​ไม่ควรมองอะไรเพียงด้านเดียว




ไม่ควรมองอะไรเพียงด้านเดียว

ดร. ถวิล อรัญเวศ

รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต ๔

ทุกวันนี้ เรามักจะได้ยินได้ฟังหรือพบเห็นการนำเสนอข่าวที่ตื่นเต้น เร้าใจ และมีเพียงถ้อยคำสั้น ๆ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องที่ดี และเป็นความจริง ก็คงไม่เป็นอะไร แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่จริง เป็นเพียงการนำเสนอข่าวเพื่อก่อให้เกิดความตื่นอกตื่นใจน่าติดตาม ก็คงจะก่อให้เกิดความเสียหายได้

ฉะนั้น โบราณ ท่านจึงสอนให้มองอะไร ไม่ควรมองเพียงด้านเดียว ควรมองหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะนักบริหารถ้าไปเชื่อลูกน้องเพียงคนใดคนหนึ่ง ก็คงไม่ถูกต้องนัก จำต้องฟังคนรอบข้างหลายๆ คน ด้วยแม้แต่เรื่องนี้พระพุทธองค์ก็เคยตรัสสอนไว้แล้วในหลักกาลามสูตร หรือสูตรว่าด้วยหลักการจะเชื่ออะไร อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจเชื่อง่าย ๆ ต้องพิสูจน์ให้ได้ข้อเท็จจริงก่อนจึงเชื่อ

ข้อเสียของการมองอะไรเพียงด้านเดียว

การมองอะไรเพียงด้านเดียว แล้วด่วนสรุป จะก่อให้เกิดความเห็นที่ไม่ลงรอยกันได้ ถ้ามีความเห็นที่ไม่ตรงกันแล้วไซร้ ก็จะก่อให้เกิดความแตกแยกของคนในองค์กร หรือในสังคมได้ โดยเฉพาะถ้าเรื่องที่มองนั้นไม่เป็นความจริงแล้ว ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายได้ เรื่องนี้ขอยกนิทานปรัมปราซึ่งได้เล่าสืบกันมาว่า

กาลครั้งหนึ่ง พระราชาพระองค์หนึ่งทรงนึกสนุกขึ้นมา จึงตรัสสั่งให้เจ้าหน้าที่พระราชวังประชุมคนตาบอดในเขตพระนครและให้นำคนตาบอดมาประมาณ ๑๒ คน คนตาบอดเมื่อได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ก็ดีใจที่จะได้มีโอกาสเข้าวัง เมื่อคนตาบอดมาพร้อมกันแล้ว พระราชาจึงทรงสั่งให้เจ้าหน้าที่จัดแบ่งคนตาบอดออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๒ คน รวม ๖ กลุ่ม โดยให้แต่ละกลุ่มจับเพียงอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของช้างเท่านั้น จากนั้น พระราชาจึงเรียกคนตาบอดทุกกลุ่มมาพร้อมกันแล้วให้คนตาบอดแต่ละกลุ่มบรรยายลักษณะของช้างตามที่ตนได้รับรู้มา คนตาบอดในแต่ละกลุ่มบอกลักษณะของช้างแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับอวัยวะของช้างที่พวกเขาได้สัมผัสมา 6 กลุ่ม พวกที่คลำปลายหางช้าง บอกว่าช้างเหมือนไม้กวาด พวกที่คลำหางช้าง ก็บอกว่าช้างเหมือนสาก พวกที่คลำลำตัวช้าง ก็บอกว่าช้างเหมือนยุ้งข้าว พวกที่คลำงวงช้าง ก็บอกว่าช้างเหมือนง่อนไถ พวกที่คลำหูช้างก็บอกว่าช้างเหมือนกระด้ง พวกที่คลำหัวช้างก็บอกว่าช้างเหมือนหม้อ

พระราชาจึงตรัสถามพร้อมกันอีกครั้งหนึ่งว่า ที่แท้จริงแล้วช้างมีลักษณะเป็นอย่างไรกันแน่ คนตาบอดต่างถกเถียงกันใหญ่ว่า ลักษณะที่กลุ่มของตนได้กราบทูลต่อพระราชานั้นถูกต้องแล้ว เพราะคลำมากับมือ และไม่ได้คลำเพียงคนเดียว คลำตั้ง ๒ คน และก็คลำตั้ง ๒-๓ ครั้งจนมั่นใจแล้ว คนตาบอดต่างคนต่างไม่ยอม ยังยืนยันความคิดของตน สุดท้ายไม่มีใครฟังใคร คนตาบอดจึงได้ชกต่อยกันชุลมุน พระราชาจึงทรงพระสรวลด้วยความพึงพอพระราชหฤทัยเป็นยิ่งนัก

เรื่องคนตาบอดคลาช้างจึงถือเป็นข้อคิดได้ว่า การมองอะไร เพียงด้านเดียวยังไม่เพียงพอ เพราะทำให้เกิดความเข้าใจผิดพลาดในองค์รวมที่แท้จริงเพราะสิ่งที่มองด้านเดียวจะได้ข้อเท็จจริงด้านเดียว ข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ต้องมองหลายด้าน และมองให้เห็นความเชื่อมโยงกันในหลายมิติการมองเพียงด้านเดียว เมื่อนำข้อเท็จจริงมาแลกเปลี่ยนกัน ถ้าต่างฝ่ายต่างยืนยันกันโดยไม่ตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงแล้ว ย่อมก่อให้เกิดข้อทะเลาะวิวาทกันได้

พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า “คนทั้งหลายที่มองอะไรเพียงด้านเดียว ย่อมถือข้อขัดแย้งทะเลาะวิวาทกัน” ฉะนั้น จึงควรลดการมองจากด้านเดียวมามองหลายด้าน จะทำให้ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นและช่วยลดข้อขัดแย้งได้ เมื่อลดข้อขัดแย้งได้ ย่อมจะก่อให้เกิดความสุขสงบได้ในครอบครัว ในสังคม และในประเทศชาติ คนในองค์กรก็จะไม่แตกความสามัคคีกัน

สรุปข้อคิด

คนเราไม่ควรจะมองอะไรเพียงด้านเดียวแล้วด่วนนำมาสรุปตัดสิน เพราะจะก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนไป
จากข้อเท็จจริงได้ ฉะนั้น นักบริหาร จึงควรมีข้อมูลหลายๆ ด้านเพียงพอก่อนจะวินิจฉัยสั่งการออกไปและจะ
ทำให้ข้อวินิจฉัยสั่งการไปนั้น ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายได้ และประการสำคัญคนในองค์กรหรือในสังคม
จะไม่แตกแยกกันเพราะความเห็นไม่ลงรอยกันนั้นเอง




หมายเลขบันทึก: 625335เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2017 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มีนาคม 2017 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท