปแล้ว การใช้วิธีปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมบางอย่าง ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางบำบัดที่จะช่วยทำให้คนที่มีอาการหวาดกลัวสังคมได้มีชีวิตที่เป็นปกติสุขได้มากขึ้นเช่นกันค่ะ ลองไปดูกันว่ามีวิธีไหนบ้าง

1. ฝึกท้าทายความคิดในแง่ลบ

ผู้ป่วยโรคกลัวการเข้าสังคมส่วนมากมักจะคาดเดาไปต่าง ๆ นานาเมื่อต้องตกเป็นเป้าสายตา หรืออยู่ในวงล้อมของคนอื่น ๆ โดยกลัวว่าจะแสดงพฤติกรรมเปิ่น ๆ ดูงี่เง่าออกไป และคนอื่นจะต้องวิพากษ์วิจารณ์เขาอย่างเสีย ๆ หาย ๆ แน่นอน ดังนั้นเราจึงเยียวยาเขาด้วยการให้เขาฝึกท้าทายความคิดในแง่ลบ พยายามเอาชนะความกลัว และการคาดเดาร้าย ๆ อย่างนั้นให้ได้ และผลักดันให้เขาคิดอยู่ในใจเสมอว่า “ฉันต้องทำได้ ไม่มีอะไรยากเลยสักนิด” นอกจากนี้ต้องพยายามให้เขาเลิกคาดเดาความคิดของคนอื่น เลิกกังวลสายตาของใครต่อใครให้ได้ด้วย

2. โฟกัสที่สิ่งรอบตัว

หากไม่อยากจดจ่ออยู่กับความวิตกกังวล ผู้ป่วยควรหันเหความสนใจของตัวเองไปที่สิ่งแวดล้อมรอบตัว มองผู้คน และสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนั้น รวมทั้งตั้งใจฟังในสิ่งที่ได้ยิน โดยไม่เอาความคิดด้านลบของตัวเองไปกลบเสียงรอบข้างนั้นจนหมด นอกจากนี้คุณไม่จำเป็นต้องแสดงปฏิกิริยาตอบโต้กับคู่สนทนาเพื่อรักษาบรรยากาศตลอดเวลาก็ได้ เงียบนิ่งในบางครั้ง ก็ไม่ทำให้บทสนทนาสะดุด แถมยังลดความเกร็งของคุณลงไปได้อีกด้วย

3. ฝึกกำหนดลมหายใจ

อยู่ในท่าที่ผ่อนคลาย (นั่งหรือยืนก็ได้) หลังตรง อกผาย

ทาบมือไว้ที่บริเวณหน้าอก และหน้าท้อง

สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ ยาว ๆ จากนั้นค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจ โดยมือตรงหน้าท้องก็ขยับเลื่อนขึ้น ส่วนมือที่ทาบหน้าอกก็ลดต่ำลงอย่างช้า ๆ

สูดลมหายใจลึก ๆ อีกครั้ง และกักลมไว้ประมาณ 2 วินาที

ผ่อนลมหายใจออกทางปากช้า ๆ ขยับมือได้อย่างอิสระ

สูดลมหายใจให้ลึกที่สุด แล้วค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกทางปากอย่างช้า ๆ

สูดลมหายใจเข้า 4 ครั้ง กักลมหายใจ 2 วินาที และปล่อยลมหายใจออกทางปากไปเรื่อย ๆ มีสมาธิกับการกำหนดลมหายใจให้ได้มากที่สุด


นอกจากนี้ผู้ป่วยยังสามารถฝึกสมาธิด้วยโยคะ หรือการนั่งสมาธิ เพื่อปรับลดความวิตกกังวลต่อสถานการณ์อื่น ๆ ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วยนะคะ



4. เผชิญหน้ากับความกลัว

ความกลัวเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นเอง ดังนั้นหากต้องการเอาชนะความขลาดกลัวก็ต้องเผชิญหน้ากับมันให้ได้ โดยเริ่มแรกอาจให้ผู้ป่วยลองทดสอบกับสถานการณ์เล็ก ๆ ที่คิดว่าเขาน่าจะรับมือไหว เช่น กลัวการทำความรู้จักเพื่อนใหม่ ก็ให้เขาลองออกงานสังคม โดยมีเพื่อนที่มนุษย์สัมพันธ์ดีเลิศเป็นบัดดี้ เปิดโอกาสให้เขาเรียนรู้วิธีสานสัมพันธ์กับผู้อื่นไปเรื่อย ๆ และในที่สุดเขาก็จะเกิดความเคยชินกับการเริ่มต้นสานสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าได้ในที่สุด

ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องจำไว้เสมอว่า การเริ่มต้นทุกอย่างไม่เคยง่าย ดังนั้นแรก ๆ อาจจะต้องใช้ความอดทนมากหน่อย และพยายามเริ่มทำความคุ้นชินกับสถานการณ์รอบตัวไปก่อน อย่าเพิ่งกระโดดข้ามขั้นตอนไปงานใหญ่นะคะ


5. สร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

เข้าคอร์สเรียนการเข้าสังคม ซึ่งมักจะเปิดสอนเป็นหลักสูตรอบรมการพัฒนาบุคลิกภาพ ตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ

เข้าร่วมกิจกรรมอาสาสมัครที่คุณสนใจ ลองเข้ากลุ่มกิจกรรมที่ทำให้คุณรู้สึกสนุก และพัฒนาความกล้าแสดงออกของคุณมากขึ้น เป็นต้นว่า ชมรมคนรักสัตว์ ชมรมนักปั่นจักรยาน หรือเข้าร่วมกลุ่มสังคมเล็ก ๆ ที่ผู้ป่วยคุ้นเคยก่อนก็ได้

ฝึกฝนทักษะการเข้าสังคมด้วยตัวเอง หากคุณรู้สึกไม่กล้าพูดคุยกับคนแปลกหน้า ก็ต้องพยายามฝึกฝนทักษะจนกว่าจะกล้าเข้าไปพูดคุยกับคนแปลกหน้ามากขึ้น


6. เปลี่ยนไลฟ์สไตล์

งด หรือหลีกเลี่ยงชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนทุกชนิด เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีส่วนกระตุ้นให้ร่างกายเกิดอาการวิตกกังวล หัวใจเต้นแรง

จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ป่วยอาจจะเลือกดื่มแอลกอฮอล์ย้อมใจเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ที่รู้สึกอึดอัด แต่ทั้งนี้ก็ควรต้องจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ด้วย เพราะแอลกอฮอล์ก็มีส่วนสร้างความประหม่าให้คุณได้เช่นกัน


แม้โรคกลัวการเข้าสังคมจะดูไม่เป็นอันตรายกับสุขภาพของเราเท่าไร แต่ก็มีผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยไม่น้อยเลยทีเดียว ดังนั้นหากคุณ หรือคนรอบข้างมีความสุ่มเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคนี้ (โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่น) ก็ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อหาทางเยียวยาโดยด่วนค่ะ

หมายเลขบันทึก: 626095เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2017 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2017 11:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท