ทับทิม


ทับทิม ( Punica granatum L.) เป็นผลไม้ที่มีประโยชน์และถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ตั้งแต่สมัยอียิปต์ ในปัจจุบันมีการนำทับทิมมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย เช่น อาหาร น้ำผลไม้ รวมถึงการนำมาใช้ในการต้านชรา ซึ่งมีการค้นพบว่าส่วนต่าง ๆ ของทับทิมไม่ว่าจะเป็น น้ำทับทิม เมล็ด ราก ดอก และเปลือกไม้ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และมีประโยชน์ต่อผิวหนัง ซึ่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เหล่านั้นถูกนำมาใช้ในเชิงการค้า ทั้งการขายผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากทับทิมเพื่อช่วยในการต้านอนุมูลอิสระและทำให้อ่อนเยาว์ แต่จริง ๆ แล้ว ทับทิมมีสารที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระจริงหรือ ??

จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ พบว่าในส่วนต่าง ๆ ของทับทิม เช่น น้ำทับทิม น้ำมันจากเมล็ดทับทิม และเปลือกทับทิม มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระที่ดี เมื่อทำการทดสอบในห้องปฏิบัติการและภายในร่างกายของสัตว์ทดลอง โดยทับทิมมีสารสำคัญหลายชนิด เช่น phenolics, flavonoids, ellagitannins และ proanthocyanidin

นักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน EPFL ร่วมกับบริษัท Amazentis ค้นพบว่า แบคทีเรียในลำไส้สามารถเปลี่ยน ellagitannin ให้กลายเป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ คือ Urolithin A ซึ่ง Urolithin A จะทำหน้าที่ในการเหนี่ยวนำให้เกิดการกำจัดไมโทคอนเดรีย (mitochondria) หรือที่เรียกว่ากระบวนการ “mitophagy” หากเซลล์ในร่างกายมีการสะสมไมโทคอนเดรียที่ไม่สามารถทำงานได้ จะนำสู่โรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการมีอายุที่มากขึ้น เช่น โรคพาร์กินสัน โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดสอบฤทธิ์ของ Urolithin A ในหนอนตัวกลม (C. elegans) ซึ่งเป็นสัตว์ทดลองที่นิยมใช้ในการทดสอบฤทธิ์ในการต้านชรา เนื่องจากวงจรชีวิตค่อนข้างสั้น จากการทดลองพบว่าอายุขัยของหนอนตัวกลมกลุ่มที่ได้รับ Urolithin A นั้นเพิ่มขึ้นถึง 45% เมื่อเทียบกับกลุ่มทดลอง และเมื่อทำการศึกษาในหนูก็ให้ผลการทดลองเช่นเดียวกัน โดยพบว่าหนูในกลุ่มที่ได้รับ Urolithin A มีความทนในการวิ่งออกกำลังกายได้ดีกว่าหนูในกลุ่มที่ไม่ได้รับ Urolithin A ถึง 42% เมื่อหนูทั้ง 2 กลุ่มนั้นถูกทำให้เกิดความเสื่อมของกล้ามเนื้อเนื่องมาจากการมีอายุที่มากขึ้น

จากการศึกษาที่กล่าวมา อาจกล่าวได้ว่า Urolithin A เป็นสารที่น่าสนใจและมีฤทธิ์ในการต้านความชราที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม Urolithin A ไม่ได้เป็นสารสำคัญที่มีอยู่ในทับทิมโดยตรง แต่เป็นสารที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของ ellagitannin โดยแบคทีเรียในลำไส้ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง ellagitannin ให้กลายเป็น Urolithin A นั้น ขึ้นอยู่กับสปีชีส์ของสัตว์และแบคทีเรียในลำไส้ และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ปริมาณของ Urolithin A ที่ได้รับในแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ในบางคนอาจไม่มีการผลิต Urolithin A เลย ซึ่งหากคุณเป็นคนที่โชคร้ายนั้นการรับประทานน้ำทับทิมเพื่อช่วยในการต้านอนุมูลอิสระหรือต้านชราอาจไม่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี นอกจากนี้เรายังพบสารตั้งต้นในการเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็น Urolithin A ได้จากพืชตระกลูถั่ว และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่อีกด้วย

การค้นพบ Urolithin A นั้นนับเป็นการค้นพบที่สำคัญ โดยในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังดำเนินการศึกษาประโยชน์ของทับทิม และ Urolithin A ในมนุษย์ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่าแบคทีเรียในลำไส้ของมนุษย์นั้นจะสามารถเปลี่ยนแปลง ellagitannin ให้กลายเป็น Urolithin A ได้หรือไม่ ??

อ้างอิง :

Faria A, Calhau C. Pomegranate in Human Health: An Overview, In; Watson RR, Preedy VR, editors. Bioactive Foods in Promoting Health: Fruits and Vegetables. United states of America: Macmillan Publishing Solutions; 2010. p. 551-563.

Ryu D, Mouchiroud L, Andreux PA, Katsyuba E, Moullan N, Nicolet-dit-Felix AA, et al. Urolithin A induces mitophagy and prolongs lifespan in C. elegans and increases muscle function in rodents. Nat Med. 2016;22(8):879-88.

Sreekumar S, Sithul H, Muraleedharan P, Azeez JM, Sreeharshan S. Pomegranate Fruit as a Rich Source of Biologically Active Compounds. BioMed Research International. 2014;2014:686921.

https://www.truthinaging.com/review/pomegranate-2

https://www.sciencedaily.com/releases/2016/07/1607...

https://www.google.co.th/url?sa=i&rct=j&q=&esrc=s&...

https://www.sciencedaily.com/releases/2016/07/1607...

คำสำคัญ (Tags): #pprep
หมายเลขบันทึก: 625577เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2017 13:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มีนาคม 2017 13:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท